7P (Marketing Mix) คือแนวคิดสำคัญสำหรับนักการตลาดหรือผู้ประกอบการธุรกิจที่ต้องทำงานด้านการวางกลยุทธ์การตลาด Digital Marketing หรือการทำ Social Media Marketing ที่คุณจำเป็นที่จะต้องศึกษาและเรียนรู้
แต่เชื่อว่านักการตลาดและผู้ประกอบการหลายท่านน่าจะคุ้นเคยกับ 4Ps (Marketing Mix) กันมาบ้างแล้วในบทความก่อน ซึ่งการวางกลยุทธ์แบบ 7P (Marketing Mix) นั้นก็จะมีความซับซ้อนบางอย่างที่มากกว่าและสามารถช่วยการวางกลยุทธ์ให้ธุรกิจของคุณได้อย่างครอบคลุมกว่านั่นเอง
ในบทความนี้เราเลยขอมาอธิบายเกี่ยวกับ 7Ps คืออะไร พร้อมวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้า 7P มีอะไรบ้าง เพื่อเป็นส่วนช่วยให้การวางกลยุทธ์เพื่อธุรกิจของคุณมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ไปติดตามกันได้เลย
7P หรือ 7PS (Marketing Mix) คืออะไร
7P หรือ 7PS (Marketing Mix) คือแนวคิดส่วนผสมทางการตลาดในการทำธุรกิจเพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถคิดค้นกลยุทธ์ที่จะทำให้สินค้าของคุณเป็นที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและก็ต้องแตกต่างและโดดเด่นกว่าสินค้าของคู่แข่งด้วยเหมือนกัน
ซึ่ง 7P Marketing Mix เป็นแนวคิดที่ได้รับการต่อยอดมาจาก 4P Marketing Mix โดยการเพิ่มปัจจัยมาอีก 3 ข้อโดย 7P มีอะไรบ้างนั้น เราได้ทำการลิสต์ให้คุณเข้าใจเป็นข้อ ๆ ดังนี้
- Product คือ สินค้าและบริการของธุรกิจ
- Price คือ การตั้งราคาสินค้าหรือบริการของธุรกิจ
- Promotion คือ วิธีการส่งเสริมการขายของธุรกิจ
- Place คือ ช่องทางในการให้ขายและให้บริการ
- People คือ การจัดการเกี่ยวกับพนักงานหรือทรัพยากรด้านบุคคล
- Process คือ กระบวนการในการทำงาน
- Physical Evidence คือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่ลูกค้าที่มาใช้บริการต้องพบเจอ
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 4P (Marketing Mix) ได้ที่ 4P คืออะไร
7P (ส่วนผสมการตลาด) ประกอบด้วยอะไรบ้าง
7P (ส่วนผสมการตลาด) นั้นจะมีอยู่ 4 ปัจจัยที่เหมือนกับแนวคิด 4P นั่นก็คือ Product, Price, Place, Promotion และส่วนที่เพิ่มเข้ามาก็คือ People, Process และ Physical Evidence ซึ่งแต่ละอย่างนั้นมีรายละเอียดดังนี้
1.ผลิตภัณฑ์ (Product)
Product คือสินค้าและบริการของธุรกิจ เหมือนกับแนวคิด 4P ทุกประการแต่ถ้าพูดถึง 7P แล้ว Product นั้นจะไม่ได้โฟกัสแค่สินค้าและบริการแต่เพียงอย่างเดียวแต่จะรวมไปถึงลักษณะของสินค้าที่จะสามารถสื่อให้ลูกค้าเห็นถึงความเป็น Branding ของคุณ
ซึ่งนักการตลาดจำเป็นต้องหา Insight และทำการสร้าง Customer Persona ก่อนว่าลักษณะของลูกค้าที่ธุรกิจต้องการคือใคร มีความชอบแบบไหน พฤติกรรมเป็นอย่างไร หรือลองศึกษาดูจาก Feedback ของลูกค้าที่เคยใช้งานสินค้าและบริการของธุรกิจคุณมาก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้สินค้าและบริการของคุณเป็นที่ต้องการในมุมมองของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
การวางแผน Product เพื่อพัฒนากลยุทธ์ Digital Marketing ของแบรนด์นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักสำคัญ 4 ปัจจัยได้แก่
- Core Product – คุณค่าหลัก/คุณค่าพื้นฐานที่ผู้ซื้อจะได้รับคืออะไร
- Product Attribute – จุดเด่นของผลิตภัณฑ์นั้นมาจากอะไร มีคุณสมบัติอย่างไร ลักษณะทางกายภาพ ขนาด จุดเด่น ความงาม ความคงทน ฯลฯ
- Product Feature – ฟีเจอร์ของผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมีอะไรบ้าง
