persona

Persona หรือ User Persona คือแนวคิดที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานด้าน Digital Marketing และ Social Media Marketing ในการให้คุณได้จำลองและรู้จักตัวตนที่แท้จริงของทั้งลูกค้าและตัวตนของแบรนด์ (Brand Persona) ซึ่งการกำหนด Persona Target ได้อย่างแม่นยำจะช่วยส่งผลระยะยาวให้กับทำการตลาดของคุณสื่อสารไปหากลุ่มลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

แต่เชื่อว่ายังมีนักการตลาดมือใหม่อีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า Persona ที่แท้จริงเพราะฉะนั้นในบทความนี้เราเลยขอมาอธิบายว่าจริง ๆ แล้ว Persona คืออะไร ทำไมเราควรสร้างผู้ใช้จำลองในการทำการตลาด หากพร้อมแล้ว ไปติดตามกันได้เลย



Persona คืออะไร 

Persona คือการจำลองตัวละครหรือการสร้างต้นแบบให้เป็นตัวแทนของกลุ่มลูกค้าของธุรกิจคุณเพื่อตีกรอบเป้าหมายหรือกลุ่มคนที่จะเข้ามาเป็นลูกค้าเรา เราอาจเรียกว่า Customer Persona, Target Persona หรือ Buyer Persona ก็ได้ ซึ่งทั้งหมดมีความหมายเดียวกัน โดยการจำลอง Persona ขึ้นมาสักหนึ่งคนนั้นเราจะต้องอ้างอิงข้อมูลจากการทำ Research หรือข้อมูลที่ได้จาก Data Analytics ต่างๆ มาเป็นตัวกำหนดเพื่อที่จะได้รู้ว่ากลุ่มคนที่เป็นลูกค้าส่วนใหญ่ของคุณจะเป็นกลุ่มคนประมาณไหน พวกเขามีปัญหาอะไรและมีวิธีแก้ปัญหาในแต่ละเรื่องอย่างไร 


ทำไมนักการตลาดถึงควรใช้ Persona

หากเปรียบการทำธุรกิจเป็นการเดินเรือ การกำหนด Persona ก็คือการตั้งหางเสือเรือ เพื่อบังคับและควบคุมแนวทางของการเดินเรือให้ถูกต้อง นั่นเพราะ Persona จะทำให้คุณมองเห็นภาพว่า สินค้าของคุณทำมาเพื่อสนองความต้องการของใคร และควรสื่อสารกับพวกเขาด้วยวิธีการไหน ทั้งนี้ เพื่อให้คุณมองเห็นภาพมากขึ้น ลองสมมติว่าคุณคือผู้ผลิตโปรแกรมถอดเสียงการประชุมโดย AI และนี่ก็คือความต้องการของลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มของคุณ

ลูกค้ากลุ่ม A: มองหาเครื่องมือช่วยถอดเสียงในการประชุม เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน

ลูกค้ากลุ่ม B: มองหาโปรแกรมช่วยถอดเสียง เพื่อการถอดความที่มีคุณภาพ ลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ (Human Error)

อย่างไรก็ดี คุณจะไม่มีทางเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้เด่นชัด หากไม่ได้รวบรวมข้อมูลของลูกค้าและวิเคราะห์ออกมาเป็น Persona ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จนเข้าใจเป้าหมายเช่นนี้ คุณก็จะสามารถกำหนดแนวทางการตลาดได้ว่า จะสื่อสารกับลูกค้าแต่ละกลุ่มในแง่มุมไหน อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจยิงแอดโดยเน้นสื่อสารว่า โปรแกรมของคุณสามารถถอดเสียงได้กี่คำต่อนาที ช่วยลดเวลาการทำงานลงไปได้เฉลี่ยกี่ชั่วโมงต่อวัน เพื่อสื่อสารกับลูกค้ากลุ่ม A และในขณะเดียวกัน คุณก็สร้างโฆษณาขึ้นมาอีกหนึ่งชิ้น เน้นสื่อสารเรื่องประสิทธิภาพของ AI และความเข้าใจภาษาของมนุษย์ เพื่อยิงแอดไปหาลูกค้ากลุ่ม B เป็นต้น


