เก็บ-แพ็ค-ส่ง บริการคลังสินค้าออนไลน์แบบครบวงจร ของ MyCloudFulfillment สำหรับธุรกิจ E-Commerce ทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ในการจัดการร้านค้าให้ง่ายขึ้น ไม่เพียงแค่ one-stop solution แต่ยังช่วยต่อรอง แก้ปัญหาความยุ่งยากในการตอบความต้องการของลูกค้าที่ทันสมัย และหาการจัดส่งที่คุ้มค่าที่สุดและเหมาะสมที่สุดให้ลูกค้า
ในยุคที่การค้าขายผ่านออนไลน์กำลังเติบโตมากที่สุด แบบที่ว่าไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ใคร ๆ ก็สามารถขายของได้ แต่การขายสินค้าในโลกออนไลน์อย่างมืออาชีพ ไม่ได้มีความสำคัญแค่การโพสต์เท่านั้น หากต้องการให้ธุรกิจเติบโต ตอบโจทย์ทุกค้าได้ดีต้องใส่ใจทั้งกระบวนการด้วย ทั้งสต็อกสินค้า จัดส่งของไม่ผิด บริหารจัดการทางบัญชีได้ ระบบจัดการแบบครบวงจรนี้ ช่วยให้แม่ค้าออนไลน์ประหยัดเวลาในการจัดการ เพียงคีย์ออเดอร์ แจ้งว่าสินค้าไปส่งที่ไหนบ้าง ระบบการจัดการก็สามารถเชื่อมต่อระบบการขายอัตโนมัติ ด้วยโปรแกรมการจัดการคลังสินค้าออนไลน์ API ไปเชื่อมต่อกับ Lazada, Shopee ก็สามารถนำออเดอร์มาให้โดยอัตโนมัติได้ ถ้าสต็อกคงเหลือเท่าไหร่ก็จะอัปเดตไปให้ โดยที่เจ้าของร้านไม่ต้องเข้ามาตรวจนับสต็อกเองอัตโนมัติ พร้อมกับแจ้งเตือนด้วยหากถึงเวลาต้องเติมของ ประหยัดเวลา มีเวลาไปทำอย่างอื่นง่ายขึ้น
คุณเมฆ นิธิ สัจจทิพวรรณ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง MyCloudFulfillment สตาร์ทอัพที่เป็นผู้นำด้านบริการคลังสินค้าออนไลน์ ผู้อยู่เบื้องหลังร้านค้าออนไลน์จำนวนมาก เล่าว่า เปิดธุรกิจนี้มาแล้ว 5 ปี แม้ว่าธุรกิจคลังสินค้าออนไลน์จะเริ่มเยอะขึ้น ในตลาดมีประมาณ 30 แห่ง แต่ไม่ได้แข่งขันกันรุนแรงเกินไป ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ร่วมกันได้ การ “ตามใจลูกค้าที่สุด” เป็นจุดเด่นของคลังสินค้า MyCloud ยึดหลักบริการด้วยความแตกต่าง ที่สามารถ Customize ได้ 5 level ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าของลูกค้าให้ดูดี และมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นได้ ไม่ว่าจะต้องการเพิ่มเติมชิ้นส่วนพิเศษก่อนทำการส่ง เช่น แนบการ์ดขอบคุณลูกค้า หรือการผูกโบว์สำหรับสินค้าในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้เรายังมีบริการเสริมอื่น ๆ เพื่อคุณภาพของสินค้าที่ดีขึ้น เช่น การรีดผ้า เขียนข้อความใส่กล่องสินค้า ติด label ที่สินค้า ประกอบสินค้าก่อนส่ง แตกห่อและจับเซ็ทสินค้าตามโปรโมชั่น หรือตามความต้องการของลูกค้า และอื่น ๆ โดยมีค่าบริการเริ่มต้นเพียง 15 บาท
วิกฤติโควิดทำยอดสั่งซื้อออนไลน์เติบโต ออเดอร์ในคลังโตขึ้น 3 เท่า ใน 3 เดือน
สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม เหมือนบีบให้การค้าขายลงสู่ถนนออนไลน์โดยอัตโนมัติ จนทำให้แทบทุกพื้นที่รวมกว่า 1 หมื่นตารางเมตร ของคลังสินค้าทั้ง 3 แห่งของ MyCloud แทบไม่มีพื้นที่ว่าง อัดแน่นด้วยสินค้าประมาณ 200,000 SKUs (Stock Keeping Units)
ออเดอร์เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีประมาณ 45,000 ออเดอร์ เดือนมีนาคมเพิ่มเป็น 50,000 ออเดอร์ และเดือนเมษายน ออเดอร์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็น 150,000 ออเดอร์
“เพราะทุกคนต้องขึ้นมาออนไลน์หมด ถึงจะขายได้ มันไม่มีทางเลือกอื่น ไปห้างก็ไม่ได้ไปซื้อของตามปกติก็ไม่ได้”
สินค้าอะไรขายดี อะไรขายไม่ดี
จากมุมมองผู้ควบคุมคลังสินค้า “เมฆ” มองเป็น 4 พฤติกรรมหลักที่เปลี่ยนไป ดังนี้
1.การกักตุนสินค้า ทำให้สินค้าบางชนิดที่กลัวว่าจะหาซื้อไม่ได้แล้วจึงต้องรีบซื้อ โดยเฉพาะสินค้าจำพวก FMCG (Fast Moving Consumer Goods) สินค้าอุปโภคบริโภคที่คนทั่วไปต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำอัดลม ขนม และสินค้าที่ซื้อตามห้างไม่ได้ ก็หันมาซื้อช่องทางออนไลน์แทน ส่วนใหญ่มักซื้อยกแพ็คเพราะราคาถูกกว่า เพราะเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องใช้
“เครื่องสำอางกลายเป็นของสำคัญประจำตัวผู้หญิงไปแล้ว เพราะถือว่าเป็นของที่ขาดไม่ได้ เพราะคนต้องยังแต่งหน้า ยังต้องวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก็เลยยังต้องใช้เครื่องสำอางอยู่ ถือว่าเป็นสินค้าที่พลิกมาได้ดีในช่วงนี้”
แบรนด์หลาย ๆ แบรนด์ที่อยู่ในคลังเราทำยอดสูงสุดช่วงนี้ เราทำให้กับร้านรวมเครื่องสำอาง ร้านดังเจ้าหนึ่งของเมืองไทย ยอดออนไลน์เค้าโตขึ้น 5 เท่า ภายในเดือนเดียว อย่างข้อมูลจาก Alibaba ยอดขายอายแชโดว์ ก็เพิ่มขึ้น 150% ลิปสติกบางแบรนด์โตขึ้น 7 เท่า
2.สินค้าที่เปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมของคนที่อยู่บ้านมากขึ้น สินค้าบางอย่างที่ใช้ในบ้าน ก็ใช้เยอะขึ้น พวกของตกแต่งบ้านเล็ก ๆ เช่น โต๊ะ เครื่องทำอาหาร หม้อทอดไร้น้ำมัน ทัพพี ขายได้มากขึ้น สินค้าเหล่านี้เป็นกลุ่มที่สินค้าที่คนมาซื้อเพื่อให้ใช้ชีวิตได้สะดวกสบายขึ้นในบ้าน รวมถึงคอมพิวเตอร์ สินค้ากลุ่มไอที ซึ่งแต่ละอย่างมีอัตราเติบโต ประมาณ 2-3 เท่าตัว
3.สินค้าชนิดใหม่ ที่โตก้าวกระโดดขึ้นมา เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น แอลกอฮอล์ แม้ว่าจะไม่ใช่สินค้าที่โด่งดังมาก่อน ก็เติบโตขึ้นมากในช่วงนี้ บางแบรนด์เติบโตขึ้น 6 เท่า เช่น หน้ากากอนามัย ทิชชู่เปียก เบบี้ไวพส์ ผ้าเช็ดทำความสะอาด แอลกอฮอล์ และยาฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูล หลายคนซื้อเก็บไว้เยอะ ก็เติบโตเป็นพิเศษในช่วงนี้
