คุณเคยรู้สึกตื่นเต้นไปกับป้ายโฆษณาใหญ่ ๆ และนึกอยากมองเห็นชื่อแบรนด์ของตัวเองไปปรากฏอยู่บนป้ายโฆษณาเหล่านั้นหรือไม่ สิ่งนั้นอาจเกิดขึ้นจริงสักวันหนึ่งก็ได้ หากคุณทำความรู้จักกับสื่อประเภท Out Of Home ลงมือทำ และเตรียมพร้อมเรื่องงบประมาณให้ดี เริ่มก้าวแรกด้วยการเรียนรู้จากบทความนี้ ถ้าพร้อมแล้ว ลุยเลย!
Out Of Home (OOH) คืออะไร
ที่มา: https://www.vistarmedia.com/blog/what-is-dooh
Out Of Home คือ สื่อโฆษณานอกบ้านทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นป้ายบิลบอร์ดขนาดยักษ์ ป้ายโฆษณาแบบ Digital Signage ในห้าง ป้ายกล่องไฟ ป้ายนีออน โฆษณาบนรถเมล์ รถไฟฟ้า ม้านั่ง และโปสเตอร์ที่ติดอยู่ข้างถนน และด้วยวิวัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นในปัจจุบัน สื่อ Out Of Home ส่วนมากจึงถูกผนวกรวมกับเทคโนโลยีน่าทึ่งมากมาย เราจึงได้เห็นโฆษณา 3 มิติบนจอ LED ขนาดใหญ่ หรือป้ายดิจิทัลเล็ก ๆ ข้างทางที่เหมือนงานอาร์ตอันทรงพลัง
Out Of Home (OOH) มีกี่ประเภท
เราสามารถแบ่งสื่อ Out Of Home แบบคร่าว ๆ ได้ทั้งสิ้น 7 ประเภท ตามสถานที่แสดงโฆษณา ดังนี้
- ป้ายโฆษณาแบบบิลบอร์ด: เป็นสื่อ Out Of Home แบบดั้งเดิมที่ยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน มีทั้งบิลบอร์ดสูง ๆ ตามถนนเส้นใหญ่ ๆ และบิลบอร์ดแบบดิจิทัลตามตึกใหญ่ ๆ ใจกลางเมือง
- โฆษณาบนฝาผนัง: โปสเตอร์ไวนิลที่ใช้ติดแนบชิดไปกับผนัง หรืองานจิตรกรรมที่ตั้งใจวาดขึ้นเพื่อการโฆษณาโดยเฉพาะ
- โปสเตอร์: สื่อ Out Of Home ที่พบเจอได้ง่ายที่สุด ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด แต่ก็สร้าง Impact ได้น้อยที่สุดเช่นกัน คุณสามารถพบโปสเตอร์ได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นป้ายรถเมล์ วัด ตลาด ร้านค้า โรงพยาบาล หรือแม้แต่โรงเรียน
- โฆษณาบนเฟอร์นิเจอร์ริมถนน: มักพบตามม้านั่ง เสาไฟ ตู้โทรศัพท์ หรือป้ายโฆษณาธรรมดา ๆ ที่ส่องสว่างด้วยหลอดไฟนีออนจากด้านในป้าย
- โฆษณาตามขนส่งมวลชน: สติกเกอร์โฆษณาเล็ก ๆ ที่ติดอยู่บนเบาะนั่งของรถเมล์ ราวจับบนรถไฟฟ้า หรือวอลล์เปเปอร์โฆษณาที่ปิดแนบกับตัวรถขนส่งสาธารณะ เพื่อดึงดูดผู้ชมตามท้องถนน
- โฆษณาตามสนามกีฬา: โลโก้สินค้าที่มักปรากฏตามป้ายบอกคะแนน เก้าอี้ผู้ชม หรือสปอตโฆษณาที่ฉายในสนามซ้ำไปซ้ำมา
- โฆษณาในห้างสรรพสินค้า: ห้างสรรพสินค้าก็เป็นอีกที่ที่พบสื่อแบบ Out Of Home ได้บ่อยที่สุด แทบจะทุกที่ ตั้งแต่ที่จอดรถ ประตูเข้าห้าง ถังขยะ ในห้องน้ำ หรือแม้แต่เสียงตามสาย
Out Of Home (OOH) มีประโยชน์อย่างไร
แน่นอนว่าสื่อแบบ Out Of Home ส่วนมาก จำเป็นต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง จึงมีแบรนด์เล็ก ๆ น้อยมากที่เลือกโปรโมทสินค้าผ่านสื่อประเภทนี้ แล้วอะไรคือข้อดีของ Out Of Home ที่ดึงดูดให้แบรนด์ใหญ่ ๆ ทุ่มงบประมาณกันล่ะ?
