SWOT Analysis

SWOT คืออะไร คุณเคยสงสัยในคำถามนี้หรือไม่ หากคุณกำลังสงสัยในคำถามนี้อยู่ในบทความนี้จะมาเฉลยความหมายพร้อมวิธีในการวิเคราะห์ให้ทุกท่านได้ทราบกัน

โดย SWOT นั้นคือแนวคิดการวิเคราะห์ธุรกิจที่ผู้ประกอบการ นักการตลาดหรือใครที่ทำธุรกิจไม่ว่าเล็ก กลาง ใหญ่ก็ควรต้องทำการวิเคราะห์ SWOT ก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อที่ใช้เป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์ธุรกิจ กลยุทธ์การตลาดและใช้ในการประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของคุณที่ครอบคลุมทั้งภายใน ภายนอกองค์กร

หากคุณอยากทราบแล้วว่า SWOT Analysis คืออะไร มีความสำคัญกับการทำธุรกิจมากแค่ไหนและมีตัวอย่างในการวิเคราะห์อย่างไรบ้าง ไปติดตามกันได้เลย บทความนี้จะช่วยไขข้อสงสัยให้คุณเอง

SWOT คืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง

SWOT Analysis คือแนวคิดในการวิเคราะห์ปัจจัย 4 อย่างของธุรกิจคือ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และ อุปสรรคผ่านการประเมินสภาพแวดล้อมภายใน, การประเมินสภาพแวดล้อมภายนอก โดยมีเป้าหมายให้ธุรกิจสามารถรับรู้ Position ของตัวเองและนำจุดแข็งไปปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันของตลาด แก้ไขจุดอ่อนที่มีอยู่และลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลเสียต่อธุรกิจเพื่อช่วยให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น ถือเป็นแนวคิดสำคัญของการทำการตลาดดิจิทัล

ซึ่ง SWOT Analysis จะประกอบด้วยปัจจัย 4 อย่างดังนี้

SWOT คือ

จุดแข็ง (Strengths)

จุดแข็ง (Strength) คือข้อได้เปรียบหรือความสามารถในการสร้างสินค้าหรือบริการที่ลูกค้าชอบซึ่งควรต้องเป็นสิ่งที่โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นบริษัทรับสกรีนเสื้อยืด จุดแข็งของคุณคือ ความสามารถในการสกรีน มีเครื่องมือที่ทันสมัยให้ลูกค้าได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพในเวลารวดเร็วและมีระบบจัดส่งที่สามารถจัดส่งสินค้าได้ทั่วประเทศโดยไม่ผ่านบริษัทขนส่งเอกชน เป็นต้น

จุดอ่อน (Weaknesses)

จุดอ่อน (Weakness) คือจุดที่ทรัพยากรขององค์กรยังขาดแคลนอยู่หรือความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ธุรกิจของคู่แข่งทำได้ดีกว่า เช่นจำนวนพนักงาน ระบบโลจิสติกส์ ปริมาณการผลิต ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นบริษัทรับสกรีนเสื้อยืด จุดอ่อนของคุณคือยังไม่สามารถดีลงานกับโรงงานผลิตเสื้อยืดจากต่างประเทศได้โดยตรง ต้องผ่านคนกลางในประเทศจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำเข้าก่อน เป็นต้น

โอกาส (Opportunities)

โอกาส (Opportunity) คือสิ่งที่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลดีต่อองค์กร ตัวอย่างเช่น นโยบายลดภาษีนำเข้า นโยบายการจัดหางาน การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าของธุรกิจคุณเพิ่มขึ้นจากกระแสต่าง ๆ เป็นต้น

อุปสรรค (Threats)

อุปสรรค (Threat) คือสิ่งที่สถานการณ์หรือภาวะที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลเสียต่อการทำธุรกิจ ตัวอย่างเช่น สถานการณ์ Covid-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคทำให้การซื้อน้อยลง หรือ มาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถออกจากบ้านไปซื้อสินค้าที่หน้าร้านได้ เป็นต้น ซึ่งอุปสรรคจะต้องเป็นสิ่งที่ตัวคุณหรือธุรกิจไม่สามารถควบคุมได้แตกต่างจาก จุดอ่อน ที่เป็นสิ่งที่ธุรกิจหรือตัวคุณสามารถควบคุมและปรับปรุงให้ดีขึ้นได้

