ท่ามกลางเทรนด์การตลาด 2024 ที่ย้ำเตือนให้เราทราบว่าโลกธุรกิจกำลังหมุนไปข้างหน้าเร็วขึ้นทุกวัน อาจทำให้เจ้าของธุรกิจหลายท่านละเลยการวิเคราะห์ธุรกิจขั้นพื้นฐานที่มักทำกันเป็นประจำ นั่นคือการทำ SWOT Analysis แท้จริงแล้ว SWOT Analysis มีขั้นตอนอย่างไร และยังสำคัญต่อธุรกิจอยู่หรือไม่ มาเคลียร์ความเข้าใจไปด้วยกันกับ Digital Tips
SWOT คืออะไร
คำว่า SWOT คือ Framework ที่ใช้ประเมินประสิทธิภาพขององค์กร โดยนำตัวอักษรตัวแรกจากแต่ละองค์ประกอบมารวมกันเป็นคำ ได้แก่ S จาก Strengths, W จาก Weaknesses, O จาก Opportunities และ T จาก Threats ทั้งนี้ การนำทั้ง 4 องค์ประกอบมาปรับใช้เราจะเรียกว่า SWOT Analysis เพื่อประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน และหาหนทางพัฒนากลยุทธ์การตลาดให้ทัดเทียมกับคู่แข่งในแวดวงเดียวกัน
SWOT หมายถึงอะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
ดังที่เราได้กล่าวไปข้างต้นว่า SWOT คือ คำที่เกิดจากการนำอักษรตัวหน้าของทั้ง 4 องค์ประกอบที่จำเป็นต่อการประเมินศักยภาพขององค์กรมารวมกัน ซึ่งทั้ง 4 องค์ประกอบนี้ สามารถจัดกลุ่มได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก
>> อ่านเพิ่มเติม: รู้ครบ Digital Marketing คืออะไร การตลาดดิจิทัล ต้องทำอะไรบ้าง
ปัจจัยภายใน (Internal Factors)
ปัจจัยภายใน หมายถึง สิ่งที่องค์กรของคุณเองสามารถควบคุมได้ ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ ได้แก่ จุดแข็ง (Strengths) และ จุดอ่อน (Weaknesses)
จุดแข็ง (Strengths)
จุดแข็ง (Strength) คือ ความสามารถในการสร้างสินค้าหรือบริการ ซึ่งโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นบริษัทรับสกรีนเสื้อยืด จุดแข็งของคุณคือ เครื่องมือสกรีนที่ทันสมัย และระบบจัดส่งที่สามารถจัดส่งสินค้าได้ทั่วประเทศโดยไม่ผ่านบริษัทขนส่งเอกชน เป็นต้น
จุดอ่อน (Weaknesses)
จุดอ่อน (Weakness) คือ จุดที่ทรัพยากรขององค์กรยังขาดแคลน ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นบริษัทรับสกรีนเสื้อยืด จุดอ่อนของคุณคือยังไม่สามารถดีลงานกับโรงงานผลิตเสื้อยืดจากต่างประเทศได้โดยตรง ต้องผ่านคนกลางในประเทศจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำเข้าก่อน เป็นต้น
ปัจจัยภายนอก (External Factors)
ปัจจัยภายนอก หมายถึงสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์กร ขึ้นอยู่กับแนวโน้มทางเศรษฐกิจ สภาพสังคม และอื่น ๆ ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ ได้แก่ โอกาส (Opportunities) และ อุปสรรค (Threats)
โอกาส (Opportunities)
โอกาส (Opportunity) คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วจะส่งผลดีต่อองค์กร ตัวอย่างเช่น นโยบายลดภาษีนำเข้า นโยบายการจัดหางาน การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าของธุรกิจคุณเพิ่มขึ้นจากกระแสต่าง ๆ เป็นต้น
อุปสรรค (Threats)
อุปสรรค (Threat) คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลเสียต่อการทำธุรกิจ ตัวอย่างเช่น มาตรการล็อกดาวน์ช่วงโควิด 19 ที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถออกจากบ้านไปซื้อสินค้าได้ เป็นต้น
ประโยชน์ของการทำ SWOT Analysis
การที่จะผลักดันธุรกิจให้เติบโตได้ นอกจากจะต้องเข้าใจสถานการณ์ภายนอกแล้ว คุณยังจำเป็นต้องวิเคราะห์สถานการณ์ภายใน ซึ่งหนึ่งในหนทางที่จะทำเช่นนั้น ก็คือการทำ SWOT Analysis นั่นเอง และนี่คือตัวอย่างประโยชน์ที่คุณจะได้รับหลังการทำ SWOT Analysis
