แจกลิสต์ 50 ศัพท์โซเชียล ฮิตติดทุกแพลตฟอร์ม อัปเดต 2023

สิ้นปี 2023 นี้ Digital Tips รวบรวม 50 ศัพท์โซเชียลสุดฮิตมาฝากคุณแบบจุก ๆ แน่นอนว่าบางคำสามารถนำไปปรับใช้กับโพสต์โปรโมทสินค้าบน Social Media ได้ ในขณะที่บางคำ คุณอาจทำได้เพียงบันทึกข้อมูลไว้เป็นความรู้ เพราะต้องระวังเรื่องบริบทในการใช้ จะมีคำไหนน่าสนใจบ้าง ไปดูกันเลย!


>> อ่านเพิ่มเติม: 7 ไวรัล TikTok ที่สั่นสะเทือนไปทั้งโซเชียล อัปเดตปลายปี 2023

ศัพท์โซเชียล 2023 หมวดคำชื่นชม ส่งต่อพลังบวก

  1. โดนตก: ต้นกำเนิดของคำว่า “โดนตก” มาจากคำว่า “Tsurareta” (ตกปลา) ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งใช้อธิบายพฤติกรรมของเหล่าไอดอลที่หยอกล้อกับแฟนคลับด้วยท่าทางอันน่าเอ็นดู จนแฟนคลับตกหลุมรัก ปัจจุบัน “โดนตก” ถูกนำมาใช้ในบริบทที่กว้างขึ้นกว่าเดิม หมายถึง รู้สึกตกหลุมรัก ใช้ได้กับทั้งคน สัตว์ และสิ่งของ 

มินิมอล มินิใจ

ที่มา: https://www.condonewb.com/lifestyle/

  • 2. …ใจ: ใช้เป็นคำสร้อย เน้นย้ำสิ่งที่ตัวเองต้องการจะพูดถึงในเชิงน่ารัก สดใส วิธีนำไปใช้จะค่อนข้างซับซ้อนกว่าศัพท์โซเชียลอื่นเล็กน้อย เพราะจะต้องพูดคำต้นแบบเต็ม ๆ คำก่อนหนึ่งครั้ง และพูดซ้ำอีกครั้งโดยนำคำว่า “ใจ” ไปใส่แทนพยางค์สุดท้าย เช่น “มินิมัล มินิใจ”, “โพนี่ โพใจ” หรือ “ลิปกลอส ลิปใจ” เป็นต้น
  • 3. ปุ๊กปิ๊ก: หมายถึง น่ารัก กระจิริด น่าเอ็นดู น่าทะนุถนอม ใช้ได้กับทั้งคน สัตว์ และสิ่งของ
  • 4. ราชนิกูล: โดยทั่วไปใช้เป็นคำชม หมายถึง หรูหรา ดูแพง มีเสน่ห์ นิยามได้ทั้งการแต่งกาย หน้าตา ไลฟ์สไตล์ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย 
  • 5. อวยยศ: ใช้เมื่อผู้พูดต้องการจะชื่นชม หรือแสดงการสนับสนุนการกระทำของบุคคล ทีมงาน หรือองค์กรใด ๆ ก็ตาม 
  • 6. เกินต้าน: ส่วนมากใช้เป็นคำชม หมายถึง ดีเลิศ สวยงาม น่ามอง จนเกินจะทนไหว เกินกว่าใครจะต้านไหว

ศัพท์โซเชียล 2023 หมวดคำสุดมันส์ ฉบับสายเมาท์

  • 7. ของแทร่: แปลงเสียงมาจากสำเนียงภาษาไทยแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หมายถึง “ของแท้”
  • 8. ช็อตฟีล: หมายถึง การพูดขัดจังหวะผู้ฟัง เพื่อทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนถูกขัดจังหวะ หรือถูกแย้งว่าสิ่งที่พูดไม่ใช่ความจริง อาจใช้เพื่อตำหนิคนที่ “ช็อตฟีล” ผู้อื่นอย่างจริงจัง หรือจะใช้เพื่อนิยามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยอารมณ์ขบขันก็ได้ 

