คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ปัจจุบันการโปรโมทสินค้าและบริการผ่าน Social Media ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีอัตราการแข่งขันสูง ทุกแบรนด์ที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกัน และทำคอนเทนต์ลงบน Social Media เหมือนกันจึงกลายเป็น “คู่แข่งทางการตลาด” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางเดียวที่คุณจะมีสิทธิ์เป็นผู้ชนะในเกมการตลาดนี้ คือการเก็บข้อมูลคู่แข่ง และนำมาวิเคราะห์ให้ได้มากที่สุด ในบทความนี้ Digital Tips จึงรวบรวมเทคนิคการวิเคราะห์คู่แข่ง หรือ Competitor Analysis มาฝากคุณ มาติดตามไปพร้อม ๆ กันได้เลย!
Competitor Analysis คืออะไร?
การวิเคราะคู่แข่ง หรือ Competitor Analysis คือ การระบุตัวคู่แข่งทางการตลาดผ่านการรวบรวมข้อมูล และนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ในเชิงลึก โดยนอกจากการระบุให้รู้แน่ชัดว่าคู่แข่งทางการตลาดของธุรกิจคุณคือใครแล้ว เป้าหมายของการทำ Competitor Analysis ยังรวมถึงการศึกษาวิธีการวางกลยุทธ์การตลาดของคู่แข่งเหล่านั้น การเปรียบเทียบยอดขาย ส่วนแบ่งทางการตลาด ความนิยม และราคา ตลอดจนการสรุปจุดอ่อน-จุดแข็ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับแบรนด์ของตัวเองด้วย
Competitor Analysis สำคัญกับการวาง Social Media Strategy อย่างไร?
ปัจจุบันการทำคอนเทนต์ลงบน Social Media มีการแข่งขันสูงมาก และการวิเคราะห์คู่แข่ง หรือ Competitor Analysis คือวิธีการเดียวที่จะทำให้คุณสามารถล่วงรู้ได้ว่า “คู่แข่งเดินทางเข้าใกล้เส้นชัยมากแค่ไหนแล้ว” และนี่ก็คือ 4 คุณประโยชน์ของการทำ Competitor Analysis ที่มีผลต่อการวาง Social Media Strategy
- ได้เก็บข้อมูลสำคัญของฝั่งคู่แข่ง เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดต่อไปในอนาคต
- สามารถคาดเดาแนวทางการทำคอนเทนต์ได้ จากการสำรวจว่าคอนเทนต์ใดที่คู่แข่งมักจะทำ หรือคอนเทนต์ใดที่คู่แข่งทำแล้วมักจะได้ Engagement สูง ๆ
- ในทางกลับกัน นอกจากจะคาดคะเนแนวคอนเทนต์ที่ควรทำแล้ว ยังสามารถคาดเดาแนวคอนเทนต์ที่ไม่ควรทำ โดยศึกษาบทเรียนจากคู่แข่งได้อีกด้วย
- ได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับ Brand Positioning ชัดเจนขึ้น ว่าความนิยมของแบรนด์เราจัดอยู่ในระดับไหนเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
>> ทำความเข้าใจเรื่อง Brand Positioning ผ่านบทความ รู้จักกับ STP Marketing บันไดขั้นแรกของการทำ Social Media Marketing
รวม 5 วิธีวิเคราะห์คู่แข่ง (Competitor Analysis)
หากคุณเริ่มมองเห็นความสำคัญของการทำ Competitor Analysis และอยากลองวิเคราะห์คู่แข่งด้วยตนเองก่อนวาง Social Media Strategy นี่คือ 5 แนวทางง่าย ๆ ที่คุณสามารถทำตามได้เลยตอนนี้!
