“อยากลองจ้าง Influencer แต่ไม่รู้ว่าต้องเริ่มอย่างไร?” คือ คำถามที่ธุรกิจเล็กใหญ่ล้วนมี เพราะ Influencer สมัยนี้มีหลายสเกล แต่ละสเกลย่อมคิดเรตราคาที่ต่างกัน และเหมาะกับสินค้าคนละประเภท ในบทความนี้ Digital Tips จะพาคุณไปเปิดโลก Influencer Marketing เพื่อทำความเข้าใจการตลาดแขนงนี้ให้ครบทุกแง่มุม ถ้าพร้อมแล้ว เริ่มเลย!
Influencer Marketing คืออะไร?
Influencer Marketing คือ การที่แบรนด์และ Influencer ร่วมมือกันเพื่อทำการตลาดโปรโมตสินค้าหรือบริการของแบรนด์นั้น ๆ ผ่านการทำคอนเทนต์ เช่น วิดีโอรีวิว กระทู้รีวิว รูปภาพ ฯลฯ โดยคอนเทนต์ต่าง ๆ นี้จะจัดทำโดยฝั่ง Influencer แบรนด์ทำหน้าที่เพียง Support บางอย่าง เช่น สินค้า หรืองบประมาณ ทั้งนี้ Influencer จะเป็นใคร ทำอาชีพอะไร และอยู่ที่ไหนก็ได้ ขอเพียงพวกเขามีฐานผู้ติดตามใน Social Media มากพอ และสามารถชี้นำกลุ่มคนเหล่านั้นได้
Influencer แบ่งออกเป็นกี่ประเภท?
อันที่จริงแล้ว เราสามารถจัดประเภท Influencer โดยใช้เกณฑ์ได้หลายเกณฑ์ เช่น เนื้อหาคอนเทนต์ที่มักจะทำ หรือจำนวนผู้ติดตาม แต่ในที่นี้จะขอยึดตามเว็บไซต์ Influencermarketinghub.com ซึ่งแบ่ง Influencer ไว้ 4 ประเภทตามจำนวนผู้ติดตาม ดังนี้
ที่มา: https://jumpermedia.co/whats-a-nano-influencer/
Nano Influencer
ในบรรดา Influencer ทั้งหมด Nano Influencer คือกลุ่มที่มีผู้ติดตามน้อยที่สุด เพียง 1,000 – 10,000 Followers เท่านั้น และเนื่องจากผู้ติดตามยังถือได้ว่าเป็นกลุ่มเล็ก พวกเขาจึงมักมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันค่อนข้างมาก และมักจะเป็นคนที่ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน เช่น อาจจะชอบซื้อสินค้าแบรนด์เดียวกัน หรือชอบสัตว์เลี้ยงเหมือนกัน เป็นต้น
ที่มา: https://later.com/blog/micro-influencer-marketing/
Micro Influencer
ฐานผู้ติดตามของ Micro Influencer คือ 10,000 – 100,000 คน มักเป็นกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาจาก Nano Influencer ฐานแฟนคลับจึงยังคงหนาแน่น และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันเช่นเดิม เหมาะกับแบรนด์ที่อยากโปรโมตชื่อแบรนด์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ยังคงอยากเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มอยู่
ที่มา: https://www.rhythminfluence.com/blog/examples-of-macro/
Macro Influencer
ถัดขึ้นมาจาก Micro คือ Macro Influencer ที่มีผู้ติดตาม 100,000 – 1,000,000 คน โดยทั่วไป กลุ่มนี้จะแตกต่างกับสองกลุ่มด้านบนโดยสิ้นเชิง เนื่องจากทั้ง Nano และ Micro Influencer ยังมีผู้ติดตามกลุ่มเล็ก แนวทางคอนเทนต์จึงยังไม่ชัดเจน และมักปะปนกับโพสต์ไลฟ์สไตล์ทั่ว ๆ ไป ในทางกลับกัน หากก้าวขึ้นไปเป็น Macro Influencer แล้ว แนวทางคอนเทนต์จะชัดเจนขึ้น เน้นสร้างช่องทางเพื่อลงคอนเทนต์โดยเฉพาะ รวมถึงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ดังนั้น Macro Influencer จึงไม่เหมาะกับแบรนด์ที่ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะทาง แต่เหมาะกับการสื่อสารแบบ Mass Communication นั่นเอง
ที่มา: https://www.ifluenz.com/blog/2019/04/16/3-types-influencers-explained-mega-macro-micro/
Mega Influencer
เมื่อใดก็ตามที่มีผู้ติดตามเกิน 1 ล้านคน พวกเขาจะจัดอยู่ในกลุ่ม Mega Influencer ทันที ซึ่งคนกลุ่มนี้มักเป็นคนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว หรือหากเป็นคนธรรมดา ก็อาจจะได้รับเชิญให้ไปถ่ายรายการโทรทัศน์ หรือเป็นที่รู้จักระดับประเทศ การว่าจ้าง Mega Influencer จึงเหมาะกับแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่มีต้นทุนมาก หรือต้องการขยายตลาดไปทั่วประเทศ
