affiliate marketing คือ

หลายคนที่กำลังมองหาแนวทางการทำเงินจากการตลาดแบบออนไลน์ นอกจากการขายสินค้า การปั้นแบรนด์ การทำ Social Media Marketing เพื่อทำให้ตัวคุณเองหรือธุรกิจของคุณเป็นที่รู้จักแล้ว ยังมีอีกหนึ่งวิธีการทำการตลาดที่เป็นที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศ แต่ที่ไทยอาจจะยังไม่เข้าใจวิธีการทำมากนัก อย่างการทำ Affiliate Marketing ซึ่งเป็นการตลาดแบบพันธมิตรหรือช่วยขาย ซึ่งหลายคนอาจจะข้องใจว่า Affiliate Marketing คืออะไร เหมือนขายตรงหรือเปล่า ทำแล้วจะมีรายได้แบบไหนเข้ามา ไปจนถึงจะต้องเริ่มต้นทำอย่างไรดี 

Digital Tips แนะนำให้ลองดูสรุปข้อมูลที่ต้องรู้เกี่ยวกับ Affiliate Marketing ในบทความนี้ รับรองว่า จะช่วยทำให้คุณเข้าใจกลยุทธ์การตลาดนี้มากขึ้นอย่างแน่นอน

Affiliate Marketing คืออะไร

Affiliate Marketing อ่านว่า อะฟิล’ ลิเอท มาร์ค’คิททิง (แอฟฟิลิเอท มาร์เก็ตติ้ง) 

โดยความหมายของคำว่า Affiliate Marketing คือ การทำการตลาดออนไลน์รูปแบบหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจจะใช้ตัวแทนในการช่วยขายสินค้าหรือบริการ ซึ่งตัวแทนนั้นจะเป็นใครก็ได้ และทางธุรกิจก็จะให้ค่าตอบแทนกับตัวแทนเหล่านั้นอยู่ในรูปแบบค่า Commission (คอมมิชชัน) หากทำตามเงื่อนไขที่ทางเจ้าของธุรกิจกำหนดได้ 

ฟังแล้วก็จะคล้ายกับโมเดลการทำธุรกิจที่เรารู้จักกันดี อย่างเช่น การทำนายหน้าอสังหาฯ ที่ฝั่งนายหน้าจะเป็นคนรับทรัพย์ เช่น บ้าน คอนโด จากเจ้าของ มาหาผู้เช่าหรือผู้ซื้อ หากหาได้ก็จะได้ % จากการขายหรือการเช่านั้นเป็นค่าตอบแทน แต่การทำ Affiliate Marketing  นั้นจะเป็นการทำผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น จึงเป็นการทำ Digital Marketing สำหรับธุรกิจในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยก็มีวิธีการทำหลากหลายแบบ ซึ่งเราจะขออธิบายให้เข้าใจแบบละเอียดในหัวข้อถัด ๆ ไป

Affiliate Marketing ทำงานอย่างไร

Affiliate Marketing Process

ที่มาภาพ: oberlo

Affiliate Marketing ในมุมของธุรกิจ

ในมุมของธุรกิจ การทำ Affiliate Marketing จะเริ่มจากการที่ธุรกิจอาจจะใช้วิธีการติดต่อหากลุ่มสื่อหรืออินฟลูเอนเซอร์เอง เพื่อตกลงแลกเปลี่ยนข้อเสนอในการรับทำ Affiliate Marketing ผ่านการทำคอนเทนต์ของสื่อหรืออินฟลูเอนเซอร์นั้น ๆ หากเกิดยอดขายขึ้นจากการโปรโมตก็จะทำการแบ่งเปอร์เซ็นต์จากยอดขายหรือให้ค่าคอมมิชชัน

