อยากจะทำ Digital Marketing ให้ประสบความสำเร็จ นอกจากการวิเคราะห์คู่แข่งในตลาด, หาส่วนแบ่งทางตลาดที่ลงตัว, พยายามออกแบบสินค้าและบริการให้ดีและน่าใช้งาน, พยายามทำคอนเทนต์ให้สวยและดึงดูดความสนใจแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก และจัดเป็นขั้นตอนแรกๆ ที่คนทำ Branding จะต้องให้เวลาและความใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะนี่เป็นเหมือนไกด์นำทางให้การทำแบรนด์ ทำสินค้า หรือวางแผนการทำการตลาดออนไลน์ให้ถูกทิศทางและนำไปสู่การเปลี่ยนคนรู้จักให้กลายเป็นลูกค้าได้ นั่นคือ “การทำ Target Audience”
บทความนี้ จึงอยากที่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคำว่า Target Audience โดยเราจะช่วยให้คุณรู้ว่า Target Audience คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับ Persona ไปจนถึงพาชมตัวอย่างการทำ Target Audience ที่สามารถหยิบไปใช้ได้จริง ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรนั้น ตามไปดูพร้อมกันได้เลย
Target Audience คืออะไร
Target Audience คือ กลุ่มคนที่ได้รับการระบุว่า น่าจะเป็นลูกค้าของธุรกิจ โดย Target Audience จะมีลักษณะทางประชากรศาสตร์ (Demographics) ที่คล้ายคลึงกันหลายอย่าง เช่น
- อายุ (Age)
- เพศ (Gender)
- ที่ตั้ง (Location)
- การศึกษา (Education)
- สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (Socioeconomic Status)
นอกจากนี้ยังเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องบุคลิกภาพที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล (Behavioral Traits) และเรื่องจิตวิทยา (Psychographics) ของผู้บริโภคที่อิงจากกิจกรรมต่างๆ ความสนใจและความคิดของผู้บริโภคที่มีความคล้ายคลึงกันด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้สามารถระบุตัวตนของ Target Audience เพื่อนำมาใช้ประโยชน์การทำการตลาดหรือการสร้าง Branding ได้ต่อไป
อ่านเพิ่มเติม: Branding คืออะไร
ความสำคัญของ Target Audience
1. Target Audience ช่วยเพิ่ม ROI
การเลือกกลุ่มเป้าหมาย (Target Audience) ที่ถูกต้องนั้นสำคัญสำหรับการทำการตลาดออนไลน์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการยิงแอด เพราะถ้าเลือกกลุ่ม Target Audience ในการยิงแอดได้เหมาะสมกับโฆษณาก็จะช่วยทำให้ประสิทธิภาพของการยิงแอดดีขึ้น
ในทางกลับกันหากคุณเซ็ตกลุ่มเป้าหมายไม่ตรงกับสิ่งที่ธุรกิจของคุณเป็น พวกเขาไม่ได้ใช้หรือไม่สนใจสินค้าของคุณเลยแม้แต่น้อย ก็จะทำให้แอดแพง และทำให้มี ROI ที่ต่ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ได้รับผลลัพธ์ที่น้อยกว่า เม็ดเงินที่ลงทุนไป หรือขาดทุนนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม: ยิงแอดคืออะไร (การยิงแอดโฆษณา)
2. ช่วยในการทำการตลาด
Audience Targeting คือ กระบวนการที่ช่วยทำให้ธุรกิจได้รู้จักกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รู้ว่าพวกเขาเป็นใคร ชื่นชอบอะไร ไม่ชอบอะไร จะเข้าถึงพวกเขาได้อย่างไร ไปจนถึงมีพฤติกรรมแบบไหน เพื่อทำให้ทำการตลาดได้ตรงใจพวกเขามากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการทำการตลาดที่ไม่ทำให้ได้ผลลัพธ์กลับมาออกไป เพราะไม่ใช่ว่าผู้บริโภคทุกคนจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหรือว่าที่ลูกค้าสำหรับแบรนด์คุณ แต่อาจจะเป็นคนบางกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะตัว และถ้าหากคุณตอบสนองความสนใจ ความต้องการ หรือช่วยแก้ปัญหาให้กับพวกเขาได้ ก็จะช่วยเปลี่ยนกลุ่ม Target Audience ให้กลายเป็นลูกค้าได้อย่างแน่นอน