ที่มา: https://tnbvietnam.edu.vn/interior-transit-advertising-zlpwxb0f/
1. ทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อแบบเรียลไทม์
ในการจัดทำสื่อนอกบ้านหรือ Out Of Home แบรนด์จะต้องให้ความสำคัญกับตำแหน่งที่โฆษณาจะไปปรากฏด้วย ยกตัวอย่างเช่น คลินิกแห่งหนึ่งต้องการเพิ่มจำนวนลูกค้าขาจร จึงซื้อพื้นที่บนป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ตรงทางด่วนใกล้คลินิก เพื่อให้คนที่มองเห็นป้าย สนใจโปรโมชัน แล้วขับลงจากทางด่วนตรงเข้าคลินิกทันที หรือแอปพลิเคชันขายเครื่องสำอาง ที่ต้องการเพิ่มจำนวน New User จำนวนมาก จึงซื้อพื้นที่โฆษณาภายในรถไฟฟ้า แล้วกระจาย QR Code สำหรับสแกนเพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไว้ในโฆษณาด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้โฆษณา Out Of Home บรรลุเป้าหมายได้แบบเรียลไทม์ และทำงานได้ตลอดตราบเท่าที่ยังไม่หมดเวลาแสดงโฆษณา
2. กระตุ้นอารมณ์ร่วมและสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภค
สื่อแบบ Out Of Home ที่ออกแบบอย่างเฉียบคมดุจงานศิลปะ และกระจายไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ย่อมทำให้ผู้คนที่เดินผ่านรู้สึกประหลาดใจ สนใจ บางคนอาจถึงขนาดยกสมาร์ทโฟนขึ้นมาถ่ายรูปเพื่อโพสต์ลง Social Media จุดกระแสให้แคมเปญนั้น ๆ ของแบรนด์โด่งดังได้ง่าย ๆ ภายในไม่กี่วัน
สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
แบรนด์ที่ปรากฏตัวให้ผู้บริโภคเห็นเสมอทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ย่อมสะท้อนสภาพคล่องทางธุรกิจของแบรนด์ และทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า/บริการได้มากกว่าแบรนด์ที่พวกเขาไม่คุ้นเคย ดังนั้น การเลือกใช้โฆษณาแบบ Out Of Home จึงเป็นหนึ่งในยุทธวิถีสำหรับรักษาพื้นที่การตลาดของตัวเองเอาไว้
ปี 2023 แล้ว สื่อแบบ Out Of Home (OOH) ยังจำเป็นอยู่ไหม
สถิติจาก Statista ระบุว่า ในปี 2023 การใช้จ่ายด้านสื่อโฆษณาแบบ Out Of Home จะสูงขึ้นถึง 38.41 พันล้านเหรียญ โดยตลาดที่ใหญ่ที่สุดก็คือการใช้สื่อ Out Of Home ในรูปแบบดั้งเดิม (ป้ายบิลบอร์ด) คิดเป็น 20.87 พันล้านเหรียญ และมีแนวโน้มว่าการใช้จ่ายเพื่อจัดทำสื่อแบบ Out Of Home จะยังมีต่อไป นั่นหมายความว่า แบรนด์ต่าง ๆ ยังคงให้ความสำคัญกับสื่อประเภทนี้ และการทำป้ายบิลบอร์ดใหญ่ ๆ ก็ยังคงให้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างน่าพอใจ
ตัวอย่างผลงาน Out Of Home (OOH) สุดเจ๋ง ที่ใครเห็นเป็นต้องดู!
ปิดท้ายกันด้วยงาน Out Of Home ชื่อดัง ที่ถูกใจทั้งสายงานอาร์ตและงานโฆษณา มาดูกันว่า Out Of Home สามารถระเบิดไอเดียสร้างสรรค์ได้ไกลแค่ไหน!
ที่มา: https://www.upshow.tv/resources/blog/7-out-of-home-advertising-examples-to-spice-up-your-campaign
ป้ายไฟ LED ของแบรนด์กูลิโกะใจกลางโอซาก้า ที่กลายเป็นจุดเช็กอินของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และปรากฏเป็นฉากสำคัญในซีรีย์และการ์ตูนอนิเมชันชื่อดังของญี่ปุ่นหลายเรื่อง
ที่มา: https://www.lurity.com/en/blog/4-useful-hints-your-out-home-advertising-creative
ป้ายบิลบอร์ดโฆษณายาสีฟัน Formula ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของฟันได้ตั้งแต่วินาทีแรกอย่างน่าทึ่ง
ที่มา: https://medium.com/wix-com/guerilla-marketing-examples-aefd01d539c7
ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บนพื้นที่ถูกหยิบยกให้เป็นตัวอย่างของการทำ Guerilla Marketing บ่อยครั้ง สะท้อนพลังของ Out Of Home ว่านอกจากจะไม่จำเป็นต้องมองเห็นได้จากด้านบนของคนเสมอไปแล้ว ยังสามารถทำให้คนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโฆษณาได้อีกด้วย
ปิดท้ายกันที่สื่อ Out Of Home 3 มิติใจกลางกรุงลอนดอน ที่สื่อให้เห็นความน่าสะพรึงกลัวของภาพยนตร์เรื่องใหม่ในแอปพลิเคชัน Amazon Prime ทำเอาอยากจะกดโหลดแอปเสียตอนนี้เลยทีเดียว!
สรุป
งานโฆษณาแบบ Out Of Home หรือ OOH ยังคงมีชีวิตต่อไปในปี 2023 แต่อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบให้น่าสนใจขึ้น โดยผนวกกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มดีกรีความน่าตื่นตาตื่นใจ อย่างไรก็ดี สื่อ Out Of Home ที่ประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องมีเทคนิคพิเศษเสมอไป แค่โปสเตอร์หรือภาพนิ่งธรรมดา ๆ ก็สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชมได้ แค่ต้องใช้ “ไอเดีย” ในการนำเสนอเท่านั้น
อ้างอิง
TAMOCO. Out Of Home Advertising (OOH) – All You Need To Know In 2023
Available from: https://www.tamoco.com/blog/out-of-home-advertising-ooh/
billups. 10 Types of OOH Advertising that Get Results with Examples
Available from: https://www.billups.com/articles/10-type-of-ooh-advertising-that-get-results-with-examples