หรือในฝั่งของแบรนด์ที่ทำการลงสินค้าผ่านช่องทาง E-Commerce อยู่แล้ว ในปัจจุบันนี้ก็มีการทำ Affiliate Marketing ผ่านเว็บไซต์ E-Commerce ได้เลยจากการสมัครเข้าร่วมผ่าน Affiliate Program ของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซนั้น ๆ และทำการนำสินค้าไปโปรโมตเอาไว้ในแพลตฟอร์มว่า ตามหาผู้รับทำ Affiliate Marketing ให้ และเขียนรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ เพิ่มเติม หลังจากนั้นก็จะมีฝั่งผู้รับทำ Affiliate Marketing เข้ามาคัดลอก Affiliate Link ที่จะพาผู้เข้าชมกลับมายังหน้าสินค้าเพื่อดูหรือซื้อได้ ไปทำการโปรโมตเพื่อหากลุ่มเป้าหมายให้กับสินค้าของแบรนด์ต่อไป และถ้าผู้รับทำ Affiliate Marketing สามารถทำตามเงื่อนไขได้ เช่น พาคนเข้ามาซื้อสินค้าได้ 1 ออเดอร์จากลิงก์ที่ให้ไป ทางแบรนด์ก็จะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ตามที่ตกลงกัน

Affiliate Marketing ในมุมของบุคคล

ในมุมมองของบุคคลผู้รับทำ Affiliate Marketing สามารถเข้าไปหาสินค้าหรือบริการที่ต้องการผู้รับโปรโมตสินค้าด้วยกลยุทธ์นี้ได้จากช่องทางต่าง ๆ ทั้งจากเว็บไซต์ของแบรนด์นั้นโดยตรง จากเว็บไซต์ E-Commerce หรือจาก Affiliate Provider ที่เป็นตัวกลางในการรับหาคนมาทำ Affiliate Marketing อยู่แล้ว หลังจากนั้นให้ทำการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก และเลือกสินค้าหรือบริการที่สามารถทำตามเงื่อนไขได้ หลังจากนั้นจึงนำ Affiliate Link ที่ได้ไปโปรโมตต่อด้วยการทำการตลาดแบบต่าง ๆ หากมีผู้ที่สนใจแล้วทำการคลิก กรอกฟอร์ม หรือซื้อสินค้า ผู้ที่รับโปรโมตสินค้าก็จะได้ค่าตอบแทนจากแบรนด์ตามที่กำหนด 

องค์ประกอบของ Affiliate Marketing 

Affiliate Marketing องค์ประกอบหลักจะมีผู้เกี่ยวข้องอยู่ด้วยกัน 3 ส่วน ได้แก่

1. ผู้ต้องการโฆษณาหรือขายสินค้า/แบรนด์ หรือเจ้าของธุรกิจ (Seller And Product Creator) 

จะเป็นฝั่งของผู้ขายจะเป็นผู้ขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์​ ผู้ค้าปลีกที่มีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด เจ้าของธุรกิจรายเดียว หรืออาจจะเป็นรายองค์กรก็ได้ โดยสิ่งที่ผู้ต้องการโฆษณาหรือขายสินค้า/แบรนด์ หรือเจ้าของธุรกิจต้องการจากการทำ Affiliate Marketing จะเป็นการลงทุนเงินเพื่อโปรโมตสินค้าหรือบริการ ซึ่งถ้านำเงินมาลงทุนในการทำ Affiliate Marketing ก็จะต้องทำการจ่ายค่าแนะนำ/ค่าช่วยขายให้กับกลุ่มที่เป็นเจ้าของสื่อ เจ้าของช่องทาง เจ้าของเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ รวมถึงตัวแทนที่รับทำ Affiliate Marketing

2. เจ้าของสื่อ เจ้าของช่องทาง เจ้าของเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ รวมถึงตัวแทนที่รับทำ Affiliate Marketing (The Affiliate Or Publisher)

จะเป็นฝั่งของเจ้าของสื่อ เว็บไซต์ เพจ Facebook บล็อกเกอร์ เจ้าของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นตัวแทนทำ Affiliate Marketing ที่จะทำการโปรโมตสินค้าให้กับแบรนด์ผ่านช่องทางที่มี และจะได้รับเงินส่วนแบ่ง (Commission) จากค่าแนะนำสินค้า โดยสิ่งที่ตัวแทนที่ทำ Affiliate Marketing จะต้องลงทุนออกไปก็คือ เวลาในการทำการตลาด และองค์ความรู้ด้านการทำการตลาดออนไลน์

3. ผู้ซื้อสินค้า (Customer)

จะเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ผู้ต้องการโฆษณาหรือขายสินค้า/แบรนด์ หรือเจ้าของธุรกิจต้องการให้เข้ามาทำความรู้จักแบรนด์หรือเข้ามาซื้อสินค้าของแบรนด์ผ่านการโปรโมตของเจ้าของสื่อ เจ้าของช่องทาง เจ้าของเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียที่เป็นตัวแทนในการทำ Affiliate Marketing

ประเภทของ Affiliate Marketing 

ประเภทของ Affiliate Marketing จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

Unattached Affiliate Marketing

เป็นการทำ Affiliate Marketing ที่ฝั่งแบรนด์และตัวแทนไม่ได้รู้จักหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกันเลย แต่จะมีการฝากให้โฆษณาบนพื้นที่แพลตฟอร์มที่มีอยู่ได้ผ่านการทำโฆษณา เช่น การยิง Google Ads แต่ก็มักจะเป็นการโฆษณาให้ผ่านตาเท่านั้น ดังนั้น Unattached Affiliate Marketing ก็จะไม่ค่อยเห็นผลดีนัก 

Related Affiliate Marketing

เป็นการทำ Affiliate Marketing ที่ฝั่งแบรนด์และตัวแทนมีสินค้าและมีแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกัน หรืออยู่ในหมวดเดียวกัน เช่น ผู้รับทำ Affiliate Marketing เปิดเว็บไซต์ทำอาหาร และเขียนบล็อกรีวิวเกี่ยวกับสินค้าทำอาหาร เช่น 10 หม้อทอดไร้น้ำมันที่ดีที่สุด แล้วทำการแปะ Affiliate Link ไว้ก็มีโอกาสที่คนเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์จะกดลิงก์นั้นเข้าไปดูสินค้าตามที่รีวิวมากขึ้น

Involved Affiliate Marketing

เป็นการทำ Affiliate Marketing ที่แบรนด์และผู้ทำ Affiliate Marketing เป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน โดยการสนับสนุนบางอย่างซึ่งกันและกัน เช่น ผู้รับทำ Affiliate Marketing เปิดโรงแรมและมีเว็บไซต์ของโรงแรมเอง เมื่อทำการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงแรมนั้นอยู่ และในแถบด้านข้างมีการขึ้นแบนเนอร์ลิงก์ไปยังเว็บไซต์ทัวร์ต่อ ก็อาจจะมีโอกาสคลิกซื้อทัวร์ต่อจากการดูโรงแรม หรือหากทำการตกลงกันดีพอ ก็อาจจะทำเป็นข้อเสนอแพ็กเกจ จองตั๋วโรงแรมพร้อมทัวร์ ได้รับส่วนลดพิเศษทันที ก็จะช่วยทำให้ทั้งฝั่งแบรนด์ที่ต้องการทำโฆษณาและฝั่งผู้รับทำ Affiliate Marketing ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย

รูปแบบรายได้ของ Affiliate Marketing 

รูปแบบรายได้ของ Affiliate Marketing จะมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบหลักตามขั้นตอนการทำ Marketing Funnel ได้แก่ 

รูปแบบรายได้ affiliate

1. Pay Per Click (PPC)

เป็นขั้นตอนที่ตัวแทนจะต้องดึงให้กลุ่มคนที่มีโอกาสจะซื้อสินค้าคลิกเข้ามาอ่านรายละเอียด ดูสินค้า ทำความรู้จักสินค้า ซึ่งอาจจะนำไปสู่การปิดการขายก็ได้ โดยที่ในฝั่งแบรนด์จะให้ค่าตอบแทนกับตัวแทนก็ต่อเมื่อที่คนคลิก Affiliate Link ซึ่งไม่ว่าจะขายสินค้าได้หรือไม่ก็ตามก็จะทำการจ่ายค่าตอบแทนให้ เช่น แบรนด์ให้ค่า PPC ต่อคลิกอยู่ที่ 5 บาท แสดงว่า ตัวแทนนำโฆษณาไปติดในเว็บไซต์ของตน และเกิดการคลิก 1 ครั้ง ตัวแทนจะได้รับผลตอบแทนจากการคลิกครั้งนั้น 5 บาท เป็นต้น