3. ช่วยสร้าง Engagement ให้กับแบรนด์
เพราะการหากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการทำการตลาดด้วยเจอ จะช่วยทำให้แบรนด์รู้ถึง Insight ที่ลูกค้าต้องการหรือชื่นชอบ เมื่อหยิบยกสิ่งที่พวกเขาสนใจมาทำคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะการทำ Social Media Marketing ที่ต้องการสร้างยอด Engagement คือ การมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์และกลุ่มผู้บริโภคเป็นหลัก ข้อมูล Insight จากกลุ่มเป้าหมายที่แปลงสารกลายเป็นคอนเทนต์ก็จะช่วยดึงดูดความสนใจ ทำให้เกิดการ Like, Share, Comment ต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น
ประเภทของ Target Audience
ปกติแล้วจะจัดแบ่ง Target Audience ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
กลุ่มเป้าหมายตามประชากรศาสตร์ (Demography)
เป็นการเข้าใจถึงข้อมูลประชากรของกลุ่มเป้าหมาย เช่น ข้อมูลอายุ, ข้อมูลรายได้, ข้อมูลการศึกษา, ข้อมูลเพศ หรือข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น
การใช้ข้อมูลประชากรทำให้แบรนด์สามารถกำหนดเป้าหมายแบบคร่าวๆ และเห็นเป็นรูปธรรมได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด เช่น แบรนด์ต้องการกลุ่มเป้าหมายเป็นคนหนุ่มสาว เช่น อายุ 18-24 ปี ทั้งเพศหญิงและชาย ที่อยู่อาศัยในเมืองที่มีประชากรมากกว่า 20,000 คน เป็นต้น
กลุ่มเป้าหมายตามความสนใจ (Interests)
ข้อมูลที่เกี่ยวกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย สามารถเก็บข้อมูลมาได้หลายอย่าง เช่น งานอดิเรก ความชอบ ความหลงใหล สิ่งที่พวกเขากำลังมองหาหรือต้องการ อาจจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี รถยนต์ การตลาด การเลี้ยงดูบุตร การเต้นรำ และอื่นๆ อีกมากมาย
ซึ่งการรู้ถึงความสนใจของกลุ่มเป้าหมายจะมีประโยชน์มากสำหรับการทำ Content Marketing คือ กลยุทธ์การตลาดผ่านการสื่อสารด้วยคอนเทนต์ เพราะจะช่วยทำให้ดึงดูดลูกค้าจากรูปแบบคอนเทนต์ที่พวกเขาสนใจ หรือมีเนื้อหาที่พวกเขาต้องการจะรู้ ไปจนถึงนำเสนอโซลูชันหรือสินค้าที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด ยกตัวอย่างเช่น คุณทำร้านหนังสือ และทราบว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณชอบฟังเพลงคลาสสิก ก็อาจจะนำเสนอคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับพวกเขา เช่น รวม 5 หนังสือเชิดชูนักแต่งเพลงคลาสสิก รวมหนังสือเล่าประวัติเชคสเปียร์ ฯลฯ
กลุ่มเป้าหมายตามความสนใจเฉพาะ (Purchase Intentions)
ประเภทของกลุ่มเป้าหมายตามความสนใจเฉพาะ (Purchase Intentions) ส่วนใหญ่มักจะจำเป็นสำหรับธุรกิจ E-Coomerce ที่มีสินค้าหลากหลาย ทำให้ต้องจับเอาความสนใจแบบเฉพาะของกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนมากตามประเภทสินค้าต่างๆ เช่น กลุ่มเป้าหมายสนใจที่จะซื้อมือถือ แท็บเล็ต หรืออาจจะเคยซื้อไปแล้ว
แสดงว่า คนกลุ่มนี้ก็อาจเป็นคนสนใจในเรื่อง Gadget ที่เกี่ยวข้อง เช่น หูฟัง เคส ฯลฯ ซึ่งการทำการตลาดกับคนกลุ่มนี้ก็อาจจะส่งโค้ดส่วนลด โปรโมชัน หรือคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจของเขาไปให้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อมากขึ้น
