พูดเรื่องเทคนิคการขายการทำธุรกิจบนโซเชียลมีเดียมากันเยอะแล้ว แต่ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่จำกัดอยู่แค่ภายในประเทศเท่านั้น แล้วคนที่อยากจะขายของไปต่างประเทศล่ะมีวิธีปรับปรุงโซเชียลมีเดียของตัวเองอย่างไรให้เหมาะสมบ้าง อันที่จริงไม่ได้ยากเลยที่จะทำเรื่องเหล่านี้ แต่ก่อนที่คุณจะเริ่มต้องตั้งคำถามก่อนว่ากลุ่มลูกค้าในต่างประเทศที่คุณอยากจะขายของให้เนี่ย พวกเขาใช้ Facebook รึเปล่า? ถ้าคุณคิดจะขายของให้คนจีนผ่าน Facebook ล่ะก็เลิกล้มความตั้งใจไปได้เลย แต่ถ้าหากข้อนี้ไม่ใช่ปัญหาของคุณ วันนี้เราก็นำเอา 5 เช็คลิสต์ปรับแก้เพจให้ขายของยังต่างแดนได้สบายๆ มาฝาก ลองไปดูว่าใน 5 ข้อนี้มีข้อไหนที่คุณยังไม่ได้ทำบ้าง
1. เลือกสกุลเงินที่ถูกต้อง
ถ้าตั้งใจแล้วว่าลูกค้าหลักๆ ของคุณจะเป็นชาวต่างชาติ หากมีชาติเดียวคุณก็ใช้เป็นสกุลเงินของประเทศนั้นๆ แต่ถ้าเป็นชาวต่างชาติหลากหลายชาติ เราแนะนำให้ใช้สกุลเงินเป็น USD เพราะจะเป็นกลางที่สุด แต่สกุลเงินนั้นคุณจะกำหนดได้ตอนที่กดเปิดใช้งานร้านค้าครั้งแรกและไม่สามารถเปลี่ยนได้ ดังนั้นไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะเลือกสกุลเงินที่จะใช้เข้าไป (หากต้องการเปลี่ยนจริงๆ จะต้องทำการลบ “ร้านค้า” ในเพจออกเสียก่อนแล้วสร้างใหม่ ซึ่งนั่นก็ทำให้เสียเวลาไม่น้อย ดังนั้นตรวจสอบให้ดีก่อนดีที่สุด)
2. มีแท็บร้านค้าแล้วหรือยัง?
เรื่องสุดแสนจะเบสิกแต่คนก็มักจะลืมกันตลอดคือการสร้าง “ร้านค้า” บนเพจของตัวเอง ลองสังเกตทางด้านซ้ายในเพจดูสิว่ามีแท็บร้านค้าให้คุณเข้าไปเปิดใช้งานหรือไม่ ถ้าใครยังไม่ได้สร้างร้านค้าก็ให้ทำตามขั้นตอนเพื่อเปิดใช้งานร้านค้าซะ โดยวิธีการมีดังต่อไปนี้
2.1 เข้าไปที่หน้าเพจ
2.2 เลือก “ตั้งค่า” (อยู่แถบเมนูทางด้านบนขวามือ)
2.3เลือก “เทมเพลตและแท็บ”
2.4 กดปุ่ม “เพิ่มแท็บ”
2.5 เลือกแท็บ “ร้านค้า” และกดเพิ่มตามขั้นตอนได้เลย
จากนั้นก็อัปโหลดสินค้าที่มีเข้าไป แต่ถ้าสินค้ามีเยอะมากก็ให้อัปโหลดเข้าไปเฉพาะสินค้าที่ขายดี หรือสินค้าที่คุณต้องการจะโฟกัสก่อนก็ได้แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด หากคุณสามารถทำได้เราก็แนะนำให้ในร้านค้าของคุณมีสินค้าครบทุกตัว พร้อมกับข้อมูล ราคาที่อัปเดตอยู่เสมอ
