ชื่อของ จงใจ กิจแสวง หรือ เจ๊จง ถ้าอยู่ในแวดวงธุรกิจอาหารก็คงไม่มีใครไม่รู้จัก ทั้งชื่อเสียงด้านฝีมือการทำอาหารที่ทำให้ผู้คนติดอกติดใจ การันตีด้วยจำนวนสาขา ‘ร้านหมูทอดเจ๊จง’ ที่ขยายไปถึง 12 สาขา ก่อนจะเจอกับวิกฤติโควิด-19 ทำให้เราพอจะทราบได้ถึงความแข็งแกร่งของร้านหมูทอดแบรนด์นี้

       แต่นอกเหนือไปกว่าฝีไม้ลายมือการทำอาหาร เจ๊จง ก็ยังขึ้นชื่อในเรื่องความใจกว้าง ที่ทั้งใจดีกับลูกค้า แถมยังเผื่อแผ่ไปยังคนยากไร้ที่กำลังประสบปัญหาปากท้องด้วย ล่าสุด อีกหนึ่งวีรกรรมที่เรียกเสียงชื่นชมไปเต็ม ๆ ก็คือการที่เธอออกมาประกาศว่า ร้านของเจ๊จงจะรับอาสาทำข้าวกล่องให้โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันบำราศนราดูร วันละ 1,200 กล่อง เพื่อส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ในการสู้กับโรคระบาดโควิด-19

        เบื้องหลังของโครงการนี้มาจากการที่ เจ๊จง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chefs for Chance ซึ่งเป็นโครงการจิตอาสาที่เคยเป็นโครงการสอนนักโทษในเรือนจำทำอาหารเพื่อเป็นอาชีพมาก่อน โดยถ้าหากนักโทษพ้นโทษแล้ว อนุญาตให้ใช้สูตรของเชฟไปอ้างอิงในการสร้างแบรนด์ของตัวเอง แต่เพราะทั่วโลกกำลังเจอกับโควิด-19 เข้าพอดี เจ๊จงและทีมงานจึงออกมาเปิดรับบริจาคเงินค่าวัตถุดิบเพื่อนำมาทำข้าวกล่องแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความหิวโหยของประชาชนและเจ้าหน้าที่

       ก่อนจะช่วยเหลือเหล่าวินมอเตอร์ไซค์ และแท็กซี่ที่กำลังขาดรายได้ ด้วยการแบ่งข้าวกล่องให้พวกเขามารับไปตระเวนขายในบริเวณอื่น ๆ ร้านเจ๊จงยังอนุญาตให้บวกเพิ่มกำไรได้ถึงกล่องละ 7 บาทไป ส่วนทางร้านไม่ขออะไรมาก แค่ให้อยู่ยั่งยืนกันทุกฝ่ายก็พอ ร่วมรับฟังแนวคิด และเส้นทางธุรกิจอันแทบจะไร้แบบแผน แต่สุดแสนจะจริงใจของ ‘เจ๊จง’ เจ้าของแบรนด์หมูทอดไม่เน้นกำไร แค่อยากให้ทุกคนได้กินอิ่ม จากบทความนี้

ก่อนจะมาเป็น ‘หมูทอดเจ๊จง’

       จริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้ เจ๊ก็ขายอาหารตามสั่ง ขายข้าวแกงบุฟเฟ่ต์อิ่มละ 20 บาทมาก่อน เราก็ทำมาค้าขายของเราไป แต่เพราะตอนนั้นเราเป็นหนี้เยอะมาก อยู่มาวันหนึ่งเราก็เลยมานั่งคิดว่าเราออกแรงน้อยไปหรือเปล่า ขายของหมดก็กลับบ้านนอน มันจะไปรวยได้ยังไง ตอนนั้นก็พยายามหาอยู่ ว่าจะทำอะไรมาขายเสริมไประหว่างที่ข้าวแกงหมดดี