4.สินค้าที่คนเปลี่ยนพฤติกรรมไปแล้ว คือ เมื่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวหายไป ทำให้สินค้าบางอย่างหายตามไปด้วย เช่น พวกแฟชั่น ยอดสต็อกสินค้าในคลังตกลงไปประมาณ 50% เพราะว่าแฟชั่นคนเราแต่งตัวไปข้างนอกเพื่อเสริมให้ตัวเองดูดี แต่เมื่อต้องอยู่บ้านไม่ได้ไปโชว์ใคร ก็กลายเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เช่น แว่นกันแดด หมวก รองเท้า กระเป๋า จึงเป็นสินค้าที่ยังไม่ได้ถูกใช้ตอนนี้
ขณะเดียวกันเสื้อผ้าแฟชั่นบางแบรนด์ พยายามเปลี่ยนตัวเองมาเป็น look good in protection คือใส่หน้ากากยังไงให้ดูแตกต่าง เช่น หน้ากากผ้า Greyhound และบางแบรนด์ปรับตัวนำแฟชั่นเข้ามาเสริม ทำถุงมือก็ทำถุงมือลายให้ดูสวยงาม ไม่ใช่แค่ใส่แล้วทิ้ง เพื่อเป็นกลยุทธ์ประคับประคองธุรกิจในช่วงวิกฤตินี้ แม้ว่ายอดขายลด แต่ความที่คนยังรู้สึกอยากแตกต่าง อยากดูดียังมีอยู่ แค่เปลี่ยนไปในทางอื่นแค่นั้นเอง
ตลาดออนไลน์ยังคึกคัก แม้โควิดจะจบไป แต่ไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไปแล้ว
จากประสบการณ์ผู้อยู่เบื้องหลังร้านความสำเร็จของออนไลน์ “เมฆ” เชื่อว่าพฤติกรรมคนส่วนใหญ่จะยังอยู่บ้านอีกสักพัก แม้ว่าโควิดจะหมดไปแล้วก็ตาม คือ คนยังไม่ได้ไปปาร์ตี้ ไม่ได้ไปคอนเสิร์ต ไม่ได้กล้ากินข้าวนอกบ้านขนาดนั้น หลาย ๆ อย่างจะยังอยู่อีกสักพัก แม้ว่า ณ วันนั้นจะมีวัคซีนมาแล้วก็ตาม เพราะว่าวันนี้เราเรียนรู้แล้วว่า ถ้าวันหนึ่งมีภัยพิบัติเกิดขึ้น อาจทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปเลยก็ได้ คนก็จะระมัดระวังการใช้ชีวิตมากขึ้น เช่น การทำอาหาร เมื่อก่อน eat out กันเยอะ วันนี้กลับมา eat in กลับมาลองทำอาหารดู ก็รู้สึกว่าทำกับข้าวเป็นแล้ว มันก็ไม่ยากนะครับ แล้วก็สบายด้วย อย่างเช่นสินค้าบางอย่างในการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้น เพราะคนใช้เวลาส่วนตัวอยู่ในบ้านมากขึ้น กิจกรรมการตกแต่งบ้านยังอยู่ สินค้าบางอย่างก็ยังอยู่ เช่น พวกกลุ่มไอที อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าที่ทำให้คนเกิดความสะดวกสบาย
“มันก็จะเป็นการลงทุนที่ทุกระดับต้องใช้เลย เช่น เมื่อก่อนคนอาจจะไม่คิดซื้อคอมพิวเตอร์น้อยกว่าซื้อรถ แต่สถานการณ์นี้คนจะอยากซื้อคอมพิวเตอร์มากกว่าซื้อรถด้วยซ้ำ จากพฤติกรรมที่คนจะอยู่บ้านมากขึ้น”
และแม้ว่าจะวิถีชีวิตแบบเดิมจะกลับมา แต่คนจะไม่ไปซื้อสินค้าออฟไลน์ ตามร้านค้า หรือ ห้างต่าง ๆ มากนัก เพราะวิกฤตินี้เร่งคนได้เรียนรู้และทดลองการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว ก็จะรับรู้ว่ามีความคุ้มค่า และสะดวกสบายขึ้น เช่น สินค้าในชีวิตประจำวันบางอย่าง ถ้าต้องไปซูเปอร์มารเก็ตเพื่อซื้อของมันก็หนักน่ะ หากซื้อปริมาณจำนวนมาก แต่หากบางคนได้ทดลองซื้อทางออนไลน์แล้ว ก็จะรู้ว่าโอเค กับการส่งสินค้าถึงบ้าน จากนั้นก็จะปรับพฤติกรรมมาซื้อสินค้าทางออนไลน์ต่อไป
