สำหรับ Content Creator ที่มีแพลนจะยกกล้องออกไปถ่ายคอนเทนต์นอกสถานที่ นอกจากจะต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมแล้ว คุณยังจะต้องเตรียมศึกษาระเบียบข้อบังคับของสถานที่ต่าง ๆ ที่ต้องการไป เพราะการถ่ายคอนเทนต์ในที่สาธารณะไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ควรลักลอบทำโดยไม่ได้รับอนุญาต หากคุณคือครีเอเตอร์มือใหม่ที่ต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติม แชร์บทความนี้เก็บไว้เลย!
>> อ่านเพิ่มเติม: 6 ไอเดีย Video Content เพิ่ม Brand Awareness บน Social Media
1. ระเบียบการถ่ายภาพของ “หอศิลปกรุงเทพฯ” – สำหรับคนถ่ายคอนเทนต์สายอาร์ต
ที่มา: https://www.arrivalguides.com/en/Travelguide/Bangkok/doandsee/bangkok-art-culture-centre-bacc-32564
หอศิลปกรุงเทพฯ หรือ BACC พื้นที่ทางศิลปะชื่อดังใจกลางสี่แยกปทุมวัน กรุงเทพมหานคร คือหนึ่งในโลเคชันถ่ายคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง เนื่องจากไม่ได้เก็บค่าเข้าชม และมีงานศิลปะร่วมสมัยมากมาย อย่างไรก็ดี สถานที่แห่งนี้มีระเบียบการถ่ายภาพที่ผู้เข้าชมต้องปฏิบัติตาม ดังนี้:
- ภายในหอศิลปกรุงเทพฯ คุณสามารถถ่ายภาพนิ่งได้ ด้วยโทรศัพท์มือถือและกล้องถ่ายรูป
- แม้จะถ่ายรูปได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้แฟลช ขาตั้งกล้อง และไม้เซลฟี่โดยเด็ดขาด
- โดยปกติแล้ว สถานที่แห่งนี้จะไม่อนุญาตให้ถ่ายวิดีโอ ยกเว้นนิทรรศการที่ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ
- ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปและวิดีโอเพื่อนำไปใช้เชิงพาณิชย์
ดังนั้น หากคุณเป็น Content Creator ที่ต้องการถ่ายคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง หรือคลิปวิดีโอ ซึ่งจัดอยู่ในการใช้เชิงพาณิชย์ แนะนำให้ขออนุญาตอย่างเป็นทางการ ผ่านอีเมลของทีมงาน info@bacc.or.th
2. ระเบียบการถ่ายภาพของ “สยามสแควร์” – สำหรับคนถ่ายคอนเทนต์แนวสตรีท
ราวต้นเดือนมกราคม 2024 เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บน TikTok กรณีที่มี Content Creator จำนวนหนึ่งถูกห้ามถ่ายคอนเทนต์บริเวณพื้นที่โซนสยามสแควร์ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ มีคอนเทนต์ที่ถ่ายทำในโลเคชันนี้เกิดขึ้นมากมาย
ที่มา: https://pmcu.co.th/siam-square-walking-street/
อย่างไรก็ดี จากการสืบค้นข้อมูลของ Digital Tips พบว่า เดิมทีสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกฎห้ามถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอสำหรับใช้เพื่อการพาณิชย์อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมามีการอนุโลมค่อนข้างมาก ดังนั้น หากคุณต้องการเดินทางไปถ่ายคอนเทนต์ในพื้นที่นี้ (โดยเฉพาะเมื่อต้องการพกอุปกรณ์ถ่ายทำไปหลายชิ้น เช่น ขาตั้งกล้อง ไม้เซลฟี่ แผ่นรีเฟลกซ์)แนะนำให้ทำหนังสือขออนุญาตอย่างเป็นทางการ ผ่านอีเมล: info@pmcu.co.th
3. ระเบียบการถ่ายภาพของ “BTS” และ “MRT”
เช่นเดียวกับประเด็นห้ามถ่ายภาพในสยามสแควร์ สถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT ก็เคยตกเป็นประเด็นในเรื่องนี้ เนื่องจากมีผู้โดยสารคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้ถ่ายภาพ และเพื่อไขความกระจ่างในเรื่องนี้ เราจึงรวบรวมกฎการถ่ายภาพของรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT มาให้คุณ
BTS
- อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในรถไฟฟ้าและภายในสถานีได้ ไม่ว่าจะถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือหรือกล้องถ่ายรูป
