Marketing (กลยุทธ์การตลาด) และ Branding คือ สองคำที่ทุกคนคงคุ้นหูคุ้นตากันดีอยู่แล้ว เพราะคือสิ่งที่ช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวหน้าและอยู่เหนือคู่แข่งได้ในยุคปัจจุบัน แต่ว่าการทำการตลาดและการสร้างแบรนด์นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร หากต้องการทำ Branding จำเป็นต้องทำการตลาดหรือไม่ หรือถ้าต้องการจะสร้างแบรนด์ให้แข็งแรงต้องทำอะไรบ้าง วันนี้ Digital Tips จะพาไปเรียนรู้ว่า การสร้างแบรนด์คืออะไร สำคัญอย่างไร และมีขั้นตอนการทำ Branding อย่างไรได้บ้าง
Branding คืออะไร?
Branding แปลว่า การสร้างแบรนด์ คือ การสร้างตราสินค้าด้วยแผนสำหรับการพัฒนาแบรนด์ที่ใช้ในการสร้างภาพจำของธุรกิจ
โดยหลายคนมักจะเข้าใจว่าเป็นการทำแค่ตั้งชื่อ หรือทำโลโก้ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในขั้นเริ่มต้นของการสร้าง Brand Identity คือ อัตลักษณ์ของแบรนด์ แต่แท้จริงแล้ว การทํา Branding คือ กลยุทธ์ที่ช่วยหาจุดเด่นให้สินค้าหรือบริการเพื่อธุรกิจในทุกๆ มิติ ซึ่งจะต้องผ่านทั้งกระบวนการวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้องค์ประกอบต่างๆ ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อให้แบรนด์รู้ว่า แบรนด์เป็นใคร แบรนด์แตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร มีรูปแบบ คุณสมบัติ คุณประโยชน์อย่างไร เพื่อที่จะนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์กับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการ
Branding กับ Marketing แตกต่างกันอย่างไร
ความแตกต่างระหว่างการสร้างแบรนด์ (Branding) และการตลาด (Marketing) มีอยู่ด้วยกันหลายประการ ดังนี้
เป้าหมายการทำ Branding และ Marketing
เป้าหมายของการทำการตลาดไม่ว่าจะเป็น Digital Marketing หรือ Traditional Marketing จะเป็นการสร้างแคมเปญการตลาด ทั้งคอนเทนต์ กลวิธี กราฟิก ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของแบรนด์สามารถควบคุมได้ และมุ่งหวังให้ช่วยสร้างยอดขายให้ในช่วงใดช่วงหนึ่ง นอกจากนี้ เจ้าของแบรนด์ยังสามารถปรับแผนการทำการตลาดให้เข้ากับแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ เช่น การทำ SEO การทำ Social Media Marketing การออกบูธ ฯลฯ แล้ววัดผลว่า การทำการตลาดเหล่านั้นมีผลลัพธ์อย่างไร หากไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการก็ทำการปรับกลวิธีในการทำการตลาดใหม่ได้เรื่อยๆ
ส่วนการทำ Branding จะเป็นกลยุทธ์ของการสร้างภาพลักษณ์และตัวตนของแบรนด์เป็นหลัก โดยจะเกิดขึ้นได้จากการสื่อสารการตลาด การบริการลูกค้า รวมไปถึงการเข้าใจในจุดสัมผัสของลูกค้า (Customer Touchpoint) และจุดสัมผัสของแบรนด์ (Brand Touchpoint)
การทำ Branding จะมีเป้าหมายเพื่อการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวระหว่างแบรนด์กับลูกค้า ซึ่งเจ้าของแบรนด์จะสามารถกำหนดคุณค่าของแบรนด์ (Brand Values) ได้ แต่ไม่สามารถควบคุมให้ลูกค้ารู้สึกกับแบรนด์ตามที่หวังได้ จนกว่าจะมี Branding ที่แข็งแรงมากพอในสายตาของลูกค้า และลูกค้ากลายเป็น Customer Loyalty ของแบรนด์เอง
กลยุทธ์การสื่อสารของ Branding และ Marketing
