Brand Ambassador (แบรนด์แอมบาสเดอร์) หากพูดถึงคำนี้เชื่อว่านักการตลาดมือใหม่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าที่จริงแล้ว Brand Ambassador ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลในวงการบันเทิงหรือผู้ที่มีชื่อเสียงอีกต่อไป เพราะการทำ Digital Marketing ในสมัยปัจจุบันผู้ที่มีอิทธิพลบนโลก Social Media ก็สามารถเป็น Brand Ambassador ได้
รวมถึงพนักงานในองค์กรของคุณเองก็ยังสามารถเป็น Brand Ambassador ให้กับแบรนด์ได้เหมือนกันแถมยังมีข้อดีบางอย่างที่บุคคลอื่น ๆ เท่าเทียมไม่ได้อีกด้วย ในบทความนี้เราเลยขอพาทุกคนไปทำความรู้จักว่า Brand Ambassador คืออะไร มีคุณสมบัติอย่างไร ต้องทำอะไรบ้างและแตกต่างจาก Presenter อย่างไร หากพร้อมแล้วไปติดตามกันต่อได้เลย
Brand Ambassador คือ
Brand Ambassador คือบุคคลที่ได้ถูกว่าจ้างจากบริษัทใดให้เป็นตัวแทนของแบรนด์เพื่อเป็นหน้าตาของแบรนด์ในการโปรโมทหรือประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการของธุรกิจนั้น ๆ โดยภาพลักษณ์ของ Brand Ambassador (แบรนด์แอมบาสเดอร์) จะส่งผลโดยตรงต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นหน้าเป็นตาของแบรนด์ที่จำเป็นต้องมีการถ่ายทอดคุณค่าของแบรนด์รวมไปถึงอัตลักษณ์ แนวทาง ไลฟ์สไตล์ ฯลฯ ที่แบรนด์ต้องการสื่อสารออกมาให้ผู้บริโภครับรู้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : Brand Identity คือ
คุณสมบัติของ Brand Ambassador
ในการที่แบรนด์จะเลือก Brand Ambassador มาสักคนนั้นคนที่ถูกเลือกมาเป็น Brand Ambassador จะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมดังนี้
1. เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักในสังคม
ชื่อเสียงของ Brand Ambassador จะมีส่วนช่วยให้แบรนด์และธุรกิจของคุณเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วจากการที่ Brand Ambassador มีผู้ที่รู้จัก มีฐานผู้ติดตามหรือบรรดา Fanclub ที่ชื่นชอบในตัวบุคคลอยู่ก่อนแล้วอยู่แล้วซึ่งทำให้การเจาะตลาดไปหากลุ่มเป้าหมายที่คาดหวังของแบรนด์ทำได้ง่ายมากขึ้น
2. มีภาพลักษณ์ที่เหมาะสมกับตัวสินค้าหรือบริการนั้น ๆ
Brand Ambassador จะต้องมีภาพลักษณ์หรือภาพจำในสายตาของกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมกับตัวสินค้าหรือบริการของธุรกิจคุณ เช่นหากผลิตภัณฑ์ของคุณคือสเปรย์ระงับกลิ่นกาย Brand Ambassador ก็ต้องมีภาพลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับตัวผลิตภัณฑ์ด้วยอย่าง กลุ่มนักกีฬาเพศชายที่มีชื่อเสียงหรือดาราที่ชอบทำกิจกรรม Outdoor Activity เป็นต้น
อ่านบทความ Insight คืออะไร ทำไมธุรกิจควรวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า ได้ที่ Insight คือ
3. สามารถโน้มน้าวใจผู้อื่นได้
นอกจาก Brand Ambassador ที่จะต้องมีภาพลักษณ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์แล้วเรื่องของการโน้มน้าวใจผู้บริโภคก็สำคัญ Brand Ambassador คนนั้นที่คุณเลือกต้องสามารถโน้มน้าวใจให้กลุ่มเป้าหมายหันมาสนใจในตัวผลิตภัณฑ์ของคุณให้ได้ ซึ่งบางครั้งอาจจะเกี่ยวกับความสามารถบางอย่างเช่น ทักษะในการพูด ทักษะในแสดงออก เป็นต้น