Sprite Bababi

ที่มา: https://genius.com/Sprite-bababi-tash-lyrics 

  • 9. คือที่!: เป็นการอุทานแบบย่อ ๆ จากคำเต็มว่า “คือที่สุด!” สันนิษฐานว่าผู้เริ่มใช้คนแรก ๆ คือคุณ Sprite Bababi – YouTuber สายเอ็นเทอร์เทนคนดัง 
  • 10. กรรมการอึ้ง: ใช้อธิบายสถานการณ์ที่ผิดคาด หรือสถานการณ์ที่ผู้พูดมองว่า ไม่น่าจะมีใครกล้าทำเช่นนี้ได้ ต้นกำเนิดของคำ ๆ นี้ มาจากคลิป Reaction Video เกี่ยวกับการประกวดนางงามที่มีกลุ่มผู้ชมค่อนข้างใหญ่ จนทำให้คำว่า “กรรมการอึ้ง” กลายเป็นหนึ่งในศัพท์โซเชียลประจำปี
  • 11. ฉ่ำ: ใช้เป็นคำสร้อยอธิบายปริมาณ หมายถึง มาก, ล้น, บ่อย ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานว่าจะนำไปต่อกับคำไหน 
  • 12. รับบท…: หมายถึง การต้องยอมทำอะไรที่ไม่ใช่ตัวเอง ใช้ได้ทั้งการอธิบายสถานการณ์ที่ต้องยอมจำนน และการพูดเล่น ๆ เป็นสีสัน เพื่อล้อเลียนตัวเอง เช่น “รับบทนางวีน”, “รับบทคนสวน”, “รับบทนางเอก” ฯลฯ
  • 13. แกง: หมายถึง แกล้ง โกหก หรือหลอกให้เชื่อ มีต้นกำเนิดจากสแลงในหมู่ LGBTQ 
  • 14. ตะโกน: เป็นคำสร้อยต่อท้าย หมายถึง ดีมาก ดีที่สุด หรืออีกความหมายถึง คือ มาก, มากล้น, มากกว่าปกติ 
  • 15. จะรั่ว: หมายถึง อยากหัวเราะดัง ๆ โดยทั่วไปใช้เชิงประชดประชัน หรือในสถานการณ์แง่ลบมากกว่าแง่บวก

ตัวมัม ตัวมารดา

ที่มา: https://www.mixmagazine.in.th/00009744 

  • 16. ตัวมัม ตัวมารดา: เป็นคำอธิบายอากัปกิริยา ไลฟ์สไตล์ และการตอบโต้ของผู้หญิงที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง มีเสน่ห์ และเป็นที่ชื่นชม และยังเป็นต้นกำเนิดของกลุ่มคำใหม่ ๆ ในหมวดหมู่เดียวกันอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ตัวสูตินารี ตัวให้นมบุตร ตัวผู้ให้กำเนิด ฯลฯ
  • 17. แกก็แรงเกิน: เป็นศัพท์โซเชียลที่พัฒนามาจากคำศัพท์ของ LGBTQ ใช้เป็นประโยคตอบรับ เพื่อสร้างอรรถรสในการพูดคุย เมื่อคู่สนทนาวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่ 3 ด้วยถ้อยคำรุนแรง
  • 18. ตำ: หมายถึง การซื้อมาครอบครอง ฮอตฮิตมากทั้งในหมู่ User และเพจธุรกิจที่ต้องการโปรโมทสินค้าใหม่ ๆ อาทิ “ไอเท็มใหม่ต้องรีบตำ”, “ไปตำแบบด่วน ๆ” เป็นต้น

ศัพท์โซเชียล 2023 หมวดคำบอกรัก ฉบับแฟนคลับ (และแฟนครับ)