- ห้ามถ่ายภาพคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์เสริม เช่น ขาตั้งกล้อง ในการถ่ายภาพ
- ไม่มีนโยบายห้ามถ่ายวิดีโอ แต่ต้องไม่รบกวนผู้โดยสารท่านอื่น ๆ
- ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพนิ่งหรือวิดีโอ เพื่อใช้เชิงพาณิชย์
MRT
- อันที่จริงแล้ว MRT มีกฎห้ามถ่ายภาพ แต่อนุโลมได้ หากเป็นการถ่ายในเชิงส่วนบุคคล เช่น ถ่ายเซลฟี่ ถ่ายกับกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัวที่มาด้วยกัน
- ห้ามถ่ายภาพคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์เสริม เช่น ขาตั้งกล้อง ในการถ่ายภาพ
- ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพนิ่งหรือวิดีโอ เพื่อใช้เชิงพาณิชย์
4. ระเบียบการถ่ายภาพของ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร”
โดยทั่วไป ระเบียบการถ่ายภาพของพิพิธภัณฑ์จะค่อนข้างเข้มงวดกว่า Art Space หรือ Art Center ต่าง ๆ เนื่องจากภายในพิพิธภัณฑ์จะเก็บรักษาโบราณวัตถุล้ำค่ามากมาย หากไม่ระมัดระวังอาจก่อให้เกิดความเสียหาย และสำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีข้อกำหนดอย่างชัดเจนว่า “ห้ามบันทึกภาพหรือเขียนรูปสิ่งของที่จัดตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมิได้อนุญาตจากผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” เนื่องจากวัตถุโบราณบางชิ้น หากโดนแสงแฟลชสาดใส่ อาจทำให้เสื่อมสภาพได้
ที่มา: https://www.gothaitogether.com/bangkok-museum/
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติจริง เจ้าหน้าที่มักอนุโลมให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือขณะเดินชม แต่หากต้องการจะถ่ายคอนเทนต์ แนะนำให้ทำหนังสือขออนุญาตอย่างเป็นทางการผ่านอีเมล: education.nmb@gmail.com
4. ระเบียบการถ่ายภาพของ “พื้นที่สาธารณะในกทม.”
เคยสงสัยไหม? ว่าพื้นที่สาธารณะในกทม. ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ริมแม่น้ำ ริมถนน สะพาน ฯลฯ ต้องขออนุญาตหรือไม่ คำตอบคือ หากเป็นการถ่ายทำภาพยนตร์และสื่อบันเทิง จำเป็นต้องทำเรื่องขออนุญาตกับสำนักงานเขตพื้นที่นั้น ๆ จึงจะสามารถถ่ายทำได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดี ในกรณีของประชาชนทั่วไป สามารถถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอได้ โดยไม่รบกวนผู้คนอื่น ๆ ในพื้นที่ และไม่ละเมิดกฎหมาย PDPA
สรุป
โดยสรุปแล้ว หลาย ๆ พื้นที่มักจะไม่มีกฎการถ่ายคอนเทนต์ระบุไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากต้องคำนึงถึงหลาย ๆ ปัจจัย เช่น มูลค่าทางการตลาดของตัว Content Creator คนนั้น ๆ ลักษณะการถ่ายทำ และเนื้อหาคอนเทนต์ ดังนั้น แนะนำให้พิจารณาก่อนเป็นอันดับแรกว่า สถานที่ใดห้ามถ่ายวิดีโอบ้าง เพราะคอนเทนต์ส่วนมากในสมัยนี้มักเป็นวิดีโอ หากจำเป็นต้องทำเรื่องขออนุญาต แนะนำให้ทำเรื่องล่วงหน้าประมาณ 5-7 วัน และที่สำคัญ หลีกเลี่ยงการถ่ายวิดีโอติดใบหน้าของคนอื่น ๆ เพื่อป้องกันการละเมิดกฎหมาย PDPA
อ้างอิง
ThaiPBS. กฎต้องรู้ใช้บริการ “รถไฟฟ้า” ใต้ดิน-บนดิน แต่ละสายมีข้อห้ามอะไรบ้าง
Available from: https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/198665
bacc. ระเบียบการถ่ายภาพภายในอาคารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
Available from: https://www.bacc.or.th/content/8.html
The Standard. กรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบ ‘การถ่ายทำภาพยนตร์และสื่อบันเทิง’ สามารถใช้พื้นที่สาธารณะได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
Available from: https://thestandard.co/entertainment-medias-use-public-spaces-free-charge/