4. ไม่เคยมีประวัติเสียหายที่ส่งผลเสียต่อแบรนด์มาก่อน
เพราะ Brand Ambassador จะเข้ามาเป็นหน้าตาของแบรนด์คุณดังนั้นบุคคลที่คุณเลือกมาจะต้องเป็นคนที่มีโปรไฟล์ดี เป็นที่ยอมรับในความสามารถของสังคม ไม่เคยมีประวัติเสียหายที่ส่งผลต่อแบรนด์โดยตรง เช่น ประวัติอาชญากรรม ประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือประวัติวีรกรรมด่างพร้อยต่าง ๆ ยิ่งในยุค Digital Footprint ที่ทุกคนสามารถสืบหาเรื่องราวในอดีตเองได้คุณเองก็ยิ่งต้องระมัดระวังในการเลือก Brand Ambassador มาใช้งานให้มาก ๆ ควรตรวจสอบประวัติและกระแสดราม่าในอดีตของ Brand Ambassador คนนั้น ๆ ให้ดีเสียก่อน
5. อิทธิพลต่อสื่อออนไลน์
ในยุคที่สื่อ Social Media กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบันการที่ Brand Ambassador ที่คุณเลือกมานั้นมีฐาน Fanclub หรือผู้ติดตามบนสื่อ Social Media ของตัวเองไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, YouTube หรือ TikTok ก็เป็นส่วนช่วยที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของคุณเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นจากผู้ติดตามเหล่านั้นด้วยเหมือนกัน
Tips: สิ่งสำคัญในการเลือก Brand Ambassador นั้นคนที่คุณเลือกมาจะต้องไม่เคยเป็น Brand Ambassador ให้กับแบรนด์คู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันมาก่อน เพราะในสายตาผู้บริโภคจะมีภาพจำของบุคคลนั้นที่เป็น Brand Ambassador ให้แบรนด์นั้นมาก่อนแล้ว
Brand Ambassador ทำอะไรบ้าง
Brand Ambassador มีหน้าที่ที่ต้องทำอยู่นอกจากช่วยในการทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้ว่าจ้างเป็นที่รู้จักมากขึ้นนั้นเพื่อการเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจแล้วก็ยังมีหน้าที่อื่น ๆ ที่ Brand Ambassador ต้องทำด้วยดังต่อไปนี้
- ช่วยสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์
- เป็นกระบอกเสียงในการโปรโมทและประชาสัมพันธ์ให้แบรนด์
- เป็นหน้าตาของแบรนด์ในการสร้างการรู้จักให้ผู้บริโภค
- ช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคที่มีค่านิยมเดียวกันหันมาสนใจในตัวผลิตภัณฑ์
- ร่วมทำกิจกรรมทางการตลาดหรือแคมเปญของแบรนด์นั้น ๆ
- เดินสายช่วยในการโปรโมทผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง
- สร้างค่านิยมในสังคมให้กับผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภค
- ให้ความร่วมมือกับแบรนด์ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์และสร้างยอดขายให้ธุรกิจ
ประเภทของ Brand Ambassador
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้ว Brand Ambassador นั้นมีประเภทที่แตกต่างกันออกไปตามการใช้งานด้วยซึ่งสามารถแบ่งประเภทของ Brand Ambassador ออกได้เป็น 6 ประเภทดังนี้
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Niche Authority Brand Ambassadors)