- Product Benefit – ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ของคุณที่ผู้บริโภคจะได้รับคืออะไร
2. ราคา (Price)
Price หรือราคาคือนโยบายด้านราคาของแต่ละธุรกิจเพื่อนำมาเป็นรูปแบบในการตั้งราคาของสินค้าและบริการที่จะกระจายออกไปจำหน่ายในตลาด ซึ่งการตั้งราคานั้นมีความสำคัญต่อการโน้มน้าวใจของผู้บริโภคให้เห็นถึงสินค้าและบริการของธุรกิจคุณมากขึ้นเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
ดังนั้นหากธุรกิจตั้งราคาสินค้าหรือบริการไว้สูงแต่คุณภาพของสินค้าและบริการที่ดีเยี่ยมมีความเหมาะสมกับราคาที่ตั้งเอาไว้ลูกค้าก็จะเต็มใจจ่าย แต่ถ้าสินค้าและบริการดูไม่ค่อยมีคุณภาพแต่คุณกลับตั้งราคาให้สูงเพื่อหวังเอาแต่ผลกำไรอย่างเดียวฝั่งลูกค้าเองก็อาจไม่เต็มใจในการจ่ายหรืออาจเปลี่ยนไปซื้อสินค้าและบริการจากฝั่งคู่แข่งของคุณแทน
โดยเราขอแนะนำกลยุทธ์ในการตั้งราคาให้สินค้าและบริการที่เหมาะสม เพื่อให้คุณสามารถนำเอากลยุทธ์เหล่านี้ไปปรับใช้กับธุรกิจของคุณต่อไปได้
- การตั้งราคาตามแนวภูมิศาสตร์ (Geographical Pricing) – เป็นการกำหนดราคาโดยการพิจารณาถึงต้นทุนด้านการขนส่งไปยังตลาดตามภูมิภาคต่าง ๆ
- การตั้งราคาให้แตกต่างกัน (Discrimination Pricing) – เป็นการตั้งราคาให้แตกต่างกันตามลักษณะของลูกค้าหรือความต้องการซื้อของลูกค้า
- กลยุทธ์การตั้งราคาตามหลักจิตวิทยา (Psychological Pricing) – เป็นการตั้งราคาที่คำนึงถึงความรู้สึกทางจิตวิทยาของผู้ซื้อ เช่น ตั้งลงท้ายด้วยเลขคี่ เลขคู่ ลงท้ายด้วยเลข 9 เป็นต้น
- การตั้งราคาสำหรับสินค้าใหม่ (New Product Pricing) – เป็นการตั้งราคาสินค้าใหม่ให้ถูกกว่าปกติเพื่อให้ผู้บริโภคเปิดใจและทดลองใช้สินค้าของคุณ
- การตั้งราคาส่วนประสมผลิตภัณฑ์ (Product Mix Pricing) – เป็นการตั้งราคาที่ผู้ผลิตมีสินค้าหลายชนิด ซึ่งจะต้องคำนึงให้มีกำไรรวมสูงสุด
- การตั้งราคาเพื่อส่งเสริมการตลาด (Promotion Pricing) – เป็นการตั้งราคาเพื่อการทำโปรโมชัน เช่นลดราคาพิเศษ ลดราคาตามเทศกาลสำคัญ
- นโยบายการให้ส่วนลดและส่วนยอมให้ (Discount And Allowances) – เป็นการลดราคาสินค้าและบริการลงเพื่อให้ลูกค้าหันมาซื้อสินค้าของคุณ
- นโยบายระดับราคา (The Level of Price Policy) – เป็นการตั้งราคาโดยการประเมินจากระดับราคาของสินค้าและบริการที่เหมือนกันในตลาดโดยจะตั้งให้ถูกลง สูงกว่า ก็ได้
- นโยบายราคาเดียวกับนโยบายหลายราคา (One Price Policy and Variable Price Policy) – เป็นการตั้งราคาสินค้าบางชนิดไว้แล้วเพียงราคาเดียว แต่การขายให้กับลูกค้าแต่ละรายได้ด้วยราคาไม่เท่ากันขึ้นกับความสามารถของผู้ซื้อในการต่อรองราคา
- นโยบายแนวระดับราคา (Price Lining Policy) – เป็นนโยบายในการผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน แต่มีระดับคุณภาพแตกต่างกัน ขายให้กับผู้ซื้อโดยตั้งราคาระดับต่าง ๆ
3. ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place)
Place คือสถานที่ที่คุณจะทำการขายสินค้าและบริการของคุณเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งในปัจจุบันนั้นช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นก็ไม่ได้มีเพียงแต่ช่องทาง Offline อย่างเดียวแต่ยังมีช่องทาง Online ต่าง ๆ เพิ่มเข้ามาเช่น เว็บไซต์, แอปพลิเคชัน, ยิงแอด Social Media หรือ Omni Channel เป็นต้น
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ omni channel ได้ที่ omni channel คือ
