จารุสตรี สุวรรณวงศ์” มีของดีต้องดันให้สุด อีคอมเมิร์ซกุญแจสำคัญส่งออกสินค้าไทย

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตผู้คนทั่วทุกมุมโลก เฉพาะในทางเศรษฐกิจเอง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ว่าจะฉุดรั้งให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่โลกได้ผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ในปี 1930 เป็นต้นมา

         แต่ในทุกวิกฤตมักสร้างโอกาสให้กับบางธุรกิจ  ซึ่ง “อีคอมเมิร์ซ” เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มทางธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์อย่างมากจากวิกฤตครั้งนี้ ด้วยในระยะที่ผ่านมาผู้คนทั้งโลกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรูปแบบการใช้ชีวิต การจับจ่ายใช้สอยจากแพลตฟอร์มออฟไลน์ มาสู่ออนไลน์อยู่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 จึงกลายเป็นตัวเร่งให้การเปลี่ยนแปลงนี้ให้เกิดเร็วขึ้น

         ‘จารุสตรี สุวรรณวงศ์’ ผู้บริหารแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ผู้ซึ่งได้คลุกคลีกับทั้งอุตสาหกรรมและข้อมูลของอีคอมเมิร์ซของไทยและต่างประเทศ ได้ช่วยยืนยันให้เราเห็นภาพนี้ได้ชัดเจนขึ้น

 

จับเทรนด์อีคอมเมิร์ซความต้องการสินค้าในสหรัฐฯ
         ‘จารุสตรี’ กล่าวว่า โดยรวมอีคอมเมิร์ซทุกประเทศโตขึ้นหมด ด้วยสถานการณ์ที่มีการล็อกดาวน์ ทำให้คนต้องหาวิธีใหม่ในการบริโภคสินค้าหรือบริการ ที่จะแตกต่างไปคือที่สหรัฐฯ มีขนาดตลาดที่ใหญ่กว่าไทยมาก ผู้เล่นที่เป็นอันดับต้นๆ ค่อนข้างจะชัดเจน โครงสร้างพื้นฐานในการสร้างความสะดวกให้กับคนที่อยู่บ้านก็ชัดเจนกว่า ไม่ว่าจะเป็นการส่งของจากโดรน รวมถึงการ Last mile delivery จึงทำให้การเติบโตของเขามีความชัดเจนมากกว่าไทย

         โดยในเวลานี้ ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในตลาดอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ คือ ในช่วง1-2 เดือนแรก ตั้งแต่มีการล็อกดาวน์ คนมีการเปลี่ยนการซื้อสินค้าจาก Category (หมวดหมู่) ทั่วไป มาเป็น Essential Product (สินค้าจำเป็น) มากขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค พวกอาหาร ยา ที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน มีความต้องการสูง เทรนด์นี้ใกล้เคียงกับที่เกิดในไทย แต่พออยู่บ้านสักระยะพอเริ่มเบื่อ ความต้องการสินค้าเริ่มเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่เป็นการเอนเตอร์เทนในครอบครัว หรือรอบๆ บ้าน เช่น ของตกแต่งบ้าน โต๊ะทำงาน อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการทำงานจากที่บ้าน อุปกรณ์แท็บเลทที่ทำให้ลูกเรียนรู้จากที่บ้านได้ อุปกรณ์ซ่อมรถ ล่าสุดจักรยานก็ขายดีมาก

          แต่ ณ เวลานี้ เทรนด์เริ่มกลับมาเหมือนปีที่แล้ว เห็นความต้องการสินค้าในหมวดที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ข้อมูลเริ่มแสดงให้เห็นว่าคนเริ่มกลับมาใช้ของที่เป็นปกติมากขึ้น อย่างเช่นชุดเดรสที่สวมใส่ไปงานปาร์ตี้ ก่อนหน้านี้ก็หายไปเลย แต่ตอนนี้ก็เริ่มกลับมา  แต่การซื้อขายก็ยังคงเป็นการอยู่บนอีคอมเมิร์ซ และหลายบริษัทหันมาใช้อีคอมเมิร์ซ