กลยุทธ์การเข้าถึง Target Audience
กลยุทธ์การตลาดที่ช่วยทำให้เข้าถึงกลุ่ม Target Audience นั้นมีอยู่ด้วยการหลายวิธี โดยในบทความนี้เราจะขอรวบรวมมาให้ถึง 6 วิธีตามวิธีการทำการตลาดออนไลน์ ดังนี้
- Content Marketing
การทำ Content Marketing หรือการทำการตลาดด้วยเนื้อหา กลยุทธ์การตลาดที่ช่วยทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วและง่ายที่สุด เพียงแค่ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายและทำการสร้างคอนเทนต์หรือโฆษณาที่มีความเจาะจงสำหรับสื่อสารกับพวกเขาโดยเฉพาะ
หลังจากนั้นอาจจะทำการทดสอบ A/B และการปรับแต่งแนวทางในการทำคอนเทนต์ไปเรื่อยๆ เพื่อหาประเภทคอนเทนต์ที่กลุ่มเป้าหมายชอบ โดยอาจจะดูจากยอด Engagement หรือยอด Traffic ที่เข้ามายังเว็บไซต์ว่าคอนเทนต์แบบไหนได้รับความนิยมบ้าง และหาทางใช้กลยุทธ์เหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับคอนเทนต์ในชิ้นต่อๆ ไป
- Social Media Marketing
การเข้าถึง Target Audience ด้วยการทำ Social Media Marketing เป็นอีกหนึ่งวิธีทำการตลาดที่หลายคนนิยมใช้ เนื่องจาก Social Media มีหลายแพลตฟอร์มทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มาก และแต่ละแพลตฟอร์มก็มีกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น Facebook เป็นโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานแทบจะทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะวัยรุ่น วัยทำงานหรือผู้สูงอายุ ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย อีกทั้งยัง สามารถแยก Personal Account และ Business Page ได้ มีการสร้าง Facebook Group เพื่อพูดคุยในสิ่งที่สนใจร่วมกันได้ และยังมีฟีเจอร์อื่นๆ เช่น Facebook Story, Facebook Ads, Facebook Live ฯลฯ ที่เข้ามาสนับสนุนในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยคอนเทนต์ที่แตกต่าง ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้าง Engagement เพิ่มจำนวนผู้ติดตาม และเพิ่มช่องทางในการขายมากขึ้นด้วย
- Influencer Marketing
Influencer Marketing คือการทำการตลาดโดยใช้พื้นที่หรือเสียงของคนที่มีอิทธิพลในแวดวงต่างๆ ในการทำการตลาด ซึ่งในปัจจุบันมีประเภทของอินฟลูเอนเซอร์ให้เลือกมากมาย
เช่น หากต้องการทำการตลาดกับคนเฉพาะกลุ่ม อยากได้ตัวแทน Influencer ที่พูดถึงสินค้าแบบเฉพาะเจาะจง เช่น เป็นอินฟลูเอนเซอร์สายออกกำลังกาย ที่มีผู้ติดตามไม่มาก แต่ว่าได้รับ Enagage สูง ก็อาจจะเลือกใช้เป็น Nano Influencer สายออกกำลังกาย ชอบเข้าฟิตเนสหรือเล่นกีฬา ที่มีผู้ติดตามประมาณ 1,000 – 5,000 Followers ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่มาก แต่ Nano Influencer มักจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ติดตามของตนเอง และมีโอกาสที่ผู้ติดตามจะรู้จักหรือซื้อสินค้าหลังจากเห็นโพสต์ที่ได้ทำการ PR ผ่านบุคคลที่พวกเขาชื่นชอบสูงมากขึ้น เป็นต้น
- Search Engine Optimization
Search Engine Optimization หรือ SEO เป็นการทำการตลาดบนเว็บไซต์เพื่อทำให้ Search Engine อย่างเช่น Google ชื่นชอบ และจัดอันดับเว็บไซต์ของคุณขึ้นไปแสดงผลการค้นหาบนอันดับต้นๆ บนหน้า Google ซึ่งการจะเข้าถึงกลุ่ม Target Audience จากการทำ SEO ได้จะต้องใช้วิธีการทำ Keyword Research เพื่อค้นหาว่ากลุ่มเป้าหมายใช้คำว่าอะไรในการเสิร์ชเพื่อหาสิ่งที่ต้องการบ้าง
