เคยสังเกตไหม? แบรนด์ใหญ่ ๆ บางแบรนด์มักจัดโปรแกรมส่งเสริมการตลาดร่วมกัน เพื่อดึงดูดทั้งกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ตัวเองและพาร์ทเนอร์ แต่ก็ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่ไม่เคยมีประวัติ Collab กับใคร แต่ก็ยังสามารถทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายของตัวเองได้ หากคุณเป็นอีกแบรนด์ที่สนใจ Collaborative Marketing แต่ไม่มั่นใจว่ากลยุทธ์นี้จะดีหรือไม่ และน่าสนใจแค่ไหนในปี 2024 ให้บทความนี้ช่วยเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ!
Collaborative Marketing คืออะไร
ที่มา: https://www.linkedin.com/pulse/collaborative-branding-2023-gimmick-sustainable-strategy-jovi-lim
Collaborative Marketing คือ กลยุทธ์การตลาดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแบรนด์สองแบรนด์หรือมากกว่านั้นจะร่วมมือกันสร้างแคมเปญ โปรโมชัน หรือกิจกรรม เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน เช่น ขยายฐานลูกค้า เข้าถึงลูกค้าใหม่ ๆ และสร้างจุดสนใจให้กับแบรนด์ ทั้งนี้ Collaborative Marketing อาจเป็นแค่กระบวนการง่าย ๆ อย่างการจัดทำโพสต์บน Social Media ร่วมกัน ไปจนถึงกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อนอย่างการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกัน หรือจัดอีเวนต์ในนามผู้จัดร่วมก็ได้
Collaborative Marketing มีประโยชน์อย่างไร
แน่นอนว่า Collaborative Marketing มีข้อดีที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งสามารถสรุปได้ออกเป็น 3 ข้อใหญ่ ๆ ดังนี้
ที่มา: https://www.orbitmedia.com/blog/collaborative-content-marketing/
1. สร้างการรับรู้แบรนด์ที่เพิ่มขึ้น
แต่ละแบรนด์ที่มา Collab กัน ล้วนมีฐานลูกค้าของตัวเอง และแบรนด์ไหนที่สร้างตัวตนบน Social Media ได้สำเร็จ ก็จะพ่วงผู้ติดตามทาง Social Media เข้าไปด้วย ดังนั้น การที่แบรนด์ต่าง ๆ ตัดสินใจจับมือทำ Collaborative Marketing ร่วมกัน ย่อมเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายของแต่ละแบรนด์ได้ทำความรู้จักกับแบรนด์พาร์ทเนอร์ไปโดยอัตโนมัติ
2. สร้าง Conversion หรือโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ
Collaborative Marketing มักมาในรูปแบบของการร่วมกันเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งจะมีภาพลักษณ์ คุณสมบัติ และ Story ที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น จึงมักจุดประกายให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจ และทำให้มี Conversion เพิ่มขึ้นจากปกติ
3. กลบจุดอ่อนแบรนด์ สร้างจุดแข็ง
หากแบรนด์ของคุณมีจุดอ่อนที่เห็นได้ชัด หรือกำลังถูกจับตามองในแง่มุมที่ไม่ค่อยสู้ดี Collaborative Marketing จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ และทำให้ลูกค้าจดจำคุณผ่านเรื่องเล่าและบรรยากาศใหม่ ๆ นอกจากนี้ หากสิ่งที่ร่วมกันทำกับพาร์ทเนอร์เป็นไปได้ด้วยดี ก็จะเป็นการสร้างจุดแข็งให้กับแบรนด์ด้วย
4 ขั้นตอนการปฏิบัติงาน Collaborative Marketing
หากคุณยังมองไม่เห็นภาพรวมว่า การทำ Collaborative Marketing ต้องเริ่มจากอะไร และแบรนด์ต่าง ๆ มีวิธีคัดเลือกพาร์ทเนอร์มาทำงานร่วมกันอย่างไร Digital Tips สรุปมาให้คุณเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
ที่มา: https://www.collidu.com/presentation-collaborative-marketing
1. ค้นหาธุรกิจที่มีศักยภาพในการทำงานร่วมกัน
มีหลักง่าย ๆ 3 ข้อที่จะช่วยคุณตัดสินใจว่า ธุรกิจใดเหมาะที่จะเป็นพาร์ทเนอร์ของคุณ:
- ธุรกิจที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของตัวเอง
- แบรนด์นั้น ๆ มีวิสัยทัศน์ การให้คุณค่า และเป้าหมายที่ใกล้เคียงกับแบรนด์ของคุณ
- แบรนด์นั้น ๆ อาจทำธุรกิจแตกต่างกับคุณ แต่เมื่อรวมกันแล้ว จะสามารถสร้างปรากฏการร์หรือความน่าสนใจบางอย่างได้
2. กำหนดเงื่อนไขการทำงานร่วมกัน