คือกลุ่ม Brand Ambassadors ที่มีความเชี่ยวชาญในสายอาชีพนั้น ๆ มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเป็น Brand Ambassador ที่มีความเฉพาะทางเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของคุณ เช่น ธุรกิจอุปกรณ์กีฬาก็ควรเลือกให้นักกีฬาอาชีพมาเป็น Brand Ambassador หรือธุรกิจเครื่องปรุงในการทำอาหารก็ควรเลือกให้เชฟที่มีชื่อเสียงมาเป็น Brand Ambassador ซึ่งช่วยทำให้แบรนด์ได้ทั้งการโฆษณาในสื่อต่าง ๆ และสามารถโน้มน้าวใจกลุ่มเป้าหมายได้ดีเป็นพิเศษ
กลุ่มลูกค้าที่สนับสนุน (Peer Advocate Ambassadors)
คือกลุ่ม Brand Ambassadors ที่เป็นกลุ่มลูกค้าที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณมาก่อน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกค้าได้ใช้สินค้าหรือบริการของคุณแล้วรู้สึกดีก็จะบอกต่อไปยังคนรู้จัก และนั่นก็จะช่วยให้แบรนด์ของคุณเป็นที่รู้จักและกระจายข้อมูลของผลิตภัณฑ์ไปอย่างรวดเร็วอีกทางหนึ่ง แถมยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการบอกต่อ (Referral) ให้กับธุรกิจของคุณได้อีกด้วย
อ่านบทความ Data Analytic คืออะไร? การใช้ Big Data สามารถต่อธุรกิจได้ขนาดไหน? ได้ที่ Data Analytic คือ
กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางสื่อ (Influencer Ambassadors)
คือกลุ่ม Brand Ambassadors ที่มีอิทธิพลทางสื่อเช่น Social Media หรือพูดง่าย ๆ ก็คือมีฐานผู้ติดตาม ฐาน Fanclub ใน Social Media ของตัวเองมาก่อนแล้วเพราะคนกลุ่มนี้จะมีอิทธิพลที่สามารถดึงดูดให้ผู้ติดตามคล้อยตามและเชื่อในการโน้มน้าวใจของพวกเขาได้ดีเป็นพิเศษมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เหมาะสำหรับแบรนด์ที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เช่นหากเป็นแบรนด์เครื่องสำอางวัยรุ่นก็ควรเลือกใช้ Brand Ambassadors สายความสวยความงาม ที่มีอายุอยู่ในช่วงวัยรุ่นมีใบหน้าเป็นเอกลักษณ์ มีผู้ติดตามใน Social Media เยอะ ก็จะช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้ติดตามได้ดีมากกว่า
กลุ่มนักเรียน นักศึกษา (Student Brand Ambassadors)
คือกลุ่ม Brand Ambassadors ที่มีอิทธิพลในการดึงดูดเป้าหมายในช่วงวัยเดียวกัน (ช่วงอายุวัยรุ่น) ให้มาสนับสนุนแบรนด์ของคุณโดย Brand Ambassadors กลุ่มนักเรียนนักศึกษานั้นยังมีข้อดีในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างคอนเทนต์ที่หลากหลายและตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยเดียวกันได้ดี (และอาจมีผู้ติดตามเยอะใน Social Media อีกด้วย)
กลุ่มที่ไม่เป็นทางการ (Informal Ambassador)
คือกลุ่ม Brand Ambassadors ที่ไม่ได้เคร่งในเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์เหมือนอย่างกลุ่มอื่น ๆ แต่จะเน้นไปที่การขายสินค้าให้ได้ผ่านการรีวิว การแชร์บอกต่อให้เพื่อน ๆ หรือทำการตลาดในช่องทางของตัวเอง ซึ่งจริง ๆ แล้วกลุ่ม Brand Ambassadors กลุ่มนี้จะมีความคล้ายคลึงกับการทำงานของกลยุทธ์การตลาดบางตัวเช่น Referral Program และ Affiliate Program
กลุ่มพนักงาน (Employee Brand Ambassador)