การทำ Marketing จะเป็นการทำการตลาดที่ช่วยสื่อสารออกไปว่า แบรนด์กำลังทำอะไร มีคุณค่าและความแตกต่างอย่างไร หรือกำลังจัดกิจกรรมทางด้านการตลาด เช่น จัดโปรโมชันต่างๆ ในเรื่องอะไรบ้าง ทั้งนี้ ก็เพื่อส่งเสริมการขายและโปรโมทเพจหรือโปรโมตแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
แต่การทำ Branding จะเน้นไปที่การสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าด้วยความโดดเด่นที่ไม่เหมือนใครจากคุณค่า ปรัชญา ความเชื่อ วัฒนธรรมบางอย่างที่สามารถส่งมอบให้กับลูกค้าได้ จนทำให้ลูกค้ารับรู้ถึงตัวตนของแบรนด์ รู้จักแบรนด์ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ในที่สุด
ความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า
การทำ Marketing จะเป็นการสานสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะสั้น ด้วยการทำโปรโมชัน จัดกิจกรรม ส่งมอบสิทธิพิเศษที่ทำให้เกิดยอดขายในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เป็นการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้กับเสริมสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ แต่การสร้างแบรนด์จะเป็นการสร้างฐานลูกค้าที่คอยสนับสนุนและติดตามแบรนด์ (Advocacy) ในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้อีกมากเลยทีเดียว
ทำไมการทำ Branding จึงสำคัญ?
ธุรกิจที่สามารถสร้างตราสินค้าหรือ Branding ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนเป็นที่จดจำได้ จะช่วยให้ได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง และช่วยทำให้ธุรกิจสามารถรักษาลูกค้าเอาไว้ได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า และด้วยความที่แบรนด์นั้นมีขอบเขตที่ใหญ่กว่ากิจกรรมทางการตลาดทั้งหมด แบรนด์จึงเป็นสิ่งที่ช่วยในการสะท้อนถึงคุณค่าและความดีงามของแบรนด์ให้ลูกค้ารับรู้ได้ ก่อนที่ลูกค้าจะได้สัมผัสประสบการณ์กับแบรนด์ด้วยซ้ำ
ความสำคัญของ Branding ต่อธุรกิจ eCommerce
องค์ประกอบของแบรนด์หรือ Branding Elements คือ กระบวนการที่ซับซ้อนซึ่งต้องมีการวางแผนและวิธีคำนวณอย่างรอบคอบ เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่ลูกค้าคาดหวัง โดยเฉพาะกับธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และจำเป็นต้องใช้ Branding ในการสร้างความน่าเชื่อให้กับลูกค้าอย่างธุรกิจ E-Commerce ที่ควรจะวางกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ที่ดีก่อน เพื่อทำให้แบรนด์แข็งแรงมากพอที่จะเป็นเกราะป้องกันธุรกิจจากการแข่งขันด้านราคาที่ในตลาด E-Commerce มักใช้ในการดึงเอาลูกค้ามาซื้อสินค้ากับร้านของตนเองมากขึ้น
และนี่คือขั้นตอนสำคัญในการสร้างแบรนด์สำหรับธุรกิจประเภท E-Commerce ที่เรานำมาฝากกัน
- ทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้า
หากต้องการสื่อสารให้คนรู้จักแบรนด์ก็จะต้องทำความเข้าใจลูกค้าให้ดีเสียก่อน ด้วยการรู้ Insight คือ ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าเป็นอย่างไร เช่น พวกเขาชอบอะไร อะไรเป็นแรงจูงใจและดึงดูดพวกเขา พวกเขาชอบอะไรเกี่ยวกับแบรนด์ เป็นต้น
- ทำการกำหนด Brand Persona
