“หากพูดถึง Search Engine คุณนึกถึงอะไร?” – หลายคนคงตอบว่า Google, Bing หรือแม้แต่ Baidu แต่ยังมีอีกหนึ่ง Search Engine ที่คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก นั่นคือ Yahoo! เว็บไซต์และผู้ให้บริการอีเมลยอดฮิตแห่งยุค 90 แล้วในปัจจุบันสถานะของ Yahoo! เป็นอย่างไร ยังมีคนใช้งาน Yahoo! อยู่ไหม Digital Tips จะพาคุณไปไขข้อสงสัยนี้พร้อม ๆ กัน!
Yahoo! คืออะไร?
ที่มา: https://www.businessinsider.com/how-yahoo-changed-over-the-years-2016-7
Yahoo! คือ ผู้ให้บริการ Web Service สัญชาติอเมริกัน ที่ไม่ได้มีแค่ Search Engine กับอีเมลเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยบริการอื่น ๆ เช่น Yahoo! News, Yahoo! Finance, Yahoo! Sport, My Yahoo!, Yahoo Directory! และ Yahoo! Native ปัจจุบัน Yahoo! ยังคงดำเนินกิจการอยู่ โดยครองส่วนแบ่งการตลาดได้เป็นอันดับ 4 ในบรรดา Search Engine ทั่วโลก (รองจาก Google, Bing และ YANDEX) ภายใต้การนำของ Jim Lanzone อดีต CEO ของแอปพลิเคชันเพื่อคนหาคู่อย่าง Tinder
การก่อตั้ง Yahoo!
ก้าวแรกของ Yahoo! เริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคมปี 1994 โดย Jerry Yang และ David Filo สองนักศึกษาจากสแตนฟอร์ด จับมือกันสร้าง “Jerry’s Guide to the World Wide Web” เว็บไซต์สไตล์ Directory (รวบรวมลิงก์ของเว็บไซต์ที่น่าสนใจ) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Yahoo! หรือชื่อเต็มว่า “Yet Another Hierarchical Officious Oracle” ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน
ที่มา: https://startuptalky.com/david-filo-yahoo/
หลังดำเนินกิจการได้เพียงไม่กี่เดือน Yahoo! ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากผู้ใช้งาน ด้วยยอดการใช้งานหลักล้านครั้ง Jerry Yang และ David Filo จึงเริ่มมองเห็นช่องทางการสร้างรายได้อย่างจริงจังจากกิจการนี้ และจัดตั้งบริษัท Yahoo! ขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม ปี 1995 และเปิดให้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 1996
รวมเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับ Yahoo! ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
Yahoo! คือ ตัวอย่างหนึ่งของกิจการที่ผ่านทั้งช่วง “รุ่งโรจน์” และ “วิกฤต” จนถึงขีดสุด ดังจะสรุปเหตุการณ์สำคัญตามช่วงเวลาต่าง ๆ ดังนี้
ปี 1997 – เริ่มเปิดให้บริการอีเมล
ที่มา: https://www.yugatech.com/feature/email-accounts-your-parents-might-have-used-decades-ago/
เราเชื่อเหลือเกินว่า ประชากร Generation Y เกิน 80% เคยสมัครอีเมลกับ Yahoo! เพราะหลังจากที่บริษัท Yahoo! ได้เข้าซื้อกิจการ Four 11 Rocketmail ในเดือนมีนาคม ปี 1997 บริการ Yahoo! Mail ก็ขยายความนิยมออกไปอย่างกว้างขวาง
ปี 2000 – ราคาหุ้นพุ่งสูงสุด
หลังจากขยายกิจการออกไปเรื่อย ๆ Yahoo! ก็เดินทางมาถึงจุดที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ โดยในปี 2000 ราคาหุ้นของ Yahoo! พุ่งสูงถึง 457 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น และสูงเกิน 101 ล้านเยนในญี่ปุ่น พร้อม ๆ กันนั้น ยังมีกระแสข่าวว่า Yahoo! มีแผนจะจับมือร่วมกับ E-bay จึงทำให้ราคาหุ้นมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในช่วงเวลานั้น
ปี 2000 – ผสานความร่วมมือกับ Google
ที่มา: https://news.gcase.org/2011/05/31/what-caused-the-internet-bubble-of-1999/
อันที่จริงแล้วในปี 2000 เป็นช่วงเวลาของเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ นั่นคือ “I.T. Bubble” หรือที่เรียกกันว่า “ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอตคอม” ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาหุ้นไอทีเริ่มถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลาย ๆ กิจการที่ต้องการจะขยายตัวจึงเริ่มกอบโกยโอกาสในช่วงนี้ Yahoo! ก็เช่นกัน พวกเขาตัดสินใจผสานความร่มมือกับ Google เพื่อนำเอา Search Engine ของ Google มาใช้ในเว็บไซต์ และเริ่มเกิดไอเดียที่จะพัฒนาฟังก์ชันนี้ให้ดีขึ้นในนามของ Yahoo! เอง