         “สินค้าจะมีสินค้าที่จำเป็น และสินค้าที่เป็นลักซ์ชัวรี่ ซึ่งเราเห็นเทรนด์ว่าอะไรที่เป็นลักซ์ชัวรี่ที่หายไปก่อนหน้านี้ มันเริ่มกลับมาแล้ว คนขายสามารถขายได้หลากหลายหมวดหมู่มากขึ้น ใครสนใจตลาดสหรัฐฯ ก็สามารถมองหาตลาดที่หลากหลายได้ และสินค้าตามฤดูกาลก็กลับมา อย่างเช่นช่วงวันแม่ที่ผ่านมาก็คิดว่าสินค้าที่เกี่ยวกับคุณแม่จะไม่ได้ขายดีมาก ปรากฏก็ยังขายดีเหมือนเดิมคนกลับมาใช้ของปกติ” จารุสตรี กล่าว

 

โควิด-19 หนุนตลาดโตก้าวกระโดด ดันการจ้างงานพุ่ง

ผู้บริหารแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ยักษ์ใหญ่ กล่าวว่า  แม้จะไม่มีข้อมูลลงรายละเอียดการเติบโตของแต่ละหมวดย่อยของสินค้าในช่วงที่มีวิกฤตโควิด-19  แต่ภาพรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคก็เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดที่  300%  ขณะที่ภาพรวมของอีคอมเมิร์ซเติบโตได้ 40%  ดังนั้นสินค้าหมวดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าสุขภาพ อาหารกลุ่ม Ready to Cook (พร้อมปรุง) ก็ย่อมเติบโตสูงด้วยเช่นกัน

         ดังนั้น ใครที่ทำอีคอมเมิร์ซในเวลานี้  รวมถึงกลุ่มคนที่ทำงานในคลังสินค้า (แวร์เฮ้าส์) ต้องจ้างงานเพิ่มมากไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศ หรือในสหรัฐฯ เพียงแต่ฝั่งสหรัฐฯจะฟังดูจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดด้วยความที่เป็นตลาดขนาดใหญ่กว่าไทย 30-40 เท่า เช่น กรณีของ อีคอมเมิร์ซชั้นนำเจ้าหนึ่งในสหรัฐฯ เขาจ้างคนไปไว้ในคลังสินค้าเพิ่มขึ้นอีกกว่า 170,000 คน เพื่อรองรับออเดอร์ดีมานด์ตรงนี้  

หลายบริษัทมีการปรับเปลี่ยนเอา เทคโนโลยีเข้าไปช่วยการขายสินค้า ใครที่สามารถเอาสินค้าตัวเองเข้าไปอยู่ในอีคอมเมิร์ซได้ ก็จะไม่มีปัญหากับเรื่องการบริหารคน เพราะมีความต้องการสินค้าในตลาดอยู่แล้ว เพียงแต่ธุรกิจจะหาวิธีตอบโจทย์ลูกค้าได้หรือเปล่าเท่านั้น สังเกตจากวิธีการใช้ชีวิตของคนไทย จริงๆ แล้ว มีการซื้อกันทุกวัน ลูกค้าอาจจะมีการเลือกมากขึ้นระหว่างของที่จำเป็น กับไม่จำเป็น เพียงแต่คุณสามารถหาวิธีการซื้อขายของ หรือวิธีการนำเสนอของให้กับคนที่เขาไม่ได้ออกไปเจอคนได้หรือเปล่า ถ้าสามารถทำได้ก็ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องคนเลย