ประโยชน์ของการเลือกใช้ Influencer Marketing
เชื่อมแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็ว
คอนเทนต์บนหน้าฟีด หากไม่ได้ยิงโฆษณา ก็มีโอกาสน้อยที่กลุ่มเป้าหมายจะมองเห็นโพสต์ หรือต่อให้ยิงโฆษณา ก็มีโอกาสสูงที่กลุ่มเป้าหมายจะเลือก “เลื่อนผ่าน” มากกว่าคลิกชม การเลือกใช้ Influencer Marketing จึงสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะเมื่อได้ยินชื่อแบรนด์ผ่านคอนเทนต์สนุก ๆ หรือโพสต์ของคนที่ตัวเองชื่นชอบ กลุ่มเป้าหมายก็จะยินดีเปิดใจให้กับแบรนด์มากขึ้น
ปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์
เมื่อเลือกใช้ Influencer Marketing ชื่อแบรนด์ของคุณก็จะไปปรากฏในคอนเทนต์หลากหลาย ทั้งรูปภาพ วิดีโอรีวิวยาว ๆ หรือวิดีโอที่มีเนื้อหาสนุกสนาน ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าแบรนด์ของคุณจับต้องได้ และน่าทดลองใช้ ยิ่งได้เสพคอนเทนต์ที่เอ่ยชื่อแบรนด์ของคุณบ่อย ๆ ก็จะยิ่งอยากทดลองจริง ๆ โดยไม่รู้ตัว
ช่วยบริหาร Resource และ Budget ได้ดียิ่งขึ้น
หากแบรนด์ไม่เลือกจ้าง Influencer แล้วลงมือทำคอนเทนต์เอง ก็เท่ากับว่าต้องเสียเงินว่าจ้างทีมถ่ายทำ ทีมตัดต่อ หรือต้องแบ่ง Resource ภายใน เพื่อมาทำงานตรงนี้เพิ่ม ทำให้นอกจากจะสิ้นเปลืองทั้งงบประมาณและทรัพยากรบุคคล จนส่งผลกับงานอื่น ๆ ได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากทำคอนเทนต์ในนามแบรนด์ ก็มีแนวโน้มสูงที่คนจะไม่ให้ความสนใจ เพราะถือว่าเป็นเพียงชิ้นงานโฆษณา
ระวัง! Fake Influencer – คนดังตัวปลอมในโลกโซเชียล
ที่มา: https://www.mysocial.io/blog/how-to-spot-fake-influencer-profiles
เนื่องจากตลาด Influencer Marketing เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมักจะมี Influencer กลุ่มเล็ก ๆ อย่าง Nano และ Micro Influencer เกิดขึ้นทุกวัน จึงมีคนบางกลุ่มที่อาศัยโอกาสทองนี้ สร้าง account ผู้ติดตามปลอม สร้างบอตมาตอบคอมเมนต์ หรือมีกลุ่มปั่นยอดไลก์ ยอดแชร์ เพื่อให้แบรนด์สนใจ หากคุณไม่อยากตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพเหล่านี้ แนะนำให้สุ่มตรวจรายชื่อ Follower หรือกดดูแต่ละโพสต์ว่าคนที่มาคอมเมนต์เป็นใคร เป็น Account ปลอมที่สร้างขึ้นมาเฉพาะกิจหรือไม่ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงเหล่านี้สามารถเช็กด้วยตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่ง Third Party อาศัยเพียงความรอบคอบและใจเย็นเท่านั้น
สรุป
Influencer Marketing คือ หนึ่งในเทคนิคการตลาดที่น่าสนใจมากในยุคนี้ เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว และสามารถ Support ส่วนที่แบรนด์ไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะคุ้มค่าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเลือก Influencer ให้เหมาะกับสินค้าและบริการนั่นเอง
อ้างอิง
Influencer Marketing Hub. 12 Types of Influencers You Can Use to Improve Your Marketing
Available from: https://influencermarketinghub.com/types-of-influencers/#toc-3
Influencer Marketing Hub. What is Influencer Marketing? – The Ultimate Guide for 2023
Available from: https://influencermarketinghub.com/influencer-marketing/#toc-3
MeltWater. How to Quickly Spot Fake Influencers
Available from: https://www.meltwater.com/en/blog/how-to-spot-fake-influencers