สำหรับคนที่ยิงแอดเป็นประจำ คงคุ้นเคยกับค่า Metric ต่าง ๆ เช่น CPC (Cost per Click), CPR (Cost per Result), Engagement หรือ Reach เป็นอย่างดี แต่ Metric ที่สำคัญที่สุด ก็คือตัวเลขที่จะสรุปได้ว่า งบโฆษณาที่ลงทุนไปสามารถเพิ่มยอดขายได้เท่าไหร่ คุ้มค่าแก่การลงทุนหรือไม่ และ Metric ที่จะให้คำตอบเหล่านี้ก็คือค่า ROI กับ ค่า ROAS มาทำความรู้จักกับ 2 Metric นี้ให้มากขึ้นกัน!
>> อ่านเพิ่มเติม: ส่อง 7 ตัวชี้วัดที่ควรมีใน Social Media Strategy Report
ค่า ROI คืออะไร ย่อมาจากอะไร
ค่า ROI ย่อมาจาก Return on Investment หมายถึง ผลตอบแทนจากการลงทุน คำนวณโดยนำยอดขายที่ได้มาหักลบต้นทุนทั้งหมดที่จ่ายไป ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้า ต้นทุนค่าเช่าสถานที่ และต้นทุนค่าโฆษณา นิยมคำนวณผลลัพธ์ออกมาเป็นร้อยละตามสูตร
ที่มา: https://theonlineadvertisingguide.com/glossary/roi/
ROI = (รายได้ทั้งหมด – เงินลงทุนทั้งหมดที่ใช้ไป)/ เงินลงทุนทั้งหมดที่ใช้ไป*100
ตัวอย่างเช่น บริษัท A ลงทุนสร้างอีเวนต์เปิดตัวสินค้าใหม่ โดยใช้เงินลงทุน (รวมค่าสื่อโฆษณา ค่าเช่าสถานที่ ค่าแรง Staff) ทั้งหมด 200,000 บาท และสามารถสร้างรายได้จากอีเวนต์ในครั้งนี้ได้รวม 600,000 บาท เมื่อนำตัวเลขทั้งหมดมาคำนวณค่า ROI จะได้ว่า
สูตร: ROI = (รายได้ทั้งหมด – เงินลงทุนทั้งหมดที่ใช้ไป)/ เงินลงทุนทั้งหมดที่ใช้ไป*100
ผลลัพธ์ ROI = (600,000 – 200,000)/ 200,000*100
ROI = 200%
หมายความว่า หลังจากหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว บริษัท A สามารถทำกำไรจากอีเวนต์ครั้งนี้ได้ 200 %
ค่า ROAS คืออะไร ย่อมาจากอะไร
ค่า ROAS ย่อมาจาก Return on ads spending หมายถึง ผลตอบแทนจากการโฆษณา 1 แคมเปญ คำนวณโดยนำยอดขายที่ได้จากการโฆษณาแคมเปญนั้นมาหารกับค่าโฆษณาที่จ่ายไป ตามสูตร
ที่มา: https://theonlineadvertisingguide.com/glossary/roas/
ROAS = รายได้จากโฆษณาแคมเปญ/ค่าโฆษณาตลอดแคมเปญ
ตัวอย่างเช่น บริษัท A สร้างแอดแบบ Conversion บน Facebook 1 แคมเปญ เพื่อขายสินค้าคอลเล็กชันใหม่ โดยตลอดแคมเปญบริษัท A จ่ายเงินยิงแอดไปทั้งสิ้น 200,000 บาท และสามารถทำยอดขายจากแอดแคมเปญนั้นได้ทั้งสิ้น 400,000 บาท เมื่อนำตัวเลขทั้งหมดมาคำนวณค่า ROAS จะได้ว่า
สูตร: ROAS = รายได้จากโฆษณาแคมเปญ/ค่าโฆษณาตลอดแคมเปญ
ผลลัพธ์ ROAS = 400,000/200,000
ROAS = 2
หมายความว่า โฆษณาสามารถแคมเปญนี้ของบริษัท A สามารถสร้างยอดขายได้เป็น 2 เท่าของงบยิงแอดที่จ่ายไป
** คุณสามารถคำนวณ ROAS เป็นเท่า หรือเป็นร้อยละก็ได้ หากต้องการคำนวณเป็นร้อยละ ให้คูณ 100 ดังเช่นในตัวอย่าง หากคำนวณเป็น รายได้จากโฆษณาแคมเปญ/ค่าโฆษณาตลอดแคมเปญ*100 หรือ (400,000/200,000)*100 ก็จะได้ ROAS = 200%
ค่า ROI แตกต่างกับค่า ROAS อย่างไร
ที่มา: https://ignitevisibility.com/how-to-calculate-roas/
แน่นอนว่าทั้งค่า ROI และ ค่า ROAS ต่างก็เป็น Metric ที่ใช้วัดผลสัมฤทธิ์ของการทำธุรกิจเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ “มุมมอง” เนื่องจากค่า ROI จะใช้วัดผลสัมฤทธิ์โดยรวมของธุรกิจ จึงเหมาะแก่การคำนวณผลกำไรสุทธิของการขายผลิตภัณฑ์ 1 ตัว หรือผลกำไรโดยรวมแต่ละไตรมาส ในขณะที่ค่า ROAS ใช้วัดผลสัมฤทธิ์จากการโฆษณา ซึ่งจะจำเพาะเจาะจงมากกว่า เหมาะสำหรับการสรุปว่าโฆษณาแบบใดมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน ดังนั้น ค่า ROAS จึงค่อนข้างมีบทบาทต่อการยิงโฆษณามากกว่า
ค่า ROI และค่า ROAS มากหรือน้อยถึงจะดี
เมื่อพิจารณาจากสูตรคำนวณ จะเห็นได้ว่า ทั้งค่า ROI และค่า ROAS ล้วนใช้ “ต้นทุน” เป็นตัวหาร ดังนั้น หากเรายึดหลักการ “ตัวหารยิ่งน้อย ผลลัพธ์ก็จะยิ่งมาก” ก็สามารถสรุปได้ว่า ยิ่งค่า ROI และค่า ROAS มากเท่าไหร่ ธุรกิจก็มีกำไรมากเท่านั้น เพราะนั่นหมายความว่าต้นทุนน้อยกว่ารายได้นั่นเอง
อยากให้ค่า ROAS เพิ่ม (ค่า ROI เพิ่มด้วย) ต้องทำอย่างไร?