2. Pay Per Lead (PPL) 

จะรูปแบบของการตามหา Lead หรือกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มว่าจะซื้อและยอมที่จะแลกข้อมูลส่วนตัวไว้ให้กับทางธุรกิจ เช่น ชื่อ อีเมล เบอร์โทร ฯลฯ ซึ่งธุรกิจจะให้ค่าตอบแทนก็ต่อเมื่อทางตัวแทนสามารถทำให้มีคนมาสมัครหรือลงทะเบียนผ่านลิงก์ได้ เช่น สมัครบัตรเครดิต สมัครประกัน เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์บอกว่าจะให้ค่าตอบแทน PPL 200 บาท นั่นแสดงว่า หากตัวแทนสามารถหารายชื่อมาเข้าระบบสมัครที่ธุรกิจกำหนดไว้ได้ 1 รายชื่อก็จะได้ค่าตอบแทน 200 บาทนั่นเอง

3. Pay Per Sale (PPS)

เป็นรูปแบบที่ทางฝั่งของธุรกิจจะให้ค่าตอบแทนก็ต่อเมื่อมีการซื้อสินค้าเกิดขึ้นจากการโปรโมตด้วยตัวแทนคนนั้น ๆ โดยค่าตอบแทนจะเป็นการหักจากยอดขายสินค้า/บริการออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงิน เช่น ทางแบรนด์กำหนดมาเลยว่า หากสินค้านี้ขายได้ 1 ออเดอร์ จะได้ค่าคอมมิชชันอยู่ที่ 100 บาท เป็นต้น

วิธีการทำ Affiliate Marketing 

1. เรียนรู้การทำการตลาดออนไลน์เพื่อทำ Affiliate Marketing

การทำ Affiliate Marketing ที่ประสบความสำเร็จจะต้องเรียนรู้เทคนิคการทำการตลาดออนไลน์ที่คุณเองสามารถลงมือทำได้ และช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่จะมีโอกาสคลิกลิงก์ กรอกฟอร์มเพื่อลงทะเบียน หรือซื้อสินค้าและบริการที่ทำการโปรโมตอยู่ ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น 

  • หากคุณต้องการทำ Affiliate Marketing บนเว็บไซต์ ก็ต้องเรียนรู้วิธีการทำ SEO เพื่อที่จะทำให้คอนเทนต์ที่เขียนและทำการแนบลิงก์ Affiliate ติดอันดับบนหน้า Search Engine นอกจากนี้ก็ต้องเรียนรู้วิธีการทำเว็บไซต์อย่างการสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress ที่จะช่วยทำให้ได้หน้าเว็บไซต์ที่สวยงาม ใช้งานง่ายและดีต่อการทำ SEO 
  • หากคุณต้องการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการทำ Affiliate Marketing ก็ต้องไปดูว่าข้อกำหนดของแต่ละแพลตฟอร์มเป็นอย่างไร ทำอย่างไรคนถึงจะคลิก Affiliate Link ได้บ้าง เช่น Instagram คนชอบเสพรูป อาจจะต้องถ่ายรูปรีวิวสินค้านั้น ๆ แล้วทำการแนบลิงก์ไว้สำหรับให้คลิกไปซื้อสินค้าตามเอาไว้ในแคปชัน แต่ถ้าใช้ TikTok ก็ต้องเปลี่ยนจากการถ่ายรูปเป็นการถ่ายคลิปสั้นแทน ส่วนลิงก์อาจจะทำการแปะลงบนแคปชันไม่ได้ เพราะอาจเสี่ยงต่อการปิดกั้นการมองเห็น แต่สามารถทำการชี้เป้าให้ผู้ชมคลิกเข้ามายังหน้าไบโอ เพื่อเลือกคลิก Affiliate Link ที่อยู่ในนั้นไปยังหน้าสินค้าหรือบริการที่ต้องการได้แทน

