ตอนเด็กเวลาคุณพ่อคุณแม่ถามว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” คำตอบที่หลุดออกจากปากเราก็คงจะเป็น หมอ พยาบาล วิศวะ ฯลฯ ใครจะไปนึกคิดว่าเวลาผ่านมาสิบห้าปีเราจะได้มาเป็นนักการตลาดดิจิทัล มาเป็นคนรับยิงโฆษณาเฟซบุ๊ก เป็นครีเอทีฟโฆษณา ฯลฯ วันนี้มาดูกันดีกว่าว่ามีอาชีพอะไรบ้างที่เกิดขึ้นบนโลกหลังจากที่โซเชียลมีเดียถือกำเนิดขึ้น
คนรับทำเพจเฟซบุ๊ก
แน่นอนว่าถ้าคุณทำธุรกิจของตัวเองเริ่มด้วยตัวเองเล็กๆ คงไม่จำเป็นต้องไปจ้างคนอื่นทำให้เสียเวลาแต่ไม่ใช่สำหรับบริษัทที่มีเงินทุนที่ไม่อยากจะเสียเวลาหรือลงงบในการจ้างพนักงานประจำมาดูแลด้านนี้จึงทำให้เกิดอาชีพคนรับทำเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งก็มีทั้งที่เป็นฟรีแลนซ์และบริษัทเอเจนซี่ โดยปกติแล้วการรับทำเพจจะเป็นการจ้างเพื่อให้ทำคอนเทนต์ป้อนเข้าไปในเพจ ซึ่งคอนเทนต์ที่ว่าก็รวมทั้งบทความและภาพกราฟิก
ราคาก็จะแตกต่างกันไปตามจำนวน ความยากง่าย ประสบการณ์ของผู้ทำ หรือระดับของบริษัทที่คุณไปจ้าง ซึ่งรายได้ก็คือค่าบริการในการรับทำเพจนั่นแหละ
คนทำโฆษณาโซเชียลมีเดีย
อาชีพนี้จะต้องอาศัยความสามารถและความเข้าใจในระบบต่างๆ ที่เฟซบุ๊กทำขึ้น นอกจากนั้นพวกเขาอาจจะต้องรู้เรื่องของการตลาดดิจิทัลด้วยเพราะการทำโฆษณาบนเฟซบุ๊กก็คือการวางกลยุทธ์ให้คุณได้ยิงโฆษณาไปให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด สามารถทำรายงานสรุปผลลัพธ์ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีแค่ศัพท์เฉพาะซึ่งคนทั่วไปไม่น่าจะเข้าใจได้ ถือเป็นอาชีพที่หาคนเชี่ยวชาญได้ค่อนข้างมากเพราะเฟซบุ๊กเองก็เพิ่งถือกำเนิดขึ้นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี อีกทั้งยังอัปเดตอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นคนที่จะทำอาชีพนี้จะต้องไม่หยุดอยู่กับที่ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ รายได้ของคนทำอาชีพนี้มักจะมาจากค่า Management Fee ในการจัดการโฆษณาซึ่งมักจะคิดกันเป็นเปอร์เซ็นต์โดยหักเอาส่วนต่างเป็นรายได้
แอดมินเพจ
เมื่อเพจเริ่มมีคนกดไลก์ ติดตามมาในระดับนึงการจะให้เจ้าของแบรนด์มานั่งตอบข้อความ ตอบคอมเมนต์ด้วยตัวเองคงเป็นเรื่องยากเพราะคุณเองก็ต้องทำภารกิจอื่นๆ อีกมากมาย แอดมินเพจจึงเป็นตำแหน่งที่จำเป็นขึ้นมาทันที โดยพวกเขาจะคอยทำหน้าที่ให้ข้อมูลลูกค้า รับเรื่องต่างๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าและต้องตอบให้ได้ทุกคำถามที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือแบรนด์
Youtuber
สำหรับสาย Youtube นั้นต้องย้อนกลับไปตั้งแต่คนไทยฮิตเล่น Social Cam และเมื่อแอปฯ นั้นหายไปต่างก็พากันโยกเข้ามาที่ Youtube ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จกันอย่างมาก จริงๆ แล้วทางเมืองนอกเขาก็ใช้ Youtube กันมาสักพักใหญ่แล้วและใช้ในการนำเสนอคอนเทนต์วิดีโอที่น่าสนใจ เป็นคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นจากผู้ใช้จริงและพอมาเป็นทางฝั่งของประเทศไทยก็มีกลิ่นอายความเป็นไทยมากขึ้น ซึ่งยูทูปเบอร์ก็ถูกแบ่งเป็นหลายสายไม่ว่าจะเป็นสายความงาม ไอที สุขภาพ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนั้นนอกจากจะได้รายได้จาก Google ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของYoutube ที่แบ่งเปอร์เซ็นต์ค่าโฆษณาให้แล้วพวกเขายังได้ค่าจ้างจากแบรนด์สินค้าต่างๆ มากมายจนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำกันเลยทีเดียว ดูได้จากการที่กรมสรรพากรเริ่มเพ่งเร็งบุคคลกลุ่มนี้เพราะมีเม็ดเงินหมุนอยู่ในวงการไม่น้อย
ประสานงาน Influencer
จริงๆ แล้วเหล่าเน็ตไอดอล บล็อกเกอร์ส่วนมากก็จะรับงานด้วยตัวเองทั้งสิ้นแต่คนพวกนี้ขาดอยู่เพียงอย่างเดียวนั่นคือ “คอนเนคชั่น” ทำให้เกิดช่องว่างให้คนที่มีคอนเนคชั่นไม่ว่าจะกับแบรนด์หรือเอเจนซี่รายได้จากคนเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนค่านายหน้าในการจัดหาคนที่ตรงกับความต้องการของลูกค้านั่นเอง โดยส่วนมากคนกลุ่มนี้มักจะต้องประสานงานกับเอเจนซี่ต่างๆ และต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับตัวบล็อกเกอร์ เน็ตไอดอลด้วย
เพราะอาชีพนั้นคุณกำหนดเองได้ ยุคสมัยนี้เป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงใครปรับตัวได้มากกว่าก็ชนะไปส่วนใครที่ยังยึดติดอยู่กับเรื่องเดิมๆ ก็จะย่ำอยู่กับที่ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ขอแค่อยู่ในความถูกต้องก็ล้วนเป็นแหล่งที่มาของรายได้อันมั่นคงได้ด้วยกันทั้งสิ้น