  • 19. วาสนาผู้ใดหนอ: แปลความหมายตรงตัวว่า “วาสนาใคร” ใช้อธิบายความรู้สึกเมื่อเจอคนที่ถูกใจ หรือคนที่มีรูปร่าง หน้าตา หรือนิสัยน่าประทับใจ มาจากเนื้อเพลง “วาสนาผู้ใด (Can it be me?)” จากนักร้องหน้าใหม่ Parkmelody ที่เพิ่งปล่อยเป็น New Release เมื่อเดือนตุลาคม 2023 

ฟ้ารักพ่อ

ที่มา: https://workpointtoday.com/dilf-badmixy/ 

  • 20. ฟ้ารักพ่อ: ประโยคนี้มาจากบทพูดของเรยา ตัวเอกจากละครเรื่อง ดอกส้มสีทอง (2011) โดยในเรื่อง เรยา จะเรียกแทนตัวเองว่า “ฟ้า” และจะเรียกผู้ชายที่เลี้ยงดูเธอว่า “พ่อ” กระทั่งราว ๆ ปี 2019 มีผู้นำประโยค “ฟ้ารักพ่อ” มาใช้เพื่อแสดงความชื่นชมต่อนักการเมืองที่ตัวเองชอบ ประโยคนี้จึงฮอตฮิตติด Social Media ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบัน “ฟ้ารักพ่อ” ถูกปลุกให้คืนชีพอีกครั้ง ด้วย Single ล่าสุดในชื่อเดียวกัน จากศิลปิน Badmixy  
  • 21. พ่อไมโครเวฟ: เป็นคำสำหรับชื่นชมนิสัยใจคอผู้ชายที่มีนิสัยอบอุ่น ใจดี และนึกถึงผู้อื่นก่อนตัวเองเสมอ นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดคำใหม่ ๆ ในหมวดหมู่เดียวกัน เช่น พ่อเตาปฏิกรณ์ พ่อระเบิดนิวเคลียร์ ฯลฯ 
  • 22. Green Flag: ใช้นิยามถึงคนที่มีนิสัยดี ควรคู่แก่การคบหา หรือหากเป็นศิลปิน ดารา ก็ควรค่าแก่การสนับสนุน มักใช้เป็นคู่ตรงข้ามกับคำว่า Red Flag 

I told พระแม่ลักษมี

ที่มา: https://www.tnnthailand.com/news/socialtalk/154852/ 

  • 23. I told พระแม่ลักษมี: ใช้นิยามความรู้สึกเมื่อพบกับผู้ชายที่ตัวเองชอบ มีที่มาจากพฤติกรรมของคน Gen Y-Z ในปัจจุบัน ซึ่งนิยมขอพรความรักจากอองค์พระแม่ลักษมี ที่ประดิษฐานอยู่บนชั้น 4 ของห้างสรรพสินค้า เกษรวิลเลจ
  • 24. มัมหมี: เป็นศัพท์โซเชียลที่ใช้กันทั่วไปในหมู่แฟนด้อมของศิลปินเกาหลี หมายถึง กลุ่มแฟนคลับที่รักและเอ็นดูศิลปิน เหมือนมนุษย์แม่ที่เอ็นดูเด็กคนหนึ่งในฐานะลูก
  • 25. ใจบาง: หมายถึง รู้สึกประทับใจมากจนแพ้ทาง ไม่เป็นตัวของตัวเอง 
  • 26. ใครไหวไปก่อนเลย: ใช้อธิบายสถานการณ์ที่ดีและน่าประทับใจที่สุด หรือใช้เมื่อศิลปิน ดารา หรือคนที่ตัวเองชอบ สร้างความประทับใจบางอย่างให้กับผู้พูด จนผู้พูดไม่อาจจะทนทานไหว 