         “ครั้งนี้เป็นบทเรียนที่ดีมาก ที่ทำให้เห็นว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงควรจะมีการเรียนรู้เกี่ยวกับการบริโภคและการใช้บริการแบบใหม่ ต่อไปคุณจะต้องหาวิธีปรับใช้เทคโนโลยีสำหรับกลุ่มผู้ซื้อที่เขาอาจจะติดการใช้เทคโนโลยีจนนำไปใช้ภายหลังจากโควิด-19 จบแล้ว”

ทุกช่วงเวลา Online Cross Border เหมาะกับสินค้าไทย

เมื่ออีคอมเมิร์ซกำลังดีวันดีคืนเช่นนี้ ย่อมมีคำถามตามมาแน่นอนว่า ช่วงเวลานี้เหมาะหรือไม่ที่จะเริ่มต้นการลุยตลาดอีคอมเมิร์ซแบบ Cross Border (ส่งออกไปต่างประเทศ)  ในประเด็นนี้ ผู้บริหารแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ยักษ์ใหญ่ แชร์มุมมองว่า เหตุผลหนึ่งที่เธอเลือกทำงานกับบริษัทที่เป็น Online Cross Border ก็ด้วยเหตุผลเพราะไทยมีของดีเยอะมาก  และต้องการให้คนทั้งโลกเห็นสินค้าไทย ภายใต้แบรนด์ของคนไทย  ดังนั้น ไม่เคยคิดเลยว่ามีช่วงไหนที่ไม่ควรทำ Online Cross Border ทุกช่วงเวลาเหมาะสมหมดเลย  ตั้งแต่รู้จักอีคอมเมิร์ซมา ยอด Cross Border อีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้นทำสถิติใหม่ตลอด ล่าสุดคือ ทุกๆ 100 ออเดอร์ของอีคอมเมิร์ซจะมี 30% เป็น Cross Borders มาจากประเทศอื่น และเทรนด์ก็ยังคงเติบโตขึ้น

         ด้วยภาพการเป็นเป็นครัวของโลก มีอาหารมากมาย แล้ว และมีข้อจำกัดทางการค้าน้อย ช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาดีที่สุดที่คนไทยจะส่งของไปต่างประเทศ และควรมองหารูปแบบสินค้าที่ส่งออกที่หลากหลายมากขึ้น ไม่อยากให้คิดถึงเพียงสินค้าพวกอุปโภคบริโภค สินค้าจำเป็น  เช่น กรณีของสหรัฐฯ ของที่ขายอยู่ในมาร์เก็ตเพลสเวลานี้เป็นของที่หลากหลายหมวดหมู่มาก มีตั้งแต่หนังยาง ศาลพระภูมิก็มีเพราะคนเอาไปตกแต่งบ้านหลังจากมีการอยู่บ้านกันมากขึ้น

         นอกจากนี้ โดยส่วนตัวจะแนะนำให้คนไทยคิดเรื่องการส่งออกสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเองมาตลอด และเชื่อว่านี่คืออนาคตธุรกิจของคนไทย  ช่วงนี้ถ้าหันมาส่งออกจะรู้ว่าต่างชาติรอสินค้าจากคนไทยอยู่  บางอย่างเพียงแค่รู้ว่าเป็นสินค้าไทยก็ขายได้แล้ว เพียงแต่คนที่จะขายจะต้องใช้เวลานี้ในการเรียนรู้ตลาดและกลุ่มเป้าหมาย

 

เทคนิค 4 ข้อ สู่ตลาดส่งออกสุดปัง  

         “จารุสตรี”  กล่าวว่า  ระหว่างการทำงานจะพบคำถามจากผู้ขายบ่อยๆ ว่าจะขายอะไรไปต่างประเทศดี ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบยากมากเพราะคำว่าขายอะไรดีแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน  แต่ก็จะให้เทคนิคสำหรับคนที่สนใจจะเริ่ม Across Borders มีอยู่ 4 เทคนิคที่ต้องดู
         หนึ่ง “Customer of Session” with “Customer Obsession” คือไม่ว่าจะขายอะไร ตั้งต้นที่ลูกค้า อย่าไปตั้งต้นที่สินค้า ให้ดูว่าลูกค้าที่คุณต้องการจะไปขายของให้นั้น เขาบริโภคสินค้าแบบไหน ทำความเข้าใจการบริโภคสินค้าของเขา จะทำให้เราเข้าใจการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของเขา

         สอง Invent & simplify ต้องคิดว่าลูกค้าไม่ได้มีแต่คนไทยอีกต่อไปแล้ว  คุณมีสินค้าอยู่แล้วอาจจะนำสินค้าที่เคยขายในไทยไปขายที่ตลาดที่อยู่ห่างจากไทย 12 ชั่วโมง เมื่อลูกค้าของคุณไม่ใช่คนที่อยู่ในภาคเหนือ กลาง ใต้ ของไทยอีกต่อไป แต่สามารถจะไปอีกหลายประเทศ ฉะนั้นก็ต้อง Simplify (ทำให้ลูกค้าเข้าใจ) สินค้า และพัฒนาสินค้าของเราว่าจากสินค้าที่ขายอยู่ในไทยไปขายบนมาร์เก็ตเพลสที่มันเป็นสากล เราจะต้อง Simplify ทั้งไอเดียและสินค้าอย่างไรก็ จะต้องปรับตรงไหนให้เข้ากับลูกค้า

         สาม Earn Trust  คือการสร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อเราหาสินค้าได้แล้ว รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร แต่ตลาดมันใหญ่มาก ซึ่งในมาร์เก็ตเพลสจะมีระบบที่เรียกว่าการรีวิว ซึ่งนั่นก็คือการ ‘Earn Trust’ สังเกตว่าปัจจุบันไม่มีใครที่ซื้ออะไรโดยไม่ใช้รีวิว แม้แต่จะจะซื้อข้าวมาทานยังต้องดูรีวิว ดังนั้นการมีรีวิวที่ดีควบคู่ไปกับการสร้างโปรดักส์ ที่ดีก็ทำให้เราได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าได้

         สี่ Think Big  คือการคิดให้ใหญ่ แม้การขายไปต่างประเทศจะยากกว่าการขายในประเทศ แต่เชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักระดับโลกได้  อย่ามองแค่ไปซื้อของมาขายบน Amazon  อยากให้คิดถึงการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ค่อยๆสร้างแบรนด์ของเราบนมาร์เก็ตเพลส  เพราะพวกนี้เมื่อแบรนด์ติดแล้วมันอยู่ยาว อยากให้คิดเป็นภาพใหญ่ก่อน นั่นคือ ‘Think Big’ อยากให้ตั้งเป้าไปเลยว่าปีนี้เราจะขายให้ได้เท่าไหร่ ปีหน้าเราจะขายเท่าไหร่ ปีต่อไปเราจะขายเท่าไหร่ แล้วคำนวณกลับมาเพื่อให้รู้ว่าเราจะต้องทำอะไรเพื่อให้ไปถึงสิ่งนั้น

          ส่วนตัวเคยทำงานกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศมาแล้ว รู้ว่าการทำเรื่องเหล่านี้มันยาก  แต่ถ้ายากแล้วผลตอบแทนใหญ่ทำได้แล้วเราจะมีกำลังใจ ดังนั้นเราต้องคิดใหญ่แล้วมองย้อนกลับ มีการวางแผนที่ดี แล้วจะไม่ท้อกับการทำงานระหว่างทาง

          “อยากกระตุ้นให้ทุกคนวางแผนดีๆ วางแผนดีและคิดใหญ่เราจะได้ไม่เหนื่อยระหว่างทางและทำไมล์สโตนให้สั้นๆ เช่นปีนี้ 1 ล้านบาท ปีหน้า 2 ล้านบาทอย่าไปคิดว่าจะต้องได้ 10 ล้านเลยแบบนั้นมันจะเหนื่อย  กรณีที่เราได้ดูแลผู้ขายเอง เราจะแยกไมล์สโตนให้เขาสั้นมากๆ เช่นปีนี้อยากปิดปีที่1 ล้านยูนิต การที่จะไปถึงตรงนั้นได้จะต้องทำอย่างไร ถ้าตั้งไว้เฉยๆ มันจะดูเหนื่อย ตั้งแล้วต้องหาวิธีด้วยว่าจะไปถึงมันได้อย่างไรด้วย” จารุสตรี กล่าว