1. รวบรวมรายชื่อคู่แข่งให้ได้มากที่สุด
แน่นอนว่าการวิเคราะห์คู่แข่งให้แม่นยำที่สุด จะต้องไม่ใช้ข้อมูลของคู่แข่งเพียงเจ้าเดียว ดังนั้น เราแนะนำให้คุณเก็บรวบรวมรายชื่อของคู่แข่งให้ได้มากที่สุด โดยอาจเริ่มจากการพิมพ์ประเภทธุรกิจลงบน Search Engine แล้ว List รายชื่อธุรกิจมา จากนั้นนำชื่อธุรกิจไปค้นหาใน Social Media แพลตฟอร์มต่าง ๆ อีกครั้ง เพื่อ Re-check ว่าธุรกิจใดทำคอนเทนต์ลงบน Social Media บ้าง เพราะที่สุดแล้ว พวกเขาก็คือคู่แข่งทางการตลาดของคุณ
ที่มา: https://eshopdocs.joomservices.com/getting-started/browsing-the-front-end/products-comparison-page
2. เปรียบเทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์
หลังจากที่สามารถสร้าง List รายชื่อคู่แข่งทางการตลาดได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือการลองสำรวจว่าสินค้า/บริการที่พวกเขากำลังจำหน่ายมีอะไรบ้าง พยายามบันทึกภาพ ชื่อรุ่น คุณสมบัติ วิธีใช้ และราคามาอย่างละเอียด (แนะนำให้บันทึกข้อมูลในตาราง Excel) เพื่อให้คุณได้เห็นภาพว่า ขณะนี้คู่แข่งของคุณกำลังขายอะไร เหมือนหรือแตกต่างกับคุณอย่างไร และที่สำคัญ สินค้า/บริการเหล่านั้น มีโอกาสตีตื้นขึ้นมาชนะแบรนด์ของคุณหรือไม่
3. สำรวจแนวทางการทำคอนเทนต์
เมื่อทราบแล้วว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเหมือนหรือแตกต่างกับแบรนด์ของคุณอย่างไร ขั้นตอนต่อไป ก็คือการสำรวจดูแนวทางการทำคอนเทนต์บน Social Media ทุก ๆ แพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, TikTok, Twitter, Youtube หรือแม้แต่ LINE OA ซึ่งประเด็นที่คุณควรเก็บข้อมูลไว้ มีดังนี้
- รูปแบบคอนเทนต์ (Format) ที่พวกเขาเลือกใช้ อาทิ Single Post, Album Post, VDO, Reels, Stories เป็นต้น
- แนวทางคอนเทนต์ เช่น คอนเทนต์ให้ความรู้ (Educational Content), คอนเทนต์รีวิว (Review Content), คอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Content) เป็นต้น
- ความถี่ของการโพสต์แต่ละคอนเทนต์
- คอนเทนต์ที่พวกเขามักจะเลือกยิงแอด สามารถเช็กได้จากฟีเจอร์ Page Transparency หรือ Ad Library (อ่านต่อได้ที่: Page Transparency คืออะไร มีประโยชน์ต่อการศึกษาคู่แข่งอย่างไร)
4. วิเคราะห์กระแสตอบรับในการทำคอนเทนต์
เพื่อวิเคราะห์ต่อไปว่า คอนเทนต์แบบใดที่คู่แข่งทำแล้วประสบความสำเร็จ หรือไม่ประสบความสำเร็จ แนะนำให้คุณสังเกตการณ์ผลลัพธ์ของการทำคอนเทนต์บน Social Media ของคู่แข่งด้วย ตัวอย่างเช่น ลองเก็บสถิติดูว่า ในรอบ 3-6 เดือน คอนเทนต์ใดบนช่องทางของพวกเขาที่มียอดไลก์ ยอดแชร์ หรือยอดคอมเมนต์สูงที่สุด และในทางกลับกัน คอนเทนต์แบบใดที่ทำแล้วมีกระแสตอบรับน้อยที่สุด
ที่มา: https://www.wordstream.com/blog/ws/2017/12/20/swot-analysis
5. วิเคราะห์แบรนด์ของตัวเองผ่าน SWOT Analysis
สุดท้าย หลังจากเก็บข้อมูลมาได้เพียงพอแล้ว ลองวิเคราะห์ปัจจัย 4 อย่างของธุรกิจคุณ ได้แก่ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ซึ่งทั้งหมดนี้คือกระบวนการทางการตลาดที่เราเรียกกันว่า SWOT Analysis
การวิเคราะห์แบรนด์ของตัวเองผ่านกระบวนการ SWOT จะทำให้คุณมองเห็นแนวทางในการวาง Social Media Stategy ชัดขึ้น กล่าวคือ คุณจะได้รู้ว่า เมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการตลาดทุกเจ้าแล้ว แบรนด์ของคุณมีจุดอ่อนและจุดแข็งอย่างไร มีโอกาสหรือไม่ที่จะทำคอนเทนต์ตีตื้นคู่แข่งเหล่านั้นได้ และหากต้องการจะช่วงชิงพื้นที่การตลาดบน Social Media จริง ๆ มีคอนเทนต์แบบไหนที่ยังขาดไป เป็นต้น
สรุป
การวิเคราะห์คู่แข่ง หรือ Competitor Analysis คือ กระบวนการทางการตลาดที่จำเป็นต่อการทำ Social Media Strategy สำหรับทุกธุรกิจ เพราะจะทำให้คุณสามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่า คู่แข่งของคุณกำลังเดินไปทางไหน และกลุ่มเป้าหมายมีแนวโน้มจะเลือกเสพคอนเทนต์แบบใด
อ้างอิง
asana. How to create a competitive analysis (with examples)
Available from: https://asana.com/resources/competitive-analysis-example
HubSpot. What’s a Competitive Analysis & How Do You Conduct One?
Available from: https://blog.hubspot.com/marketing/competitive-analysis-kit