เคยไหม? เจอโพสต์น่าอ่านบน Facebook แต่เมื่อคลิกเข้าไปดูกลับพบว่า ในโพสต์เต็มไปด้วยลิงก์ต่าง ๆ ให้คลิกดูข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไม่สิ้นสุด ราวกับว่าคุณกำลังถูกหลอกให้คลิกลิงก์บางอย่าง มากกว่าจะได้รับความรู้ที่มีประโยชน์จริง ๆ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดท่านหนึ่งจึงนำเสนอแนวคิด Zero-click Content ขึ้น แล้วใจความของแนวคิด Zero-click Content เป็นอย่างไร ผู้บริโภคอย่างคุณจะได้รับประโยชน์จากการทำคอนเทนต์แบบนี้จริง ๆ หรือไม่ ไปดูกัน!
Zero-click Content คืออะไร?
Zero-click Content (แปลเป็นไทยว่า คอนเทนต์ศูนย์คลิก) คือ การทำคอนเทนต์รูปแบบยาวให้ได้คุณภาพ และตอบคำถามของผู้ใช้ได้งานได้อย่างสมบูรณ์ภายในแพลตฟอร์มเดียว โดยที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องคลิกเข้าไปอ่าน หรือรับชมข้อมูลเพิ่มเติมบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีก ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าแบรนด์ A จัดทำคอนเทนต์ให้ความรู้เรื่อง “เสื้อผ้าผู้หญิงในฤดูร้อน” บน Facebook Page แบรนด์ A ก็ควรเรียบเรียงข้อมูลทุก ๆ แง่มุมที่ผู้ใช้งานอยากรู้ อาทิ วิธีการเลือกเสื้อผ้าผู้หญิงในฤดูร้อน, วิธีการซัก-เก็บรักษา หรือแหล่งชอปปิงเสื้อผ้าสุดเก๋ ไว้ในโพสต์นั้นโพสต์เดียว โดยไม่ต้องแนบลิงก์ YouTube ให้คลิกเข้าไปดูวิดีโอ หรือแนบลิงก์เว็บไซต์ให้เข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติม
ต้นกำเนิดแนวคิด Zero-click Conten
แนวคิด Zero-click Content นำเสนอโดย Amanda Natividad รองประธานฝ่ายการตลาดของบริษัท SparkToro ซึ่ง Amanda สังเกตว่า Google พยายามอย่างมากที่จะรักษาคนไว้บนแพลตฟอร์มของตัวเอง ดูได้จากเวลาที่เราพิมพ์คำถามลงบนช่อง Search ของ Google ระบบก็มักจะโชว์คำตอบลงบนหน้าผลการค้นหาทันที โดยที่เราไม่จำเป็นต้องคลิกเข้าไปอ่านข้อมูลในเว็บไซต์ใด ๆ ดังนั้น ผู้ที่ทำคอนเทนต์บน Social Media เองก็น่าจะนำวิธีการนี้ไปปรับใช้บ้าง เพราะแพลตฟอร์มไหน ๆ ก็ย่อมอยากจะให้คนใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเองนาน ๆ ทั้งสิ้น
>> อ่านเพิ่มเติม: Social Media Marketing (SMM) คืออะไร ส่งผลต่อธุรกิจของคุณอย่างไร
Zero-click Content ดีอย่างไร
Zero-click Content มีจุดเด่นที่น่าสนใจมากมาย ดังต่อไปนี้
1. เข้ากันได้ดีกับอัลกอริทึมบน Social Media
ดังที่ Amanda พยายามอธิบายให้เราเข้าใจ Social Media ทุก ๆ แพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, TikTok หรือแม้แต่ X (Twitter) ล้วนอยากให้ผู้ใช้งานใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเองนาน ๆ โดยไม่ Switch ไปแพลตฟอร์มอื่น ดังนั้น การทำ Zero-click Content จึงตอบโจทย์อัลกอริทึมของทุก ๆ แพลตฟอร์มเป็นอย่างมาก เพราะคอนเทนต์ประเภทนี้จะปราศจากการแนบลิงก์ภายนอกโดยสิ้นเชิง
2. สร้าง Customer Experience ที่ดี
ลองจินตนาการว่าคุณคือผู้ใช้งาน เมื่อตัดสินใจอ่านโพสต์ความรู้บน Facebook โพสต์หนึ่งแล้วพบว่า โพสต์ดังกล่าวไม่ได้เรียบเรียงข้อมูลให้เข้าใจอย่างครบถ้วน แต่กลับจงใจให้ข้อมูลเพียงบางส่วน เพื่อดึงดูดให้คลิกเข้าไปดูวิดีโอ หรืออ่านข้อมูลบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพิ่มเติม คุณจะรู้สึกหงุดหงิมากแค่ไหน ดังนั้น Zero-click Content จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับแบรนด์ที่ต้องการสร้าง Customer Experience ที่ดี เพื่อทำให้ลูกค้าประทับใจ
3. ส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพให้กับแบรนด์
การนำข้อมูลเชิงลึกมาถ่ายทอดเป็นบทความหรือคลิปวิดีโอขนาดยาว ย่อมทำให้ผู้บริโภคมองแบรนด์ในฐานะมืออาชีพ เพราะนอกจากแบรนด์จะเป็นเจ้าของข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสินค้าที่ตัวเองขายแล้ว ยังมีบุคลากรที่มีคุณภาพ สามารถเรียบเรียงเนื้อหายาก ๆ ให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ อีกด้วย
ตอบข้อสงสัย: แล้วการแนบลิงก์นอกแพลตฟอร์มลงในคอนเทนต์ ผิดหรือไม่?