ส่วนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ก็ต้องศึกษาไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปแล้วของลูกค้า ว่าไลฟ์สไตล์เหล่านี้เขาต้องการอะไรมากขึ้น ขณะเดียวกันสินค้าหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ก็จะมีหายไป พวกแอลกอฮล์ยังไงก็ต้องร่วงอยู่ดี แต่การทำความสะอาด ที่ใช้นอกบ้าน พวกทิชชู่เปียกก็ยังใช้ได้อยู่ แต่ก็ยังไม่แน่นอนมาก ต้องจับตาดูต่อไปเรื่อย ๆ
โควิด-19 เทรนด์การตลาดเปลี่ยนเร็ว จาก Globalization สู่ Localization โอกาสของสินค้าท้องถิ่น
จากที่เคยใช้ชีวิตในยุค Globalization มีการเคลื่อนย้ายคน มีการเชื่อมต่อการเดินทางของคน การค้าขายทั้งจากอเมริกา และจีน หลังจากนี้จะมีการปิดโลกและอยู่กันเองมากขึ้น ดังนั้นจากนี้จะโอกาสทางธุรกิจภายในประเทศมากขึ้น มีการสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นมากขึ้น เพราะผู้บริโภคทำให้มั่นใจได้มากขึ้น มีความ Trust มากกว่า เช่น ผู้ซื้อรู้ว่าสินค้านี้เป็นของป้าคนข้างบ้าน หรือเคยเห็นโรงงานที่มาตั้งแต่เด็กแล้ว ก็รู้สึกว่าสินค้าเหล่านี้ดีไว้ใจได้ ตอนนี้สินค้าท้องถิ่นหลายอย่างก็จะขายได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น รองเท้านันยาง แม้ว่าจะไม่ใช้รองเท้าที่ดีที่สุด แต่เป็นรองเท้ามีคุณภาพ คุ้มค่า และเชื่อใจได้
อย่าทำตามเทรนด์ “อะไรที่ขายดี” จำไว้เลยว่า “มันไม่ทันเสมอ”
การทำงานของ “เมฆ” ที่สัมผัสทั้งปัญหาและโอกาสของการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ที่ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ตลาดนัด และแผงค้าทุกแห่งถูกปิดชั่วคราว ยอมรับว่าตอนนี้คนหันมาขายของออนไลน์เยอะมาก แต่หลายคนก็ขายไม่ดี “เมฆ” มองว่า “คนที่มาขายของออนไลน์แล้วคิดว่าจะรวย ต้องเปลี่ยนความคิดนี้” ไม่ใช่หน้ากากขายดีก็ขายหน้ากาก เจลขายดีขายเจลดีกว่า ตอนนี้สิ่งเหล่านี้มันไม่ทันแล้ว ไม่ต้องคิดจะทำเลย ให้ไปมองข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรหลังจากนี้มากกว่า
ถ้าจะลงทุนขายของ ให้คิดหาสินค้าที่จะแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า ต้องเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร เช่น ความสะอาด หรือ การปลอดเชื้อโรค แม้ว่ายุคการขายหน้ากากและเจลจะพ้นไปแล้ว ต้องคิดต่อว่าสเต็ปต่อไปคืออะไร เช่น บางคนคิดค้นเครื่องยูวีทำความสะอาดกุญแจรถ ทำความสะอาดธนบัตร หรือ โทรศัพท์มือถือ ที่สามารถทำความสะอาดและให้ความมั่นใจมากขึ้นได้