เช่น คุณทำธุรกิจขายอาหารสุนัข ก็อาจจะต้องหาให้เจอว่า คนที่ต้องการซื้ออาหารสุนัขจะค้นหาคำว่าอะไรบ้าง เช่น ซื้ออาหารสุนัข, อาหารสุนัข ยี่ห้อไหนดี เป็นต้น หลังจากนั้นทำให้เว็บไซต์ติดอันดับในคำเหล่านี้ก็จะช่วยทำให้คนรู้จักและอาจจะนำพาไปสู่การซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ได้ในที่สุด
อ่านเพิ่มเติม: Search Engine คืออะไร
- Google Ads
Google Ads เป็นการทำโฆษณาบน Google มีด้วยกันหลายแบบ เช่น การทำ GDN หรือ Display Ads, การทำ Search Ads เป็นต้น ซึ่งสิ่งสำคัญในการทำโฆษณา Google Ads เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพก็คือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ตรงกับแคมเปญการทำโฆษณา เพื่อทำให้งบประมาณที่ลงทุนไปเกิดประโยชน์มากที่สุด โดย Target Audience บน Google Ads จะสามารถตั้งได้ค่อนข้างละเอียด เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบของโฆษณา เช่น
- Detailed Demographic จะเหมาะกับการใช้กับโฆษณาประเภท Search, Display และ Video โดยจะสามารถระบุ Demographic ได้ละเอียดมากขึ้น เช่น สถานะความเป็นผู้ปกครองโดยแบ่งตามช่วงอายุของบุตร (Parental Status), สถานะการทำงาน (Employment), สถานะการเป็นเจ้าของบ้าน (Homeownership Status) เป็นต้น
- In-market Audiences จะเหมาะกับการใช้กับโฆษณาประเภท Search, Display และ Video โดยจะสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มว่าจะซื้อสินค้าหรือบริการได้ เช่น เลือกเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่กำลังเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ
- Custom Audiences จะเหมาะกับการใช้กับโฆษณาประเภท Display และ Video โดยจะสามารถระบุคีย์เวิร์ดหรือความสนใจที่กลุ่มเป้าหมายเคยค้นหา URL ที่เคยเข้าชมหรือใช้งานได้
- Inbound Marketing
Inbound marketing คือ การทำการตลาดแบบแรงดึงดูด เพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาหาคุณเองด้วยวิธีการส่งมอบคุณค่าที่กลุ่มเป้าหมายต้องการให้อย่างสม่ำเสมอ ตาม Customer Journey ที่พวกเขาเป็น
เช่น การส่งคอนเทนต์ที่มีคุณค่าให้อ่านอย่าสม่ำเสมอบน Email มีการทำ E-book ให้ดาวน์โหลด เพื่อดูว่าพวกเขากำลังสนใจเรื่องไหน หลังจากนั้นทำ Social Post เพื่อให้เห็นว่าแบรนด์ของคุณกำลังขายอะไรที่สามารถตอบสนองความสนใจของพวกเขาได้ เป็นต้น
5 ขั้นตอนการทำ Target Audience Analysis
Target Audience Analysis คือ กระบวนการค้นหากลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสเป็นกลุ่มลูกค้าของแบรนด์คุณ โดยจะมีทั้งหมด 5 ขั้นตอนที่สามารถนำไปเป็น Guideline ได้ ดังนี้
1. ค้นหากลุ่มเป้าหมายจากข้อมูลที่มี
หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร แนะนำว่าให้ใช้ Social Media ให้เป็นประโยชน์ โดยอาจจะเริ่มต้นจากการดูข้อมูล Insight ของเพจคุณเองว่า กลุ่มเป้าหมายคือใคร มีอายุเท่าไหร่ อาศัยอยู่ที่ไหน อาชีพอะไร หรือพวกเขาติดตามเพจอื่นๆ อะไรบ้าง หรือสำหรับใครที่มีเครื่องมือ Social Listening ก็สามารถใช้เครื่องมือนี้เพื่อตรวจสอบว่า ผู้คนบนโลกโซเชียลมีเดียมีความสนใจในเรื่องอะไร พูดถึงแบรนด์คุณอย่างไร หรือมีการติดตาม Influencer คนไหนบ้างได้