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Persona ของลูกค้ามาก่อน แต่นี่จะเป็นการทำ Persona ให้กับแบรนด์ โดยจะเป็นการหาบุคลิกของธุรกิจที่จะใช้ในการมอบประสบการณ์ให้กับลูกค้า โดยจะต้องใช้ข้อมูล Insight ของลูกค้าที่หามาได้ แล้วนำมาวิเคราะห์ต่อว่า จะใช้น้ำเสียงแบบไหนในการพูดคุยกับพวกเขา ใช้ภาพแบบไหนจึงจะดึงดูดใจของพวกเขา และควรมีบุคลิกอย่างไรจึงจะตรงใจพวกเขามากขึ้น
- ให้คำมั่นสัญญาต่อลูกค้า
เพื่อให้แบรนด์ดูน่าเชื่อถือและมีคุณค่า แบรนด์ควรที่จะสามารถให้คำมั่นสัญญาที่สามารถทำได้กับลูกค้า เพื่อให้พวกเขาเชื่อใจและรักในความเป็นแบรนด์มากขึ้น เช่น สินค้า/บริการจะช่วยทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้อย่างไร และจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้อย่างไรบ้าง ซึ่งจากผลสำรวจระบุว่า 66% ของผู้บริโภคคิดว่าความโปร่งใสเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่น่าดึงดูดที่สุดของแบรนด์เลยทีเดียว
- สร้าง CI Branding
CI Branding คือ อัตลักษณ์ของแบรนด์ที่กำหนดไว้เพื่อการทำ Marketing และเพื่อสร้างการจดจำให้กับผู้บริโภค ธุรกิจ E-Commerce ควรให้ความสำคัญกับการทำ CI Branding ในด้านการมองเห็น เช่น การออกแบบเว็บไซต์ การออกแบบฟอนต์ การออกแบบโลโก้ การทำโฆษณา การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การใช้ Brand Ambassador ฯลฯ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าสายชอปปิงในตลาด E-Commerce นั้นมีแบรนด์มากมายที่ผ่านสายตา การที่ออกแบบ CI Branding ที่ดึงดูดสายตาจะช่วยเพิ่มโอกาสที่ลูกค้าจะจำแบรนด์ได้ถึง 80%
อ่านเพิ่มเติม : Brand Ambassador คือใคร จะเลือกใช้อย่างไรดี
- ออกแบบ Customer Experience ที่ดี
ถึงแม้ว่าแบรนด์จะไม่สามารถควบคุมให้ลูกค้ารู้สึกกับแบรนด์ในมุมที่แบรนด์ต้องการได้ทั้งหมด แต่ก็ควรที่จะพยายามในการตอบสนองต่อ Customer Journey คือ เส้นทางของลูกค้าตั้งแต่ก่อนจะเป็นลูกค้า จนตัดสินใจซื้อ รวมถึงการกลับมาซื้อสินค้าด้วยการสร้าง Customer Experience ที่ดีและสอดคล้องกับคำมั่นสัญญาของแบรนด์ เช่น การออกแบบนโยบายที่ทำให้ลูกค้าได้รับประโยชน์อย่างนโยบายการคืนสินค้า การเตรียมการจัดส่ง การสื่อสารการตลาดทางอีเมล และอื่นๆ รวมถึงสร้างสิ่งเร้าทางการตลาดที่กระทบต่อกระบวนการตัดสินใจซื้อ (4P) ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ด้วย
อ่านเพิ่มเติม : 4P คืออะไร
- ส่งมอบสิ่งที่ดีกลับไป
การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์แข็งแกร่งขึ้นได้อย่างมาก ดังนั้น แบรนด์จึงไม่ควรที่จะลืมส่งมอบสิ่งที่ดีกลับไปให้ลูกค้าตามวาระโอกาสที่เหมาะสม ด้วยการทำ CRM คือ การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management) เช่น การมอบโปรโมชันพิเศษให้ เสนอของขวัญฟรีเป็นครั้งคราวหรือขยายส่วนลด เป็นต้น
Branding Strategy หรือกลยุทธ์การสร้างแบรนด์มีอะไรบ้าง
Branding Strategy : กลยุทธ์การสร้าง Storytelling
