หลังจากที่ต้องนั่งทำงานแบบ Work From Home มากว่า 2 ปี เพราะการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระยะหลังมานี้ ทั่วโลกจึงค้นพบวิถีการทำงานใหม่ ไม่ว่าตัวจะอยู่ซีกโลกไหนก็ตาม เพียงมีแล็บท็อบ อินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนเจ๋ง ๆ สัก 1 เครื่องก็สามารถทำงานได้ และเพราะความสะดวกสบายนี้เอง ที่ทำให้คนรักอิสระทั่วโลกได้ใช้ชีวิตในฝัน ด้วยการผันตัวมาเป็น Digital Nomad อาชีพใหม่สไตล์ Work From Anywhere งาน Digital Nomad คืออะไร? มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร? มารู้จักอาชีพที่เป็นจุดเปลี่ยนของโลกนี้ไปพร้อม ๆ กัน!
Digital Nomad คืออะไร?
ที่มา: https://www.raconteur.net/global-business/digital-nomads-responsibility/
Digital Nomad คือ คนที่ตัดสินใจหันหลังให้กับการนั่งทำงานในออฟฟิศ แต่เลือกที่จะรับงานมาทำข้างนอก แล้วประสานงาน ประชุมงาน ส่งงาน รวมทั้งแก้ไขงานผ่านออนไลน์ นอกจากนี้ รูปแบบงานที่ Digital Nomad เลือก อาจเป็นงานประเภทสัญญาจ้างชั่วคราว (Contract) งานอิสระ (Freelance) หรืองานประจำก็ได้ ขอเพียงทำผ่านออนไลน์ 100% เท่านั้น
ทั้งนี้ หลังจากทราบว่า Digital Nomad คืออะไร คุณอาจเข้าใจว่า Digital Nomad กับ Work Form Anywhere คือสิ่งเดียวกัน แต่แท้จริงแล้ว อาชีพ Digital Nomad พิเศษกว่านั้น! เพราะคำว่า Digital Nomad แปลเป็นไทยว่า “นักพเนจรดิจิทัล” หมายความว่า พวกเขาไม่ได้แค่ทำงานนอกออฟฟิศเท่านั้น แต่ยังพเนจร ท่องเที่ยว และแบกกระเป๋าเดินทางไปยังดินแดนต่าง ๆ แบบ Backpacker อีกด้วย
ต้องทำงานอะไร จึงจะเป็น Digital Nomad ได้?
แม้ปัจจุบันบริษัทจำนวนมากจะให้พนักงานทำงานแบบ Work Form Anywhere แต่แน่นอนว่า “ไม่ใช่ทุกสายงานที่สามารถทำงานแบบออนไลน์ได้” และนี่คือ 5 สายงานตัวอย่างของ Digital Nomad ในไทย
1. นักเขียนอิสระ (Freelance Writer)
เพียงแค่มีไอเดีย อุปกรณ์หาข้อมูล และอุปกรณ์จดบันทึก นักเขียนก็สามารถเริ่มงานและจบงานได้ด้วยตัวเอง “นักเขียนอิสระ” จึงกลายเป็นสายงานยอดนิยมของเหล่า Digital Nomad อย่างไรก็ดี ทิศทางของงานเขียนในปัจจุบันนี้มักจะเกี่ยวกับ Digital Marketing นักเขียนอิสระจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ การทำ SEO และการทำ Social Media ฯลฯ เพิ่มเติม เพื่อให้มีโอกาสรับงานมากยิ่งขึ้น
