แจกฟรี! 5 วิธีบริหาร Google Ads Budget แบบมืออาชีพที่คุณต้องรู้

สำหรับธุรกิจที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง หากต้องการเพิ่ม Conversion บนเว็บไซต์ เครื่องมือที่คุณจะสามารถใช้ได้ก็คงหนีไม่พ้น Google Ads แต่ความยากของการยิงแอดผ่านเครื่องมือนี้ คือคุณจะต้องจัดสรรงบประมาณรายวันให้คุ้มค่าด้วยตนเอง ในบทความนี้ Digital Tips จึงรวบรวมเทคนิคการบริหาร Google Ads Budget ให้คุ้มค่าที่สุดมาฝากคุณ พร้อมเคลียร์ความเข้าใจเรื่องการตั้งค่างบประมาณ ถ้าพร้อมแล้ว มาดูกัน!

การกำหนด Google Ads Budget

เมื่อสร้างแคมเปญโฆษณากับ Google ระบบจะให้คุณกำหนด Average Daily Budget หรือ งบประมาณเฉลี่ยรายวัน เพื่อระบุงบประมาณรายวันแบบคร่าว ๆ ที่คุณยินดีจะจ่ายในเดือนนั้น ๆ โดยคุณสามารถจะเข้ามาปรับแก้ตัวเลขในส่วนนี้เมื่อใดก็ได้ ทั้งนี้ ในวันที่ระบบค้นพบว่า Performance ของโฆษณากำลังอยู่ในเกณฑ์ดี มีโอกาสที่จะได้รับ Conversion มากขึ้น Google อาจแสดงโฆษณาของคุณบ่อยขึ้น นั่นหมายความว่า บางวันคุณอาจจะแสดงโฆษณาไม่ถึงงบประมาณเฉลี่ยรายวันที่กำหนดไว้ และในบางวันโฆษณาก็อาจจะแสดงเกินงบ

Average-Daily-Budget-scaled

ที่มา: https://support.google.com/google-ads/answer/7032978?hl=en-AU 

อย่างไรก็ดี ไม่ต้องกังวลว่างบโฆษณาจะบานปลาย เพราะเพดานของ Google Ads Budget คือ วงเงินใช้จ่ายรายวัน (2 เท่าของงบประมาณเฉลี่ยรายวัน) และวงเงินใช้จ่ายรายเดือน (30.4 เท่าของงบประมาณเฉลี่ยรายวัน)  ซึ่ง Google ยืนยันว่า ถึงงบโฆษณาในบางวันจะเกินจาก Average Daily Budget ที่กำหนดไว้ไปบ้าง แต่จะไม่มีทางเกินวงเงินเหล่านี้แน่นอน

5 วิธีบริหาร Google Ads Budget ฉบับมืออาชีพ

การกำหนด Google Ads Budget จำเป็นต้องอาศัยการคำนวณด้วยตนเองค่อนข้างมาก อีกทั้งโฆษณาบน Google Ads ก็มีการแข่งขันสูง คุณจึงต้องเตรียมพร้อมแก้ไขและบริหารงบตลอดเวลา เพื่อช่วยให้คุณทำงานง่ายขึ้น Digital Tips ขอนำเสนอ 5 เทคนิคบริหารงบประมาณ ดังนี้

1. ฝึกคำนวณงบประมาณเฉลี่ยรายวัน จากต้นทุนโฆษณารายเดือนที่มีอยู่จริง

การประมาณการคร่าว ๆ แบบเดาสุ่มว่า อยากจะเสียงบโฆษณาวันละไม่เกินเท่าไหร่ ไม่น่าจะใช่วิธีการกำหนด Google Ads Budget ที่ดีนัก เพราะคุณจะไม่มีทางทราบว่า ต้นทุนที่ใช้ไปกับการโฆษณาในแต่ละเดือนมีมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น Google จึงแนะนำให้คุณคำนวณต้นทุนในกระเป๋าของตัวเองก่อนว่า “พร้อมที่จะจ่ายค่าโฆษณากับ Google เต็มที่ เดือนละเท่าไหร่” แล้วค่อยหารออกมาเป็นงบประมาณเฉลี่ยรายวัน