- รู้จักธุรกิจของตัวเองมากขึ้น และได้ทำความเข้าใจจุดอ่อน – จุดแข็งของตัวเอง
- ได้โอกาสในการใช้ STP Marketing เข้ามาวิเคราะห์ธุรกิจ และมอง Brand Positioning ของตัวเองออก
- สามารถหาหนทางกำจัดจุดอ่อนหรือบรรเทาความเสี่ยงได้
- วิเคราะห์อุปสรรคที่อาจจะต้องเจอ และหาหนทางป้องกันได้
- ทำให้ธุรกิจมองเห็น Customer Journey ของลูกค้าชัดเจนขึ้น
ข้อจำกัดของ SWOT Analysis
อย่างไรก็ดี SWOT Analysis ก็ไม่ใช่แนวคิดที่สามารถวิเคราะห์ทุกอย่างได้อย่างแม่นยำเสมอไป เพราะมีข้อจำกัดบางประการ อาทิ
- ปัญหาที่สำคัญก่อนหลังจะไม่ได้ถูกจัดลำดับ
- ไม่ได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาหรือแนวทางในการช่วยขจัดปัญหา
- อาจจะช่วยให้คุณมีไอเดียมากขึ้น แต่ไม่สามารถจำแนกสิ่งที่สำคัญที่สุดได้
- ข้อมูลที่ได้อาจเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ ไม่ใช่ข้อมูลเชิงคุณภาพ
- แม้จะได้ข้อมูลในเชิงภาพรวมมา แต่ก็เป็นปัจจัยที่คุณควบคุมไม่ได้อยู่ดี
อย่างไรก็ตาม SWOT Analysis ก็ยังถือว่าจำเป็นต่อการสร้างธุรกิจในช่วงเริ่มต้นอยู่ดี เพราะจะทำให้คุณเข้าใจธุรกิจของตัวเองได้ในภาพรวม และวางแผนแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ตัวอย่างการทำ SWOT Analysis [อัปเดต 2024]
ในส่วนนี้เราจะขอยกตัวอย่างการทำ SWOT Analysis แต่ละองค์ประกอบมาให้ทุกท่านได้ศึกษา ลองดูแล้ววิเคราะห์ธุรกิจของคุณไปพร้อม ๆ กันได้เลย
การวิเคราะห์จุดแข็ง (Strengths)
- อะไรบ้างที่เป็นข้อได้เปรียบที่องค์กรหรือธุรกิจของคุณมี เช่น ความรู้และความเชี่ยวชาญของทีม ชื่อเสียง ประสบการณ์ คอนเนคชั่นของธุรกิจ
- ปัจจัยที่จะสามารถช่วยให้องค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่มีมากกว่าคู่แข่งของคุณมีอะไรบ้าง
การวิเคราะห์จุดอ่อน (Weakness)
- ลักษณะการทำงานที่อาจก่อให้เกิดข้อบกพร่องในการทำงาน มีอะไรบ้าง
- ทีมของคุณยังคงขาดบุคลากรในตำแหน่งที่สำคัญอยู่หรือไม่
- อะไรบ้างที่คุณมองว่า ธุรกิจของคุณยังเสียเปรียบหรือยังทำได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
การวิเคราะห์โอกาส (Opportunities)
- ตลาดที่คุณกำลังอยู่มีโอกาสเติบโตและมีแนวโน้มให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการซื้อขายมากขึ้นหรือไม่
- อะไรบ้างที่มีในสังคมที่คุณสามารถนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้
การวิเคราะห์อุปสรรค (Threats)
- คู่แข่งรายใหม่ที่จะเข้ามาสู่ตลาดในอนาคตมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน
- การพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตจะเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจของคุณในอนาคตได้หรือไม่
- มีแนวโน้มของตลาดหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะทำให้คุณได้รับความเสียหายทางธุรกิจในอนาคตหรือไม่
ขั้นตอนการวิเคราะห์ SWOT
1. กำหนดเป้าหมายในการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน
กำหนดเป้าหมายให้แน่ชัดก่อนว่า จุดประสงค์ในการทำ SWOT Analysis ของคุณคืออะไร เพื่อที่จะสามารถวิเคราะห์ SWOT ในแต่ละปัจจัยได้อย่างชัดเจน และเห็นภาพมากขึ้น
2. รวบรวมทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง
การวิเคราะห์ SWOT แต่ละครั้งจะมีความแตกต่างกันไป และนั่นอาจทำให้คุณต้องอาศัยชุดข้อมูลใหม่ ๆ ทุกครั้งที่ตัดสินใจเริ่มวิเคราะห์ ดังนั้น ลองลิสต์ออกมาให้ชัดเจนว่า คุณต้องการข้อมูลอะไรบ้าง และจะรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นได้จากที่ไหน
3. ตั้งคำถามพร้อมจัดหมวดหมู่ในตาราง SWOT Analysis
วิธีการที่จะทำให้คุณสามารถตั้งคำถาม พร้อมจัดหมวดหมู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือการแบ่งปัจจัยในการตั้งคำถามเป็น 2 แบบ ได้แก่ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ดังนี้
- การประเมินสภาพแวดล้อมภายใน (Internal Factors) – คือการประเมินสภาพแวดล้อมภายในธุรกิจของคุณเองซึ่งเป็นสิ่งที่คุณสามารถควบคุม ดูแล และปรับปรุงได้ เช่น งบประมาณ เทคโนโลยี เครื่องจักรในการผลิต ฯลฯ
ตัวอย่างคำถาม:
จุดแข็ง – อะไรบ้างที่เป็นข้อได้เปรียบมีในองค์กรหรือธุรกิจของคุณ
จุดอ่อน – ลักษณะการทำงาน กระบวนการทางธุรกิจที่อาจทำให้เกิดข้อบกพร่องในการทำงาน มีอะไรบ้าง
- การประเมินสภาพแวดล้อมภายนอก (External Factors) – คือการประเมินสภาพแวดล้อมภายนอกที่คุณไม่สามารถควบคุมได้หรือเป็นสิ่งที่คุณไม่สามารถคาดเดาได้เลย เช่น สภาพเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค เทรนด์ของสังคม ฯลฯ
ตัวอย่างคำถาม:
โอกาส – โอกาสในการเปลี่ยนแปลงภายนอกใดบ้างที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ
อุปสรรค – พฤติกรรมของผู้บริโภคมีแนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ลบต่อธุรกิจของคุณหรือไม่
4. วิเคราะห์ SWOT
ขั้นตอนต่อมาก็คือการวิเคราะห์ SWOT หรือการใส่สิ่งที่คุณวิเคราะห์ลงไปให้ครบทั้ง 4 ปัจจัย ซึ่งต้องมีความสัมพันธ์กับการตั้งเป้าหมายของคุณในข้อแรกด้วย และต้องสำรวจข้อมูลให้ครบถ้วนทุกมุมของธุรกิจก่อน จึงค่อยใส่คำตอบจากการวิเคราะห์ลงไปในแต่ละปัจจัยอย่างละเอียด
>> อ่านเพิ่มเติม: Data Analytic คืออะไร
5. ปรับปรุงและพัฒนากลยุทธ์
เมื่อมองเห็นจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคที่สัมพันธ์กับธุรกิจของคุณแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนของการนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ เช่น ใช้ความรู้ด้าน Digital Marketing และ Social Media Marketing แขนงต่าง ๆ มาปรับปรุงธุรกิจของคุณ หรือวางแผนรับสมัครผู้ที่มีศักยภาพในด้านต่าง ๆ เข้าทีมเพิ่มเติม
>> อ่านเพิ่มเติม: 4P คืออะไร
กรณีศึกษา TOWS Matrix
หากพูดถึง SWOT Analysis แล้วอีกแนวคิดหนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือการวิเคราะห์ TOWS Matrix กรณีศึกษาที่เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ต่อยอดมาจาก SWOT ที่จะทำให้คุณได้เห็นภาพรวมของการทำธุรกิจมากขึ้น
TOWS Matrix คือเครื่องมือวิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจที่นำข้อมูลจากการทำ SWOT Analysis มาต่อยอดโดยใช้ปัจจัยที่เป็นจุดแข็งภายในและภายนอกเพื่อใช้ในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่สามารถปฏิบัติตามได้ ส่วนประกอบของ TOWS มีดังนี้ (T) Threats, (O) Opportunities, (W) Weaknesses, (S) Strengths
โดยการวิเคราะห์ TOWS Matrix จะสามารถแบ่งออกเป็นกลยุทธ์ได้ทั้งหมด 4 รูปแบบ โดยจะเป็นการประกอบจุดแข็งและจุดอ่อนให้เข้ากับโอกาสและอุปสรรค
- กลยุทธ์เชิงรุก (SO)