ศัพท์โซเชียล 2023 หมวดคำวิพากษ์วิจารณ์การเมือง

  • 27. กี่โมง: ใช้เป็นคำสร้อยเชิงประชดประชัน ว่าสิ่งที่พูดถึงนั้นจะเกิดขึ้นจริง ๆ เมื่อไหร่ อาทิ “ลาออกกี่โมง”, “จะพูดความจริงกี่โมง” หรือ “ขอโทษกี่โมง” เป็นต้น

สรยุทธ์ สุทัศนจินดา

ที่มา: https://mgronline.com/entertainment/detail/9660000047485 

  • 28. กรี๊ดสิครับ: หนึ่งในศัพท์โซเชียลที่เป็นไวรัลรับต้นปี 2023 ประโยคเด็ดจากคุณสรยุทธ์ สุทัศนจินดา ในรายการคุยนอกจอ ซึ่งภายหลังมีผู้ชมจำนวนมากนำไปทำคลิปล้อเลียนบน TikTok จนเกิดเป็นมีมการเมืองสุดโด่งดัง
  • 29. คนจนล่ะมีสิทธิ์ไหมคะ?: ประโยคไวรัลสุดฮิตที่ไม่มีความหมายตายตัว มีต้นกำเนิดมาจากคลิปไวรัล TikTok ที่บันทึกการแสดงสดเมื่อราว ๆ 30 ปีก่อนของคุณเดือนเพ็ญ เด่นดวง อดีตนักร้องเพลงหมอลำ จนทำให้ทั้งประโยคนี้และตัวคุณเดือนเพ็ญเองโด่งดังอีกครั้งในชั่วข้ามคืน
  • 30. ดิจิตอลฟุตลองชีส: เป็นศัพท์โซเชียลที่สร้างขึ้นมาให้พ้องกับคำว่า Digital Footprint หมายถึง ร่องร่อยและประวัติการโพสต์บนโลกดิจิทัล ที่ไม่สามารถทำให้หายไปได้ 100% 
  • 31. เงินดิจิมอน: เป็นศัพท์สแลงที่จงใจดัดแปลงจากคำว่า เงินดิจิทัล ใช้เมื่อผู้พูดต้องการวิพาษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลลงบน Social Media

ศัพท์โซเชียล 2023 หมวดคำศัพท์จากเวทีประกวดนางงาม

แอนโทเนีย

ที่มา: https://mgronline.com/entertainment/detail/9660000103024 

  • 32. ล็อกมง: ใช้ได้ทั้งความหมายทางตรงและทางอ้อม หากเป็นความหมายทางตรง “ล็อกมง” จะหมายถึง การประกวดใด ๆ ก็ตามที่กรรมการคัดเลือกผู้ชนะเอาไว้แล้ว แต่ถ้าเป็นความหมายทางอ้อม จะหมายถึง การแสดงความชื่นชมต่อศิลปิน ดารา หรือคนที่ผู้พูดรู้สึกถูกใจ 
  • 33. ฆ่าได้ฆ่า: แม้รูปศัพท์ที่ใช้จะดูค่อนข้าง Negative แต่จริง ๆ แล้ว “ฆ่าได้ฆ่า” ใช้เป็นคำชมเวลาเห็นคนแต่งตัวสวยและโดดเด่นเกินผู้ใด มักใช้เมื่อมีนางงาม หรือนักแสดงแต่งตัวออกงาน จนเป็นที่ถูกตาต้องใจ
  • 34. มิสสนามอารมณ์: ใช้นิยามนางงามที่ค่อนข้างเป็นที่นิยม แต่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ถูกจับตามอง และมักจะถูกตำหนิในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จากแฟนนางงามอยู่เสมอ
  • 35. สวยตาหลุด: งดงามอย่างอลังการ ไม่มีใครเหมือน มักใช้เพื่อชื่นชมนางงาม ดารา ศิลปิน ที่แต่งชุดราตรีเพื่อออกงานสำคัญ
  • 36. ใจแม่มา: งดงามอย่างน่าประทับใจ จนมีความหวังว่าจะคว้ารางวัล มักใช้อธิบายความสวยของผู้เข้าประกวดบนเวทีนางงามต่าง ๆ