Persona marketing สำคัญอย่างไร

การทำ Persona Marketing เป็นมากกว่า “สร้างหุ่นจำลองลูกค้า” แต่คือการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล จนสามารถหาวิธีที่ทำให้ทุกคนในทีมมองเห็นภาพเดียวกันได้ ซึ่งทีมในที่นี่ไม่ได้หมายถึงทีมการตลาดอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทีมขายและทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกด้วย กล่าวคือ Persona Marketing ทำหน้าที่เป็นหมุดหมายให้ทีมการตลาดได้ทราบว่า ควรวางแผนการตลาดและจัดทำโฆษณาเพื่อให้ใครดูในขณะเดียวกัน ทีมขายและทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็จะได้ทราบอย่างแน่ชัดว่า กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของใคร ซึ่งข้อมูลนี้จะทำให้พวกเขาสามารถปฏิบัติงานได้ตรงโจทย์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่เพียงการสร้าง Persona ของลูกค้าเท่านั้นที่สำคัญ แต่องค์กรเองก็ควรวาง Persona ของตนเองเอาไว้ด้วย ควรวางหมุดหมายและบทบาทของตัวเองให้ดีว่า จะเป็นภาพแทนของคนกลุ่มไหน ใช้ภาษาในการสื่อสารแบบใด และต้องการให้ทีมงานวางตัวแบบใด เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจและตัดสินตัวตนของแบรนด์ได้ตรงตามที่องค์กรวางแผนไว้


Persona ที่ดีเป็นอย่างไร

ลักษณะของ Persona ที่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนและการออกแบบบทสนทนาที่เหนือชั้น แต่ขึ้นอยู่กับการรวบรวมข้อมูลและทำซ้ำอย่างต่อเนื่องจนสามารถออกแบบ “โปรไฟล์” พื้นฐาน ที่สามารถตอบคำถามสำคัญ ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น

  • ปัญหาของลูกค้าเจ้าของ Persona นี้คืออะไร?
  • ผลิตภัณฑ์ของคุณช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ไหม?
  • หากช่วยได้ ช่วยได้ด้วยวิธีการใด?

หาก Persona ที่คุณออกแบบไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน การทำ Persona ขึ้นมาก็ไร้ความหมาย ทั้งต่อฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด และทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะอันที่จริงแล้วข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ของลูกค้า อาทิ ความชอบ สไตล์ พฤติกรรม ที่อยู่อาศัย ฯลฯ เป็นเพียงข้อมูลแวดล้อมเท่านั้น กุญแจที่สำคัญคือ “ผลิตภัณฑ์จะตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างไร” นั่นเอง


ขั้นตอนการสร้าง Persona 

หลังจากที่เราได้รู้ว่าความหมายของคำว่า Persona คืออะไรกันไปแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือขั้นตอนที่เราจะเริ่มสร้าง Persona ของธุรกิจขึ้นมากันแล้วซึ่งในการสร้าง Persona ที่ดีนั้นห้ามนั่งเทียนคิดขึ้นมาเองเด็ดขาด ควรจะต้องสร้าง Persona ขึ้นมาจากข้อมูลและขั้นตอนที่ถูกต้องซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) 

ขั้นตอนนี้คือขั้นตอนแรกที่จะใช้สำหรับการวิเคราะห์และสร้าง Persona สำหรับธุรกิจที่มีลูกค้าอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรมเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำความเข้าใจว่ากลุ่มลูกค้าหลักของคุณคือใคร ซึ่งจะมีขั้นตอนในการวิเคราะห์อยู่ 3 ขั้นตอนได้แก่