2. เลือกตลาดกลุ่มเป้าหมายที่เป็น Niche Market

Niche Market คือ ตลาดเฉพาะกลุ่ม ในการทำ Affiliate Marketing ในช่วงเริ่มต้นให้เริ่มจากการโฟกัสไปที่ Niche Market จากการเลือกหมวดหมู่ของสินค้าก่อนว่า จะเน้นไปที่สินค้าหรือบริการในหมวดหมู่ไหน ใครที่จะเป็นกลุ่ม Value Audience ที่ต้องการจะทำการตลาดด้วย โดยวิธีการที่ง่ายที่สุดเลยก็คือ เลือกจากความสนใจ เช่น เป็นคนสนใจในเรื่องของความสวยความงาม การเลือกทำ Affiliate Marketing ในสายของเครื่องสำอางต่าง ๆ ก็อาจจะทำให้เรามี Insight ที่สามารถนำมาต่อยอดในการทำคอนเทนต์หรือการโปรโมตได้มากกว่าเลือกสินค้าหรือบริการที่ไม่ถนัด 

หรือสำหรับใครที่พอจะเชี่ยวชาญการทำการตลาดออนไลน์ และมีความรู้ในหลากหลายหมวดสินค้าและบริการ ก็อาจจะเลือกจากเงื่อนไข ผลตอบแทน หรือใช้วิธีหาจากยอด Search Volume จากเครื่องมือทำ SEO ต่าง ๆ เพื่อดูว่าสินค้าหรือบริการนี้มีตลาดที่ใหญ่แค่ไหน หากทำเว็บไซต์ให้ติดอันดับการทำ SEO เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสามารถทำได้หรือไม่ หากทำได้ก็จะทำให้ได้ยอด Traffic ที่มีคุณภาพเข้ามายังเว็บไซต์และมีโอกาสที่จะคลิก  Affiliate Link ที่แปะอยู่ในหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ มากขึ้นด้วย

3. รู้จักใช้ซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม

หากคุณจะโปรโมตสินค้าเป็นหลักสิบ หลักร้อย หรือหลักพันตัว การเลือกใช้ซอฟต์แวร์เพื่อติดตามผลลัพธ์เริ่มเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมาเช่นกัน เพราะคุณจะไม่รู้เลยว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่องทางหรือแต่ละลิงก์นั้นเป็นอย่างไร จะเสียเวลาคลิกดูผลลัพธ์ทีละลิงก์ก็คงต้องเสียเวลาเป็นวัน ดังนั้น จึงควรรู้ว่าควรใช้ซอฟต์แวร์ไหนในการบริหารจัดการลิงก์ได้บ้าง เช่น Rebrandly เป็นต้น

4. สร้างคอนเทนต์ที่จูงใจ เหมาะสม และส่งมอบคุณค่าหากลุ่มเป้าหมายเป็นประจำ

วิธีการทำ Affiliate Marketing

หากคุณมีช่องทางโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นของตัวเองอยู่แล้ว และไม่ต้องการที่จะหากลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ด้วยการเสียเงินยิงโฆษณาอยู่ตลอดเวลา การทำคอนเทนต์ที่จูงใจและส่งมอบสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการเป็นประจำก็จะช่วยทำให้พวกเขาอยู่กับคุณตลอด อีกทั้งเวลาที่คุณโพสต​์อะไรก็มีโอกาสที่จะซื้อตามมากขึ้น โดยวิธีการทำคอนเทนต์ที่จะช่วยดึงดูดคนที่ใช่มาให้กับคุณได้ แนะนำให้ลองใช้วิธีการทำ Inbound Marketing คือ การตลาดแบบดึงดูด ที่จะใช้เทคนิคการทำการตลาดและการส่งมอบคุณค่าผ่านคอนเทนต์ เพื่อดึงดูดให้คนที่ชื่นชอบคอนเทนต์ของคุณเข้ามาหาคุณเอง

ข้อดี-ข้อเสียของการทำ Affiliate Marketing 

ข้อดี-ข้อเสียของการทำ Affiliate Marketing นั้นมีทั้งในฝั่งของเจ้าของธุรกิจเองและในฝั่งของตัวแทน โดยจะทำเป็นตารางข้อมูลที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ดังนี้

เจ้าของธุรกิจ

ตัวแทนรับทำ Affiliate Marketing

ข้อดี

  • ใช้เงินลงทุนไม่มาก ประหยัดกว่าการลงทุนโฆษณาหรือโปรโมตเอง
  • มีผู้ช่วยขายสินค้า ช่วยโปรโมตสินค้าจำนวนมาก
  • มีโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น 
  • เจ้าของแบรนด์สินค้าสามารถตั้ง Action Point เองได้ เช่น ต้องมียอดซื้อเท่านั้นจึงจะจ่ายค่าตอบแทน เป็นต้น
  • ผลตอบแทนที่ดี (Best ROI)

