ราว 1 เดือนที่ผ่านมา ผู้ใช้งาน TikTok ท่านหนึ่งได้ออกมาอัดคลิปเตือนภัยเกี่ยวกับการทำผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับล่าสุดจนเป็นไวรัล ทำให้นักท่อง Social Media หลาย ๆ คนต้องระมัดระวังการคอมเมนต์ การแชร์ และการแสดงออกอื่น ๆ บน Social media เพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว หากคุณเป็นอีกคนที่ไม่ปรารถนาจะเห็นหมายศาลแปะอยู่หน้าบ้าน มาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันว่า การกระทำใดบ้างที่เสี่ยงผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ คืออะไร
พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ คือ พระราชบัญญัติ (กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมจากรัฐสภา ซึ่งไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ) ว่าด้วยการกระทำผิดผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะที่เราคุ้นเคยกันดี คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค แท็บแล็ต สมาร์ทโฟน รวมไปถึงชุดคำสั่ง และข้อมูลต่าง ๆ ด้วย โดยการกระทำผิดแต่ละมาตราก็จะมีบทลงโทษแตกต่างกันไป และบทลงโทษที่รุนแรงที่สุดในขณะนี้ (ฉบับล่าสุด พ.ศ. 2560) คือจำคุกสุงสุดถึง 20 ปี และปรับสูงสุดถึง 400,000 บาท
6 พฤติกรรมบน Social Media ที่มีบทลงโทษตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
1. ฝากร้านตาม Facebook/IG โดยที่เจ้าของบัญชีไม่ยินยอม
แม่ค้าออนไลน์สายชอบฝากร้านมีสะเทือน! เพราะการฝากร้านตาม Facebook, Instagram หรือแม้แต่ Social Media แพลตฟอร์มอื่น ๆ โดยไม่ขออนุญาตเจ้าของบัญชีก่อน สามารถเอาผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 11 (แก้ไขโดยมาตรา 4 ของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับปี พ.ศ. 2560) ที่ระบุว่า “ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับ สามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองแสนบาท”
2. ตั้งใจแฮคข้อมูลเพื่อเข้าถึง Social Media ของผู้อื่น
ที่มา: https://www.policechiefmagazine.org/kansas-internet-crime-initiative/
มนุษย์ช่างจับผิดที่ต้องการสอดส่องช่องทาง Social Media ของคนรักโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือผู้ไม่ประสงค์ดีที่จงใจขโมย Username และ Password เพื่อเข้าถึงข้อมูลบน Social Media ของบุคคลอื่น หรือใช้วิธีการบางอย่างแฮคข้อมูลเข้าไป มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 5 ที่ระบุว่า “ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
3. ไม่ได้ดูอย่างเดียว แต่แก้ไขดัดแปลงข้อมูล เพื่อก่อให้เกิดความเสียหาย ก็ผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน
หากเข้าระบบ Social Media ของผู้อื่นได้แล้ว แต่ยังไปแก้ไข ดัดแปลงข้อมูลต่าง ๆ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของบัญชี จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 9 ที่ระบุว่า “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
4. ตัดต่อ ดัดแปลง ภาพที่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง จะเป็นภาพของคนเป็นหรือคนตาย ก็มีความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
บางครั้งนักสร้างคอนเทนต์พเนจรบน Social Media หลาย ๆ คนก็ย่ามใจ นึกสนุกตัดต่อภาพของผู้อื่นให้เกิดความเสียหาย ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามให้ได้รับความอับอาย หรืออีกกรณีที่เกิดขึ้นบ่อย คือการแชร์ภาพศพผู้เสียชีวิต หรือนำไปตัดต่อ ดัดแปลงไว้พูดคุยสนทนาในวงกว้าง จนทำให้ญาติผู้เสียชีวิตได้รับความอับอาย กฎหมายเปิดช่องให้เอาผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มาตรา 16 ได้ ซึ่งมีความว่า
“ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
“ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําต่อภาพของผู้ตาย และการกระทํานั้นน่าจะทําให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทําต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง”
5. โพสต์ข่าวปลอมที่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายลงบน Social Media
“ข่าวปลอม” ในที่นี้มีความหมายค่อนข้างกว้างทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น การแชร์ข้อมูลหลอกลวง หลอกทำะุรกิจลูกโซ่ การโพสต์ภาพอนาจาร หรือการโพสตืเรื่องราวว่าร้ายคู่กรณีบน Social Media ผู้ใดกระทำผิดเช่นนี้ คู่กรณีสามารถเอาผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มาตรา 14 ได้ ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
6. ชอบเสพดราม่าต้องระวัง! ไม่ได้เป็นคนโพสต์ แค่ไลก์ คอมเมนต์ แชร์ ก็ผิดเช่นเดียวกัน
นอกเหนือจากการเป็นผู้สร้างข่าวปลอม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มาตรา 15 ยังระบุว่า “ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14” ดังนั้น ผู้ที่ Engage กับข่าวปลอมบน Social Media เหล่านี้ หากเจ้าทุกข์แจ้งความ ก็ย่อมจะต้องรับบทลงโทษไปด้วย
สรุป
พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์อยู่ใกล้ตัวคุณมากกว่าที่คิด บ่อยครั้งการแสดงอารมณ์ร่วมกับข่าวต่าง ๆ บน Social Media อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจทำให้คุณต้องจ่ายค่าปรับ หรือเดือดร้อนถึงขั้นรับโทษจำคุกได้
อ้างอิง
THAINETIZEN. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560
Available from: https://thainetizen.org/docs/cybercrime-act-2017/
idd. พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ๒)
Available from: http://sql.ldd.go.th/intraaccount/Information_Law/File/Law-10.pdf
TRUE ID. แชร์ภาพศพ มีโทษอะไรบ้าง? สรุปกฎหมายลิขสิทธิ์ รู้ไว้ ไม่เสี่ยงโทษ!
Available from: https://news.trueid.net/detail/DlRK2q439M4x