       ด้วยความบังเอิญ วันนั้นเราซื้อข้าวหมูทอดมาให้ลูกกิน ตอนนั้นเขาขายอยู่กล่องละประมาณ 10 บาท พอเปิดออกมา ความรู้สึกเจ๊คือรู้เลยว่า ‘นี่ล่ะ’ เราจะขายข้าวหมูทอดนี่ล่ะ ต่อจากการขายข้าวแกงบุฟเฟ่ต์ พอเจ๊คิดจะขายแล้ว อีกวันหนึ่งเจ๊ทำเลย ลองทอดขายเลย จำได้ว่าวันแรก ขายหมูไป 8 กิโลกรัม พอข้าวแกงหมดคนก็จะมาต่อคิวซื้อหมูทอดต่อแล้ว ไป ๆ มา ๆ มันดันขายดีกว่าข้าวแกงอีก มีคนมารอซื้อหมูเยอะ ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจมาเน้นขายหมูทอดอย่างเดียว สาขาแรกก็เปิดแถวบ้านเลยค่ะ ลงทุนเท่าไหร่ไม่รู้ ตอนนั้นจำได้ว่าแค่ซื้อหมูมา นอกนั้นค่าอุปกรณ์ เครื่องปรุงอะไรเราใช้ของเดิมหมด ตอนนั้นไม่ได้มีเงินเยอะเลยไม่อยากลงทุนมาก

ประสบการณ์เกือบ 20 ปี ความสำเร็จที่ ‘ไม่มีอะไรมากั้น’

       เจ๊มีลูก 4 คน แต่ละคนก็ดูแลกันคนละ 2-3 สาขาค่ะ เราจะแบ่งร้านตามไซส์ S M L อะไรอย่างนี้ เราก็จะให้เขาเลือกเปิดเลือกบริหารกันเอง ถ้าร้านไซส์เล็กก็จ่ายพนักงงานไปคุมน้อยหน่อย แต่ถ้าร้านใหญ่ก็จะคนเยอะ กว่าประมาณ 10 กว่าคนได้ ยอดขายแต่ละเดือนก็เยอะอยู่ค่ะ

       ตอนเจ๊เริ่มขายเมื่อประมาณ 17 ปีที่แล้ว เจ๊ก็ไม่รู้ว่าเราทำการตลาดแบบไหน ตอนแรกเริ่มขายจาก 10 บาท ตอนนี้ก็เพิ่มมาเป็นจานละ 26 บาทแล้ว ก็ไม่รู้หรอกว่ามันเรียกว่าถูกหรือแพง แต่ขายเท่านี้เพราะอยากขาย ตามใจตัวเอง แต่เรื่องวัตถุดิบเรายังเน้นของดีนะคะ เจ๊เน้นคุณภาพมาก ขายถูกแต่สรรหาแต่ของดี ๆ มาทำ ไม่อยากให้เขามาว่าเราได้

สร้าง ‘แบรนด์แกร่ง’ ทั้งที่ไม่รู้ว่าแบรนด์คืออะไร

       ชอบมีคนถามเหมือนกันว่าสร้างแบรนด์ยังไง เอาอย่างนี้นะ เจ๊ไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้เลย ขนาดไปลงเรียนเรื่องการตลาด การสร้างแบรนด์มาแล้วก็ยังไม่ค่อยรู้ เคยมีคนมาบอกเหมือนกันว่าแบรนด์เจ๊แข็งมาก แต่เราก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ โชคดีที่ได้พี่หนุ่ย ดร.ศิริกุล เลากัยกุล (ผู้ริเริ่มโครงการ Chefs for Chance) เขาช่วยอธิบายให้ฟัง ว่าสิ่งที่เจ๊ทำอยู่มันคือการสร้างแบรนด์นะ แบรนด์มันคือนิสัยของเจ๊นี่ล่ะ เพราะเราชอบช่วยคนอื่น ชอบแบ่งปันให้คนอื่น มันก็เลยสะท้อนออกมาในแบบที่เจ๊ขายของ ที่เราไม่เน้นขายแพง ใครไม่มีก็เอาไปกินฟรีก่อน เจ๊คิดว่ามันถูกใจลูกค้าและทำให้เขารักเรา

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหมูทอดเจ๊จงไหม มีวิธีปรับตัวอย่างไร

       ว่ากันตรง ๆ ทางเจ๊กระทบน้อยนะ คือตอนนี้เจ๊มีทั้งหมด 12 สาขา มันจะมีแค่บางสาขาเท่านั้นที่ยอดตก คือร้านอื่น ๆ เขาหยุดไป ของเราสาขาใหญ่คนก็ยังเยอะอยู่ โดยรวมถือว่ายอดเพิ่มขึ้นด้วยเพราะเราทำหลายอย่าง คือเจ๊ใช้วิธีปรับตัวตามตามมาตรการที่รัฐบาลเขาขอมาค่ะ ก็ไม่จัดที่กินไว้ในร้าน จะเข้ามาซื้อก็ต้องรับบัตรคิวแล้วไปต่อแถว เข้าได้ทีละล็อคพอ แล้วก็พยายามระวังเรื่องความสะอาดให้มากที่สุด