แม้แนวคิดแบบ Zero-click Content จะพยายามนำเสนอ “การทำคอนเทนต์แบบยาว โดยไม่แนบลิงก์ไปนอกแพลตฟอร์ม” แต่ในทางปฏิบัติจริง การแนบลิงก์เว็บไซต์ หรือแนบลิงก์ไปที่ Social Media แพลตฟอร์มอื่นเป็นวิธีปกติในการเพิ่ม Engagement ตามช่องทางต่าง ๆ ของแบรนด์ ดังนั้น การยึดตามแนวปฏิบัติเดิมจึงไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด ให้พิจารณาตามลักษณะของคอนเทนต์ และเป้าหมายในการทำคอนเทนต์ของคุณ
แชร์เคล็ดลับ ทำ Zero-click Content อย่างไร ให้ถูกใจผู้ชม
หลังจากได้ทำความรู้จักกับ Zero-click Content แล้ว หากต้องการทดสอบประสิทธิภาพของคอนเทนต์ลักษณะนี้ นี่คือ 3 เคล็ดลับที่คุณต้องรู้!
1. จัดลำดับความสำคัญของเนื้อหาให้ดี
ไม่ว่าคอนเทนต์ของคุณจะเป็น Album Post, Single Photo Post หรือคอนเทนต์วิดีโอ การจัดลำดับเนื้อหา โดยไล่เรียงหัวข้อตามลำดับความสำคัญ และพยายามแบ่งเนื้อหาออกเป็นข้อ ๆ ให้เข้าใจง่าย จะทำให้ผู้ชมใช้เวลาอยู่กับคอนเทนต์นั้น ๆ นานขึ้น
2. ใช้คำให้กระชับ ไม่ยาว หรือ สั้นเกินไป
ทุก ๆ คำที่ใช้ต้องเข้าใจได้ทันที หลีกเลี่ยงการใช้คำซับซ้อน คำเชื่อมยาว ๆ และคำฟุ่มเฟือย เพื่อให้เนื้อหากระชับ สามารถอ่านเข้าใจภายในรอบเดียว ในทางกลับกัน ก็ไม่ควรเขียนเนื้อหาสั้นเกินไป เพราะอาจทำให้ผู้ชมเข้าใจสารที่ต้องการจะสื่อผิดพลาดได้
3. ถ่ายทอดเนื้อหาด้วยภาพและเสียงที่คมชัด
สำหรับคอนเทนต์ประเภทบทความบน Facebook หรือ LinkedIn แนะนำให้หาภาพประกอบที่คมชัด ดูง่าย สบายตา และตกแต่งด้วยกราฟิกที่ทันสมัย ไม่ดูรกจนเกินไป ส่วนคอนเทนต์วิดีโอ แนะนำให้ใช้กล้องคุณภาพสูงในการถ่ายทำ เพื่อให้ภาพและเสียงมีความคมชัด ช่วยดึงดูดให้ผู้รับชมดูจนจบคลิป
สรุป
Zero-click Content เป็นหนึ่งในวิธีทำคอนเทนต์ลง Social Media ที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะโฟกัสที่ประสบการณ์ของผู้ชมเป็นหลักแล้ว ยังสามารถส่งเสริมการทำงานของอัลกอริทึมด้วย แต่วิธีนี้อาจไม่เหมาะกับคอนเทนต์แนว Sales Content ซึ่งจำเป็นต้องแนบลิงก์ภายนอก เพื่อให้ผู้ชมคลิกเข้าไปสั่งซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มอื่น
อ้างอิง
Buffer. Zero-Click Content: What It Is and Why You Should Create It
Available from: https://buffer.com/resources/zero-click-content/
LinkedIn. What is Zero-Click Content? (And why you should create it)
Available from: https://www.linkedin.com/pulse/what-zero-click-content-why-you-should-create-jim-macleod