คนที่เคยติดตามข่าวในวงการโฆษณาอยู่บ้าน คงจะรู้จักกับสื่อนอกบ้าน หรือ Out of Home อันได้แก่ป้ายโฆษณาแบบบิลบอร์ด โปสเตอร์บนฝาผนัง บนสถานีรถไฟฟ้า หรือสื่อโฆษณาอะไรก็ตามที่ติดตั้งอยู่กับอาคารและสิ่งปลูกสร้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็ถือกำเนิดขึ้นมากมาย และหนึ่งในนั้นคือ Fake Out-of-Home รายละเอียดจะเป็นอย่างไร มาติตตามไปพร้อม ๆ กัน!
Fake Out-of-Home คืออะไร?
Fake Out-of-Home คือ การผสมผสานการออกแบบสื่อนอกบ้านแบบดั้งเดิมให้เข้ากับเทคโนโลยีวิดีโอ 3 มิติสมัยใหม่ จนเกิดเป็นคลิปโฆษณาขนาดสั้น ที่ทำให้คุณเข้าใจว่า มีสื่อนอกบ้านสุดอลังการติดตั้งอยู่บริเวณต่าง ๆ ของเมือง แต่แท้จริงแล้วสื่อนอกบ้านดังกล่าวไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงภาพ 3 มิติในวิดีโอเท่านั้น ตัวอย่าง Fake Out-of-Home ที่โด่งดังไปทั่วโลก คือโฆษณาของ Maybelline’s new sky high ที่ปล่อยภาพขนตาและมาสคาร่าอันใหญ่ยักษ์ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จนคนพากันตามหาว่ามาสคาร่ายักษ์ในภาพติดตั้งอยู่ที่สถานีไหน…และใช่! มันไม่มีอยู่จริง
ทำไม Fake Out-of-Home ถึงได้รับความนิยม?
หลังจากโฆษณา Maybelline’s new sky high อวดโฉมสู่สายตาชาวโลกเมื่อราว ๆ 1 ปีก่อน จนกลายเป็นไวรัล ก็จุดประกายให้แบรนด์ต่าง ๆ ทั้งเล็กและใหญ่เลือกที่จะใช้วิธีนี้บ้าง เพื่อสร้างความฮือฮาให้กับอุตสาหกรรมของตนเอง และดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายแชร์คลิปวิดีโอออกไปอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ดี การทำ Fake Out-of-Home ก็มีต้นทุนมากพอสมควร เพราะต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้เรื่องภาพ 3 มิติเป็นอย่างดี แบรนด์ที่ตัดสินใจจะทำสิ่งนี้ จึงต้องมีงบประมาณมากพอสมควร
Fake Out-of-Home มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร?
ขึ้นชื่อว่า “สื่อนอกบ้านเทียม” ย่อมต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสียในเชิงประจักษ์ ซึ่งเราสามารถสรุปได้ดังนี้
ข้อดีของสื่อแบบ Fake Out-of-Home
- สร้างบรรยากาศที่แปลกใหม่ จุดประกายความตื่นตาตื่นใจให้กับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์
- เสริมสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูทันสมัย ก้าวทันโลก และมีบุคลากรที่เก่งเรื่องเทคโนโลยี
- เพิ่มยอดผู้ติดตามและ Engagement ให้กับ Social Media ของแบรนด์
- แม้ปัจจุบันผู้คนจะเริ่มคุ้นเคยกับ Fake Out-of-Home มากขึ้นแล้ว แต่หากทำวิดีโอออกมาได้สมจริงมาก ๆ ก็ย่อมกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายสนใจในสินค้า และออกตามหาว่าสื่อ Out of Home ในวิดีโอมีจริงหรือไม่
ข้อเสียของสื่อแบบ Fake Out-of-Home
- เป็นการออกแบบชิ้นงานวิดีโอความยาวไม่กี่วินาทีที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง
- ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการทำวิดีโอ 3 มิติจริง ๆ เพราะถ้าทำออกมาได้ไม่แนบเนียน แบรนด์อาจสูญเสียภาพลักษณ์ครั้งใหญ่
- ให้ผลในแง่ Brand Awareness แต่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ในแง่ของการเพิ่มยอดขาย
ตัวอย่าง Fake Out-of-home ที่กลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก
ไม่ได้มีแต่เพียงโฆษณา Maybelline’s new sky high เท่านั้น ที่กลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก ยังมีอีกหลาย ๆ โฆษณาที่ทำให้คนเริ่มแน่ใจว่า สื่อประเภท Fake Out-of-Home มีอยู่จริง ดังจะยกตัวอย่างต่อไปนี้
JACQUEMUS Bag
JACQUEMUS (ฌักมูส) แบรนด์แฟชั่นน้องใหม่สัญชาติฝรั่งเศส เปิดตัว Giant Bag ในลักษณะของรถขนาดใหญ่สัญจรไปทั่วท้องถนนในกรุงปารีส ซึ่งแน่นอนว่านี่คือ Fake Out-of-Home ที่ทำออกมาแนบเนียนจนกลายเป็นไวรัลในโลกแฟชั่น
adidas Hong Kong
ครั้งหนึ่งบน Instagram ร้าน adidas ใน Hong Kong ก็เคยโปรโมต ADIZERO Adidas Pro 3 ด้วยวิดีโอ Fake Out-of-Home ให้ดูเหมือนกับว่า มีเฮลิคอปเตอร์ขนส่งรองเท้าขนาดใหญ่วางบนยอดตึก และสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนในบริเวณโดยรอบ วิดีโอชุดนี้ประสบความสำเร็จด้วยยอดการเข้าชมกว่า 200,000 ครั้ง และการแชร์อีกหลายร้อยครั้ง
Barbie
ภาพยนตร์ Barbie เองก็เคยใช้สื่อประเภท Fake Out-of-Home โปรโมตภาพยนตร์เช่นกัน โดยฉากหลังของวิดีโอโฆษณาดังกล่าวเกิดขึ้นที่ดูไบ ตุ๊กตาบาร์บี้ขนาดใหญ่ ก้าวออกมาจากกล่องตุ๊กตาขนาดยักษ์ความสูงเทียบเท่าตึก ที่ตั้งอยู่ข้าง ๆ ตึก Burj Khalifa แน่นอนว่าทันทีที่วิดีโอถูกโพสต์ มันก็กลายเป็นไวรัลทันที!
สรุป
Fake Out-of-Home คือปรากฏการณ์ทางเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ที่ทำให้คุณได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และขยายขีดจำกัดของความเป็นไปได้ในวงการโฆษณาให้มีขอบเขตกว้างไกลมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ได้มีแต่แบรนด์ใหญ่ ๆ ในต่างประเทศเท่านั้นที่ทำโฆษณาแบบ Fake Out-of-Home แบรนด์ไทยเองก็เริ่มมีให้เห็นแล้วเช่นเดียวกัน ธุรกิจไหนกำลังหาแรงบันดาลใจในการออกแบบสื่อโฆษณาประเภทนี้ ต้องคอยติดตาม
อ้างอิง
YORD. Fake Out-of-Home Advertising: Why Is It Becoming So Popular?
ADINTIME. What is Fake Out-of-Home (FOOH)? – The Future of Outdoor Advertising
Available from: https://adintime.hk/en/blog/what-is-fake-out-of-home-fooh-the-future-of-outdoor-advertising-n130#