ทำไมธุรกิจควรมีการวิเคราะห์ SWOT 

SWOT คือแนวคิดสำคัญในการสร้างธุรกิจให้เติบโตในอนาคตได้อย่างมีระบบแบบแผน เพราะการที่จะเติบโตได้นั้นนอกจากที่คุณจะต้องรู้จักสภาพแวดล้อมและสถานการณ์โดยรอบแล้ว การรู้จักธุรกิจตัวเองให้ดีนั้นถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กันซึ่งการทำ SWOT Analysis คือการที่คุณได้หันมาทบทวนธุรกิจของคุณอีกครั้ง เพื่อแก้ไขปัจจัยที่ควบคุมได้พร้อมรับมือกับทั้งโอกาสและหลีกเลี่ยงอุปสรรคที่จะต้องเจอ นอกจากนั้นประโยชน์ของการที่ธุรกิจเริ่มวิเคราะห์ SWOT นั้นมีส่วนอื่น ๆ ด้วยดังนี้

  • ได้ทบทวนและทำความเข้าใจกับธุรกิจของคุณอีกครั้ง 
  • ใช้โอกาสจากจุดแข็งของตัวเองในการพัฒนาธุรกิจ 
  • จำแนกจุดอ่อนและหาทางกำจัดหรือป้องกันได้ 
  • ลงทุนในโอกาสเพื่อสร้างประโยชน์ต่อธุรกิจ
  • เป็นแนวคิดที่ดีในการพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ
  • เป็นส่วนช่วยให้ธุรกิจได้เห็นภาพ Customer Journey ของลูกค้า

ข้อจำกัดของ SWOT Analysis 

สำหรับการดำเนินธุรกิจนั้น SWOT อาจไม่ใช่แนวคิดที่สามารถวิเคราะห์ภาพรวมได้ทุกอย่างเสมอไป แต่จะเหมาะสำหรับจุดเริ่มต้นของการสร้างธุรกิจหรือใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น แต่การวิเคราะห์ SWOT จะไม่สามารถจำแนกข้อมูลหรือปัจจัยเชิงลึกได้ซึ่ง SWOT Analysis นั้นยังมีข้อจำกัดในเรื่องอื่นอยู่ด้วยดังนี้

  • ปัญหาที่สำคัญก่อนหลังจะไม่ได้ถูกจัดลำดับ 
  • ไม่ได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาหรือแนวทางในการช่วยขจัดปัญหาแต่อย่างใด
  • อาจจะช่วยให้คุณมีไอเดียเยอะขึ้น แต่ไม่สามารถจำแนกสิ่งที่สำคัญที่สุดได้
  • ให้ข้อมูลเยอะ แต่อาจจะเป็นแค่ในเชิงปริมาณไม่ใช่ข้อมูลเชิงคุณภาพ
  • ได้ข้อมูลในภาพรวมมาแต่ก็เป็นปัจจัยที่คุณควบคุมไม่ได้อยู่ดี

แต่อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ SWOT นั้นก็ยังจำเป็นและสำคัญต่อการสร้างธุรกิจในช่วงเริ่มต้นอยู่ดีเพราะฉะนั้นหากธุรกิจของคุณกำลังอยู่ใน Stage ดังกล่าวการวิเคราะห์ SWOT ก็เป็นสิ่งที่คุณควรต้องทำเป็นอันดับแรก ๆ หากต้องการเริ่มก้าวเดินอย่างสวยงามและแข็งแรง

ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT Analysis 

ในส่วนนี้เราจะขอยก SWOT Analysis ตัวอย่างในการวิเคราะห์มาให้ทุกคนได้เห็นภาพตามกันว่าหากคุณต้องการที่จะเริ่มวิเคราะห์ SWOT นั้นจะต้องมีขั้นตอนในการตั้งคำถามหรือขั้นตอนในการวิเคราะห์อย่างไร ซึ่งการวิเคราะห์ SWOT ประกอบด้วยปัจจัยดังนี้