 

สิ่งสำคัญที่สุดของอีคอมเมิร์ซคือ Data ผู้อย่าใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจอย่างเดียว

เธอยังให้คำนึงถึงอีกประเด็นสำคัญว่า ไม่ว่าจะขายอะไรก็ตาม ให้ระวังเรื่องการเอาความรู้สึกไปตัดสินใจ  แม้การใช้ความรู้สึกจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะทำให้เรารู้ว่าเราชอบ หรือไม่ชอบอะไร แต่เนื่องจากในมาร์เก็ตเพลสตลาดมันใหญ่มาก ต้องใช้เหตุและผล โลกของอีคอมเมิร์ซสิ่งที่สำคัญที่สุดคือดาต้า ดังนั้น ใช้ความรู้สึกได้แต่ต้องใช้ดาต้าในการสนับสนุนอีกทีว่าสิ่งนี้มันไปได้หรือไม่ และเราสามารถที่จะคาดการณ์อะไรได้บ้างจากข้อมูลที่มีอยู่

         ที่ไม่อยากให้ลืมคือเรื่องของการวางแผน  อย่างที่บอกในเรื่องขอให้ Think Big ว่าให้มีการวางแผนเป็นขั้นๆ ว่าเราจะไปไปถึงจุดที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้อย่างไร มันมีเครื่องมือต่างๆ มากมายที่จะทำให้ผู้ขายสามารถใช้เพื่อสร้างยอดบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้

         ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราไม่มีการวางแผนอย่างมีขั้นตอน เราจะไม่สามารถขายสินค้าได้ในช่วงที่เป็นช่วงพีคของสหรัฐฯ ซึ่งปกติช่วงที่พีคของอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ จะเป็นช่วง มิ.ย.-ก.ค. ช่วงนั้นคนจะช้อปปิ้งเยอะมาก ถ้าเราไม่วางแผนก็จะขายไม่ได้ มีคนขายไม่น้อยที่จะแอบมาถามประมาณจะเดือน มิ.ย. แล้วว่าจะมี Prime Day แล้วจะขายอะไรดี ซึ่งก็ไม่ทันแล้ว

         เพราะว่าการขายของให้คนในสหรัฐฯ การขายจากไทยจะไม่ขายเป็นชิ้น แต่จะส่งไปสต๊อกคลังสินค้าในตลาดประเทศนั้น ๆ แล้วเขาส่งให้ ถ้าอยากขายให้ได้มากๆ อาจจะส่งทีละออเดอร์ไม่ได้ เพราะมันจะต้องส่งไปเป็นคอนเทนเนอร์แล้วโหลดไปซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 45 วัน รวมการผลิตอีกประมาณ 1 เดือน ดังนั้นคนที่เขาจะขายได้ช่วง Prime Day เขาเตรียมตัวมาตั้งแต่เดือน ธ.ค.ของปีที่แล้ว ดังนั้นการวางแผนสำคัญมาก  เพราะมันสามารถทำให้คนขาดโอกาสสำคัญได้  สำหรับตลาดขนาดใหญ่ขนาดนั้น เมื่อไหร่ที่คุณพลาด Prime Day ของเขาไป มันเท่ากับการพลาดทั้งปีเลย

 