2. ตรวจสอบ Affinity Interest ใน Google Analytics
Affinity Interest คือ ความสนใจในระยะยาว อย่างเช่น ความชอบ ไลฟ์สไตล์ และลักษณะนิสัยที่สามารถตรวจสอบผ่าน Google Analytics ได้ โดยข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลของผู้ใช้งานเว็บไซต์ของคุณ
ยกตัวอย่างเช่น คุณทำธุรกิจเกี่ยวกับการกีฬา กลุ่มเป้าหมายที่คุณต้องการจะให้เข้ามาในเว็บไซต์ก็ต้องเป็นคนที่มี Affinity Interest ในกลุ่ม Sport & Fitness/Health & Fitness Buffs เป็นหลัก แต่ถ้าเว็บไซต์ของคุณกลับมี Affinity Interest เป็น Banking & Finance/Avid Invertors เป็นหลักก็แสดงว่าเนื้อหาที่คุณทำบนเว็บไซต์อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายตามหา และต้องทำการปรับเนื้อหาบนเว็บไซต์เพิ่ม หรือเขียนบทความที่เกี่ยวกับธุรกิจมากขึ้น เพื่อทำให้ Affinity Interest ตรงกับ Target Audience มากขึ้น
3. การสัมภาษณ์หรือทำแบบสอบถาม
แต่ถ้าหากธุรกิจยังไม่ได้มีช่องทางออนไลน์ให้สืบดูข้อมูลมากนัก หรือธุรกิจของคุณต้องการ Insight อื่นๆ มากขึ้นการทำสัมภาษณ์หรือทำแบบสอบถามก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้ได้ข้อมูล Insight ในการนำมาพัฒนาการทำการตลาดให้ตรงกับ Target Audience ได้ โดยรูปแบบของการสัมภาษณ์หรือทำแบบสอบถามควรที่จะเข้าใจง่าย กระชับ ไม่ซับซ้อน ไม่คลุมเครือ ไม่กำกวม ไม่ต้องตีความ ไม่ใช้คำศัพท์เฉพาะ และคําถามสําคัญๆ ไม่ควรเรียงไว้ตอนท้ายของการสอบถามด้วย
4. ตรวจสอบคู่แข่งที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
Competitor Analysis หรือการวิเคราะห์คู่แข่ง เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ เพราะในตลาดนี้ไม่ใช่คุณแค่คนเดียวที่ลงมาเล่นในสนามแต่ยังมีคู่แข่งอีกมากมายหลายเจ้าที่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดด้วยเช่นกัน
ดังนั้น คุณจึงต้องทำการรวบรวมรายชื่อคู่แข่ง วิเคราะห์คู่แข่ง รวมถึงกำหนดจุดแข็งและจุดอ่อนที่ช่วยทำให้เห็นว่าคู่แข่งทำอะไรดีกว่าคุณ แล้วนำข้อดีเหล่านั้นมาเปรียบเทียบว่าเป็นข้อด้อยของคุณหรือเปล่า ถ้าหากใช่ก็ควรรีบแก้ไข ส่วนในแง่จุดด้อยของคู่แข่งเอง หากเทียบแล้วกลับเป็นข้อดีของคุณก็ยิ่งต้องส่งเสริมสิ่งนั้นไว้ เพื่อทำให้แบรนด์กลายเป็น Top of Mind สำหรับกลุ่มเป้าหมายต่อไป
5. กำหนดขอบเขตกลุ่มลูกค้า
คุณควรที่จะรู้ว่าใครคือ Target Audience และใครที่ไม่ใช่ ด้วยการกำหนดขอบเขตกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจน เพราะสิ่งนี้จะช่วยทำให้ Derection ในการวางแผนการตลาดของคุณสื่อสารกับกลุ่มคนที่มีโอกาสจะเป็นลูกค้าของคุณได้อย่างแท้จริง และช่วยทำให้ลดงบประมาณในการทำการตลาดที่สูงจากการลงทุนสื่อสารกับคนหมู่มาก ซึ่งอาจไม่ใช่ Target ที่จะมาซื้อสินค้าของคุณได้ดีขึ้น
Target Audience กับ Persona เกี่ยวข้องกันอย่างไร
เมื่อได้ยินคำว่า Target Audience แน่นอนว่าจะต้องได้ยินคำว่า Persona ตามมาติดๆ เพราะ Buzzword 2 คำนี้มีความเกี่ยวข้องกัน โดยที่ Target Audience หมายถึงกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการมาเป็นลูกค้า โดยจะระบุขึ้นมาตามข้อมูลประชากรศาสตร์ ความสนใจ หรือข้อมูลเจาะจงบางอย่างที่มองแล้วว่ามีโอกาสที่จะเป็นลูกค้าของแบรนด์