ที่มา: https://www.worldoffreelancers.com/how-to-become-a-freelance-graphic-designer/
2. นักออกแบบกราฟิก (Graphic Designer)
คนเขียนคอนเทนต์สามารถทำงานข้างนอกได้ นักออกแบบกราฟิกก็เช่นกัน ปัจจุบัน Digital Agency, Production House, รวมถึงบริษัทขนาดเล็กจำนวนมาก จึงนิยมจ้างนักออกแบบกราฟิกแบบ Work Form Anywhere เพราะนอกจากจะอำนวยความสะดวก โดยไม่ต้องให้เข้าออฟฟิศแล้ว การอนุญาตให้พวกเขาทำงานที่ไหนก็ได้ดังใจต้องการ ยังช่วยทำให้ไอเดียสร้างสรรค์ผลงานเฉียบคมขึ้นอีกด้วย
ที่มา: https://www.hiveage.com/blog/starting-freelance-video-editing/#
3. นักตัดต่อวิดีโอ (Video Editor)
งานตัดต่อจำเป็นต้องใช้สมาธิและจินตนาการค่อนข้างมาก การอนุญาตให้พวกเขาเลือกสถานที่ทำงานที่เงียบสงบและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ ย่อมดีกว่าการบังคับให้นั่งอุดอู้อยู่กับโต๊ะทำงานเล็ก ๆ บริษัทจำนวนมากจึงนิยมจ้างนักตัดต่อวิดีโอฝีมือดี โดยที่ไม่ได้สนใจว่า ปัจจุบันพวกเขาอาศัยอยู่ที่ไหน สะดวกเดินทางมาออฟฟิศหรือไม่
4. โปรแกรมเมอร์ (Programmer)
การเขียนโค้ด วางโครงสร้างระบบคอมพิวเตอร์ และตรวจสอบข้อผิดพลาด เป็นงานที่จะต้องทำบนคอมพิวเตอร์ 100% โปรแกรมเมอร์หลายคนจึงรู้สึกสบายใจ หากได้ใช้คอมพิวเตอร์ Spec เทพคู่ใจของตัวเองทำงาน มากกว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่กำหนด Spec จำกัดตามงบประมาณของออฟฟิศ ด้วยเหตุนี้ โปรแกรมเมอร์มือฉกาจที่สามารถจัดการเวลาได้ดี จึงนิยมผันตัวมาเป็น Digital Nomad เพื่อวางแผนงานอย่างอิสระด้วยตัวเอง
ที่มา: https://community.thejobnetwork.com/can-you-earn-a-living-as-an-administrative-freelancer/
5. Sales & Admin
สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่ต้องรับออเดอร์หลักร้อย-หลักพันต่อวัน Sales & Admin ประจำร้าน คือตำแหน่งที่ขาดไม่ได้ เพราะนอกจากจะต้องคอยรับออเดอร์ ตอบลูกค้า และคอยเชียร์ให้ลูกค้าซื้อสินค้าตลอดทั้งวันแล้ว Sales & Admin อาจจะต้อง Stand By ทำหน้าที่ในวันหยุดด้วย ดังนั้น บริษัทจำนวนมากจึงนิยมจ้างงาน Sales & Admin แบบ Work From Anywhere เพื่อใช้ความสะดวกในการทำงานเป็นแรงจูงใจ ทดแทนเรื่องเวลาทำงานที่มักจะไม่แน่นอน
ข้อดี-ข้อเสียของงาน Digital Nomad คืออะไร?