หากโฆษณาของคุณมีประสิทธิภาพมากพอ แน่นอนว่าค่า ROAS จะเพิ่มขึ้น และนั่นย่อมทำให้ผลกำไร หรือค่า ROI สูงขึ้นไปด้วยเช่นกัน เพื่อให้คุณบรรลุเป้าหมายนั้น ลองทำตาม 3 เคล็ดลับ ดังนี้
ที่มา: https://www.pathlabs.com/blog/roas-marketing
1. ทำ A/B Test
การทดสอบว่าชิ้นงานโฆษณาแบบใดจะเพิ่มยอดขายได้มากที่สุด ก่อนตัดสินใจทุ่มงบยิงแอดทั้งหมดลงไป จะลดความเสี่ยงในการพบข้อผิดพลาดได้ดี และจะช่วยประหยัดงบโฆษณาด้วย
>> อ่านเพิ่มเติม: A/B Testing คืออะไร ทำไมแคมเปญต้องทดสอบการคลิก
2. ลองทำการตลาดกับลูกค้าเก่า
อย่าละทิ้งกลุ่มลูกค้าเก่าเด็ดขาด โดยเฉพาะลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง เพราะพวกเขามีข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของคุณอยู่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะกลับมาซื้อซ้ำหากพบข้อเสนอที่ดีพอ ดังนั้น ลองยิงแอดโดยใช้เทคนิค Retargeting เพื่อกำหนดให้ลูกค้าที่เคยมีประวัติการสั่งซื้อกับคุณ เป็นเป้าหมายของโฆษณาแคมเปญนั้น ๆ
3. ปรับปรุงชิ้นงานโฆษณาให้น่าสนใจ
ชิ้นงานโฆษณาคือประตูด่านแรกที่กั้นระหว่างลูกค้ากับคุณ และที่สำคัญ! ไม่ว่าคุณจะคัดเลือกกลุ่มลูกค้า กำหนดช่วงเวลาการยิงแอด หรือกำหนดงบประมาณเอาไว้อย่างรัดกุมแค่ไหน หากไม่สามารถทำให้ลูกค้าอยากคลิกชมโฆษณาได้ ก็ไม่มีทางที่จะได้ยอดขายจากพวกเขาอยู่ดี ดังนั้น อย่าลืมใส่ใจเรื่อง Copywriting การเลือกภาพโฆษณา และการใส่ CTA ที่น่าดึงดูดเป็นอันขาด
สรุป
โดยสรุปแล้ว ทั้งค่า ROI และค่า ROAS ต่างก็เป็น Metric ที่สำคัญต่อการคำนวณรายได้ของธุรกิจ เพียงแต่มีจุดมุ่งหมายในการคำนวณที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ทั้งค่า ROI และค่า ROAS ยิ่งสูง ยิ่งดี เพราะแสดงให้เห็นว่ามีรายได้มากกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะค่า ROI ซึ่งหมายถึง “กำไร” ของธุรกิจคุณ
อ้างอิง
Instapage. 5 Ways to Significantly Increase Your Return on Ad Spend (ROAS)
Available from: https://instapage.com/blog/increase-return-on-ad-spend/
AARKI. ROI vs. ROAS: Definitions and Differences
Available from: https://www.aarki.com/insights/roi-vs-roas#:~:text=Firstly%2C%20ROI%20measures%20the%20total,revenue%2C%20while%20ROI%20considers%20profit.
Google Ads ความช่วยเหลือ. เกี่ยวกับผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI)
Available from: https://support.google.com/google-ads/answer/