กลยุทธ์การสร้าง Storytelling เป็นการเล่าเรื่องแบรนด์เพื่อใช้ในการสื่อสารในช่วงเวลาสำคัญ มักจะเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาของแบรนด์ ความเชื่อ ค่านิยม ความรู้สึก ประโยชน์ของสินค้า และวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจ ซึ่งการเล่าเรื่องโดยการใช้ Storytelling จะเป็นการบอกเล่าให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์มากขึ้น อาจจะช่วยให้ได้รับแรงบันดาลใจและรู้สึกเชื่อมโยงกับแบรนด์ได้ในระดับลึกซึ้งด้วย
ยกตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้กลยุทธ์การสร้าง Storytelling เช่น Apple ที่เปิดตัวอุปกรณ์ Home Pod แล้วใช้วิดีโอในการเล่าเรื่องผ่านตัวละครหญิงที่เป็นตัวแทนของคนทำงาน เมื่อใช้ Home Pod แล้วก็เหมือนได้เปิดประสบการณ์การฟังเพลงที่ช่วยเปลี่ยนวันน่าเบื่อให้สดใสมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงค่านิยมของ Apple ที่สร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างความสุขให้กับผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี
ศึกษาการสร้าง Storytelling ให้โดดเด่นกับ “คอร์สเรียน Content Marketing Mastery”
Branding Strategy : กลยุทธ์การทำ Brand Voice
Brand Voice หรือน้ำเสียงของแบรนด์ที่ใช้ในการสื่อสารกับลูกค้าผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแบบ B2B หรือ B2C ก็ต้องทำการกำหนดเสียงของแบรนด์ให้ชัดเจนว่า แบรนด์จะสื่อสารกับลูกค้ายังไง ด้วยลักษณะการพูดแบบไหน ด้วยน้ำเสียงแบบไหนใน Context ไหน ด้วยลักษณะการพูดยังไง และต้องคำนึงด้วยว่า Brand Voice นั้นเข้ากับค่านิยม ความเป็นแบรนด์ หรืออัตลักษณ์ของแบรนด์หรือไม่ เพื่อที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์นั้นมีชีวิตและจับต้องตัวตนของแบรนด์ได้มากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม : ธุรกิจ B2B คืออะไร
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ครีมกันแดด Sunbum ที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้คนที่รักแสงแดดเป็นชีวิตจิตใจ เสียงของ Sunbum จึงมีความเป็นกันเองและกระตือรือร้น เหมาะกับคนที่ชอบทำ Activity กลางแจ้งที่ดูสดใส หรือแม้แต่สโลแกนเองก็มีน้ำเสียงที่สะท้อนออกมาถึงการบอกให้ออกไปใช้ชีวิตมากกว่าการอุดอู้อยู่ในห้องทำงาน เช่น ‘Work Less Live More’ เป็นต้น
Branding Strategy : กลยุทธ์การทำ Brand Design
การที่จะเลือกใช้กลยุทธ์ทางการตลาด โดยเฉพาะการทำ Inbound Marketing คือ การตลาดแบบแรงดึงดูดที่เน้นดึงดูดลูกค้าที่ใช่เข้ามาหาแบรนด์ด้วยตนเอง แบรนด์จำเป็นที่จะต้องทำการบ้านเรื่อง Brand Design ให้ดีและมีคุณภาพ เนื่องจาก Brand Design คือวิธีการสื่อสารแบรนด์วิธีแรกๆ ที่ส่งไปหากลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วมากที่สุด รวมถึงยังเป็นวิธีที่ทำให้ลูกค้าหันมาสนใจแบรนด์ของคุณได้เร็วที่สุดอีกด้วย โดยการทำ Brand Design สามารถใช้งานได้ในหลายที่ทั้งรูปทรง ฉลาก สี บรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ ซึ่งการออกแบบแบรนด์ที่ดีจะช่วยสะท้อนมุมมองของแบรนด์และรสนิยมของผู้ใช้แบรนด์ได้ด้วย
ซึ่งการทำ Brand Design จะต้องทำออกมาเป็นคู่มือที่ทุกคนสามารถหยิบไปดูและใช้งานอย่างถูกต้องได้ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์ได้ในทุกที่ไม่ว่าจะเป็น Paid Media, Owned Media หรือ Earn Media ก็ตาม