1. รวบรวมข้อมูลลูกค้า 

เริ่มแรกคุณต้องทำการสร้างสมมติฐานของ Persona ของธุรกิจคุณขึ้นมาก่อนอย่างที่บอกไปว่าในการสร้าง Persona นั้นคุณไม่สามารถนั่งเทียนสร้างขึ้นมาได้ ต้องอาศัยการนำข้อมูลจากกลุ่มลูกค้าจริงหรือลูกค้าเก่าของคุณในการเริ่มสร้าง Persona ซึ่งข้อมูลที่คุณจะต้องนำมาจะมีดังนี้

  • Demographic Information

ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ เช่น อายุ เพศ การศึกษา จังหวัดที่อยู่อาศัย อาชีพ สถานะ (โสด/มีครอบครัว) เป็นต้น จะช่วยให้คุณเข้าใจ Background คร่าว ๆ ของกลุ่มเป้าหมายของคุณแล้ว ยังช่วยให้คุณสามารถวางแผนวิธีการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย 

  • Revenue Information

ข้อมูลด้านรายได้ของ Persona ที่คุณสร้างขึ้นซึ่งการกำหนดรายได้หรือข้อมูลด้านการใช้จ่ายให้กับ Persona นั้นจะช่วยทำให้คุณรู้ว่าพวกเขามีกำลังซื้อมากพอที่จะเข้าถึงสินค้า และบริการของธุรกิจคุณหรือไม่

  • Engagement Information

ข้อมูลด้านการสร้างปฏิสัมพันธ์เป็นการจำลองชุดข้อมูลว่าพวกเขามีส่วนร่วมกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณมากน้อยเพียงใดและอาจรวมถึงสิ่งต่าง ๆ เช่นปริมาณการใช้ Social Media ในแต่ละวัน, ความชอบในการซื้อสินค้าประเภทต่าง ๆ ฯลฯ

2. วิเคราะห์ระดับภาพรวม

เมื่อคุณได้กำหนดภาพรวมของ Persona ที่สร้างขึ้นไว้แล้วลำดับต่อมาคือการเริ่มวิเคราะห์ระดับภาพรวมของ Persona ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยในการวิเคราะห์ 5 ปัจจัยที่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของตัวคุณเองและของคู่แข่งดังนี้

  • Number of Customers by Industry – จำนวนลูกค้าทั้งหมดของอุตสาหกรรม
  • Avg. Revenue by Industry – ค่าเฉลี่ยของรายได้ในธุรกิจอุตสาหกรรมเดียวกัน
  • Number of Customers by Employee Size – จำนวนลูกค้าเมื่อเปรียบเทียบกับพนักงานของคุณ
  • Number of Customers by Country – จำนวนลูกค้าในต่างประเทศ (แยกเป็นประเทศ)
  • Avg. Revenue by Employee Size – ค่าเฉลี่ยรายได้ของพนักงานของคุณ

ซึ่งวิธีนี้จะช่วยทำให้คุณสามารถประเมินได้ว่าตอนนี้ Persona ของธุรกิจคุณนั้นมีความเหมาะสมกับขนาดขององค์กรในปัจจุบันของคุณหรือเปล่า เพราะถ้าคุณกำหนด Persona มาแต่ไม่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจก็ไม่สามารถนำ Persona เหล่านั้นไปใช้งานจริงได้

customer persona

3. วิเคราะห์ระดับบุคคล

ขั้นตอนนี้คือการกำหนดกลุ่ม Persona ที่คุณจำลองขึ้นมาให้มีความเป็นบุคคลคนหนึ่งมากขึ้น โดยคุณอาจจะเริ่มจากการกำหนดข้อมูลด้านประชากรศาสตร์อีกรอบแต่ครั้งนี้ต้องกำหนดเฉพาะให้เป็นคนหนึ่งคนขึ้นมาเลย เช่น ชื่อ (จำลองได้) อายุ เพศ, การศึกษา, จังหวัดที่อยู่อาศัย, อาชีพ, สถานะ (โสด/มีครอบครัว) ตำแหน่งงาน, ความชอบส่วนตัว, หน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละวัน ฯลฯ ซึ่งจะทำให้คุณมองเห็นภาพของ Persona คนนั้นชัดเจนมากขึ้น และพร้อมเข้าสู่กระบวนการต่อไป

การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis)

การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) คือกระบวนการที่ 2 ของการสร้าง Persona โดยหลังจากที่เราได้กำหนด Persona ขึ้นมาคร่าว ๆ ในขั้นตอนแรกแล้ว ขั้นตอนนี้ก็คงเปรียบเหมือนการพิสูจน์สมมติฐานว่า Persona ที่คุณคิดนั้นมีความเป็นจริงและเหมือนกับลูกค้าจริง ๆ ที่อยู่ในตลาดปัจจุบันหรือไม่ โดยวิธีการในการพิสูจน์และวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) ก็จะมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

  • ประชาสัมพันธ์การสัมภาษณ์ – อาจลองเริ่มจากการส่งอีเมลไปหา Leads, ประชาสัมพันธ์ผ่าน Facebook Page, LINEOA, ยิงแอด Facebook หรือที่คุณมีหรือจ้างบริษัทรับทำแบบสำรวจเพื่อหากลุ่มลูกค้าทั่วไปที่อยู่ในตลาด
  • ดำเนินการสัมภาษณ์ – เริ่มการสัมภาษณ์คนกลุ่มนั้นเพื่อถามถึงปัญหา ความชอบ พฤติกรรมในการบริโภคของคนกลุ่มนั้น เพื่อหาสมมติฐานมาใช้งานในการสร้าง Persona ต่อไป
  • เขียนคำตอบ – นำคำตอบที่ได้จากการสัมภาษณ์มาบันทึกลงใน Log เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาทำการ Data Analysis สำหรับการสร้าง Persona ต่อไป

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : ยิงแอดคืออะไร (การยิงแอดโฆษณา) , ตัวจัดการโฆษณา Facebook (Facebook Ads Manager)

สร้าง Persona Template (Drafting the Persona)

เมื่อคุณมีความเข้าใจที่ดีว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณคือใครและได้สัมภาษณ์กับพวกเขาแล้วคุณควรมีข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นในการเริ่มร่าง Persona ของคุณขึ้นมาจริง ๆ ดังนี้

ตัวอย่าง persona
  • About Them  – สรุปข้อมูลเกี่ยวกับ Persona รวมถึงบทบาท, อุตสาหกรรม, ขนาดบริษัท ฯลฯ ข้อมูลประชากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยพื้นฐานแล้ว
  • Use Case – สรุปว่า Persona ใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณอย่างไร พวกเขากำลังพยายามทำอะไรให้สำเร็จ ฯลฯ
  • Previous Solution & Pain Points – สรุปว่า Persona ทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้อย่างไรก่อนผลิตภัณฑ์ของคุณ และจุดอ่อนของแนวทางก่อนหน้านั้นคืออะไร
  • Benefits – สรุปประโยชน์หลักที่พวกเขาได้รับจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณ
  • Buying Trigger – สรุปสิ่งที่ทำให้พวกเขาค้นหาผลิตภัณฑ์เช่นคุณ
  • Buying Process – ภาพรวมของกระบวนการทั่วไปที่ผู้คนใช้ในการซื้อผลิตภัณฑ์ของคุณ
  • Choice Factors – ภาพรวมของสิ่งที่พวกเขากำลังมองหาในผลิตภัณฑ์เช่นของคุณ

Tips: ให้คุณ List สิ่งที่ต้องเขียนทั้งหมดลงในเอกสารสักชิ้นที่บันทึกข้อมูลทั้งหมดไว้จะช่วยทำให้คุณวิเคราะห์และสร้าง Persona ได้เร็วขึ้น