ศัพท์โซเชียล 2023 หมวดประโยคเด็ดจากคลิปไวรัล

  • 37. เธอเองก็เป็นได้นะ คนที่….อ่ะ!: สันนิษฐานว่า ต้นกำเนิดที่แท้จริงมาจากบทแปลประโยคเด็ดของตัวละครออลไมท์ จากการ์ตูนเรื่อง My Hero Academia ว่า “นายเองก็เป็นฮีโร่ได้นะ”

ฉันคือมนุษย์ต่างดาว

ที่มา: https://images.app.goo.gl/BccBg1JHHUWquBS86 

  • 38. แกเป็นใคร่ จับชั้นมาทำไม่ แกต้องการอะไร่!: มาจาก แกเป็นใคร จับฉันมาทำไม แกต้องการอะไร เป็นประโยคไวรัลสุดฮิตที่ไม่มีความหมายตายตัว มีที่มาจากคลิปตลกไวรัลใน TikTok 
  • 39. สวัสดีเป็นหนึ่ง เรา…เอง: ประโยคสุดฮิตติดทุกแพลตฟอร์ม ที่โด่งดังมากในช่วงกลางปี เพราะอิทธิพลจาก “มาตาลดา” ละครที่นำเสนอพล็อตเรื่องและบทสรุปเชิงบวก จนได้รับคำชมอย่าล้นหลาม
  • 40. ชีวิตแบบใดห์: ศัพท์โซเชียลคำนี้มีต้นกำเนิดจากประโยค “ชีวิตแบบใดที่เหมาะที่สุดสำหรับสตรี” ในคลิปสอนศาสนาอิสลาม ระยะแรก ๆ คำว่า “ชีวิตแบบใดห์” ถูกใช้ในเชิงล้อเลียน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ขอบเขตการใช้งานเริ่มกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายสภาพจากคำล้อเลียนมาเป็นคำบรรยาย เพื่อสร้างสีสันให้กับเรื่องเล่าเท่านั้น
  • 41. อีกี้: มาจากชื่อของตัวละครในเพลง “ธาตุทองซาวน์” ของศิลปิน Youngohm ซึ่งตัวละครนี้คือภาพแทนของผู้หญิงลุคเปรี้ยวในยุค Y2K ทำให้ในช่วงที่เพลงนี้ถูกโพสต์ลงบน YouTube ใหม่ ๆ มีคนแห่แชร์ภาพตัวเองตอนแต่งตัวลุคอีกี้กันมากมายเต็มฟีด Social Media

ศัพท์โซเชียล 2023 หมวดความหมายในแง่ลบ (หากจะใช้ในโพสต์ Social Media ของแบรนด์ ต้องระวัง)