       ช่วงนี้เจ๊ก็เข้าไป Live สดในเพจบ่อย ๆ ด้วย ขายของออนไลน์ก็สำคัญนะ อย่างน้อย ๆ สำหรับคนที่ตกงาน อยากจะหารายได้ ตรงนี้มันช่วยคนที่มีทุนน้อย ไม่ต้องลงทุนเช่าที่เพื่อเปิดร้าน เรามีต้องนี้ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ ตอน Live มันสนุกดีด้วยนะคะ เหมือนคุยกับเพื่อน ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกันบ้าง ใครยังไม่เคยใช้ก็อยากให้ลอง

        นอกจากตรงนี้ เจ๊มีโรงงานทำข้าวกล่องที่ทำมาก่อนหน้านี้ด้วย อันนี้เราทำขายส่งแล้วให้คนอื่นเอาไปกินกำไรกัน อันนี้จุดเริ่มต้นมันมาจากที่เราเคยไปบรรยายในงานเตรียมตัวก่อนวัยเกษียณ เจ๊ไปเห็นคนที่เขาเกษียณแล้ว หรือเตรียมตัวเกษียณ รู้สึกว่าคนพวกนี้ถ้าเขาจะต้องลุกขึ้นมาทำอาหารขาย มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ด้วยวัยนี้แล้ว อีกอย่างอายุ 60 จะลุกมาทำของขายโดยไม่มีแบรนด์มันลำบาก เห็นแบบนี้เราเลยคิดว่าอยากมีโรงงานมาช่วยเขา

        แต่ปรากฎว่าพอโควิด-19 มา เราดันได้ช่วยคนตกงานอื่น ๆ อีกเยอะมาก พวกพี่ ๆ น้อง ๆ วินมอเตอไซค์ หรือแท็กซี่ เขาก็มารับของเราไปกระจายขาย เจ๊ขายกล่องละ 28 บาท ให้เขาเอาไปขายสัก 35 อย่างน้อยหลาย ๆ กล่องเข้าก็พอมีกินไปได้

       เจ๊เจอคุณลุงคนนึงบอกว่า เคยขายผ้าปูที่นอนตามตลาดนัด พอมาเจอโควิดเขาขายไม่ได้เลย  เขาบอกว่าต้องไปขอข้าวแจกฟรีมากินหลายวันแล้ว พอมีของเจ๊มาขาย เขาเป็นคนแรก ๆ เลยนะที่เดินเข้ามา แล้วก็เอาข้าวเจ๊ไปขายตั้งแต่แรกจนถึงวันนี้ ไม่ได้หยุดเลย แกขายได้วันนึงประมาณ 300-400 กล่องด้วย

จุดเริ่มต้นของโครงการข้าวกล่องอาสา เยียวยาบุคลากรช่วงโควิด-19

       โครงการนี้มันเริ่มมาจากที่พี่หนุ่ยจาก Chefs for Chance เขาโทรมาชวนค่ะ ถามเราว่าพรุ่งนี้ทำกับข้าวให้หมอกับพยาบาลหน่อยได้ไหม เขาอยากได้สัก 1,200 กล่อง แต่มีข้อแม้คือต้องออกเงินเองนะ จริง ๆ ตอนนั้นเราอยากทำอยู่แล้วก็เลยรับปากไป เจ๊ก็เรียกลูกมาคุยเลย มาช่วยคิดกัน เขาก็ท้วงว่า แล้วแม่จะทำไหวเหรอ คำนวณแล้วช่วงแรกมันต้องใช้เงินประมาณ 3 หมื่นต่อวันเลยนะ เราก็เลยคุยว่าเอาเท่าที่ไหวพอ แค่ไหนก็แค่นั้น

       ทีนี้เจ๊ทำแจกแล้วถ่ายรูปโพสต์ลงเพจไป ดันมีคนทั้งทัก ทั้งโทรมาถามว่าขอร่วมสบทบทุนได้ไหม เขาอยากช่วย เจ๊เลยไปขอพี่หนุ่ยเปิดบัญชีบริจาค เปิดปุ๊บยอดบริจาครวม ๆ แล้วเป็นล้านเลย ตอนนั้นเราก็สบายใจเรื่องเงินแล้ว เชฟคนอื่นใน Chefs for Chance เขาก็ลงมาช่วยกันทำกับข้าวแจกทั้งคนเร่ร่อน ทั้งตามมูลนิธิ ตอนนี้มันไม่ใช่เจ๊คนเดียวแล้ว คนอื่นก็มีส่วนช่วยเราด้วย

