มีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำเพจไปสักพักแล้วเจอปัญหาความสะเปะสะปะของข้อมูล ภาพรวมของเพจที่ไม่สามารถสร้างภาพจำให้ลูกค้าได้ คำว่า “คาแรคเตอร์” หรือบทบาทที่ว่านี้คือการสร้างตัวละครสมมติขึ้นมา อาจเป็นตัวคุณเลยก็ได้ ถ้าเพจนั้นคุณต้องการแสดงความเป็นตัวตนของคุณออกไป แต่หากเป็นเพจสินค้า ธุรกิจหรือแบรนด์ล่ะก็ถ้าเป็นไปได้ ก่อนที่จะเริ่มทำเพจเราอยากให้คุณใช้เวลาสักนิดในการกำหนดคอนเซ็ปต์รวมถึง คาแรคเตอร์ของเพจด้วยว่าคุณจะให้เพจนี้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย อายุเท่าไหร่ ลักษณะนิสัยเป็นยังไง รวมถึงเขาอยากจะนำเสนออะไร
แล้วฉันจะสร้าง คาแรคเตอร์ ยังไงล่ะ เอามาจากไหน หรือแค่มโนขึ้น?
ถูกต้อง แค่ “มโน” ขึ้นมาเท่านั้นเอง แต่! การมโนที่ว่าจะต้องถูกคิดจากหลักทางการตลาดพื้นฐานง่ายๆ ก่อนว่า ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของคุณคือใคร แบรนด์สินค้าคุณอยู่ในตลาดระดับไหน ราคาสินค้าเท่าไหร่ เป็นสินค้ากลุ่มใด ขายผู้ชายหรือผู้หญิง เป็นสินค้าของเพศทางเลือกหรือไม่ ฯลฯ เมื่อตีโจทย์เหล่านี้แตกคุณก็สามารถมโน คาแรคเตอร์ ออกมาได้แล้ว ว่าคาแรคเตอร์แบบไหนที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของคุณ
ตัวอย่าง
กลุ่มลูกค้าของคุณคือ เพศที่สาม อายุ 25-35 ปี ขายเสื้อผ้าแฟชั่นที่ประดับเลื่อมเยอะๆ ราคาตั้งแต่ 500 – 1,000 บาท คาแรคเตอร์ของเพจคุณก็ควรจะเป็นเพศที่สาม อายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกค้า ภาษาที่ใช้ก็จะเป็นคำพูดของเพศที่สามใช้กัน คำสมัยใหม่อย่างเช่น “ราคาจุกๆ” “สวยไม่จกตา” “ตาแตกไปเลยจ้า” แล้วพวกคำทางการ คะ ค่ะ ก็เปลี่ยนเป็น ค่า จ้าาา เริ่ดๆ ฯลฯ ซึ่งการใช้ภาษาเขียนเหล่านี้จะช่วยให้คุณเข้าใกล้กับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น พอคราวนี้คนที่ไม่น่าจะใช่ลูกค้าของคุณหลุดเข้ามาเขาก็จะรู้ได้ทันทีว่าเพจนี้ขายสินค้าสำหรับใคร
เพจนึงสามารถมีหลายคาแรคเตอร์ได้หรือไม่?
ไม่มีคำว่าไม่ได้ในโลกโซเชียลมีเดียแต่เราไม่แนะนำ เหตุเพราะ Facebook ทำระบบ Page ขึ้นมาให้เปรียบเสมือนเป็นนิตยสารหนึ่งเล่ม ซึ่งแน่นอนว่าการทำนิตยสารสักเล่มนั้นคุณจะต้องชัดเจนไปเลยว่าผู้อ่านเป็นใคร เป็นนิตยสารประเภทไหนแล้วกลุ่มเป้าหมายของนิตยสารเล่มนี้คือทำเพื่ออะไร ขายของ ให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจหรืออื่นๆ เช่นเดียวกับการทำเพจที่คุณจะต้องคิดไปถึงภาพรวมระยะยาวว่าหากคุณทำเพจที่มีมากกว่าหนึ่งคาแรคเตอร์ ความสับสนวุ่นวายจะเกิดขึ้นมากแค่ไหน เช่นคุณตั้งใจจะทำเพจเพื่อสร้างแรงบันดาลใจปลุกใจผู้อ่าน แต่ในทางเดียวกันกลับโพสต์ขายของมากมาย เพจๆ นั้นของคุณก็จะถูกลืมจากฐานะเพจให้แรงบันดาลใจไปในทันที แล้วก็ใช่ว่าการขายของของคุณจะราบรื่น เพราะเมื่อผู้ที่เขาตั้งใจเข้ามาอ่านบทจริงๆ กลับต้องมาเห็นสินค้าเต็มไปหมดนอกจากจะไม่ซื้อแล้วเขาอาจเลิกติดตามเพจของคุณไปเลยก็ได้
คาแรคเตอร์ มีแค่เรื่องภาษาเขียนรึเปล่า?
คำตอบคงชัดเจนอยู่แล้วว่า “ไม่ใช่” คำว่า “คาแรคเตอร์” ในที่นี้นอกจากภาษาเขียนที่ใช้ในเพจแล้วยังรวมไปถึงสไตล์การโพสต์รูปภาพ สีสันของเพจ หรือแม้แต่การโต้ตอบกับลูกค้า ก็ยังสามารถช่วยเสริมให้คาแรคเตอร์ของคุณแข็งแรงขึ้นได้ ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้สามารถทำได้ด้วยตัวเองคือคิด กำหนดคาแรคเตอร์ให้ชัดเจนจากนั้นค่อยไปบรีฟงานกับทีม ทั้งนักเขียน ผู้ดูแลเพจ คนออกแบบกราฟิก ฯลฯ หรือถ้าหากคุณทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ปัจจุบันก็มีเครื่องมือให้ใช้แบบฟรีๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นสร้างกราฟิกง่ายๆ บนเว็บ Canva.com (มีแอปฯ บนมือถือด้วย) หรือตัวช่วยคิดคอนเทนต์อย่าง Google Trend ที่ให้คุณเสาะหาเทรนด์สินค้าได้จากทั่วโลก เพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนเนื้อหาต่างๆ ให้เป็นคอนเทนต์ในสไตล์ของคุณเอง หากทำทั้งหมดนี้ตั้งแต่เริ่ม เพจคุณจะมีภาพจำที่ลูกค้าจะสามารถจดจำแบรนด์ของคุณได้