อย่า Underestimate พลังของ Marketing

ผู้บริหารแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ยักษ์ใหญ่ กล่าวเสริมว่า อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการทำธุรกิจในมาร์เก็ตเพลสคือ อย่าคาดการณ์ไว้ต่ำ (Underestimate) พลังของ Marketing ทั้งภายในและภายนอกมาร์เก็ตเพลส ให้นึกภาพว่าการขายของในอีคอมเมิร์ซมันก็เหมือนการขายของในห้าง อีคอมเมิร์ซมีหน้าที่พาคนเข้ามาในห้าง เรามีหน้าทีเอาคนที่อยู่ในห้างเข้ามาที่ร้านเรา ถ้าเราไม่มีการเรียกที่เหมาะสมหรือไม่มีการยิงโฆษณาเลย มันจะไม่มีคนรู้จักร้านเราเลย ถ้าร้านเราไม่ได้เป็น Top of Mind Brand ของลูกค้าอยู่แล้ว

         ดังนั้น จึงไม่อยากให้ผู้ขายลืมตรงนี้ไปว่า ต่อให้ไปอยู่ในมาร์เก็ตเพลสที่ใหญ่ก็ยังเป็นหน้าที่เราที่ต้องทำ Marketing ทั้ง เพื่อดึงคนที่อยู่บนแพลตฟอร์มอยู่แล้ว และดึงคนจากข้างนอกแพลตฟอร์ม ให้เดินมาที่ร้านค้าของเราอย่ารอออเดอร์ที่เป็น Organic อย่างเดียว (ออเดอร์ที่ลูกค้าค้นหาสินค้าเข้ามาเอง โดยที่เราไม่ได้ซื้อโฆษณา) ช่วง 2-3 เดือนแรก ออเดอร์ 70% มาจากการซื้อโฆษณาทั้งนั้น ที่เหลือ 30% เป็นออเดอร์ที่เป็น Organic  พอสินค้าติดตลาดแล้วเปอร์เซ็นถึงจะกลับข้างกัน ดังนั้นถ้าวางแผน Marketing ไม่ดีออเดอร์ก็จะน้อย  เปรียบเทียบกันก็เหมือนเรามีของดีแต่ก็ต้องทำให้คนเห็นด้วย

 

บริหารงานในวิกฤตบทพิสูจน์ Manager

เมื่อถามถึงหลักการบริหารงานในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 “จารุสตรี” เล่าว่า ทั้งบริษัท  Work from Home มาตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. และคาดว่าจะยาวไปถึงสิ้นปี  ซึ่งโดยรวมการทำงานไม่ได้มีปัญหามากนัก เพราะมีการเตรียมตัวตั้งแต่ได้ยินข่าวการแพร่ระบาดของโรคในเมืองอู่ฮั่นว่าโรคนี้อาจจะเป็นโรคระบาดรุนแรง จึงเริ่มวางแผนรับมือว่ากรณีจะต้องย้ายพนักงาน หรือการทำงานจากบ้านจะต้องทำอย่างไร มีการเตรียมทั้งส่วนของพนักงานและโครงสร้างพื้นฐาน  เนื่องด้วยเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีอันดับต้นๆ ด้วยทำให้ช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ไม่เกิดความวุ่นวายมาก

         มีที่ขลุกขลักบ้างในส่วนที่เราจะต้องจัดการว่าทำอย่างไรในกรณีที่ไม่สามารถเจอคนแบบพบหน้ากัน  ตัวเราเองมีความคุ้นเคยอยู่แล้วกับการใช้การประชุมทางไกล แต่จะทำอย่างไรให้ทางพาร์ทเนอร์ ผู้ประกอบการสามารถทำงานกับเราได้โดยที่ประสิทธิภาพและผลงานยังคงเดิม