ปรับใช้ Persona กับกลุ่มเป้าหมาย (Socializing the Persona)

และขั้นตอนสุดท้ายของการสร้าง Persona ก็คือการนำ Persona ที่คุณได้คิดไว้ใน 3 ขั้นตอนแรกมาใช้งานในการเริ่มสร้างสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของ Persona กลุ่มนั้นและที่สำคัญคือต้องช่วยแก้ Pain Point ในการใช้ชีวิตและการทำงานให้กับพวกเขาได้ 

และเมื่อได้สร้างสินค้าหรือบริการของธุรกิจคุณออกมาตามความต้องการของ Persona เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงช่วงทดลองใช้ก็อย่าลืมในการรับ Feedback ของผู้ใช้งานจริงในช่วงแรกมาพัฒนาปรับปรุงสินค้าและบริการของคุณอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อที่จะทำให้สินค้า และบริการของคุณตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นวิธีสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เติบโตในปัจจุบัน


[ตัวอย่าง Buyer Persona] 

เราจะขอแยกตัวอย่างการทำ Persona ของ 2 ธุรกิจได้แก่ธุรกิจแบบ B2B และ B2C มาให้ทุกคนได้เห็นภาพของ Persona มากขึ้น

ตัวอย่าง Persona สำหรับธุรกิจ B2C

  • Name : Pailin (ไพลิน)
  • Age : 28
  • Occupation : พนักงานการตลาดบริษัทเอกชน
  • Income : 50,000 บาท/เดือน
  • Family : โสด อาศัยอยู่กับพ่อและแม่
  • Location : กรุงเทพมหานคร
  • Education : ปริญญาตรี สาขาการตลาด
  • Quote : ชอบสินค้าที่มีแบรนด์ แต่ไม่ถึงระดับ Luxury ชอบความทันสมัยและเทคโนโลยี ต้องการสินค้าที่เหมาะกับชีวิตในเมือง
  • Goals : ต้องการเป็นผู้นำเทรนด์การใช้สินค้าต่าง ๆ ในสังคมที่ตัวเองอยู่ทั้งกลุ่มเพื่อนและที่ทำงาน
  • Frustration : ใบหน้าแพ้ง่าย มีสิวขึ้นอยู่ตลอดทำให้ต้องเลือกใช้สินค้าที่มีความอ่อนโยนต่อใบหน้า
  • Lifestyle : ติด Social Media ชอบอัปเดตเทรนด์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดชอบไป Hangout กับกลุ่มเพื่อนทุกวันศุกร์ วันเสาร์-อาทิตย์ชอบพักผ่อนอยู่บ้านและไปคาเฟ่ถ่ายรูป รักในการช้อปปิ้งออนไลน์เป็นชีวิตจิตใจ
  • Journey Behavior : อัปเดตข่าวสารสินค้าใหม่ ๆ จากรีวิวใน Social Media เช่น Twitter, Facebook, TikTok ถ้าเจอสินค้าไหนที่สนใจจะนำไปค้นหารีวิวต่อใน Youtube และซื้อออนไลน์ต่อไปเมื่อมั่นใจในสินค้า
  • Social Media : Facebook, Twitter, TikTok, Instagram, LINE และ Youtube
  • Brand They Love : Apple, Dyson, Grab, Lazada
  • Influencer They Love : Pimtha, GoyNattyDream