หากคุณค้นหาธุรกิจที่สนใจจะทำงานร่วมกันได้แล้ว และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนของการเสนอความร่วมมือ มีเงื่อนไขอยู่ราว ๆ 5 ข้อ ที่คุณต้องระบุในแผนงาน ก่อนเข้าไปเจรจากับแบรนด์พาร์ทเนอร์นั้น ๆ
- กำหนดผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะลงมือสร้างร่วมกัน
- ร่างแผนส่งเสริมการขายที่แต่ละแบรนด์จะมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน พร้อมผลประโยชน์ที่จะเกิดกับทุก ๆ แบรนด์
- กำหนดแผนการเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ให้ชัดเจน
- เปอร์เซ็นต์ความรับผิดชอบ และบทบาทในฐานะหุ้นส่วนของแต่ละแบรนด์
- กำหนดกรอบเวลาในการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบโครงการ
3. ออกแบบทีมสำหรับทำงานร่วมกัน
หากการเจรจาเป็นผลสำเร็จ ขั้นตอนต่อไป คือการออกแบบทีมเพื่อร่วมกันทำ Collaborative Marketing โดยแต่ละบริษัทควรแต่งตั้งทีมที่มีศักยภาพ เพื่อสื่อสารประเด็นปัญหา ความสำเร็จ และความต้องการของโครงการกับแบรนด์อื่น แนะนำให้ใช้คนจากแต่ละบริษัทในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน มีการนัดหมายประชุมสรุปโครงการเป็นประจำ และมีแผนสำรองเรื่องทีมงานตลอดเวลา
4. วางแผนกลยุทธ์การตลาด
พาร์ทงานที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของการทำ Collaborative Marketing คือ พาร์ทเกี่ยวกับการตลาด เนื่องจากจะต้องสื่อสารให้สาธารณชนรับรู้ว่า มีการร่วมกันของแบรนด์มากกว่า 1 แบรนด์เกิดขึ้น และโครงการนี้จะสร้างแรงสั่นสะเทือนในตลาดอย่างไร
Collaborative Marketing เหมาะกับธุรกิจแบบไหน
Collaborative Marketing เหมาะกับธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจที่มีเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้า เข้าถึงลูกค้าใหม่ ๆ และสร้างจุดสนใจให้กับแบรนด์ ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์เครื่องสำอางที่ต้องการร่วมมือกับแบรนด์แฟชั่นเพื่อออกคอลเลกชันเสื้อผ้า แบรนด์เครื่องดื่มกับแบรนด์ร้านอาหาร ที่ตัดสินใจร่วมมือกันเพื่อจัดโปรโมชั่นซื้อเครื่องดื่มแถมอาหาร ตลอดจนแบรนด์เสื้อผ้าที่ร่วมมือกับแบรนด์เครื่องสำอางเพื่อจัดงานแฟชั่นโชว์ เป็นต้น
Collaborative Marketing ยังน่าสนใจอยู่ไหมในปี 2024
Collaborative Marketing ยังคงถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ตอบโจทย์หลาย ๆ ธุรกิจในปี 2024 นี้ เนื่องจากแบรนด์ต่าง ๆ ยังคงแสวงหาโอกาสในการสร้าง Community ที่แข็งแกร่งร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้น 2024 ยังเป็นปีที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ พัฒนาจนถึงจุดสูงสุด ไม่ว่าจะเป็น AI สำหรับหาข้อมูล วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย หรือช่วยคิดแผนการตลาด ดังนั้น แบรนด์ต่าง ๆ จึงต้องการจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ควบคู่ไปกับการสร้างพันธมิตรในอุตสาหกรรมของตัวเอง เพื่อพึ่งพางบโฆษณาให้น้อยที่สุด
สรุป
Collaborative Marketing คือ หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจ และยังคงมีแนวโน้มว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่หลาย ๆ ธุรกิจเลือกใช้ในปี 2024 ดังนั้น หากคุณสนใจจะวางแผนร่วมมือกับแบรนด์ใดในปีนี้ อย่าลืมวางแผนให้รัดกุมตั้งแต่ต้นปี และรีบติดต่อขอความร่วมมือโดยเร็ว ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องพิจารณามาเป็นอันดับแรก คือประโยชน์ที่คุ้มค่าทั้งต่อคุณและพาร์ทเนอร์ และใช้ความร่วมมือนี้เป็นบันไดในการหามิตรแท้ทางธุรกิจต่อไป
อ้างอิง
smartsheet. Collaborative Marketing: Your Guide to a Powerful Marketing Tool
Available from: https://www.smartsheet.com/content/collaboration-marketing
LinkedIn. Why 2024 is the Year of Smart Collaborative Marketing
Available from: https://www.linkedin.com/pulse/why-2024-year-smart-collaborative-marketing-how-ai-x-matt-fok-joemc