ซึ่งความสำคัญของช่องทางการจัดจำหน่าย (Place) ถือเป็นตัวกลางที่จะทำให้ธุรกิจของคุณได้ยอดขายและกำไรจากการทำธุรกิจดังนั้นจึงต้องหันมาสนใจเรื่องของช่องทางจัดจำหน่ายไม่แพ้ปัจจัยอื่น ๆ ของ 7Ps Marketing Mix เลย
เช่น คุณอาจจะมีหน้าร้านขายของเป็นของตัวเองแต่ก็ได้เพิ่มช่องทางเว็บไซต์ธุรกิจของตัวเอง พร้อมกับหน้า Shopping Site ที่ลูกค้าสามารถหยิบสินค้าตัวไหนก็ได้ลงตะกร้าพร้อมจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที
ซึ่งตรงนี้ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าธุรกิจของคุณนั้น เป็นธุรกิจแบบ B2C (Business To Customer ธุรกิจที่ขายสินค้าและบริการให้กับลูกค้า) หรือ B2B (Business To Business ธุรกิจที่ขายสินค้าและบริการให้กับธุรกิจด้วยกัน) เพราะจะได้ช่วยให้คุณสามารถออกแบบช่องทางในการจัดจำหน่ายได้อย่างเหมาะสมที่สุด
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยิงแอด tiktok ได้ที่ ยิงแอด tiktok
4. การส่งเสริมการตลาด (Promotion)
Promotion คือวิธีการที่ธุรกิจใช้สื่อสารกับลูกค้าหรือธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของคุณ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่บริษัทต้องวางกลยุทธ์ตามปัจจัยในเรื่องของ STP – Segmentation, Targeting & Positioning ของธุรกิจของคุณนั้นเอง
โดยที่ปัจจัยตัวนี้จะส่งผลกับธุรกิจมากหรือน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจช่องทางที่จะทำการตลาดให้สินค้าและบริการของคุณ เพราะอย่างที่กล่าวไปในข้อที่แล้วว่าแต่ละช่องทางในการขายนั้นลักษณะและพฤติกรรมของผู้บริโภคจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งคุณจะต้องรู้จัก Communication Tools ที่จะช่วยทำให้การส่งเสริมการตลาดผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ ของธุรกิจคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเราจะยกตัวอย่างเป็นกลยุทธ์ต่าง ๆ ดังนี้
- กลยุทธ์ทางการตลาดแบบดิจิทัล (Digital Marketing)
- กลยุทธ์การตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย (Social Media Marketing)
- กลยุทธ์การตลาดผ่าน Search Engine (SEO Marketing)
- กลยุทธ์การยิงแอด (Facebook Ads)
- กลยุทธ์การตลาดผ่านอีเมล (Email Marketing)
- กลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM)
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยิงแอด line (Line Ads platform) ได้ที่ ยิงแอด line
5. การจัดการคนหรือพนักงาน (People)
People คือปัจจัยในเรื่องของการจัดการคนหรือพนักงานของบริษัท เพื่อทำให้พนักงานของธุรกิจคุณสามารถสื่อสารหรือปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในขณะระหว่างการซื้อขายหรือบริการก่อนและหลังการขายกับลูกค้า ซึ่งเป็นอีกส่วนที่จะสามารถช่วยโน้มน้าวใจเพิ่ม User Experience ให้ลูกค้าหันมาซื้อสินค้าและบริการของธุรกิจคุณได้ดีอีกวิธีหนึ่ง
ซึ่งในการทำ Digital Marketing นั้นการมีส่วนร่วมหรือความช่วยเหลือของพนักงานส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นการตอบอีเมลหรือตอบข้อความบนเว็บไซต์หรือการเลือกใช้ Chatbot ในการช่วยตอบข้อความแบบอัตโนมัติก็ได้เช่นกัน
โดยที่บอกว่าเรื่องคนสำคัญกับการทำธุรกิจเพราะว่าถึงแม้เวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร มีเทคโนโลยีเข้ามาแค่ไหน พฤติกรรมของผู้บริโภคก็มักต้องการการสื่อสารกับ ‘มนุษย์’ ด้วยกันอยู่ดี ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นหลาย ๆ บริษัทอาจจะมีทำหน้า FAQ (หน้าตอบคำถามที่พบบ่อยของธุรกิจ) ไว้ แต่อย่าลืมว่าลูกค้าแต่ละคนย่อมมีความแตกต่าง ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบเหล่านั้นอาจจะไม่เพียงพอสำหรับพวกเขาก็ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อ User Experience ของลูกค้าอย่างแน่นอน