การวิเคราะห์จุดแข็ง (Strengths)

  • วิธีการใดที่สามารถทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ?
  • อะไรบ้างที่เป็นข้อได้เปรียบที่องค์กรหรือธุรกิจของคุณมี ? เช่น ความรู้และความเชี่ยวชาญของทีม ชื่อเสียง ประสบการณ์ คอนเนคชั่นของธุรกิจ
  • อะไรบ้างที่จะสามารถช่วยให้องค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อุปกรณ์ในการผลิตที่ทันสมัย เครื่องจักร เทคโนโลยี หรืองบประมาณ
  • ข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่มีมากกว่าคู่แข่งของคุณมีอะไรบ้าง ? 

การวิเคราะห์จุดอ่อน (Weakness)

  • มีธุรกิจคู่แข่งที่น่ากลัวและแข็งแกร่งกว่าหรือไม่ ?
  • ลักษณะการทำงาน กระบวนการทางธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดข้อบกพร่องในการทำงาน มีอะไรบ้าง ? 
  • มีช่องว่างในทีม หรือขาดบุคลากรในตำแหน่งที่สำคัญตำแหน่งใดอยู่ ?
  • สิ่งที่ธุรกิจของคุณยังเสียเปรียบหรือยังทำได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับคู่แข่ง มีอะไรบ้าง ?
  • ข้อจำกัดด้านธุรกิจอื่น ๆ เช่นเทคโนโลยี ระบบโครงสร้างองค์กร การนำเข้า-ส่งออกที่ยังเป็นปัญหา ฯลฯ

การวิเคราะห์โอกาส (Opportunities)

  • ตลาดที่คุณกำลังอยู่มีโอกาสเติบโตและมีแนวโน้มให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการซื้อขายมากขึ้นหรือไม่ ?
  • โอกาสในการเปลี่ยนแปลงภายนอกใดบ้างที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ เช่น กฎหมาย เศรษฐกิจ เทคโนโลยี มาตรการของภาครัฐ เป็นต้น 
  • กลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้า มีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดบ้าง ?
  • อะไรบ้างที่มีในสังคมที่คุณสามารถนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้ ?

การวิเคราะห์อุปสรรค (Threats)

  • คู่แข่งรายใหม่ที่จะเข้ามาสู่ตลาดในอนาคตมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน ?
  • การพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตจะเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจของคุณในอนาคตได้หรือไม่ ?
  • มีแนวโน้มของตลาดหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะทำให้คุณได้รับความเสียหายทางธุรกิจในอนาคตหรือไม่ ?
  • พฤติกรรมของผู้บริโภคมีแนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ลบต่อธุรกิจของคุณหรือไม่ ?
  • การเกิดภัยพิบัติที่คาดไม่ถึงเช่น โรคระบาด ภาวะสงคราม ภัยธรรมชาติ ฯลฯ

ขั้นตอนการวิเคราะห์ SWOT

ถึงหัวข้อนี้เรามาดูวิธีในการวิเคราะห์ SWOT ที่ถูกต้องกันว่าจะมีทั้งหมดกี่ขั้นตอนและสิ่งที่คุณและธุรกิจควรทำในแต่ละขั้นตอนนั้นมีอะไรบ้าง 

1. กำหนดเป้าหมายในการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน 

อันดับแรกคือคุณต้องทำการกำหนดเป้าหมายในการวิเคราะห์ข้อมูลของธุรกิจก่อนว่าเป้าหมายที่คุณกำลังต้องการที่จะวิเคราะห์นั้นคืออะไร เพื่ออะไร เพื่อที่จะสามารถวิเคราะห์ SWOT ในแต่ละปัจจัยได้อย่างชัดเจนและเริ่มทำการวิเคราะห์จากจุดแข็งจุดอ่อนก่อนเสมอเพราะเป็นปัจจัยภายในของธุรกิจซึ่งคุณจะต้องเห็นภาพอย่างชัดเจนและรู้คำตอบอยู่แล้ว

2. รวบรวมทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง 

การวิเคราะห์ SWOT แต่ละครั้งจะมีความแตกต่างกันไปและธุรกิจของคุณอาจต้องการชุดข้อมูลที่แตกต่างกันเพื่อรองรับการวิเคราะห์ SWOT ในเป้าหมายที่คุณได้กำหนดไว้อย่างแตกต่างกันด้วย ซึ่งธุรกิจควรเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจก่อนว่าสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือทรัพยากรใดได้บ้าง มีข้อจำกัดด้านข้อมูลใดบ้าง และแหล่งข้อมูลภายนอกมีความน่าเชื่อถือเพียงใด เป็นต้น

3. ตั้งคำถามพร้อมจัดหมวดหมู่ในตาราง SWOT Analysis 

ในการจะเริ่มตั้งคำถาม (ซึ่งเราได้อธิบายไปแล้วในหัวด้านบน) นั้นเราต้องทำการจัดหมวดหมู่ของคำถามแบ่งเป็น 4 ปัจจัยตามกลยุทธ์ของ SWOT ซึ่งวิธีการที่จะทำให้คุณสามารถตั้งคำถามพร้อมจัดหมวดหมู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือการแบ่งปัจจัยในการตั้งคำถามเป็น 2 แบบคือปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ซึ่งทั้ง 2 แบบจะมีการตั้งคำถามดังนี้

  • การประเมินสภาพแวดล้อมภายใน (Internal Factors) – คือการประเมินสภาพแวดล้อมภายในธุรกิจของคุณเองซึ่งเป็นสิ่งที่คุณสามารถควบคุม ดูแล และปรับปรุงได้ เช่น งบประมาณ เทคโนโลยี เครื่องจักรในการผลิต ฯลฯ

ตัวอย่างคำถาม : 

จุดแข็ง – อะไรบ้างที่เป็นข้อได้เปรียบมีในองค์กรหรือธุรกิจของคุณ ? 

จุดอ่อน – ลักษณะการทำงาน กระบวนการทางธุรกิจที่อาจทำให้เกิดข้อบกพร่องในการทำงาน มีอะไรบ้าง ? 

  • การประเมินสภาพแวดล้อมภายนอก (External Factors) –  คือการประเมินสภาพแวดล้อมภายนอกที่คุณไม่สามารถควบคุมได้หรือเป็นสิ่งที่คุณไม่สามารถคาดเดาได้เลย เช่น สภาพเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค เทรนด์ของสังคม ฯลฯ

ตัวอย่างคำถาม : 

โอกาส – โอกาสในการเปลี่ยนแปลงภายนอกใดบ้างที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ ? 

อุปสรรค – พฤติกรรมของผู้บริโภคมีแนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ลบต่อธุรกิจของคุณหรือไม่ ?

4. วิเคราะห์ SWOT 

หลังจากที่ได้ตั้งคำถามในข้อที่แล้วเสร็จขั้นตอนต่อมาก็คือการวิเคราะห์ SWOT หรือการใส่สิ่งที่คุณวิเคราะห์ลงไปให้ครบทั้ง 4 ปัจจัยซึ่งต้องมีความสัมพันธ์กับการตั้งเป้าหมายของคุณในข้อแรกด้วยและต้องสำรวจข้อมูลให้ครบถ้วนทุกมุมของธุรกิจก่อนแล้วจึงค่อยใส่คำตอบจากการวิเคราะห์ลงไปในแต่ละปัจจัยอย่างละเอียด

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :  Data Analytic คืออะไร ?

5. ปรับปรุงและพัฒนากลยุทธ์

จากนั้นเมื่อคุณได้ใส่สิ่งที่คุณวิเคราะห์ลงไปครบทั้ง 4 ปัจจัยแล้วคุณจะเห็นถึงสิ่งที่ยังบกพร่องไปสำหรับธุรกิจคุณซึ่งทั้งตัวคุณและทีมก็ต้องเริ่มหาแพลนในการปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้นให้ได้ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทีมเพราะอย่างที่เราได้บอกไปว่าการวิเคราะห์ SWOT นั้นจะทำให้คุณได้เห็นภาพรวมของธุรกิจก็จริงแต่ก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหามาให้คุณดังนั้นจึงต้องใช้ความรู้ด้าน Digital Marketing และ Social Media Marketing แขนงต่าง ๆ มาปรับปรุงและพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจของคุณต่อไป

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :  4P คืออะไร ? 