ตัวอย่าง Persona สำหรับธุรกิจ B2B

  • Name : Sittha
  • Age : 43
  • Job Title : Managing Director
  • Level : Top Management
  • Field : Management
  • Education : Master Degree in Business Management
  • Bio : สิทธา เป็นเจ้าของบริษัท StartUp ด้านพลังงานไฟฟ้า ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังเริ่มขยายฐานสร้างการรู้จักไปทั่วประเทศจากกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมขึ้นมาในยุคปัจจุบัน
  • Job Responsibility : บริหารบริษัทให้เติบโตในทุกด้าน ดูแลเรื่องทีมและรับพนักงานด้วยตัวเอง
  • Job Measurement : ยอดขายและกำไร, ดัชนีความพึงพอใจของลูกค้า
  • Goals : ต้องการให้แบรนด์ของตัวเองเป็น Top Of Mind ของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในอีก 10 ปี
  • Challenge : มีคู่แข่งในตลาดหลายเจ้า ยังไม่มีทีมที่เชี่ยวชาญในการทำงานสเกลใหญ่ระดับประเทศ
  • Organization : 50 คน
  • Industry : อุตสาหกรรมเทคโนโลยีพลังงานทดแทน
  • Report Lines : Team and Business Partner 
  • Information Sources : Google, บทความรายงานวิชาการ
  • Quotes : แม้การเป็น Top of Mind จะยากแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้ เพราะเชื่อว่า Good Things Take Time
  • Day In Life : ประชุมทีม ประชุมกับ Business Partner
  • Social Media : Facebook, LINE, LinkedIn 

Journey Behavior :ติดตามข่าวสารจาก Facebook และอีเมลเป็นหลัก หากสงสัยอะไรจะอ่านบทความหรือรายงานด้านวิชาการเท่านั้น ไม่เชื่อการรีวิวจาก Youtube เพราะเชื่อว่าเป็นการจ้าง


Persona สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

Persona มีความสำคัญต่อการทำการตลาดและการทำธุรกิจทุกประเภท เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณมองเห็นภาพของกลุ่มเป้าหมายสักคนที่มีแนวโน้มในการเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าได้แล้วนั้น Persona ยังมีประโยชน์อื่น ๆ ต่อธุรกิจของคุณดังนี้

  • ทำให้รู้จักและเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Targeting) มากขึ้น ช่วยให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายได้ดี
  • สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เพราะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้าเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย
  • ช่วยให้ทีมงานในองค์กร มีความเข้าใจตรงกันในการทำงานและการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด ทำให้เป้าหมายชัดเจนมากขึ้น
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำโฆษณา การยิงแอด ช่วยวางกลยุทธ์และการตลาดต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
  • สื่อสารได้อย่างตรงจุด นำไปสู่การออกแบบ Content Mapping ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย 
  • ช่วยให้ต่อยอดการสร้าง Customer Journey ได้ง่ายขึ้น
  • ช่วยทำให้การทำการตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Marketing ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ช่วยให้การออกแบบ UX Designing หรือการออกแบบประสบการณ์ในการใช้งานของลูกค้าได้ง่ายขึ้น

Persona แตกต่างจาก Customer Segment อย่างไร 

ต้องอธิบายก่อนว่า Customer Segment คือกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้า ที่เป็นในรูปแบบของกลุ่มใหญ่ ๆ ที่พูดในเชิงภาพรวมยกตัวอย่างเช่น  “ลูกค้าหลักของเราคือกลุ่มนักเรียนอายุ 15-22 ปี ทั่วประเทศไทย” ซึ่งจะมีความแตกต่างกับ Persona ตรงที่ Persona จะมองภาพเป็นคนหนึ่งคนขึ้นมาจริง ๆ ซึ่งจะมีรายละเอียดที่มากกว่า Customer Segment  ยกตัวอย่าง Persona เช่น “นักเรียนมหาวิทยาลัยอายุ 20 ปีพักอาศัยอยู่คอนโดย่านอโศก กรุงเทพ” ซึ่งจะทำให้คุณสามารถสโคปการทำงาน และออกแบบการทำการตลาดได้เหมาะสมกับ Persona ได้ง่ายกว่านั้นเอง

แต่ถ้าหากกลุ่มเป้าหมายของคุณสามารถแบ่งเป็น Segment ย่อย ๆ ได้อีกเพื่อความชัดเจนมากขึ้น คุณก็ควรจะแบ่งออกมาหรือถ้าหากคุณอยากเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นการเปลี่ยนข้อมูลภาพรวมมาเป็นข้อมูลแบบจำลองบุคคลอย่าง Persona จะช่วยให้คุณเข้าใจลูกค้าของคุณชัดขึ้นมากกว่า Customer Segment แน่นอน


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Persona

“Customer Persona” กับ “Buyer Persona” คืออันเดียวกันหรือไม่ ?