หลายท่านที่กำลังรู้สึกเบื่อการทำงานในออฟฟิศ แต่ยังลังเลว่าจะผันตัวไปเป็น Digital Nomad ดีหรือไม่ Digital Tips สรุปข้อดี-ข้อเสียของอาชีพนี้มาให้ เพื่อประกอบการตัดสินใจของคุณ
ข้อดีของงาน Digital Nomad
ไม่ว่าจะเซ็นสัญญาเป็นพนักงานประจำ พนักงานชั่วคราว หรือ Freelance อาชีพ Digital Nomad ก็นับว่าเป็น “อาชีพอิสระ” เพราะคุณสามารถเลือกสถานที่ทำงานที่ตัวเองชื่นชอบได้ทุกวัน เบื่อที่เดิมก็เปลี่ยนใหม่ หมดปัญหาเรื่องชีวิตซ้ำซากจำเจ นอกจากนี้ การผันตัวไปเป็น Digital Nomad ยังเปิดโอกาสให้คุณทำงานพร้อมกันมากกว่า 1 อย่างได้ จึงเหมาะสำหรับคนที่มีความสามารถในการจัดการเวลา และต้องการหารายได้เพิ่มตลอดเวลา
ข้อเสียของงาน Digital Nomad
ต้องยอมรับว่า อาชีพ Digital Nomad ไม่ได้มีแต่ข้อดี เพราะการทำงานได้ทุกที่ อาจหมายถึง “ต้องทำงานทุกที่”จนทำให้นาฬิกาชีวิตของคุณปั่นป่วน และสุขภาพย่ำแย่ นอกจากนี้ การเดินทางท่องเที่ยวหลาย ๆ แห่ง ยังแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล ตลอดจนอุปสรรคระหว่างเดินทาง ที่อาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้นกว่าเดิม
การทำอาชีพ Digital Nomad ในไทย
ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า หนึ่งในข้อเสียของอาชีพ Digital Nomad คือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทาง ด้วยเหตุนี้ Digital Nomad ทั่วโลกจึงพยายามเฟ้นหาดินแดนอันสวยงาม ที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว ค่าครองชีพ และสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทยนั่นเอง
ที่มา: https://www.nationthailand.com/thailand/tourism/40021375
ข้อมูลทางสถิติจาก Nation Thailand ระบุว่า ในปี 2022 เหล่า Digital Nomad ทั่วโลกมีจำนวนมากถึง 35 ล้านคน พวกเขาเดินทางเฉลี่ย 6.1 ปี และ 10 ประเทศที่พวกเขานิยมเลือกเป็นจุดหมายปลายทาง ได้แก่ เม็กซิโก อินโดนีเซีย โคลอมเบีย เวียดนาม โปรตุเกส ตุรกี คอสตาริกา บราซิล และไทย ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 2 รองจากเม็กซิโก
Digital Nomad Visa คืออะไร?
เสน่ห์ของอาชีพ Digital Nomad คือ การเป็นคนทำงานในคราบนักพเนจร จึงเหมาะกับคนชอบเที่ยว ชอบเดินทาง แต่ก็อยากทำงานเลี้ยงชีพไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเล็งเห็นถึงโอกาสในการหาเงินเข้าประเทศจากสิ่งนี้ จึงมีการคิดค้น Digital Nomad Visa ที่ตอบโจทย์นักพเนจรดิจิทัลโดยเฉพาะ
ปัจจุบัน Digital Nomad Visa เกิดขึ้นแล้วใน 54 ประเทศทั่วโลก (Source: Travelingstyle) โดยมีประเทศยอดนิยม อาทิ เยอรมนี เม็กซิโก จอร์เจีย อินโดนีเซีย และโปรตุเกส อย่างไรก็ดี แม้ในจำนวน 54 ประเทศนี้จะยังไม่มีประเทศไทย แต่ Digital Nomad Visa ก็อยู่ในแผนสำคัญที่ภาคการท่องเที่ยวของเราวางแผนไว้ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทย
สรุป
Digital Nomad คือ การทำงานรูปแบบใหม่ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับโลก และอาจพลิกโฉมวงการการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ รวมทั้งอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปตลอดกาล นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องย้ำเตือนให้คนทุก Generation ใส่ใจศึกษาเรื่องเทคโนโลยี เพื่อปูทางสร้างโอกาสดี ๆ สำหรับตัวเองไว้ในอนาคต
อ้างอิง
Hubspot. What Is a Digital Nomad and How Do You Become One?
Available from: https://blog.hubspot.com/marketing/digital-nomad
Harvard Business Review. How to Become a Digital Nomad
Available from: https://hbr.org/2023/02/how-to-become-a-digital-nomad