ข้อดี

  • ไม่จำเป็นต้องมีสินค้าเป็นของตัวเอง 
  • ไม่จำเป็นต้องบริการหลังการขาย 
  • สามารถทำงานได้จากทุกที่ เพียงเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต
  • สร้างรายได้แบบ Passive Income ให้ตนเองตามความสามารถ โดยที่ไม่ต้องลงทุนเป็นเม็ดเงิน

ข้อเสีย

  • เป็นเรื่องยากสำหรับธุรกิจหรือแบรนด์ที่มีอัตรากำไรต่ำ
  • ไม่สามารถควบคุมรูปแบบของเนื้อหาคอนเทนต์ หรือกลยุทธ์การทำด้วยตัวเองได้
  • อาจได้กลุ่มคนที่เข้ามาไม่ตรงกับเป้าหมายจากการที่ตัวแทนนำ Affiliate Link ไปวางไว้ในเว็บไซต์ที่ไม่เกี่ยวข้อง

ข้อเสีย

  • ควบคุมรายได้ที่จะได้มายาก
  • จำเป็นต้องมีความรู้ในการทำการตลาดออนไลน์และการใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างดี
  • ใช้เวลานานกว่าจะได้เงิน

ตัวอย่างการทำ Affiliate Marketing 

Affiliate Marketing ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดเลยก็คือ การทำ Affiliate Marketing บนเว็บไซต์ Amazon ผ่านช่องทางที่ชื่อว่า Amazon Associates ซึ่งเป็น Affiliate Marketing Program ของทาง Amazon เอง โดยที่ผู้ที่สนใจหารายได้บนช่องทางออนไลน์ด้วยการทำ Affiliate Marketing สามารถเข้าไปลงทะเบียนสมัครเพื่อขอรับ Affiliate Link ไปแปะเอาไว้ในช่องทางของตนเองได้ และจะได้รับค่าตอบแทนแตกต่างกันไปตามหมวดหมวดหมู่ของสินค้าต่าง ๆ เช่น รับส่วนแบ่ง 10% สำหรับการขายสินค้าประเภท Luxury Beauty เป็นต้น

ตัวอย่างการทำ Affiliate Marketing

 โดยทาง Amazon จะมีเงื่อนไขที่เข้มงวดสำหรับประเภทของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่จะสามารถนำ Affiliate Link ไปโปรโมตสินค้าได้ เช่น เว็บไซต์นั้น ๆ จะต้องเป็นเว็บไซต์ที่เขียนขึ้นมาโดยไม่ทำการคัดลอกเนื้อหามาจากที่อื่น ต้องไม่มีเนื้อหาลามกอนาจารหรือล่วงละเมิด ไม่ส่งเสริมความรุนแรงหรือการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น ส่วนการพิจารณาจะทำโดยเจ้าหน้าที่ของ Amazon หากใบสมัครถูกปฏิเสธจะไม่มีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาใหม่ และถ้าหากได้รับการอนุมัติแล้ว ผู้ที่ทำ Affiliate Marketing จะได้รับค่าตอบแทนก็ต่อเมื่อผู้เข้าชมเว็บไซต์ซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการจาก Amazon

คำถามที่เกี่ยวข้องในการทำ Affiliate Marketing

คนทำ Affiliate Marketing ได้เงินอย่างไรบ้าง 

คนทำ Affiliate Marketing ได้เงินมาได้หลายรูปแบบ เช่น

  • ส่วนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้าได้ต่อออเดอร์ 
  • เป็นค่าตอบแทนในรูปแบบ Commission เมื่อเกิดการกระทำของผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ เช่น การซื้อของ หรือกรอกใบสมัคร ติดตั้งโปรแกรม
  • ได้รายได้เป็นรูปของตัวเงินที่ธุรกิจแจ้งมาแล้วว่าหากทำยอด 1 คลิก/1 รายชื่อ/1 ออเดอร์จะได้เงินกี่บาท