ดังนั้นบริษัทในยุค Digital ควรคำนึงถึงความสำคัญของฝ่าย Human Resource และฝ่ายบริการ Support ลูกค้าให้มากขึ้น โดยมีจุดที่คุณต้องให้ความสำคัญเรื่องของการจัดการคนและพนักงานที่เราอยากแนะนำดังนี้
- การคัดเลือกพนักงาน – มีการสัมภาษณ์และทำแบบทดสอบที่ต้องทำให้คุณมั่นใจว่าพนักงานคนนี้จะสามารถเข้ามาสร้างประโยชน์ให้บริษัทได้จริง
- การอบรมพนักงาน – มีการจัดอบรมให้แก่พนักงานเพื่อเป็นการสอนให้พนักงานได้รู้จักทักษะในการบริการ, การต่อรองต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการขายสินค้าและบริการของธุรกิจคุณ
- การจัดการ Complain ลูกค้า – ต้องมี Process ในการรับฟัง Feedback ของลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการของพนักงาน
- การรับมือกับจำนวนลูกค้า – ควรมีแผนในการรับมือกับจำนวนของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นเมื่อธุรกิจของคุณได้รับความนิยมเพื่อให้ลูกค้าทุกคนได้รับการบริการที่เท่าเทียมกันทั้งหมด
6. กระบวนการ (Process)
Process คือวิธีการหรือกระบวนการที่ธุรกิจเลือกใช้ในการทำงานเพื่อเข้าถึงและประยุกต์ใช้ทางการตลาดให้กับธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้า การโปรโมทแบรนด์ หรือแม้แต่การเข้าถึงลูกค้าโดยการใช้ Customer Service ใด ๆ ก็ตาม
โดยการออกแบบ Process หรือกระบวนการที่ดีนั้นจะช่วยให้คุณสามารถเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น และสร้าง Customer Experience ได้ดียิ่งขึ้นเพราะคุณสามารถรู้ Customer Journey ของลูกค้าได้ตั้งแต่แรกว่าในแต่ละขั้นตอนลูกค้ามีความต้องการอะไรบ้างและยังช่วยในการปิดช่องโหว่ที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกหรือประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อธุรกิจของคุณ
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นเว็บไซต์ขายสินค้าแบบ E-Commerce ก็ควรต้องรู้ว่าหลังจากลูกค้ากดซื้อสินค้าในหน้าเว็บไซต์แล้ว หน้าต่อไปที่จะให้ลูกค้าเห็นควรต้องเป็นเว็บไซต์อะไร (เช่นหน้า Thank You หรือเป็นหน้า Landing Page ใหม่ขึ้นมาเลย) เป็นต้น ดังนั้นการให้ความสำคัญในเรื่อง Website Design หรือ UI/UX ของเว็บไซต์จึงเป็นเรื่องจำเป็นบวกกับความเร็วและคุณภาพของ Customer Service ของธุรกิจคุณก็ล้วนเป็นกระบวนการที่จะทำให้ลูกค้าเกิดประสบการณ์ที่ดีต่อธุรกิจของคุณเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น
7. สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Evidence)
Physical Evidence คือการสร้างประสบการณ์ที่จับต้องได้ที่ลูกค้าได้รับจากธุรกิจของคุณหรือแม้แต่สินค้าและบริการของคุณด้วยเช่นกันซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดภาพลักษณ์ของแบรนด์และสร้าง Customer Experience ให้ลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าหรือบริการของคุณไปแล้วกลับมาใช้บริการใหม่อีก หรือเป็นการสร้างความรู้สึกให้ลูกค้าเห็นว่าแม้สินค้าของคุณจะมีราคาค่อนข้างสูงแต่ก็รู้สึกคุ้มค่าในการซื้อ