เป็นการจับคู่ระหว่าง Strength และ Opportunity (ใช้จุดแข็งร่วมกับโอกาส) มีความสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของธุรกิจ เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ที่เน้นสร้างผลลัพธ์ที่ให้ประโยชน์สูงสุด ผ่านการวิเคราะห์จุดแข็งของธุรกิจร่วมกับโอกาสที่เกิดขึ้น
- กลยุทธ์เชิงแก้ไข (WO)
เป็นการจับคู่ระหว่าง Weakness และ Opportunity (ใช้โอกาสลดจุดอ่อน) การใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีเพื่อลดจุดอ่อนในองค์กร เช่น หากธุรกิจไม่ได้เป็นผู้ครองตลาดในด้านใด ๆ แต่เห็นโอกาสในการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจที่แข็งแกร่งเพื่อร่วมกันทำให้อะไรบางอย่างที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายไปด้วยกันทั้งคู่
- กลยุทธ์เชิงป้องกัน (ST)
เป็นการจับคู่ระหว่าง Strength และ Threat (ใช้จุดแข็งรับมืออุปสรรค) คือ การใช้ประโยชน์จากจุดแข็งภายในทั้งหมดเพื่อเอาชนะอุปสรรค ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและสร้างการเติบโตได้ดีกว่าที่เราคาดคิดไว้
- กลยุทธ์เชิงรับ (WT)
เป็นการจับคู่ระหว่าง Weakness และ Threat (แก้ไขจุดอ่อนและเลี่ยงอุปสรรค) เป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นต้องลดจุดอ่อน เพื่อเอาชนะหรือหลีกเลี่ยงภัยคุกคามหรืออุปสรรคภายนอกที่กระทบต่อธุรกิจ ด้วยการพยายามแก้ปัญหาหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาเกิดเพิ่มขึ้น
การวิเคราะห์ TOWS แตกต่างจาก SWOT อย่างไร
“ไม่ได้แตกต่างกันแต่เป็นการทำงานร่วมกัน” เพราะการทำงานของ TOWS Matrix จะต่อเนื่องมาจากการทำงานของ SWOT ซึ่ง SWOT นั้นมีหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์ภายในและภายนอกขององค์กรในการทำธุรกิจต่าง ๆ และเรียบเรียงข้อมูลเหล่านั้นเพื่อให้เห็นภาพรวมที่เป็นอยู่แล้วก็จบลงแต่ TOWS Matrix ก็คือหลักการที่นำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อสร้างกลยุทธ์และนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคตนั่นเอง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ SWOT Analysis
การวิเคราะห์ SWOT เป็นหน้าที่ของใคร
การวิเคราะห์ SWOT เป็นหน้าที่ที่สามารถเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายภายในองค์กร โดยทั่วไปแล้ว หน้าที่นี้มักเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทีมงานหรือแผนกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ อาทิ ผู้บริหารระดับสูง ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (Business Development) ฝ่ายการตลาด หรือฝ่ายวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
สรุปเนื้อหา “SWOT คือ”
การวิเคราะห์ SWOT (SWOT Analysis) ช่วยให้ธุรกิจสามารถประเมินสภาพแวดล้อม และสถานการณ์ในการดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดี รวมถึงทำให้ทราบจุดแข็งและจุดอ่อนภายใน ตลอดจนมองเห็นโอกาสและอุปสรรคจากภายนอก ทุก ๆ ธุรกิจที่ยังอยู่ในช่วงของการเติบโตจึงไม่ควรละเลยการวิเคราะห์ SWOT และควรจัดการประชุมภายในเพื่อหารือสิ่งนี้กันทุก ๆ ไตรมาส หรือทุก ๆ เดือน
อ้างอิง
Semrush. SWOT Analysis: What It Is & How to Do It [Examples + Template]
Available from: https://www.semrush.com/blog/swot-analysis-examples/
Investpedia. SWOT Analysis: How To With Table and Example
Available from: https://www.investopedia.com/terms/s/swot.asp