คือกลุ่ม Brand Ambassadors ที่เป็นพนักงานในองค์กรของบริษัทคุณเอง เช่น CEO หรือเจ้าของธุรกิจเป็นต้นเพราะถือว่าเป็นหน้าตาของแบรนด์และเป็นคนที่รู้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์มากที่สุด สามารถกำหนดทิศทางของแบรนด์เองได้ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันอยู่ด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของ Brand Ambassadors กลุ่มนี้ก็คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลัง ‘คาราบาวแดง’ ที่มีคุณยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) ที่เป็นเจ้าของธุรกิจมาทำหน้าที่ Brand Ambassadors ของแบรนด์ด้วยตัวเอง
Global Ambassador คืออะไร
Global Ambassador คือบุคคลมีชื่อเสียงและมีภาพลักษณ์ที่ตรงกับแบรนด์จนได้เป็นตัวแทนให้กับแบรนด์ในการโปรโมทแบรนด์ทั่วโลก เป็นตัวแทนออกงานร่วมกับแบรนด์ทั้งงาน Event และงานโฆษณา เพื่อเป็นส่วนช่วยในการประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักแบรนด์เป็นวงกว้างซึ่งจะ Global Ambassador จะมีความแตกต่างจาก Brand Ambassadors อยู่เพราะ Brand Ambassadors จะรับหน้าที่โปรโมทแค่ในประเทศหรือตามที่สัญญาได้กำหนดเอาไว้ แต่ Global Ambassador จะครอบคลุมทั่วโลกอีกทั้ง Global Ambassador ที่ถูกเลือกมาจะไม่สามารถใช้สินค้าจากแบรนด์คู่แข่งออกสื่อได้เลย
ตัวอย่างเช่น ลิซ่า ลลิษา มโนบาล (หรือลิซ่า BLACKPINK) ที่เป็น Global Ambassador ให้กับแบรนด์แฟชั่น CELINE และแบรนด์เครื่องประดับ BVLGARI
อ่านบทความ SWOT คืออะไร (SWOT Analysis) ตัวอย่างการวิเคราะห์ธุรกิจในปัจจุบัน ได้ที่ SWOT คือ
Brand Ambassador กับ Presenter แตกต่างกันอย่างไร
หน้าที่ Brand Ambassador กับ Presenter
Brand Ambassador : สะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์และดึงดูดให้ผู้บริโภคที่มีค่านิยมเดียวกันอยากใช้สินค้าหรือบริการของแบรนด์มากขึ้น
Presenter : ช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างเพื่อเพิ่มโอกาสในการขายให้มากขึ้น
Brand Ambassador กับ Presenter เหมาะกับใคร
Brand Ambassador : โดยส่วนมากมักใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงเช่นศิลปินนักแสดงหรือผู้ที่สามารถสะท้อนตัวตนของแบรนด์ออกมาได้อย่างชัดเจน
Presenter : มักใช้นักแสดงดาราหรือศิลปินที่เป็นที่รู้จักในวงการ ที่กำลังได้รับความนิยมจากสังคมอยู่ในช่วงนั้น ๆ
ความผูกพันกับแบรนด์ ระหว่าง Brand Ambassador กับ Presenter
Brand Ambassador : จะต้องมีความผูกพันกับแบรนด์สูงต้องใช้สินค้าหรือบริการของแบรนด์เป็นประจำและต้องร่วมทำกิจกรรมทางการตลาดกับแบรนด์อย่างต่อเนื่อง
Presenter : อาจไม่ได้มี ความผูกพันกับแบรนด์อย่างลึกซึ้งและมีการทำกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับแบรนด์ในบางครั้งตามข้อตกลง
ระยะเวลาของ Brand Ambassador กับ Presenter
Brand Ambassador : มีการว่าจ้างเป็นระยะเวลานานหลายปีขึ้นไป เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดภาพจำ
Presenter : ใช้เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ตามกระแส ถ้าได้ผลตอบรับดีก็มีการต่อสัญญาแต่ถ้าผลตอบรับปานกลางก็ไม่ต่อสัญญา (หรือมองหา Presenter คนอื่น ๆ)
การเลือก Brand Ambassador