แต่ในฝั่งของ Digital Marketing การสร้างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Evidence) ก็คือการที่แบรนด์ใส่ใจกับการสร้างเว็บไซต์ที่มีดีไซน์สวยงาม ใช้งานง่าย โหลดได้อย่างรวดเร็ว มีฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่เหมาะกับความต้องการของลูกค้า (Website Development & Website Design) รวมถึงการที่มี Customer Support เช่นหน้า FAQ, เบอร์โทรศัพท์, อีเมล Chatbot ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถถามข้อมูลที่สงสัยได้ตลอด 24 ชม. ก็เป็นหนึ่งในการสร้าง Customer Experience ที่ดีนั่นเอง
ทำไมธุรกิจควรทำความรู้จักกับ 7P
- ช่วยให้ธุรกิจรู้จักและเข้าใจสินค้าและบริการของตัวเองมากกว่าแนวคิด 4Ps
- ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างยอดขายและกำไรจากการขายสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ช่วยให้ธุรกิจรู้จักความต้องการของกลุ่มลูกค้าของตัวเองมากขึ้น
- ช่วยให้ธุรกิจได้วางแผนกลยุทธ์การตลาดได้ดีขึ้น
- ช่วยให้ธุรกิจได้ตัดสินใจการทำงานในแต่ละแคมเปญได้ดี
- ผนวกรวมกับกลยุทธ์การตลาดอื่น ๆ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจได้ เช่น 4Ps, SWOT, Five Forces, เป็นต้น
- ช่วยให้ธุรกิจสร้างการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SWOT ได้ที่ SWOT คือ
ตัวอย่างการวิเคราะห์กลยุทธ์ 7P
เราลองมาดูตัวอย่างการวิเคราะห์กลยุทธ์ 7P กันบ้างว่าเมื่อจะต้องนำแนวคิดนี้ไปใช้งานจริงแล้ว จะต้องมีวิธีคิดอย่างไรถึงจะทำให้การวิเคราะห์กลยุทธ์นั้นถูกต้อง โดยเราจะยกตัวอย่างจากธุรกิจประเภทโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต
1. ตัวอย่างการวิเคราะห์กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ (Product)
คุณได้ทำการเปิดรีสอร์ต A เป็นรีสอร์ตเปิดใหม่ที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีคู่แข่งอยู่เยอะมากที่ละแวกใกล้เคียงกันโดยเริ่มแรกคุณอาจจะต้องทำการพัฒนารีสอร์ตของคุณให้มีศักยภาพที่เหนือกว่าคู่แข่งเช่น ทำมุมถ่ายรูปสวย ๆ, ออกแบบห้องพักให้สวยงาม มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ฯลฯ
และมีบริการที่ทำให้ลูกค้าที่มาพักต้องประทับใจ เช่น มีบริการรถรับส่งจากรีสอร์ตไปสนามบิน สามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้าพักได้ มีพนักงานดูแลความสะอาดในทุกจุดของรีสอร์ต ซึ่งคุณได้ทำการสำรวจมาแล้วว่าเป็นบริการที่คู่แข่งในละแวกใกล้เคียงของคุณไม่มี
2. ตัวอย่างการวิเคราะห์กลยุทธ์ราคา (Price)
ออกแบบราคาให้เหมาะสมกับที่พัก มีการจัดโปรโมชันห้องพักลดราคาในช่วงเทศกาลสวนทางกับรีสอร์ตอื่น ๆ ที่มักจะปรับราคาให้สูงในช่วงเทศกาล มีการเข้าร่วมแคมเปญกับบัตรเครดิตต่าง ๆ เป็นต้น
3. ตัวอย่างการวิเคราะห์กลยุทธ์ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place)
สร้างเว็บไซต์ที่สามารถจองห้องพักได้ทันทีในหน้าเว็บไซต์ สร้าง Social Media ต่าง ๆ เช่น LINE Official Account, Facebook Page และมีการเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจองห้องพักใน Online Platform เช่น Agoda, Booking.com, Traveloka เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถหาและรู้จักรีสอร์ตของคุณได้เยอะขึ้น
4. ตัวอย่างการวิเคราะห์กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด (Promotion)
มีการสร้าง Content ถ่ายรูปภาพและวิดีโอเพื่อลงโปรโมทในช่องทาง Social Media ของคุณเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นถึงบรรยากาศของรีสอร์ตของคุณก่อนการตัดสินใจเข้าพัก มีการจ้างให้ Influencer, Blogger มาช่วยรีวิวให้เห็นถึงการเข้าพักในรีสอร์ตของคุณผ่านทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Pantip หรือ Blog ส่วนตัวเพื่อช่วยในการทำ SEO ให้รีสอร์ตของคุณถูกค้นหาเจอได้ง่ายขึ้นผ่านการค้นหาบน Google ที่เป็น Search Engine
