“ติดต่อ KOL แล้วหรือยัง?”
ในยุคนี้ที่การตลาดบน Social Media กำลังรุ่งเรือง มีคำหนึ่งคำที่คนในแวดวงการตลาดได้ยินกันบ่อย นั่นคือ KOL หรือ Key Opinion Leader ซึ่งหลาย ๆ คนเข้าใจว่าหมายถึงคนดัง เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่แบรนด์เรียกติดปากว่า Influencer แท้ที่จริงแล้วความเข้าใจนี้ถูกต้อง 100% หรือไม่ หรือมีรายละเอียดส่วนใดที่ควรทำความเข้าใจ มาเคลียร์ให้ชัดกับ Digital Tips ในบทความนี้ พร้อมทำความรู้จักกับอาชีพ KOL Management สายงานใหม่แห่งยุค
KOL คืออะไร
ที่มา: https://sekkeidigitalgroup.com/kol-marketing-in-china/
Key Opinion Leader หรือ KOL คือ บุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชิงวิชาการอย่างวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เศรษฐกิจ หรือเทคโนโลยี ไปจนถึงเรื่องอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง หรือแฟชัน และที่สำคัญ KOL ต้องเป็นผู้ที่มีอิทธิพลและชักนำความคิดของสาธารณชน ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชัน ก็จะสามารถเป็นผู้นำเทรนด์ใหม่ ๆ ให้คนหมู่มากทำตามได้ เป็นต้น
Influencer กับ KOL ต่างกันอย่างไร
อาชีพ Influencer และ KOL คือ 2 อาชีพที่มักจะมีคนสับสน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า 2 อาชีพนี้มีส่วนที่เหมือนกันจริง แต่ในแง่นิยามโดยรวมก็แตกต่างกันอยู่ดี
- KOL คือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่มีคนรู้จักเป็นจำนวนมากและมีอิทธิพลต่อความคิดของคน แต่พวกเขาไม่ใช่นักสร้างคอนเทนต์ จึงมักจะได้รับเชิญจากแบรนด์ให้มีส่วนร่วมในแคมเปญการตลาด หรือเป็นตัวหลักในงานถ่ายทำ
- Influencer คือผู้ที่มีอิทธิพลบน Social Media มีผู้ติดตามจำนวนมาก แต่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน และจุดที่ทำให้ Influencer ต่างกับ KOL คือพวกเขาจะเชี่ยวชาญในการสร้างคอนเทนต์ และมักจะได้รับมอบหมายจากแบรนด์ให้นำเสนองานในรูปแบบที่น่าสนใจด้วย
>> อ่านเพิ่มเติม: เข้าใจ Influencer Marketing และการแบ่งประเภทตามจำนวน Follower
ทำไมแบรนด์จึงต้องใช้ KOL
ปัจจุบันแบรนด์ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ตัดสินใจใช้ KOL จำนวนมาก ซึ่งถือเป็นทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อน โดยเราสามารถสรุปประโยชน์โดยรวมของ KOL ได้ ดังนี้
ที่มา: https://www.asiapacdigital.com/digital-marketing-insight/why-kol-marketing-is-effective
สร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์
เมื่อผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ไปปรากฏอยู่ในมือหรือช่องทาง Social Media ของ KOL สำหรับลูกค้าแล้ว นั่นหมายถึงการการันตีคุณภาพสินค้าโดยผู้เชี่ยวชาญ เพราะหากผลิตภัณฑ์ไม่ดีจริงก็อาจทำให้ตัว KOL เองสูญเสียความเชื่อมั่นได้ ลูกค้าจึงยังคงเชื่อในการตัดสินใจรับงานของ KOL ดังนั้น การทำงานร่วมกับ KOL จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่คุ้มค่าแก่การลงทุน
ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ย้อนกลับไปเมื่อราว ๆ 10-20 ปีก่อน แบรนด์อาจพึ่งพาการนำคนดังมาถ่ายทำโฆษณาทางโทรทัศน์เท่านั้น แต่ปัจจุบันการโปรโมทสินค้าใหม่ทำได้ง่ายกว่านั้น เพียงแค่ให้ KOL ถ่ายรูปคู่กับผลิตภัณฑ์แล้วโพสต์ลง Social Media ของตัวเอง ก็สามารถทำให้คนรู้จักชื่อสินค้า และมองเห็นสินค้าได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ
ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่า “แบรนด์เข้าถึงได้”
นอกจากจะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว การโพสต์รูปบน Social Media ของ KOL คือ การสร้างบทสนทนาระหว่างแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายทางอ้อมด้วย เพราะคอมเมนต์ใต้รูปของ KOL และการเอ่ยถึงแบรนด์ใน Social Media อื่น ๆ หลังจากที่ KOL โพสต์รูปคู่ผลิตภัณฑ์ออกไป จะทำให้แบรนด์รู้ได้ทันทีว่ากระแสตอบรับของกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างไร พวกเขาชื่นชอบ เชื่อมั่น หรือกังวลในเรื่องไหนมากที่สุด
มีโอกาสเจอกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ค่อนข้างสูง
ความนิยมของ KOL คือสะพานเชื่อมระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งนอกจากกลุ่มเป้าหมายเดิมที่แบรนด์ดูจาก Insights ของลูกค้า และนำมาเป็นข้อมูลในการเลือก KOL แล้ว ยังรวมถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ที่รู้จักแบรนด์เพราะสนใจโพสต์ของ KOL ด้วย ดังนั้น การทำงานร่วมกับ KOL จึงเป็นประโยชน์ในเรื่องนี้ด้วย
อาชีพ KOL Management คืออะไร มีหน้าที่อะไร
ท่ามกลางกระแสความนิยมของ KOL อาชีพใหม่ในงานสาย Marketing จึงถือกำเนิดขึ้น นั่นคือ KOL Management หากใครกำลังสนใจในงานสายนี้ ลองศึกษาขอบเขตงานและหน้าที่คร่าว ๆ ของคุณดูก่อน
ที่มา: https://www.kolsquare.com/en/blog/recruiting-an-influencer-marketing-manager-missions-and-skills/
ขอบเขตงานของ KOL Management
KOL management (บางองค์กรอาจใช้คำว่า KOL Manager, Influencer Marketing หรือคำอื่น ๆ) คือผู้ที่มีหน้าที่ติดต่อ สื่อสาร สรรหา และวางกลยุทธ์การทำงานร่วมกับ KOL โดยจะต้องเป็นคนที่คุ้นเคยกับ Social Media ทุก ๆ แพลตฟอร์ม และรู้จักคนดังในแวดวงต่าง ๆ ของค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ยังต้องสามารถจัดสรรได้ว่า ผลิตภัณฑ์ไหนเหมาะกับ KOL คนไหน และจะจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่ในการว่าจ้าง KOL อย่างไร จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ บางองค์กรอาจไม่ได้แบ่งแยกความแตกต่างระหว่าง KOL กับ Influencer อย่างชัดเจน ผู้ที่รับหน้าที่ KOL management จึงมักจะต้องดูแลทั้ง KOL และ Influencer
KOL Management ต้องเรียนจบสาขาอะไร
ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่า KOL Management จะต้องเรียนจบสาขาอะไร เพราะอาชีพนี้จะโฟกัสที่ความถนัดเป็นหลัก โดย KOL Management จะต้องเป็นผู้ที่รู้จัก Social Media ทุก ๆ แพลตฟอร์มเป็นอย่างดี มีความสามารถในการสื่อสาร หลงใหลในการทำงานร่วมกับบุคคลที่มีชื่อเสียง และที่สำคัญ จะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการทั้งเวลา งบประมาณ คิวงาน และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
สรุป
KOL คือ กุญแจสำคัญในการโปรโมทสินค้าใหม่ ๆ ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งมีประสิทธิภาพอย่างมากในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย และความนิยมใน KOL นี้เองที่ก่อให้เกิดสายอาชีพใหม่ นั่นคือ KOL Management หรือผู้ที่รับหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างแบรนด์กับ KOL ตลอดจนบริหารจัดการทุก ๆ เรื่องเกี่ยวกับ KOL และมีแนวโน้มว่าจะเป็นสายงานที่เติบโตและต่อยอดไปเป็นสายงานใหม่ ๆ ได้ในอนาคต
อ้างอิง
Influencity. KOLs vs. Influencers: What They Are & What Differentiates Them
Available from: https://influencity.com/resources/guide/what-are-kols-and-what-sets-them-apart-from-influencers
Jobsdb. Jobs Search KOL Management
Available from: https://th.jobsdb.com/th/search-jobs/kol-management/1