คำนวณ-Average-Daily-Budget-scaled

ที่มา: https://support.google.com/google-ads/answer/6312?hl=en 

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจ A กันงบไว้สำหรับทำโฆษณาบน Google ที่ 10,000 บาทต่อเดือน 

วิธีคำนวณงบประมาณเฉลี่ยรายวัน ให้นำงบรายเดือนที่คุณมี หารด้วย 30.4 (30.4 คือผลลัพธ์ของการหาจำนวนวันเฉลี่ยใน 1 เดือน โดยนำ 365/12)

>> 10,000/30.4 = 328.9

ดังนั้น งบประมาณเฉลี่ยรายวันที่คุณควรระบุในแคมเปญ ก็คือ 328.9 บาท

2. ลองกำหนดงบประมาณที่ใช้ร่วมกัน

หากคุณจำเป็นต้องทำโฆษณาบน Google เกินกว่า 1 แคมเปญ แทนที่จะกำหนดให้แต่ละแคมเปญมีงบประมาณรายวันเป็นของตัวเอง คุณสามารถเปลี่ยนเป็น “กำหนดให้หลาย ๆ แคมเปญใช้งบประมาณก้อนเดียวกันได้” เพียงคลิกที่ไอคอน Tools & Settings >> Shared Library แล้วเลือก Shared Budget การตั้งค่างบประมาณเช่นนี้จะทำให้โฆษณามีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยจัดสรรงบประมาณให้คุ้มค่ามากขึ้นได้ 

Shared-Budget

ที่มา: https://ppc.co/shared-campaign-budget/ 

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจ A ตั้งงบประมาณแบบ Shared Budget สำหรับ 2 แคมเปญไว้ที่ 5,000 บาท

ในบางวัน แคมเปญหนึ่งอาจมีการแสดงผลน้อยกว่าปกติ ทำให้ใช้งบประมาณไปเพียง 2,000 บาท หากอีกแคมเปญหนึ่งมี Performance ดีกว่า Google ก็จะนำงบประมาณที่เหลือไปใช้กับแคมเปญนั้น เป็นต้น

3. ฝึกคำนวณงบประมาณรวมของแคมเปญสำหรับโฆษณาแบบวิดีโอ

ข้อจำกัดหนึ่งของการกำหนด Google Ads Budget คือ การกำหนดงบประมาณเฉลี่ยรายวัน ไม่สามารถใช้กับแคมเปญโฆษณาแบบวิดีโอได้ ดังนั้น หากคุณต้องการทำโฆษณาลงใน YouTube คุณจะต้องประมาณการให้ชัดว่า พร้อมที่จะจ่ายเงินโฆษณาเท่าไหร่ตลอดแคมเปญนั้น ๆ

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจ A ต้องการจะปล่อยโฆษณาทาง YouTube นาน 30 วัน สิ่งที่ธุรกิจ A จะต้องทำ คือกรอกงบประมาณทั้งหมดที่สะดวกจ่ายสำหรับ 30 วันนี้ลงในช่อง Amount โดย Google จะพยายามเฉลี่ยใช้งบประมาณดังกล่าว ๆ ให้เท่า ๆ กันในแต่ละวัน สมมติว่า ผู้ชมนิยมคลิกดูโฆษณาของคุณเฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์ Google ก็จะใช้เวลาแสดงโฆษณาในวันนั้น ๆ มากขึ้น ในทางกลับกัน หาก performance ของโฆษณามักจะลดลงทุก ๆ วันพุธ Google ก็จะแสดงโฆษณาในช่วงนั้นให้น้อยลง เป็นต้น

4. ตั้งค่ากฎอัตโนมัติ ช่วยบริหาร Google Ads Budget

กฎอัตโนมัติ-google-ads

ที่มา: https://ppcexpo.com/blog/google-ads-automated-rules 

ความพิเศษของ Google Ads คือผู้ใช้งานสามารถตั้งกฎพิเศษ เพื่อให้การบริหารงบประมาณเป็นไปอย่างที่ต้องการได้ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องตรวจสอบหรือปรับแก้ด้วยตนเองบ่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A ตั้งกฎอัตโนมัติไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่โฆษณาบน Google Search หลุดจากหน้าแรก จะเพิ่มราคา Bidding ทันที เพื่อดันให้โฆษณาอยู่บนหน้าแรกตลอดเวลา เป็นต้น ทั้งนี้ หากคุณต้องการตั้งค่ากฎอัตโนมัติ ให้คลิกไปที่ไอคอนจุดสามจุด แล้วเลือก Create an automated rules