  • 42. นาตาชา: ใช้นิยามผู้ที่ทำพฤติกรรมคล้ายสายสืบ คอยหาข้อมูล หรือสืบเสาะ เพื่อจับผิดการกระทำของคนอื่น โดยคำว่านาตาชา มาจากตัวละคร “นาตาชา โรมานอฟต์” สายลับสาวแห่งจักรวาล Marvel
  • 43. ตัวตึง: ใช้นิยามผู้ที่มีลักษณะนิสัยค่อนข้างมั่นใจ แข็งกร้าว ไม่ยอมคน หรืออีกความหมาย คือคำที่ใช้เรียก “ตัวเต็ง” หรือผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นที่หนึ่ง เหนือใคร
  • 44. รับจบ: หมายถึง จัดการให้ในขั้นสุดท้าย เป็นผู้ยุติปัญหา หรือเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบทั้งหมด 
  • 45. ติดแกลม: แกลมในที่นี้มาจากคำว่า Glamorous ที่แปลว่า งดงาม มีเสน่ห์ คำว่า “ติดแกลม” จึงเป็นสแลง หมายถึง คนที่มักจะแต่งตัวโดดเด่น ทรงเสน่ห์กว่าผู้อื่นอยู่เสมอ 
  • 46. อะบูริจี้: เป็นศัพท์สแลงที่จงใจดัดแปลงจากคำว่า บูลลี่ (Bully) เพื่อลดความรุนแรง แต่ในแง่ความหมาย ยังคงสื่อถึงการบูลลี่เช่นเดิม 
  • 47. หวาน: อาจใช้เดี่ยว ๆ ว่า “หวาน” หรือใช้ว่า “หวาน 300%” มีความหมายในแง่ลบ ใช้เป็นคำเชิงประชดประชัน หรือตำหนิ เมื่อผู้พูดรู้สึกว่าคนที่ตัวเองพูดถึงกำลังโกหก 
  • 48. สู่ขิต: มีความหมายตรงตัวว่าตาย และสามารถใช้ในความหมายใกล้เคียงได้ เช่น แย่จนเกือบตาย, เสี่ยงต่อการถูกตำหนิ หรือ ทำอะไรที่ผิดพลาดมหันต์ลงไป เป็นต้น
  • 49. ปล่อยจอย: หมายถึง การทำสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่เอาใจใส่ มักใช้เมื่อผู้พูดรู้สึกเบื่อหน่าย หมดอารมณ์ที่จะทำอะไร และตัดสินใจปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสถานการณ์
  • 50. ชายแท้ 100%: เป็นศัพท์ที่มีความหมายย้อนกลับ ใช้นิยามคนที่ตัวเป็นชาย แต่ใจเป็นหญิง

สรุป

ทั้งหมดนี้ คือ List ศัพท์โซเชียลสุดฮิตตลอดปี 2023 ที่เรารวบรวมมาให้แบบจัดเต็ม! พร้อมทั้งแยกออกเป็นหมวดหมู่ตามการใช้งาน อย่าลืมแชร์เก็บไว้เป็นข้อมูล และแบ่งปันให้กับเพื่อน ๆ นักการตลาดในองค์กรของคุณต่อไป!

10 body languages for presentation
Marketing Psychology
ลิสต์ 10 ภาษากายเพื่อการพรีเซนต์งาน สำหรับพนักงานมือโปร 

Topic Summary คนทำงานเตรียมแชร์ไว้ 10 ภาษากายเพื่อการพรีเซนต์งาน เพิ่มสกิลการเป็นมือโปร และทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในตัวคุณ! ในบรรดาความรู้เรื่อง Body Language ทั้งหมด ภาษากายที่ใช้ในการพรีเซนต์งาน…

body languages
Marketing Psychology
เช็กก่อนใคร! ตำแหน่งของ Body Language ตัวช่วยอ่านพฤติกรรมคนจากภาษากาย

Topic Summary อยากรู้ไหม? เวลาอ่านใจคนจากภาษากาย ตำแหน่งของ Body Language ส่วนใดบ้างที่คุณต้องดู และแต่ละตำแหน่งมีความสำคัญอย่างไร ใคร ๆ ก็อยากเชี่ยวชาญการอ่านใจคนด้วยภาษากาย…

what is psychology of pricing
News
เข้าใจจิตวิทยาราคา พร้อมแจกกลยุทธ์การตั้งราคา ให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อเร็วกว่าที่เคย

เพิ่งเปิดธุรกิจใหม่ ควรตั้งราคาอย่างไรดี Digital Tips แชร์เทคนิคการตั้งราคาตามหลักจิตวิทยา พร้อมเคลียร์ชัดความหมายของจิตวิทยาราคา อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที! Content Summary  จิตวิทยาราคา คือ การกำหนดราคาสินค้าโดยอ้างอิงจากการรับรู้ทางจิตวิทยา…