กรณีศึกษา TOWS Matrix 

หากพูดถึง SWOT Analysis แล้วอีกแนวคิดหนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือการวิเคราะห์ TOWS Matrix กรณีศึกษาที่เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ต่อยอดมาจาก SWOT ที่จะทำให้คุณได้เห็นภาพรวมของการทำธุรกิจมากขึ้น 

TOWS Matrix คือเครื่องมือวิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจที่นำข้อมูลจากการทำ SWOT Analysis มาต่อยอดโดยใช้ปัจจัยที่เป็นจุดแข็งภายในและภายนอกเพื่อใช้ในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่สามารถปฏิบัติตามได้ ส่วนประกอบของ TOWS มีดังนี้ (T) Threats, (O) Opportunities, (W) Weaknesses, (S) Strengths

TOWS Matrix

โดยการวิเคราะห์ TOWS Matrix จะสามารถแบ่งออกเป็นกลยุทธ์ได้ทั้งหมด 4 รูปแบบ โดยจะเป็นการประกอบจุดแข็งและจุดอ่อนให้เข้ากับโอกาสและอุปสรรค

1. กลยุทธ์เชิงรุก (SO)

เป็นการจับคู่ระหว่าง Strength และ Opportunity (ใช้จุดแข็งร่วมกับโอกาส) มีความสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของธุรกิจ เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ที่เน้นสร้างผลลัพธ์ที่ให้ประโยชน์สูงสุด ผ่านการวิเคราะห์จุดแข็งของธุรกิจร่วมกับโอกาสที่เกิดขึ้น

2. กลยุทธ์เชิงแก้ไข (WO)

เป็นการจับคู่ระหว่าง Weakness และ Opportunity (ใช้โอกาสลดจุดอ่อน) การใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีเพื่อลดจุดอ่อนในองค์กร เช่น หากธุรกิจไม่ได้เป็นผู้ครองตลาดในด้านใด ๆ แต่เห็นโอกาสในการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจที่แข็งแกร่งเพื่อร่วมกันทำให้อะไรบางอย่างที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายไปด้วยกันทั้งคู่

3. กลยุทธ์เชิงป้องกัน (ST)

เป็นการจับคู่ระหว่าง Strength และ Threat (ใช้จุดแข็งรับมืออุปสรรค) คือ การใช้ประโยชน์จากจุดแข็งภายในทั้งหมดเพื่อเอาชนะอุปสรรค ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและสร้างการเติบโตได้ดีกว่าที่เราคาดคิดไว้

4. กลยุทธ์เชิงรับ (WT)

เป็นการจับคู่ระหว่าง Weakness และ Threat (แก้ไขจุดอ่อนและเลี่ยงอุปสรรค) เป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นต้องลดจุดอ่อน เพื่อเอาชนะหรือหลีกเลี่ยงภัยคุกคามหรืออุปสรรคภายนอกที่กระทบต่อธุรกิจ ด้วยการพยายามแก้ปัญหาหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาเกิดเพิ่มขึ้น

การวิเคราะห์ TOWS แตกต่างจาก SWOT อย่างไร 

“ไม่ได้แตกต่างกันแต่เป็นการทำงานร่วมกัน” เพราะการทำงานของ TOWS Matrix จะต่อเนื่องมาจากการทำงานของ SWOT ซึ่ง SWOT นั้นมีหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์ภายในและภายนอกขององค์กรในการทำธุรกิจต่าง ๆ และเรียบเรียงข้อมูลเหล่านั้นเพื่อให้เห็นภาพรวมที่เป็นอยู่แล้วก็จบลงแต่ TOWS Matrix ก็คือหลักการที่นำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อสร้างกลยุทธ์และนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคตนั่นเอง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ SWOT Analysis

การวิเคราะห์ SWOT เป็นหน้าที่ของใคร?  