ปี 2008 – Yahoo! ปฏิเสธข้อเสนอเข้าซื้อกิจการของ Microsoft
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2000 ภาวะ I.T. Bubble ทำให้ราคาหุ้นไอทีที่เคยพุ่งสูงเริ่มดิ่งลงจนเกินควบคุม และแม้ว่า Yahoo! จะรอดจากวิกฤตครั้งนั้นมาได้ แต่สถานการณ์ทางการเงินก็เริ่มไม่สู้ดี ประกอบกับพบศึกหนักจากคู่แข่งอย่าง Google ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Search Engine ที่ยอดเยี่ยมกว่า หรืออีเมลที่มีความจุเยอะกว่า ทำให้ Yahoo! เริ่มตกที่นั่งลำบาก อย่างไรก็ดี ในปี 2008 Microsoft เล็งเห็นโอกาสจากกิจการนี้ จึงยื่นข้อเสนอขอเข้าซื้อกิจการในราคาราว ๆ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ถูกปฏิเสธ
ปี 2017 – Yahoo! ถูกเข้าซื้อกิจการโดย Verizon
ที่มา: https://www.insightssuccess.in/verizon-acquired-yahoo-for-4-83bn-3-7bn/
หลังประสบกับวิกฤตทั้งภายนอกและภายใน Yahoo! ก็ได้รับการโหวตจากบรรดาผู้ถือหุ้น เพื่อรับดีลขายกิจการให้กับ Verizon ในราคาราว ๆ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือได้ว่าต่ำลงจากข้อเสนอเดิมของ Mocrosoft ค่อนข้างมาก
ปี 2021 – Yahoo! ภายใต้การดูแลของ Verizon ถูกขายกิจการต่อให้กับ Apollo Global Management
ในปี 2021 Yahoo! คือ หนึ่งในบริษัทที่มีอันต้องถูกเปลี่ยนมืออีกครั้ง เมื่อ Verizon ตัดสินใจขายทั้ง Yahoo! และ AOL รวมถึงธุรกิจโฆษณาและแพลตฟอร์มสื่อให้กับ Apollo Global Management ไปพร้อม ๆ กันในราคาเพียง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ปัจจุบันของ Yahoo! เป็นอย่างไร?
ปัจจุบัน คุณยังสามารถคลิก yahoo.com หรือ yahoo.co.th เพื่อเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ในฐานะ Search Engine ได้ และยังสามารถใช้บริการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Yahoo! Mail, Yahoo! News หรือ Yahoo! Finance ได้ เพียงแต่เว็บไซต์นี้จะไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนเมื่อก่อน อย่างไรก็ดี ในอดีต Yahoo! เคยเป็น Search Engine ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีหน้าสไตล์การจัดวาง Interface การแปลภาษาญี่ปุ่นที่ค่อนข้างครอบคลุม และมีบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ทำให้ในตอนนี้ Yahoo! ยังคงหลงเหลือฐานผู้ใช้ที่มี Brand Loyalty ในญี่ปุ่นอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วก็ยังมี Market Share น้อยกว่า Google อยู่ดี
สรุป
Yahoo! คือ หนึ่งในตัวอย่างของกิจการที่มีทั้งจุดสูงสุด จุดต่ำสุด และความพยายามที่จะพยุงกิจการหลังผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาให้คนในวงการการตลาดได้เรียนรู้ว่า แม้จะวาง Marketing Plan มาดีแค่ไหน คุณก็ต้องมีแผนสำรองสำหรับวิกฤตที่ไม่สามารถคาดเดาได้เสมอ
อ้างอิง
Yahoo! advertising. Our Story
Available from: https://www.advertising.yahooinc.com/about/our-story
CNET. Yahoo has a new owner, again
Available from: https://www.cnet.com/tech/tech-industry/yahoo-officially-has-a-new-owner-again/#google_vignette
Humble Bunny. The Japanese Search Engine Market – Platforms, Popularity and User Trends
Available from: https://www.humblebunny.com/japanese-search-engine-market-platforms-popularity-user-trends/#japans-search-engine-market-overview
Zippia. YAHOO COMPANY HISTORY TIMELINE
Available from: https://www.zippia.com/yahoo-careers-52306/history/