ส่วนการทำอาหาร นอกจากซื้อวัตถุดิบแบบส่งถึงบ้าน มีหม้อทอดไร้น้ำมันแล้ว มันจะมีอะไรได้อีกไหม ผู้บริโภคก็จะยังมีความต้องการอีก เช่น บางคนทำอาหารไม่เป็น ก็อาจจะมีชุดอาหารส่งให้ที่บ้าน เตรียมวิธีปรุงมาให้แล้ว สามารถนำไปผัดแล้วอร่อย เหมือนนั่งกินในร้านอาหารได้เลย
“อยากให้คนทำของขาย อย่าเลยเด็ดขาดที่จะตามเทรนด์ อะไรที่ขายดีจำไว้เลยว่า มันไม่ทันเสมอ ให้มองว่าไลฟ์สไตล์ของคนที่กำลังอินเทรนด์ เป็นไลฟ์สไตล์ของคนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ให้ไปดูว่าไลฟ์สไตล์ของคนนี้มีปัญหาอะไร แล้วในอนาคตเขาต้องการอะไรเพิ่มขึ้น จากวันนี้”
แชร์เคล็ดลับขายของออนไลน์อย่างไร ให้ขายดีขึ้น
เริ่มจากศึกษาเทรนด์ผู้บริโภค เป็นยุคที่ผู้ค้าต้องโปร่งใส เพราะลูกค้า Prosumer มีข้อมูลรอบด้านในการตัดสินใจซื้อ โดยข้อมูลที่ให้ลูกค้าไม่ควรมีแค่ทางเดียว แต่ควรมีครบทุกสื่อโซเชียล จนสามารถบอกกันปากต่อปากได้ ไปบอกต่อเพื่อน ๆ ได้ด้วย หากถ้าเพิ่งเริ่มขาย ต้องไปคิดถึงลูกค้าให้ชัดเจนก่อนคิดว่าจะขายอะไร และแนะนำให้ไปดูคลิป Start with WHY ของ Simon Sinek แต่ถ้ามีสินค้ามาแล้วกำลังหาช่องทางการขาย จะต้องรู้ก่อนว่าช่องทางการขายแต่ละอันไม่เหมือนกัน ถ้าขายของต้องการหากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ก็ควรเข้า Marketplaces พวก Lazada, Shopee คือ ลูกค้าที่ซื้อครั้งแรกจะเข้ามาเห็นเรา โดยช่องทางนี้เขาจะทำการตลาดให้อยู่แล้ว แล้วหาคนมาซื้อ แม้ว่าตรงนี้อาจจะยังไม่ได้กำไรมาก อาจจะต้องยอมลดราคาหน่อย แต่พอลูกค้าซื้อแล้ว ทำอย่างไรให้กลับมาซื้อต่อในช่องทางของเรา ก็ต้องสร้างแอคเคาน์ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ให้เขามาซื้อต่อ และต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เขามาซื้อต่อตรงนี้ได้ ซึ่งเราจะได้กำไรมากขึ้นจากส่วนนี้
ดังนั้น ผู้ค้าออนไลน์ต้องศึกษาลูกค้า ศึกษาช่องทางการขาย ทำข้อมูลให้ดีไม่ใช่ขายอย่างเดียว เพราะโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ของการสร้างความเชื่อใจกัน จะต้องหาวิธีการให้ลูกค้าซื้อซ้ำ และประทับใจช่วยบอกต่อ ธุรกิจก็จะยั่งยืน
เทคนิคขายดี ด้วยการ “จัดเซ็ท” ให้มูลค่าสินค้ารวมเพิ่ม
ให้เริ่มจากจัดเซ็ทสินค้าของตัวเองจากหลัก ๆ ที่มี 4 อย่าง คือ 1. ของหนักราคาแพง 2. ของหนักราคาถูก 3. ของเบาราคาแพง และ 4. ของเบาราคาถูก แน่นอนว่าสินค้าแต่ละตัวกำไรไม่เท่ากัน ของหนักราคาถูกควรเลิกขายเพราะยิ่งขายยิ่งกำไรน้อย แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ขายดี เช่น เครื่องสำอาง (น้ำตบ) ก็ให้ใช้เทคนิคแพ็ครวมกับของเบาราคาแพง ทำให้ได้กำไรต่อหน่วยมากขึ้น คือ การจัดเซ็ททำอย่างไรให้ได้ เพื่อเพิ่มกำไรให้กับมูลค่าเซ็ท