          ถัดมาคือเรื่องการดูแลคนในทีม จะต้องทำให้เขารับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง  เรื่องนี้เป็นส่วนที่เราต้องใช้พลังเยอะมาก เพื่อให้ทีมสะดวกกับการทำงาน ต้องมีวิธีการแนะนำน้องในฐานะที่เราเป็นผู้จัดการ เวลาเกิดอะไรขึ้นมา การสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ด้วยการที่เป็นบริษัทด้านเทคด้วย สิ่งที่สำคัญมากคือเทคโนโลยีและบุคคล  ฉะนั้นเราจะให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนในทีมว่าเขารู้สึกอย่างไร เขามีความเป็นห่วงเรื่องอะไร การสื่อสารต้องชัดเจน เพื่อให้เขาไม่สูญเสียโฟกัสกับงาน  และการสื่อสารจะต้องต่อเนื่อง ทั้งแบบส่วนตัวและในฐานะมืออาชีพ

          “ช่วงนี้  Manager (ผู้จัดการ) สำคัญที่สุด เป็นช่วงที่บทบาทชัดเจน ว่าจะต้องบริหารได้ทั้งงาน ความรู้สึกพนักงาน ขณะเดียวกันต้องรักษาประสิทธิภาพของงานไว้ให้ได้ ส่วนตัวเราก็มีความโชคดีอย่างคือบริษัทมีหลักการทำงานหลายข้อที่แข็งแรงมากๆ ทำให้พนักงานทุกคนมีหลักดีอยู่แล้ว สามารถที่จะสร้างความไว้วางใจให้กับบริษัทได้ โดยไม่ต้องเช็ค เพียงแต่ว่าในเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องที่ต้องคอยเช็คตลอดเวลา ต้อง Align งานให้ดีและอัปเดตสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง  ถ้าเขาไม่พูดกับเรา ก็ต้องหาวิธีพูดคุย เพื่อให้รู้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เพราะไม่มีใครเคยเจอสถานการณ์แบบนี้ และบางทีการ Work from Home มันทำให้เกิดความเครียดได้ อันนี้เป็นความท้าทายของแมเนเจอร์เลยว่าจะสามารถบริหารภายใต้สถานการณ์วิกฤตหรือเปล่า มันเป็นบทพิสูจน์เพราะไม่ได้ดูเฉพาะธุรกิจแต่ต้องดูแลไปถึงระดับจิตใจของทีม” จารุสตรี กล่าว

 

มองหาข้อดีในวิกฤต เรียนให้รู้แล้วกลับมาวิ่งให้เร็ว


จารุสตรี กล่าวว่า ในวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้อยากให้ผู้ประกอบการเข้มแข็ง ต้องเข้าใจว่าไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น และจริงๆ มันใกล้จะจบแล้ว เราต้องเข้มแข็งเพื่อผ่านตรงนี้ไปให้ได้ด้วยกัน เวลานี้ลองมองหาข้อดีของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น อาจใช้เวลาที่เราไม่ได้ยุ่งมากไปเรียนรู้การบริโภคแบบใหม่ว่าผู้บริโภคเริ่มบริโภคอะไร แบบไหนบ้าง หลังจากนี้ไปแล้วจะเกิด New Normal ซึ่งเป็นคำที่ครอบคลุมการใช้ชีวิตแบบใหม่ทั้งหมด  ผู้บริโภคจะมีวิธีการบริโภคและใช้บริการแบบใหม่ แล้วธุรกิจของเราจะต้องสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้

          ส่วนผู้ประกอบการที่อยากจะไป Cross Border ตอนนี้ทุกธุรกิจที่เป็นอีคอมเมิร์ซ มีคอร์สออนไลน์ฟรีเกือบหมดเลย สามารถไปเรียนที่ไหนก็ได้ที่เป็น Cross Border อีคอมเมิร์ซ แนะนำว่าให้เริ่มไป และลองเรียนรู้ว่าสินค้าเราตรงกับความต้องการตลาดไหน ลองหลายๆ ที่และช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะสมในการเรียนรู้  เราต้องลอง ถ้าเราไม่ลองจะไม่รู้ว่ามันจะสำเร็จได้อย่างไร โดยต้องลองด้วยแผนที่ดี ไม่มีอะไรบนโลกนี้ที่ไม่มีแผน  ฉะนั้นผู้ขายอย่ากลัวที่จะล้มเหลว เพราะเมื่อไหร่ที่เราล้มเหลว เราไม่ได้เริ่มใหม่จากศูนย์แต่เราเริ่มจากประสบการณ์ของการล้มเหลวนั้น ซึ่งมันจะดีขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นตอนนี้สนุกกับการลองไปเลย หาคอร์สที่สนุกๆ เรียนรู้กับอีคอมเมอร์ซ ยังไงมันมาแน่นอน