3. ไม่ต้องรอให้ถาม
ชาวต่างชาติจะค่อนข้างแตกต่างจากคนไทยตรงที่ คนไทยมักจะชอบพูดคุยสอบถามก่อนจึงจะทำการซื้อขาย แต่ชาวต่างชาติจะหวงความเป็นส่วนตัวอย่างมาก พวกเขามักจะไม่ค่อยชอบที่จะคุยอะไรมากมายนัก ถ้าสนใจก็จะทักมาเพื่อสั่งซื้อเลย ดังนั้นรายละเอียดสินค้าต่างๆ รวมถึงช่องทางการชำระ ราคา ต้องชัดเจนและครบถ้วนที่สุด ที่สำคัญควรอัปเดตอยู่เสมอ
4. ตั้งค่ารับการชำระเงินผ่าน Facebook
ปัจจุบัน Facebook มีระบบให้คุณสามารถกดรับเงินโดยลูกค้าชำระผ่านบัตรเครดิตได้เลย วิธีการเปิดมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
4.1 ทำการสร้าง “ร้านค้า” ให้เรียบร้อย (วิธีการเพิ่มแท็บร้านค้าดูที่ข้อ 2)
4.2 ตรงแท็บเมนูด้านบนหน้าเพจ ให้เลือก “จัดการร้านค้า” หากไม่มีให้กด “เพิ่มเติม” แล้วเมนูจัดการร้านค้าจะซ่อนอยู่ในนั้น
4.3 เลือก “ตั้งค่าการชำระเงิน” จากนั้นทำตามขั้นตอนจนจบกระบวนการ
เพียงเท่านี้เพจของคุณก็พร้อมที่จะรับเงินจากทั้งบัตรเดบิต เครดิต โดยเงินจะเข้าบัญชีที่คุณผูกเอาไว้ได้แล้ว
แต่ข้อจำกัดของระบบนี้คือจะอนุญาตให้ลูกค้าใช้จ่ายได้เพียงคนละไม่เกิน 50,000 บาท ต่อคนต่อวันเท่านั้น ถ้าหากสินค้าของคุณมีราคาแพงกว่านั้นอาจจะต้องลองมองบริการทางการเงินอื่นๆ เช่นติดต่อกับธนาคาร หรือใช้ Paypal แต่ทางเลือกนี้คุณจะต้องโดนตัดค่าธรรมเนียมจากยอดขาย ซึ่งตัวเลขคงต้องไปตกลงกับธนาคารต่างๆ อีกที
5. Grammar ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
คำว่าแค่สื่อสารกันเข้าใจก็พอแล้ว คงใช้ไม่ได้กับการให้ข้อมูลสินค้า การซื้อขาย เพราะความเชื่อมั่นนั้นคือการที่คุณจะทำให้พวกเขาเข้าใจในสินค้าได้อย่างกระจ่าง ไม่มีข้อสงสัยไม่เอะใจกับอะไรทั้งสิ้น เพราะอย่าลืมว่าการขายสินค้าให้ชาวต่างชาตินั้นการสื่อสารให้เข้าใจทั้งสองฝ่ายถือเป็นสิ่งที่คุณต้องให้ความใส่ใจ เพราะถ้าเกิดการเข้าใจผิดขึ้นมาคุณอาจจะต้องเสียลูกค้าไปเลยก็ได้
วิธีการทั้งหมดที่เรานำเสนอไปนี้เป็นเพียงแค่ส่วนของการเตรียมความพร้อมเท่านั้น แต่นอกเหนือจากในขั้นตอนการขายแล้วคุณในฐานะเจ้าของอาจต้องศึกษาเรื่องภาษี เรื่องการจัดส่ง การรับประกันของต่างๆ ให้อย่างละเอียดเพราะถ้าขายดิบขายดีแต่มาโดนภาษีย้อนหลังก็อาจทำให้จุกได้ ดังนั้นกันไว้ดีกว่าแก้