คุณสามารถทำเงินได้เท่าไหร่จากการทำ Affiliate Marketing 

สำหรับผู้ที่รู้เทคนิคในการทำ Affiliate Marketing เป็นอย่างดีสามารถสร้างรายได้จากการทำการตลาดในรูปแบบนี้ได้ค่อนข้างมาก (บางคนอาจถึงหลักหลายหมื่นหรือหลายแสนบาทต่อเดือน) แต่ก็ต้องเข้าใจเครื่องมือที่จะต้องใช้ เช่น รู้ว่า Affiliate Program คืออะไร จะทำได้อย่างไร หรือเข้าใจวิธีการทำการตลาดออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการตลาด, การทำ SEO, การยิงแอด, การทำคอนเทนต์ ฯลฯ มากพอที่จะทำให้สามารถสร้าง Traffic ไปจนถึงขั้นปิดการขายได้จากการทำ Affiliate Marketing ด้วยตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม: ยิงแอดคืออะไร (การยิงแอดโฆษณา) 

เราสามารถเริ่มทำ Affiliate Marketing โดยไม่มีเงินลงทุนเลยได้หรือไม่

สำหรับฝั่งของตัวแทนการทำ Affiliate Marketing สามารถเริ่มต้นทำได้เลยโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนเหมือนกับการทำธุรกิจส่วนตัว หรือหาสินค้ามาขายเอง แต่จะต้องมีองค์ความรู้ในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ในการทำให้เกิดรายได้จากช่องทางนี้ด้วย เช่น การยิงแอดโฆษณา การทำเว็บไซต์ การทำการตลาดด้วยคอนเทนต์ เป็นต้น ซึ่งถ้าคุณไม่มีความรู้ก็จำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อเสริมสร้างความรู้ในด้านเหล่านี้เพิ่มเข้ามาด้วย จึงจะสามารถช่วยทำให้การทำ Affiliate Marketing ประสบความสำเร็จ 

ส่วนในฝั่งของธุรกิจเองแน่นอนว่า จะต้องใช้เงินในการลงทุนทำ Affiliate Marketing เนื่องจากจะต้องให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับตัวแทน หรืออาจจะต้องทำการจ่ายเงินให้กับ Affiliate Network คือ ระบบ Affiliate Platform ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างเจ้าของธุรกิจและตัวแทนเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้การทำ Affiliate Marketing ระหว่างทั้งคู่ง่ายขึ้น 

เริ่มต้นการทำ Affiliate Marketing อย่างไรดี

1. เริ่มต้นจากการศึกษาวิธีการทำการตลาดออนไลน์ด้วยช่องทางต่าง ๆ และเรียนรู้เมตริกที่มีประโยชน์ด้วย เช่น Traffic, Engagement, Conversion Rate ฯลฯ พร้อมกับสร้าง Asset เหล่านี้ขึ้นมาด้วย เช่น บล็อก เว็บไซต์ Facebook Page หรือ ช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ที่สามารถใช้ในการโปรโมตสินค้าได้

อ่านเพิ่มเติม: Engagement คืออะไร

2. หา Affiliate Provider คือ บริษัทที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเจ้าของแบรนด์สินค้าและตัวแทนที่เชื่อถือและไว้ใจได้ เพื่อทำการศึกษา อ่านข้อมูลต่าง ๆ ก่อนจะเริ่มต้นลงมือทำ โดยในปัจจุบันนี้มี Affiliate Provider มากมายหลายเจ้าให้เลือก เช่น Amazon, ClickBank, LAZADA, Shopee เป็นต้น

3. นำ Affiliate Link คือ ลิงก์ช่วยขายที่ทาง Affiliate Provider ทำขึ้น เพื่อให้ตัวแทนนำลิงก์ของสินค้าในเว็บไซต์นั้นไปวางตามจุดต่าง ๆ บนช่องทางออนไลน์ที่มี เช่น เว็บไซต์, บล็อก หรือ Facebook

4. ใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อทำการโปรโมตลิงก์นั้น ๆ เพื่อทำให้เกิดยอดคลิก ยอดลงทะเบียน หรือยอดขายตามที่เจ้าของธุรกิจกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ หากสามารถทำตามเงื่อนไขได้ก็จะได้ผลตอบแทนตามตกลง