         “วิกฤตโควิด-19 ใกล้จะผ่านไปแล้ว พอผ่านไปแล้วโลกมันจะแคบลง คนก็จะใช้ชีวิตด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น มั่นใจว่าผู้ประกอบการที่เตรียมตัวดีจะกลับมาอย่างเข้มแข็ง ช่วงนี้ทุกคนถูกกระทบเหมือนกันหมด ขอให้ใช้เวลานี้วางแผนว่าเราจะกลับมาอย่างไรและเข้มแข็งกว่าเดิม อะไรที่มันเกิดขึ้นแล้วเราแก้ไขไม่ได้ แต่ตอนนี้เราเรียนรู้ได้ว่าว่าต่อไปมันจะเป็นอย่างไร และถ้ามันเกิดความเครียดก็แนะนำว่าให้แยกออกมาเลยว่า อันไหนเราแก้ไขได้ก็ทำ แต่ถ้ามันแก้ไม่ได้ก็ปล่อยมันไป ต้องบริหารความเครียดของตัวเราเองด้วย” จารุสตรี กล่าวทิ้งท้าย

มัณฑิตา จินดา (ทิป)

นักการตลาดดิจิทัล นักเขียน และเจ้าของเพจ Digital Tips Academy
ที่หลายๆคนเรียกว่า “ครูทิป”
….หลงรักงานสอนและการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ
…ชอบ Live ตอนดึกๆ
และมีความสุขกับการได้คุยกับคนเก่งๆ

เรียบเรียงโดย: รักสุดาณี (นามปากกา)

—————————————————-

ติดตาม Digital Tips ได้ทุกช่องทางที่

Facebook: https://www.facebook.com/TheDigitalTips

Youtube: https://bit.ly/2MfZKvc

Instagram: @digitaltips_academy

LINE OA: @digitaltips

Virtual Try-on บน Google
AI Marketing | Google
Virtual Try-on ฟีเจอร์สำหรับลองเสื้อก่อนซื้อจริงบน Google Shopping

ท่ามกลางกระแส E-commerce ที่กำลังมาแรง Google โปรแกรม Search Engine อันดับ 1 ของโลกจึงกระโดดลงมาเป็นผู้เข้าแข่งขันในสนามนี้บ้าง ด้วยการเปิดตัว Google…

AI Deepfake
AI Marketing
AI Deepfake คืออะไร? ทำไมต้องระวัง เกี่ยวข้องกับมิจฉาชีพอย่างไร

มิจฉาชีพเกิดขึ้นใหม่รายวัน และมักใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ พัฒนากลโกง ให้ไปถึงจุดที่ภาครัฐยากจะจัดการได้ หนึ่งในคือเทคโนโลยี AI Deepfake หรือ เทคโนโลยีปลอมแปลงใบหน้า ที่เป็นข่าวรายวันในช่วง 1…

การตลาดสายเทา
Marketing
การตลาดสายเทาคืออะไร ต่างกับการตลาดสายขาวอย่างไร นักการตลาดต้องรู้!

สำหรับคนที่คลุกคลีกับวงการ Marketing มาสักพัก โดยเฉพาะนักการตลาดที่เน้นทำ SEO เป็นหลัก น่าจะเคยได้ยินคำ 2 คำที่พันผูกกับวงการ SEO มาช้านาน นั่นคือ…