ส่วน Persona จะเป็นวิธีการเขียนอธิบายกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ ลงบนกระดาษ 1แผ่น (Canvas) เพื่อให้แบรนด์เข้าใจกลุ่มเป้าหมายทั้งความคิด พฤติกรรม ความชอบ เป้าหมาย หรือสิ่งที่ต้องการอย่างชัดเจนมากขึ้น หรือจะเรียกว่าเป็นประวัติลูกค้าสมมติจากข้อมูลที่มีอยู่จริงก็ได้ ซึ่งประโยชน์ของ Persona หลักๆ เลยก็คือ การสร้างความเข้าใจในตัวลูกค้าให้กับทีมงาน และสามารถนำไปต่อยอดในการทำโฆษณา, การวางแผนด้านคอนเทนต์, การออกแบบสินค้าและบริการ, การวางแผน Journey การใช้งานบนเว็บไซต์ ฯลฯ ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และเพิ่มโอกาสการกลายเป็นลูกค้าได้มากขึ้นด้วย
สำหรับวิธีการทำ Persona หรือ Buyer Persona จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอนหลักๆ ดังนี้
- รวบรวมข้อมูลลูกค้า โดยทำได้ทั้งในรูปแบบการอาศัยการนำข้อมูลจากกลุ่มลูกค้าจริงหรือลูกค้าเก่า หรือจะทำการสัมภาษณ์หรือการตอบแบบสอบถามเพิ่มเติมก็ได้
- เขียน Customer Experience ว่าพวกเขามีพฤติกรรมเฉพาะด้านอะไรบ้าง เช่น ซื้อสินค้าช่องทางไหน มีรูปแบบการค้นหาข้อมูลอย่างไร ฯลฯ เพื่อศึกษาเส้นทางการใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ บนโลกออนไลน์ และเลือกช่องทางที่เหมาะสมในการเข้าหาพวกเขาได้มากที่สุด
- ทำการสร้าง Persona Template ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ เช่น Persona ที่เน้นทำความเข้าใจนิสัยและรสนิยม โดยเน้นเขียนถึงความชอบ ความสนใจของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก โดย Persona ประเภทนี้จะเขียนขึ้นเพื่อทำให้รู้ว่าจะสื่อสารถึงพวกเขาในสิ่งที่ชอบได้อย่างไร ส่วนใหญ่เหมาะกับการนำไปทำคอนเทนต์, Persona ที่ระบุระดับความรู้เฉพาะด้าน เพื่อทำความเข้าใจองค์ความรู้ เพื่อออกแบบโปรดักต์ให้ตอบโจทย์แบบเฉพาะด้านมากขึ้น เป็นต้น
ตัวอย่าง Target Audience แบรนด์ดัง
สำหรับ Target Audience ตัวอย่างแบรนด์ดังในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างเป็นกลุ่มเป้าหมายของ Apple ที่เรารู้จักกันดี โดยเป็นการวิเคราะห์จากรายงานของ Business Research Methodology เกี่ยวกับการแบ่งกลุ่มของ Apple สรุปได้ตามตารางด้านล่างนี้
จากตารางจะเห็นว่า กลุ่มเป้าหมายของ Apple ประกอบด้วยผู้ใช้งานที่อยู่ในเมืองเป็นหลัก จะเป็นเพศไหนก็ได้ อยู่ในช่วงอายุ 20-45 ปี เรียนจบปริญญาตรีไปจนถึงแต่งงานแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องเป็นคนมีกำลังซื้อสูงและยินดีที่จะจ่าย แน่นอนว่าต้องอยู่ในระดับที่เป็น Working Professionals Managers หรือ Executive Level Workers เพราะต้องการที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่สามารถให้ประสบการณ์ใช้งานผลิตภัณฑ์ที่ดีเยี่ยมให้กับตัวเอง
นอกจากการจัดหมวดหมู่หลักนี้แล้ว Apple ยังกำหนดเป้าหมายไปยังมืออาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับซอฟต์แวร์เฉพาะทางเพิ่มเติมอีก เช่น ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการทำเพลง วิดีโอ การถ่ายภาพ และอาชีพการออกแบบทุกประเภท โดยคนกลุ่มนี้จะชอบ Final Cut, Photoshop และซอฟต์แวร์แก้ไขที่เกี่ยวข้องของ Adobe ซึ่งทำงานได้ดีกับ Macbooks และ IPad มากกว่าระบบปฏิบัติการอื่นๆ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Target Audience
Target Market กับ Target Audience ต่างกันยังไง?