ในการเลือก Brand Ambassador มาใช้งานสำหรับแบรนด์ของคุณนั้นก็ต้องมีหลักการในการเลือก Brand Ambassador ด้วยซึ่งเราแนะนำว่าควรต้องใช้หลักในการเลือก 4 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 : กำหนด Brand Ambassador ให้ชัดเจน
หากแบรนด์ของคุณต้องการมี Brand Ambassador คุณควรมีภาพในหัวก่อนว่า Brand Ambassador ที่คุณจะเลือกใช้นั้นจะเป็นใคร อาจลองสมมติเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงขึ้นมาสักคนเพื่อให้ทีมได้เห็นภาพเดียวกัน แล้วลองปรึกษากับทีมดูว่าถ้าเราใช้ Brand Ambassador ที่มีภาพลักษณ์ประมาณนี้จะเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของธุรกิจคุณหรือไม่
ขั้นตอนที่ 2 : เลือกประเภทของ Brand Ambassador
ขั้นตอนต่อมาคือการเลือกประเภทของ Brand Ambassador จากประเภทของ Brand Ambassador ทั้ง 6 ประเภทที่เราได้อธิบายไปแล้วในช่วงต้น ซึ่งขั้นตอนนี้ถือว่ามีความสำคัญมากเพราะการเลือกประเภทของ Brand Ambassador ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของคุณนั้นจะสามารถช่วยเพิ่มการรับรู้และสามารถโน้มน้าวใจให้กลุ่มเป้าหมายหันมาสนใจในผลิตภัณฑ์ของคุณได้มากขึ้น และถ้าคุณได้เลือก Brand Ambassador ของแบรนด์คุณได้แล้วก็ให้ติดต่อไปหาบุคคลนั้นทันทีเพื่อสอบถามว่าเขาสนใจรับงานในการเป็น Brand Ambassador ให้แบรนด์ของคุณหรือไม่
ขั้นตอนที่ 3 : เริ่มให้ Brand Ambassador ได้รู้จักกับผลิตภัณฑ์ของคุณ
หลังจากที่ Brand Ambassador คนนั้นได้ตกลงรับงานในการรับหน้าที่เป็น Brand Ambassador ให้กับแบรนด์ของคุณแล้วก็ต้องมีการบรีฟรายละเอียด ภาพลักษณ์ สโคปงานต่าง ๆ ให้ชัดเจนรวมถึงถ้าผลิตภัณฑ์ของคุณเป็นสินค้าก็ควรต้องมีการส่งสินค้าให้ Brand Ambassador ได้ลองทำความรู้จักหรือใช้งานสินค้าของคุณจริง ๆ เพื่อที่จะทำให้เขาได้มีความรู้เกี่ยวกับสินค้านั้นมากพอที่จะส่งต่อข้อมูลไปยังกลุ่มเป้าหมาย
ขั้นตอนที่ 4 : รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับ Brand Ambassador
และขั้นตอนสุดท้ายคือการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับ Brand Ambassador อย่างต่อเนื่อง ในมุมของธุรกิจนั้นเราต้องใส่ใจ Brand Ambassador เปรียบเสมือนว่าเขาคือ ‘ทูต’ ของบริษัทคุณเพื่อที่ Brand Ambassador จะได้รับความรู้สึกดี ๆ ที่แบรนด์มีให้เขาและก็จะทำให้ตัวเขาเองเลือกที่จะส่งต่อความรู้สึกดี ๆ เหล่านั้นไปยังผู้บริโภคต่อไป ซึ่งอาจทำให้ Brand Ambassador เต็มใจที่จะช่วยในการโปรโมทและประชาสัมพันธ์ให้แบรนด์ของคุณโดยที่อาจไม่มีเรื่องของเงินหรือค่าตอบแทนมาเกี่ยวข้องเลย
ตัวอย่างเช่น การส่งกระเช้าของขวัญไปทุกเทศกาลสำคัญหรือวันเกิด, ให้ลองสินค้าคอลเลกชันใหม่ ๆ เป็นกลุ่มแรก เป็นต้น
การเลือก Brand Ambassador เป็นคนในองค์กร มีข้อดีอย่างไร
การเลือก Brand Ambassador เป็นคนในองค์กรของคุณเองนั้นอย่างที่เราได้กล่าวไปว่า Brand Ambassador ประเภทนี้มีข้อดีหลายอย่าง ในหัวข้อนี้เราจะมาอธิบายให้คุณได้ทราบว่า Brand Ambassador มีข้อดีอย่างไรบ้าง
มีความน่าเชื่อถือสูง
โดยส่วนมากแล้ว Brand Ambassador ที่เป็นคนในองค์กรจะเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งสูงในบริษัทหรือเป็นที่ระดับเจ้าของธุรกิจเองเลย ทำให้คนกลุ่มนี้มีความน่าเชื่อถือในสายตาของกลุ่มเป้าหมายสูง ได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างมาก เหมาะสำหรับแบรนด์ที่ต้องการขายความน่าเชื่อถือเช่นธุรกิจการเงิน ธุรกิจประกันชีวิต เป็นต้น