สรุปหัวข้อ Affiliate Marketing 

Affiliate Model คือ รูปแบบการทำการตลาดออนไลน์ที่ดีต่อทั้งเจ้าของธุรกิจ เพราะใช้เงินในการลงทุนทำการตลาดน้อย แต่สามารถกระจายโอกาสในการปิดการขายได้ค่อนข้างกว้างจากการใช้ตัวแทนเป็นผู้โปรโมตเพื่อหา Lead คือว่าที่ลูกค้า ให้กลับเข้ามายังเว็บไซต์หรือติดต่อแบรนด์จากหลากหลายช่องทางที่แบรนด์กำหนด 

ในทางกลับกันทางผู้โปรโมตเองก็ได้ประโยชน์นั่นคือ การสร้างรายได้จากช่องทางออนไลน์ที่ตนเองถนัด ไม่ว่าจะเป็นการทำคอนเทนต์ การยิงแอดโฆษณา การทำเว็บไซต์ ฯลฯ เพื่อหารายได้เสริมที่สามารถสร้างรายได้จริงได้ทุกเดือน ซึ่งก็นับเป็นรูปแบบการโปรโมตออนไลน์แบบพันธมิตรที่สามารถพึ่งพากันและกันได้เป็นอย่างดี 

เอกสารอ้างอิง

JAKE FRANKENFIELD.  (2022).  Affiliate Marketer: Definition, Examples, and How to Get Started.  [Online]. retrieve from: https://www.investopedia.com/terms/a/affiliate-marketing.asp#toc-examples-of-affiliate-marketing
Brad Smith.  (2022).  WHAT IS AFFILIATE MARKETING? A GUIDE FOR BEGINNERS.  [Online]. retrieve from: https://www.oberlo.com/blog/what-is-affiliate-marketing

คัมภีร์สร้างความน่าเชื่อถือบนโลกออนไลน์ ฉบับนักธุรกิจใหม่
Business
คัมภีร์สร้างความน่าเชื่อถือบนโลกออนไลน์ ฉบับนักธุรกิจใหม่

การสร้างความน่าเชื่อถือสำคัญอย่างยิ่งกับธุรกิจออนไลน์ โดยเฉพาะกับธุรกิจที่เพิ่งเปิดใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมีคนทำการตลาดออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก และลูกค้าเองไม่สามารถตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของผู้ขายได้ หากไม่ทำให้เชื่อใจ พวกเขาก็จะไปซื้อสินค้ากับธุรกิจคู่แข่ง หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจเปิดใหม่ ที่กำลังหาแนวทางการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ศึกษาได้จากคอนเทนต์นี้   Content Summary…

4 สิ่งที่คุณต้องรู้ ก่อนทำคอนเทนต์ดูดวง เอาใจสายมู
Marketing | News
4 สิ่งที่คุณต้องรู้ ก่อนทำคอนเทนต์ดูดวง เอาใจสายมู

กระแสบน Social Media เกี่ยวกับการดูดวง หมอดู และสายมู แสดงให้เห็นว่าคอนเทนต์ดูดวง ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคชาวไทยได้มากขนาดไหน จึงไม่แปลกที่หลาย ๆ แบรนด์จะมักจะทำ Seasonal…

คอนเทนต์แบบไหนที่คุณควรทำบนเพจธุรกิจแฟชั่น
Marketing | News
แชร์ 4 รูปแบบคอนเทนต์ ที่คนทำธุรกิจแฟชั่นต้องรู้

สำหรับคนทำธุรกิจแฟชั่น ไม่มีอะไรจะยากไปกว่าการนำเสนอคอนเทนต์ตามเทรนด์ฮิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงการต่อสู้กับสงครามราคา ที่มีผู้เข้าแข่งขันเพิ่มขึ้นมากมายจนนับไม่ถ้วน หากคุณเองก็เป็นเจ้าของธุรกิจเสื้อผ้า เครื่องประดับ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับแฟชั่น ลองมาดูกันว่า ควรทำคอนเทนต์แบบไหน จึงจะซื้อใจผู้บริโภคได้   Content…