Target Market คือ กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ตลาดต้องการจะเข้าไปดำเนินกิจกรรมทางการตลาด เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้และทำให้กลายเป็นลูกค้า เช่น กลุ่มผู้ชายและผู้หญิงวัยหนุ่มสาว, กลุ่มคนมีครอบครัวแล้ว ส่วน Target Audience อาจจะไม่ได้กว้างว่าเป็นใครก็ได้ เพราะจะมีการลงรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้มากขึ้น เช่น กลุ่มผู้ชายและผู้หญิงวัยหนุ่มสาว อายุไม่เกิน 25 ปี เป็นต้น
Target Group คืออะไร แตกต่างจาก Target Audience อย่างไร?
Target Group คือ จะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงสูง วิธีการสื่อสารกับพวกเขาจึงต้องมีความเฉพาะทางมากขึ้น เช่น กลุ่มผู้ชายและผู้หญิงวัยหนุ่มสาว อายุไม่เกิน 25 ปีที่เป็นกลุ่มคนสนใจฟังเพลง K-Pop เป็นต้น ส่วน Target Audience อาจจะไม่ได้ระบุถึงขั้นว่าฟังเพลงแนวไหน แต่อาจจะระบุว่ามีงานอดิเรกเป็นการฟังเพลง อ่านหนังสือ แบบกว้างๆ กว่า แต่ก็จะมีการลงรายละเอียดในด้านอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้รู้ถึง Buyer Journey ที่ละเอียด
บริษัทสามารถมี Target Audience มากกว่า 1 ได้หรือไม่?
บริษัทสามารถมี Target Audience มากกว่า 1 ได้หากมีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และสามารถทำการสื่อสารถึงพวกเขาได้ครบถ้วน ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ E-Commerce ที่มี Persona ของลูกค้าหลากหลายรูปแบบจากการมีสินค้าหลายประเภท, เว็บไซต์ที่ขายเซอร์วิสที่ก็อาจจะมีทั้งกลุ่มลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย โดยคิดจากแพ็คเกจของบริการที่มี เป็นต้น
ข้อสรุป
สรุปแล้ว Audience Targeting คือ กระบวนการหนึ่งที่ทำให้นักการตลาดและแบรนด์เข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะได้มาเป็นลูกค้ามากขึ้น ผ่านการสำรวจ ค้นหา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง เพื่อเขียนออกมาเป็น Persona ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของ Target Audience ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากนั้นก็จะใช้ Persona มาเป็นตัวตั้งต้นในการวางแผนการตลาดเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เจาะลึกถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ตรงจุด เมื่อพวกเขารู้สึกว่าแบรนด์ของคุณตอบโจทย์สุดท้ายก็จะกลายเป็นลูกค้าของแบรนด์คุณเอง
อ้างอิง
Laura Lake. (2022). What Is a Target Audience?. [Online]. Available from: https://www.thebalancemoney.com/what-is-a-target-audience-2295567
Understanding target audience: definition and types. (2022). [Online]. Available from: https://www.onaudience.com/resources/understanding-target-audience-definition-and-types/