       บริจาคครั้งนี้มันไม่เหมือนสมัยน้ำท่วม ที่เราอยากแจกยังไงก็ได้ อันนี้มันเป็นเชื้อโรคที่เราไม่รู้มันอยู่ตรงไหน เราไม่รู้จะเอาไปแจกยังไง ก็เลยต้องรอบคอบกันขึ้น จนถึงตอนนี้ 5 สัปดาห์ เราก็แจกไปประมาณ 50,000 กล่องแล้ว ขอบคุณทุกคนด้วยค่ะ

ในฐานะนักธุรกิจ การทำแบบนี้เราได้อะไร

        เจ๊คงไม่ได้มองในมุมนักธุรกิจนะ แต่เจ๊เข้าไปอ่านในเพจ เขาก็บอกว่าถ้าหมดโควิดเขาจะพากันมาอุดหนุนเรา เจ๊ก็ว่ามันเป็นเรื่องดีที่มีคนที่รักเราเพิ่มขึ้น บางคนส่งขนมมาให้เจ๊กิน บางคนส่งเครื่องรางของขลังมาให้เจ๊ใช้คุ้มกันโรค เจ๊เห็นการแบ่งปัน เห็นการให้เกิดขึ้น เพราะเราเริ่มไว้ก่อน มันรู้สึกดีมาก ๆ นะ

       สุขภาพเจ๊ ตอนหลังเป็นโรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกแล้ว บางทีแค่ไปซื้อของกับลูกก็เดินขึ้นเดินลงไม่ไหว แต่พอมีเรื่องนี้มันทำให้เจ๊กระโดดขึ้นมาทำงานได้ยังไงไม่รู้ พลังมันมาจากข้างใน ถามว่าเหนื่อยไหม บางทีมันโคตรเหนื่อย นิ้วปวดไปหมดเพราะต้องกำมีดไว้ตลอด แต่สิ่งที่มันได้มันคุ้มค่ามากเลย มันได้ความสุข ได้อะไรมากมาย แล้วมันไม่ใช่อะไรที่ทุกคนหาได้ เงินทองใครอยากได้ก็แค่ลุกออกมา แต่ของพวกนี้มันไม่ง่ายเลย

 

มีเคล็ดลับการควบคุมต้นทุนในช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้ไหม

       ส่วนตัวเจ๊ไม่มีเคล็ดลับไรนะ ขนาดค่าแรงลูกน้องเจ๊ยังให้ตามที่เจ๊อยากให้เลย เจ๊ไม่ได้มองด้วยว่ามันกำไรเท่าไหร่ ก็แค่มองว่าเรายังเหลือเงินกินเงินใช้ต่อเจ๊พอแล้ว คือเราไม่ขายแล้วคิดว่าต้องมีกำไรเท่านั้นเท่านี้ เราพอที่แค่ว่าขายแล้วมีเงินกินข้าว ซื้ออะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็โอเคละ เลยไม่ได้มีคิดเรื่องคำนวณต้นทุนเท่าไหร่ เราขายแบบใจเราอยากขาย แง่นึงมันไม่ทำให้เรากดดันด้วย

ถ้ามีคนอยากเปลี่ยนมาขายอาหารแบบเจ๊บ้าง มีคำแนะนำไหม

       ข้อนี้เจ๊อยากให้ถามตัวเองก่อนว่า “ใจเรารักมันขนาดไหน” เจ๊เห็นช่วงโควิดมีคนอยากทำขายเยอะนะ แต่ขาย 10 คนก็ใช่ว่าจะขายดีทุกคน ทำกับข้าวมันไม่ได้ง่ายนะ มันเหนื่อย อย่างเจ๊ชอบทำกับข้าว ชอบดูรายการทำกับข้าว อ่านหนังสือทำกับข้าว เจ๊ยังว่าเหนื่อยเลย คุณต้องถามตัวเองก่อนว่าถ้าต้องตื่นมาตี 3 ตี 4 มาเตรียมของ ทำกับข้าวขาย คุณโอเคกับชีวิตแบบนี้หรือเปล่า