การวิเคราะห์ SWOT คือหน้าที่ของทีมทุกคนในธุรกิจคุณในการร่วมกันกำหนดจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคที่แต่ละคนมองเห็นโดยนำ “ความเห็นของลูกค้า” มาวิเคราะห์ด้วยเสมอซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้คุณได้ไอเดียที่หลากหลายในการทำไปพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ เพราะถ้าเป็นมุมมองจากคนคนเดียว ภาพที่ได้ก็จะเป็นภาพรวมในสายตาของคนคนเดียวด้วยเช่นกัน ดังนั้นคำถามนี้เลยตอบได้ชัดเจนเลยว่า การวิเคราะห์ SWOT เป็นหน้าที่ของทีมทุกคนในองค์กรของคุณ 

สรุปเนื้อหา “SWOT คือ”

การวิเคราะห์ SWOT นั้นเปรียบเหมือนการช่วยให้ธุรกิจได้วิเคราะห์สภาพแวดล้อมและประเมินสถานการณ์สำหรับการประกอบธุรกิจ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจและตัวคุณเองได้รู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนจากสภาพแวดล้อมภายใน มองเห็นโอกาสและอุปสรรคจากสภาพแวดล้อมภายนอกไปจนถึงกระทบต่อการประกอบธุรกิจทุกประเภทถือเป็นแนวคิดที่ผู้ที่ทำการตลาด Digital Marketing จะละเลยไม่ได้เด็ดขาดในช่วงเริ่มต้นของการสร้างธุรกิจให้เติบโต

 

 

อ้างอิงข้อมูล

WILL KENTON, SWOT Analysis: How To With Table and Example, August 10, 2022 https://www.investopedia.com/terms/s/swot.asp 

Skye Schooley, SWOT Analysis: How To With Table and Example,  August 06, 2022 https://www.businessnewsdaily.com/4245-swot-analysis.html 

Dan Shewan, How to Do a SWOT Analysis,  February 25, 2022 https://www.wordstream.com/blog/ws/2017/12/20/swot-analysis 

รวมวิธีเช็กเวลาโพสต์ YouTube ที่ดีที่สุดสำหรับช่องของคุณ
YouTube
รวมวิธีเช็กเวลาโพสต์ YouTube ที่ดีที่สุดสำหรับช่องของคุณ

ครีเอเตอร์มือโปรต้องไม่พลาด! Digital Tips รวบรวมวิธีเช็กเวลาโพสต์ YouTube ที่ดีที่สุดสำหรับช่องของคุณมาให้แล้ว โดยอ้างอิงจากสถิติผู้ชมในช่องของคุณเอง มีความแม่นยำสูง และสามารถช่วยเพิ่มยอดวิว YouTube ได้จริง หากคุณคือครีเอเตอร์ที่กำลังมองหาทริคดี…

5 ตัวอย่าง Call to action ระดับเทพ สำหรับปรับใช้ใน Social Media
Marketing
5 ตัวอย่าง Call to action ระดับเทพ สำหรับปรับใช้ใน Social Media

ท่ามกลางโพสต์นับร้อยนับพันบนหน้าฟีด Social Media หากคุณต้องการจะดึงดูดลูกค้าให้หยุดสายตาไว้ที่โพสต์ของคุณ การใช้ Call to action คือทางเลือกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะกับโพสต์ที่ยิงแอด ซึ่งคนส่วนมากมักจะเลื่อนผ่าน และในบทความนี้…

How to แทร็กข้อมูล Offline Conversion บน Google Ads ใน 4 ขั้นตอน
Google
How to แทร็กข้อมูล Offline Conversion บน Google Ads ใน 4 ขั้นตอน

เป็นที่ทราบกันดีว่า เราสามารถใช้ Google Tag Manager สำหรับแทร็กข้อมูล Conversion ที่เกิดจาก Google Ads ได้ ซึ่งในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่…