จากราคาหลัก 100 กลายเป็นของราคา เกือบพันบาท แต่ถึงอย่างนั้น ลูกค้าจะรู้สึกว่าคุ้มค่า ถูกกว่าซื้อแยกเยอะ ถ้าซื้อเหมาแบบนี้ ขณะที่คนขายก็แฮปปี้ เพราะเสียค่าจัดการขนส่งทีเดียว แต่จับรวมของขายไปได้เยอะขึ้น ราคารวมสูงขึ้นกว่าซื้อแยกหลายร้อยเลยทีเดียว ถือว่า วิน-วิน ทั้งคู่
และการจัดโปรโมชั่น เช่น ซื้อ 2 แถม 1, ซื้อของรุ่นนี้ แถม Tester ตัวนี้, ซื้อครบ 3,000 ได้ ของแถมสุดพิเศษฟรี โปรพวกนี้ช่วยดึงดูดคนซื้อมากครับ และนักการขายที่ดี ต้องทำโปรดี ๆ เอาของที่ขายดี กำไรน้อย มาจับกับของที่ ขายไม่ดี กำไรเยอะ จะได้ทำให้ Profit margin ต่อออเดอร์สูงขึ้น หรือเอาของที่ขายดีนำ แล้วแถมของที่มาใหม่ ให้คนเปิดใจลองใช้ดู ไม่ได้อยู่ที่การตัดราคาอย่างเดียวแล้ว ให้ดูมีคุณค่าด้วย
คุณสมบัติ Startup ที่ประสบความสำเร็จ นำไปประยุกต์ใช้กับ SMEs ได้ด้วย
MyCloudFulfillment เป็นธุรกิจ Startup ที่ประสบความสำเร็จทั้งผลประกอบการของธุรกิจ และผลงานการันตีด้วยรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ Startup Thailand Grand Pitching Challenge 2017, Digital Ventures Accelerator Demo Day Batch1, 2018 ฯลฯ
ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่เพราะโชคช่วย แม้ว่า “เมฆ” จะเผยว่า “ดวง” เป็นคุณสมบัติแรกก็ตาม (หัวเราะ) แต่หัวใจหลักคือ ต้องกล้าสวนกระแส กล้าอย่างฉลาด ทำอะไรที่แตกต่าง
“ตอนแรกที่เริ่มทำคลังสินค้า ก็ถูกสบประมาทมากว่าเป็นไปไม่ได้ ใครจะมาทำเหนื่อยตายเลย เมื่อไหร่จะรวย ซึ่งนอกจากจะมีความกล้าแล้ว ต้องยอมรับว่ากล้า จะมาพร้อมกับคำว่าเสี่ยง เพราะถ้ากล้าไปก็คือ ความเสี่ยง กล้าแล้วตายก็คือตาย”
แต่การเสี่ยงให้ฉลาด ต้องรู้จักแบ่งเงินลงทุน เช่น แบ่งเงินลงทุน (เหมือนวิ่งผลัด) ออกเป็น 5 ไม้ ไม่ใช่ลงทุนครั้งเดียวหมด เพราะการกล้าเพื่อศึกษาและเรียนรู้ แต่การกล้าที่ดีต้องมีการวางแผนที่จะให้เรานั้น สามารถกล้าได้หลาย ๆ รอบ เพราะหลายที่ตอนนี้ที่ประสบปัญหา เพราะได้เงินมาแล้วลงทุนไปทีเดียว พอเกิดโรคโควิดมาก็ไปหมดเลย แต่ถ้าเรายังมีเงินสดอยู่ ไม่ได้เป็นหนี้ ก็จะสามารถประคับประคองสถานการณ์ไปก่อนได้ จังหวะที่โควิดจบมันจะกลับมา Startup บางเจ้าก็จะกลับมาเลย แต่กลัวว่าจะอยู่ไม่ถึงวันนั้นแค่นั้นเอง คือ ใครที่วางแผนต้องวางให้มันยั่งยืน ต้องค่อย ๆ วางแผน เพราะว่ามันเป็นเรื่องของโครงสร้าง การบริหาร Startup ต้องมองขาดจากอะไรต่ออะไรอย่างบริษัทส่วนใหญ่