       จากนั้นก็ไปศึกษาหาข้อมูลค่ะ อย่างเจ๊ก็ไปเรียนเรื่องการตลาด การสร้างแบรนด์ ยิ่งถ้าจะขายออนไลน์ยิ่งต้องเรียนเพราะคู่แข่งมันเยอะ

       แล้วค่อยไปหาตัวอย่างดูค่ะ หาตัวอย่างคนที่ขายเก่ง ๆ เจ๊ชอบไปดูเวลาคนอื่นไลฟ์ขายของนะ ไปเรียนรู้วิธีพูดเขา แล้วก็ลองเอามาปรับกับของเรา แต่ไม่ใช่ไปลอกเขานะ ก็เอามาทำในแบบตัวเอง แล้วคนดูเขาจะรักที่เราเป็นเราเองแหละ

ช่วยฝากกำลังใจถึงคนที่ยังต่อสู้กับวิกฤติในครั้งนี้

       ก็อยากบอกว่า ยังไงคือเราก็ต้องลุกขึ้นมาสู้ แล้วก็ต้องสู้ ๆ ไปอย่างเดียวเลยค่ะ มันไม่ได้เกี่ยวหรอก ว่าวิกฤตินี้มันจะหมดไปเมื่อไหร่ เพราะถึงผ่านอันนี้ไป เดี๋ยวอันใหม่ก็มีมาอีก เราต้องพร้อมที่จะลุกขึ้นมาเร็ว ๆ อย่ามัวแต่นั่งท้อ ต้องหาโอกาส อย่างถ้าเราจะขายอาหารตามสั่ง พอมีคนสั่งมันดันไม่มาเอาใช่ไหม ในเวลานี้เราจะทำยังไง ก็ลองวางขายหน้าร้านเลย สรุปถ้าขายดี นี่ไง เราก็ได้โอกาสใหม่ เจ๊เชื่อว่าตอนนี้ คนที่ขายอาหารแล้วยอดไม่ดี ลองเดินไปหาลูกค้าบ้างเผื่อจะได้โอกาสใหม่ เวลาแบบนี้อยากให้ทุกคนคิดให้ไว แล้วก็สู้ ๆ ค่ะ

 

เรียบเรียงโดย: พาขวัญ ศักดิ์ขจรยศ

 

มัณฑิตา จินดา (ทิป)

นักการตลาดดิจิทัล นักเขียน และเจ้าของเพจ Digital Tips Academy
ที่หลายๆคนเรียกว่า “ครูทิป”
….หลงรักงานสอนและการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ
…ชอบ Live ตอนดึกๆ
และมีความสุขกับการได้คุยกับคนเก่งๆ

10 body languages for presentation
Marketing Psychology
ลิสต์ 10 ภาษากายเพื่อการพรีเซนต์งาน สำหรับพนักงานมือโปร 

Topic Summary คนทำงานเตรียมแชร์ไว้ 10 ภาษากายเพื่อการพรีเซนต์งาน เพิ่มสกิลการเป็นมือโปร และทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในตัวคุณ! ในบรรดาความรู้เรื่อง Body Language ทั้งหมด ภาษากายที่ใช้ในการพรีเซนต์งาน…

body languages
Marketing Psychology
เช็กก่อนใคร! ตำแหน่งของ Body Language ตัวช่วยอ่านพฤติกรรมคนจากภาษากาย

Topic Summary อยากรู้ไหม? เวลาอ่านใจคนจากภาษากาย ตำแหน่งของ Body Language ส่วนใดบ้างที่คุณต้องดู และแต่ละตำแหน่งมีความสำคัญอย่างไร ใคร ๆ ก็อยากเชี่ยวชาญการอ่านใจคนด้วยภาษากาย…

what is psychology of pricing
News
เข้าใจจิตวิทยาราคา พร้อมแจกกลยุทธ์การตั้งราคา ให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อเร็วกว่าที่เคย

เพิ่งเปิดธุรกิจใหม่ ควรตั้งราคาอย่างไรดี Digital Tips แชร์เทคนิคการตั้งราคาตามหลักจิตวิทยา พร้อมเคลียร์ชัดความหมายของจิตวิทยาราคา อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที! Content Summary  จิตวิทยาราคา คือ การกำหนดราคาสินค้าโดยอ้างอิงจากการรับรู้ทางจิตวิทยา…