5. ตัวอย่างการวิเคราะห์การจัดการคนหรือพนักงาน (People)
มีการจัดคอร์สให้อบรมด้านการบริการสากลให้กับพนักงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับ พนักงานธุรการ พนักงานทำความสะอาด ฯลฯ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจในการบริการของพนักงานที่รีสอร์ตนี้ มีการสร้างกฎระเบียบให้พนักงานปฏิบัติเมื่อถึงเวลาปฏิบัติหน้าที่ หรือสร้างระบบให้ลูกค้าประเมินการให้บริการเพื่อนำ Feedback ต่าง ๆ มาทำการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการของรีสอร์ตต่อไป
6. ตัวอย่างการวิเคราะห์กระบวนการ (Process)
มีการออกแบบหน้าเว็บไซต์สำหรับการจองห้องพักให้ลูกค้าสามารถกรอกข้อมูลและจองห้องได้ในเวลารวดเร็ว ไม่ต้องกรอกข้อมูลเยอะ หน้าเว็บโหลดเร็ว มีภาพของห้องพักแต่ละราคาให้ลูกค้าได้ดูในหน้าของการจองเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ง่าย และเมื่อลูกค้ากดจองห้องแล้วก็มีระบบการชำระเงินที่หลากหลาย ดำเนินการรวดเร็ว รวมถึงการติดตั้ง Automation Tool สำหรับการส่งอีเมลเพื่อยืนยันการจองไปยังอีเมลของลูกค้าโดยอัตโนมัติ
7. ตัวอย่างการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Evidence)
ในหน้า Contact และ Footer ส่วนล่างของเว็บไซต์มีการให้ช่องทางติดต่อไว้อย่างชัดเจน เบอร์โทรศัพท์, อีเมล Chatbot ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถถามข้อมูลที่สงสัยได้ตลอด 24 ชม. หรือสามารถโทรศัพท์เข้ามาสอบถามการจองห้องพักกับทางรีสอร์ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไปจนถึงเรื่องการดูแลรีสอร์ตของคุณให้สะอาด สวยงาม ดูแลห้องพักแต่ละห้องให้น่าพัก ดูแลการแต่งกายและท่าทางการพูดของพนักงาน ออกแบบโลโก้แบรนด์ การตกแต่ง หรือกลิ่นภายในบริเวณ Lobby และห้องพักให้ลูกค้าเกิดความประทับใจมากที่สุด
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ 4P
4P กับ 7P ต่างกันอย่างไร
7P Marketing Mix นั้นอย่างที่เราบอกไปว่าจะมีการวิเคราะห์ปัจจัยเพิ่มเข้ามาอีก 3 ปัจจัยที่จะครอบคลุมไปยังปัจจัยในด้านกายภาพของธุรกิจด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน พนักงาน กระบวนการทำงานและการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อให้ลูกค้าประทับใจจนกลับมาใช้งานธุรกิจของเราอีกหลายรอบ (หรือเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน) แต่กลับกัน 4P ที่มีแค่ Product, Price, Promotion และ Place จะเน้นไปที่การพัฒนาตัวสินค้าทำสินค้าให้ขายได้ ทำอย่างไรให้ลูกค้าสนใจและซื้อเท่านั้น
สรุปเนื้อหา 7P
สำหรับธุรกิจที่นำเอากลยุทธ์การตลาด 7Ps Marketing Mix มาปรับใช้กับการพัฒนาสินค้าและบริการของตัวเองนั้นนอกจากจะช่วยให้สินค้าและบริการของธุรกิจคุณตอบโจทย์กับผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจได้สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้กับลูกค้าอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองจะช่วยทำให้ลูกค้าเก่าของคุณไม่หนีจากคุณไปไหนและเต็มใจที่กลับมาใช้งานสินค้าหรือบริการของธุรกิจคุณซ้ำไปเรื่อย ๆ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มว่าที่ลูกค้ารายใหม่เข้ามาหาธุรกิจคุณได้อีกมากมาย