ทางที่ดี สตาร์ทอัพจะมีเรื่อง OKR (Objective & Key Results) แนวคิดการตั้งเป้าหมายหลักการวัดผล ทุก ๆ คน จะมีการตั้งเป้าของแผนกตัวเอง และก็มีเกณฑ์ในการวัดผล 2-3 อัน เช่น ฝ่ายการตลาดอยากได้เพิ่มยอดไลท์เพิ่มอีก 2 เท่า วัดผลอย่างไร ดูจากไหน การทำโครงสร้างที่ดีแล้วให้ทุกอย่างทำงานอัตโนมัติได้ มันจะช่วยให้ทุกอย่างยืดหยุ่น เพราะว่าตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ความมั่นคงไม่มีแล้ว จู่ ๆ มีโรคเข้ามาปุ๊บ โลกมันก็เปลี่ยนไปเลย การท่องเที่ยวที่เคยเที่ยวได้ มันก็เที่ยวไม่ได้ต่อไปอีกเลย เราลงทุนกับคำว่า “คุ้มค่า” คือ “มั่นใจไม่ได้” เราต้องลงทุนกับสิ่งที่ยืดหยุ่น “อะไรที่ยืดหยุ่น เราต้องลงทุน” อะไรที่ไม่เก่งไม่ต้องตัดทิ้งก็ได้
คลังสินค้า ≠ พื้นที่เก็บของ
“ทำให้ร้านค้าจัดการง่าย และเติบโต” เป็นวิสัยทัศน์ของ MyCloudFulfillment และเป็นอย่างแรก ที่ “เมฆ” หนึ่งในผู้ก่อตั้งที่มองว่า ยุคที่การขายของจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในอนาคต เช่น ที่อเมริกา Amazon เป็น Data commerce จากตอนนี้ที่ซื้อของกันตามอารมณ์ แต่ Amazon เขาวางไว้เลยว่าคุณจะต้องซื้ออะไร ทุก ๆ อย่างจะเป็นการขายใช้ data มากขึ้น การทำคลังสินค้าเราอยากไปถึงจุดที่มี Data ให้เห็นว่าข้อมูลอะไรที่เราสามารถมาช่วยลูกค้าได้ เพราะสุดท้ายแล้วปัญหาใหญ่ของคนขายของ คือ เรื่องสต็อกสินค้า จะบาลานซ์อย่างไรให้เพียงพอกับโอกาสในการขาย และต้นทุนจม (Sunk Cost) ทำยังไงไม่ให้เงินจมกับของ ซึ่งคนที่บาลานซ์เก่งก็จะรวยขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่เขาขายของดี แต่ต้องวางแผนตัวนี้เก่งด้วย
“ฉะนั้นแล้วบริษัทเรา คลังไม่ใช่ที่เก็บของ คลังเป็นที่ที่เอาของมาวางไว้แล้วของก็ออก ทำยังไงเพื่อให้ของที่เข้ามา 100 ชิ้น แล้วออก 100 ชิ้น นี่คือสิ่งที่เราต้องทำ เราต้องช่วยเขา เราต้องเป็นหมอดูแนะนำเขาได้ว่า อันนี้เป็นสีแดง พี่ขายดีแน่นอนพี่เก็บไว้ 100 ตัว หรือรองเท้าไซส์นี้ขายไม่ได้แน่นอน เห็นแล้วว่าครั้งที่แล้วขายไม่ได้ พี่ลดไซส์นี้ลง หรือไซส์นี้ขายดีเพิ่มการผลิตหน่อย และทำอย่างไรให้อัปเดตสต็อกได้อย่างรวดเร็ว”
“เมฆ” ย้ำว่า คลังสต็อกสินค้าที่ดี ไม่ใช่คลังที่มีของเต็มไปหมด แต่คลังที่ดีคือคลังที่ไม่มีของเลย จะโล่ง ๆ หมายถึง มาแล้วขายหมดเลย นั่นคือ “เยี่ยม” ลูกค้าเราอยู่ได้นาน แต่ทั้งนี้บริษัทต้องพัฒนาในการเก็บระบบต่อไป และช่วยลูกค้าให้ทำอย่างไร เมื่อค้าขายบนเส้นทางออนไลน์แล้ว ธุรกิจลื่นไหลมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ MyCloud อยากทำ
ติดต่อ MyCloud ได้ที่ : www.mycloudfulfillment.com
เรียบเรียงโดย: เบญจมาศ วิถี
Interviewers
มัณฑิตา จินดา (ทิป)
นักการตลาดดิจิทัล นักเขียน และเจ้าของเพจ Digital Tips Academy
ที่หลายๆคนเรียกว่า “ครูทิป”
….หลงรักงานสอนและการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ
…ชอบ Live ตอนดึกๆ
และมีความสุขกับการได้คุยกับคนเก่งๆ