มีความรู้ในผลิตภัณฑ์และแบรนด์เป็นอย่างดี
ในเมื่อ Brand Ambassador เป็นคนที่ทำงานอยู่ในองค์กรของคุณเองดังนั้นความรู้ที่พวกเขามีต่อตัวผลิตภัณฑ์หรือสินค้านั้นย่อมมีมากกว่าการจ้างคนนอกให้เข้ามาเป็น Brand Ambassador อยู่แล้ว ซึ่งจะมีข้อดีในเรื่องของการบอกต่อข้อมูลของผลิตภัณฑ์ไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างละเอียด และยังเป็นผู้ที่กำหนดทิศทางของผลิตภัณฑ์ได้ดีที่สุดอีกด้วย
ช่วยในการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักได้ง่ายมากขึ้น
การใช้ Brand Ambassador เป็นคนในองค์กรนั้นสามารถช่วยในการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักได้ง่ายมากขึ้น เพราะ Brand Ambassador ประเภทนี้ส่วนมากจะเป็น Brand Ambassador ให้กับผลิตภัณฑ์ขององค์กรที่ทำงานอยู่แค่แบรนด์เดียว ทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดภาพจำได้ง่ายมากกว่าการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง ที่อาจรับงานเป็น Brand Ambassador ให้กับผลิตภัณฑ์หลายแบรนด์ และยังมีส่วนช่วยในการสร้าง Persona Branding ให้กับ Brand Ambassador คนนั้น ๆ ได้ดีอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น คุณจิรายุ ทรัพย์ศรีโสภา หรือ ท๊อป BITKUB ที่เป็น Brand Ambassador และเป็น CEO ของบริษัท BITKUB Capital Group Holding แพลตฟอร์มเทรด Cryptocurrency ของไทยซึ่งก็เลือกใช้ตัวเองในการเป็น Brand Ambassador ให้ผลิตภัณฑ์
อ่านบทความ Persona คืออะไร ทำไมเราควรสร้างผู้ใช้จำลองในการทำการตลาด ได้ที่ Persona คือ
สรุปหัวข้อ Brand Ambassador
คงเห็นได้ชัดแล้วว่าการมี Brand Ambassador (แบรนด์แอมบาสเดอร์) นั้นบางครั้งอาจไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นศิลปินดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงเสมอไป เพียงแค่คุณเลือก Brand Ambassador ให้ถูกกับกลุ่มเป้าหมายและเหมาะสมกับตัวผลิตภัณฑ์ของคุณแค่นั้นก็เพียงพอ
เพราะ Brand Ambassador นั้นคือคนที่เป็นมากกว่าผู้ที่มาช่วยแบรนด์ขายของหรือมาบอกว่าแบรนด์กำลังขายอะไรแต่ Brand Ambassador ยังสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วย ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากในการช่วยให้กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจคุณจดจำแบรนด์ของคุณได้นั่นเอง
อ่านบทความ MarTech (Marketing Technology) คืออะไร แนะนำ 10 เครื่องมือที่น่าสนใจ ได้ที่ MarTech
อ้างอิงข้อมูล
What is a Brand Ambassador and What Do They Do? , August 22, 2022 , https://www.duel.tech/blog/what-does-a-brand-ambassador-do
Who is Brand Ambassador: Definitive Guide, August 9, 2022, https://sendpulse.com/support/glossary/brand-ambassador
Cameron Brain, The Brand Ambassador: Who Are They And Why Do They Matter?, March 16, 2022, https://everyonesocial.com/blog/brand-ambassador/