จริง ๆ แล้วทั้ง “Customer Persona” กับ “Buyer Persona” คือคำ ๆ เดียวกันมีความหมายเหมือนกันคือ ตัวแทนกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าในอุดมคติทำเป็นส่วนช่วยให้ธุรกิจเห็นภาพการตัดสินใจของลูกค้าและพฤติกรรมต่าง ๆ ทำให้สามารถมองเห็นภาพและความคาดหวังในการซื้อสินค้าใช้งานผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน


สรุป Persona

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลในการสร้าง Persona ที่ธุรกิจของคุณจำเป็นต้องสร้างขึ้นมาในช่วงแรกเพื่อให้สามารถเริ่มการวางแผนการตลาดกลยุทธ์ต่าง ๆ ต่อไปได้อย่างราบรื่นไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์  Content ต่าง ๆ การยิงแอด การประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ

เพราะข้อมูลของ Persona เหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการหรือนักการตลาดมีความเข้าใจที่ตรงกันในกลุ่มเป้าหมายและสามารถเลือกใช้ข้อมูลต่าง ๆ มาทำงานช่วยสร้างให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ในอนาคต

เรียนรู้การสร้าง Content ให้ตอบโจทย์กับ Customer Persona ได้ที่ “คอร์สออนไลน์ เรียน Content Marketing Mastery”


อ้างอิงข้อมูล

Aaron Beashel, The Complete, Actionable Guide to Marketing Personas, https://buffer.com/library/marketing-personas-beginners-guide/ 

Louis Grenier, How to create a simple, accurate user persona in 4 steps without leaving your desk, 18 August 2022, https://www.hotjar.com/blog/user-personas/ 

Pamela Vaughan, How to Create Detailed Buyer Personas for Your Business, 21 Febuary 2022, https://blog.hubspot.com/marketing/buyer-persona-research  


Virtual Try-on บน Google
AI Marketing | Google
Virtual Try-on ฟีเจอร์สำหรับลองเสื้อก่อนซื้อจริงบน Google Shopping

ท่ามกลางกระแส E-commerce ที่กำลังมาแรง Google โปรแกรม Search Engine อันดับ 1 ของโลกจึงกระโดดลงมาเป็นผู้เข้าแข่งขันในสนามนี้บ้าง ด้วยการเปิดตัว Google…

AI Deepfake
AI Marketing
AI Deepfake คืออะไร? ทำไมต้องระวัง เกี่ยวข้องกับมิจฉาชีพอย่างไร

มิจฉาชีพเกิดขึ้นใหม่รายวัน และมักใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ พัฒนากลโกง ให้ไปถึงจุดที่ภาครัฐยากจะจัดการได้ หนึ่งในคือเทคโนโลยี AI Deepfake หรือ เทคโนโลยีปลอมแปลงใบหน้า ที่เป็นข่าวรายวันในช่วง 1…

การตลาดสายเทา
Marketing
การตลาดสายเทาคืออะไร ต่างกับการตลาดสายขาวอย่างไร นักการตลาดต้องรู้!

สำหรับคนที่คลุกคลีกับวงการ Marketing มาสักพัก โดยเฉพาะนักการตลาดที่เน้นทำ SEO เป็นหลัก น่าจะเคยได้ยินคำ 2 คำที่พันผูกกับวงการ SEO มาช้านาน นั่นคือ…