5. ตั้งค่าขีดจำกัดการใช้จ่ายรายเดือน คุม Google Ads Budget ไม่ให้บานปลาย

Google อนุญาตให้ผู้ใช้งานตั้งค่าขีดจำกัดการใช้จ่ายรายเดือน เพื่อช่วยบริหารจัดการงบประมาณได้ เพียงคลิกเข้าไปที่เมนู Billing >> Setting และเติมตัวเลขในหน้าต่าง Account Spend Limit เมื่อใดก็ตามที่งบโฆษณากำลังจะเกินขีดจำกัดที่ตั้งไว้ Google Ads จะหยุดรันแคมเปญโฆษณาทันที จนกว่าจะถึงวันแรกของเดือนถัดไป 

สรุป

และทั้งหมดนี้ คือวิธีบริหาร Google Ads Budget ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยเครื่องมือของ Google Ads เอง เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่จำเป็นต้องยิงแอดด้วยตนเอง จึงควรเรียนรู้วิธีใช้งานทุก ๆ ฟีเจอร์ใน Google Ads และฝึกใช้งานให้เกิดความชำนาญเร็วที่สุด

อ้างอิง

Google Ads. ตั้งค่ากฎอัตโนมัติ

Available from: https://support.google.com/google-ads/answer/2472779?hl=th 

Google Ads. เกี่ยวกับงบประมาณที่ใช้ร่วมกัน

Available from: https://support.google.com/google-ads/answer/10487241?hl=th 

Google Ads. เกี่ยวกับงบประมาณรายวันเฉลี่ย

Available from: https://support.google.com/google-ads/answer/6385083?sjid=14992922473417972058-AP 

Wordstream. 5 Effective Ways to Manage Your Google Ads Budget (Pros, Cons & Pro Tips)

Available from: https://www.wordstream.com/blog/ws/2023/02/14/google-ads-budgeting-strategies 





AI Affiliate
AI Marketing
แจกเทคนิคทำ AI Affiliate เข้าถึงลูกค้า ประหยัดเวลา เซฟแรง

สำหรับคนทำ Affiliate Marketing ไม่มีอะไรจะยากไปกว่าการหาวิธีปิดการขาย หรือการสร้างเนื้อหา ข้อความโฆษณา รูปภาพ เพื่อดึงดูดให้คนยอมซื้อสินค้าผ่าน Affiliate ของตัวเอง อย่างไรก็ดี หากคุณเองก็เป็นนักการตลาดที่กำลังกังวลในเรื่องนี้…

Mobile Marketing
Marketing
บอกต่อ 5 เทคนิคทำ Mobile Marketing เพิ่มยอดขาย ได้ใจลูกค้า

ในยุคสมัยที่ใครๆ ต่างก็พกสมาร์ทโฟน บางคนมีสมาร์ทวอช และบางคนก็พกแท็บเลตติดตัวตลอดเวลา การทำ Mobile Marketing ถือได้ว่าตอบโจทย์และทรงประสิทธิภาพ เพราะเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งาน และทำให้โอกาสในการปิดการขายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่กำลังสนใจกลยุทธ์การตลาดดี ๆ…

Bilibili
Marketing
Bilibili คืออะไร – รู้จักแพลตฟอร์มสัญชาติจีน ม้ามืดแห่งวงการสตรีมมิ่ง

หลายคนอาจทราบดีอยู่แล้วว่า จีนคือประเทศนักพัฒนาที่ชอบคิดค้นเทคโนโลยีขึ้นมาใช้เอง ไม่ว่าจะเป็น Weibo ที่เรารู้จักกันดี หรือ Douyin แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นเวอร์ชันจีน และในบทความนี้ เราจะมาคุณไปรู้จักกับ Bilibili อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่คนจีนคิดค้น…