ยกตัวอย่าง Brand Design ตามผลิตภัณฑ์หรือช่องทางต่างๆ ที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ความเป็นแบรนด์ได้อย่างดี
Branding Strategy : กลยุทธ์การทำ Brand Values
Brand Value หรือคุณค่าของแบรนด์ อาจเป็นคุณค่าที่จับต้องไม่ได้โดยตรง แต่ผู้บริโภคมีความรู้สึกกับตราสินค้านั้นได้ เช่น ความรู้สึกเชื่อถือ เชื่อมั่น ฯลฯ โดยมักจะเกิดขึ้นเมื่อเครือข่ายของคุณค่าระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคเห็นพ้องต้องกันในคุณค่าดังกล่าว และถ้าแบรนด์มีคุณค่ามากขึ้น ลูกค้าก็จะซื้อแบรนด์ของคุณอย่างต่อเนื่อง ซื้อแบรนด์ของคุณมากกว่าคู่แข่ง และแนะนำแบรนด์ของคุณให้ญาติพี่น้องและเพื่อนของเขาต่อไป ยกตัวอย่าง Brand Value เช่น กลุ่มธุรกิจที่ทำตลาดแบบ Niche Market อย่างคนรักรถมอเตอร์ไซค์ที่มักจะส่งต่อคุณค่าของการขับขี่รถจักรยานยนต์ให้แก่กันและกัน เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติมว่า Niche Market คืออะไร
ขั้นตอนการทำ Branding
สำหรับขั้นตอนการทำ Branding จะขอแบ่งออกเป็นขั้นตอนง่ายๆ ทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้
- การทำ Market Research
การทำ Market Research เป็นกระบวนการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้บริโภค เพื่อให้ธุรกิจสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้สร้างโอกาสที่เป็นไปได้ให้กับการทำแบรนด์มากขึ้น โดยธุรกิจจะต้องทำความเข้าใจในธุรกิจและอุตสาหกรรม คู่แข่ง ไปจนถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะได้มาเป็นลูกค้า นอกจากนี้ จะต้องทำการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสม เพื่อสร้าง Branding ที่เหมาะสำหรับเจาะในตลาดที่ต้องการอีกด้วย
- วางแผนทำ Brand Strategy
Branding Strategy คือ กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ในระยะยาวที่ช่วยทำให้แบรนด์สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจได้ โดยการทำ Data Analytic คือ การวิเคราะห์ข้อมูล ร่วมกับการวิเคราะห์ธุรกิจ เช่น การทำ SWOT คือ การวิเคราะห์หาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของธุรกิจ, การวิเคราะห์คู่แข่ง การวิเคราะห์ลูกค้า แล้วนำมาวางเป็น Branding Strategy ซึ่งจะมีกลยุทธ์การทำอยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบ ได้แก่
- การสร้าง Storytelling
- การทำ Brand Voice
- การทำ Brand Design
- การทำ Brand Values
- การสร้าง Brand Identity
Brand Identity คือ อัตลักษณ์ของแบรนด์ที่มองเห็นได้ เช่น ชื่อ (Name), น้ำเสียง (Tone of Voice), โลโก้ (Logo), สี (Colors), สโลแกน (Tagline), สัญลักษณ์ (Symbols), รูปภาพ (Imagery), ตัวหนังสือ (Typography) หรือรูปลักษณ์ (Visual Appearance) ที่สื่อถึงความเป็นแบรนด์และสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากคู่แข่ง ทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำในสายตาของลูกค้า
- การวาง Style Guide
หลังจากที่มี Brand Identity ที่ชัดเจนก็ต้องส่งต่อ Brand Identity ให้กับทุกคนได้ใช้งานอย่างถูกต้อง จึงเป็นที่มาของการทำ Style Guide สำหรับแบรนด์ เช่น วิธีการใช้โลโก้ การวางฟอนต์ โค้ดสีที่ใช้ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารของแบรนด์ออกไปในทิศทางเดียวกัน และทำให้ภาพจำของแบรนด์ชัดเจนมากขึ้น
- เริ่มต้นทำ Brand Awareness
เมื่อผ่านขัั้นตอนการสร้างแบรนด์ทั้งหมดแล้วจะเป็นส่วนของการสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ (Brand Awareness) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ Strategy ที่เลือกใช้ รวมถึงแพลตฟอร์มที่เลือกนำเสนอแบรนด์ด้วยว่าเป็นแพลตฟอร์มใด เพื่อนำส่งสื่อของแบรนด์ที่มีอยู่ไปหาลูกค้าได้อย่างเหมาะสมมากที่สุดนั่นเอง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Branding
Branding กับ Brand แตกต่างกันอย่างไร
Brand คือ ตราสินค้าที่อาจเป็นชื่อ เงื่อนไข เครื่องหมาย สัญลักษณ์หรือการรวมตัว ของสิ่งเหล่านี้ที่ช่วยแสดงให้เห็นตัวตนขององค์กรหรือสินค้านั้นๆ อีกทั้งยังช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้แบรนด์มีความแตกต่างจากคู่แข่ง
ส่วน Branding คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตราสินค้ากับผู้บริโภค โดยจะสื่อสารผ่านการทำ Branding Marketing คือ การทำการตลาดเพื่อสื่อสารว่าแบรนด์กำลังจะทำอะไร แบรนด์ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบไหน (7P/Inbound/Outbound/4P ฯลฯ) หรือมีกิจกรรมทางการตลาดใดบ้าง โดยอาจจะทำผ่านการโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการขาย พนักงานขาย และอื่นๆ
CI Branding คืออะไร
CI Branding คือ อัตลักษณ์แบรนด์ ย่อมาจาก Corporate Identity หรือ Brand Identity สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดและเพื่อสร้างการจดจำความเป็นตัวตนของแบรนด์ให้กับผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ CI Branding ยังช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของธุรกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทีมงานที่ทำงานก็จะได้มีมุมมองต่อแบรนด์ที่ชัดเจนจนสามารถสื่อสารออกไปในทิศทางเดียวกันได้ง่ายขึ้นด้วย
สรุปเนื้อหาเกี่ยวกับ Branding
Digital Branding คือ กลยุทธ์ที่ขาดไม่ได้แล้วในปัจจุบัน เพราะการสร้างแบรนด์ในยุคนี้ไม่ใช่แค่การเห็นและรับรู้กันแบบปากต่อปาก หรือโฆษณาตามช่องทางสื่อดั้งเดิมอีกต่อไป แต่ได้ก้าวข้ามผ่านมาเป็นการสร้าง Branding บนเครือข่ายดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น การสื่อสารแบรนด์ที่ทันสมัยและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้แบรนด์สามารถเอาชนะคู่แข่งด้วยกลยุทธ์และขั้นตอนการสร้างแบรนด์ที่แยบยล จนสามารถยึดครองพื้นที่หัวใจของผู้บริโภคได้ตราบนานเท่านาน
เอกสารอ้างอิง
Oberlo. (n.d.). What is Branding. [Online]. retrieve from: https://www.oberlo.com/ecommerce-wiki/branding
Alexa Collins. (2022). What Is Brand Strategy? Definition and Guide. [Online]. retrieve from: https://www.shopify.com/blog/brand-strategy#:~:text=A%20brand%20strategy%20is%20the,brand%20values%2C%20and%20overall%20vibe