ปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องฮือฮากับ AI Chatbot สุดชาญฉลาดตัวใหม่ ที่จะเข้ามาพลิกโฉมการหาข้อมูลผ่าน Search Engine แบบเดิม ๆ โปรแกรมแชตบอตตัวนี้มีชื่อว่า ChatGPT ซึ่งปัจจุบันเปิดให้ใช้ทั้งเวอร์ชันฟรีและเสียเงิน ผู้คนจำนวนมากจึงมีโอกาสได้ทดลองใช้ และค้นพบความสามารถใหม่ ๆ ของ ChatGPT อย่างไม่หยุดยั้ง กระทั่งล่าสุดวงการการตลาดออนไลน์ได้ค้นพบว่า ChatGPT สามารถช่วยวางแผนการทำคอนเทนต์บน Social Media ได้ จะมีขั้นตอนอย่างไร ในบทความนี้ Digital Tips จะอธิบายให้ฟัง!
ChatGPT คืออะไร?
ที่มา: https://thehill.com/policy/technology/3901479-5-things-to-know-about-gpt-4/
ChatGPT คือ โปรแกรมแชตบอตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ทำหน้าที่สร้างข้อความโต้ตอบกับผู้ใช้งานในรูปแบบการสนทนา โดยจะประมวลผลภาษาเลียนการใช้งานของมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติ ปัจจุบัน ChatGPT มีบทบาทคล้าย Search Engine แต่มีความสามารถที่ครอบคลุมกว่า กล่าวคือ นอกจากจะตอบข้อสงสัยของผู้ใช้งานอย่างตรงไปตรงมา ยังสามารถช่วยเขียน เรียบเรียง และวิเคราะห์ข้อมูลได้อีกด้วย
ChatGPT เปิดตัวเมื่อไหร่ ใครเป็นผู้สร้าง?
ChatGPT เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โดยบริษัท OpenAI หน่วยงานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ชื่อดัง ซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา การเปิดตัว ChatGPT ในครั้งนี้ สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการไอทีเป็นอย่างมาก ทำให้นักพัฒนาทั่วโลกตื่นตัวกับเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะบรรดา Search Engine ต่าง ๆ ที่เริ่มจะเปิดตัวปัญญาประดิษฐ์ของตัวเองบ้าง ดังเช่น Google Bard จาก Google ที่เพิ่งจะเปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566
ChatGPT เวอร์ชันล่าสุด
แม้การเปิดตัวของโปรแกรมแชตบอตอัจฉริยะอย่าง ChatGPT จะเรียกเสียงฮือฮาให้กับผู้ใช้งานทุกสาขาอาชีพ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ChatGPT เวอร์ชันแรกที่ทำงานด้วยโมเดล GPT-3.5 นั้นยังไม่สมบูรณ์แบบนัก เนื่องด้วยหลาย ๆ ข้อจำกัด อาทิ การแสดงผลเป็นข้อความได้เพียงอย่างเดียว การโต้ตอบบทสนทนาที่ยังไม่ค่อยลื่นไหล เป็นธรรมชาติ และยังค่อนข้างเอนเอียง เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ OpenAI จึงเปิดตัว ChatGPT เวอร์ชันใหม่เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเวอร์ชันนี้จะทำงานด้วยโมเดล GPT-4 สามารถแสดงผลแบบเป็นรูปภาพได้ สร้างสรรค์ผลงานได้กว้างขวางขึ้น และให้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้นถึง 40%
ทั้งนี้ การใช้งาน ChatGPT เวอร์ชัน GPT-4 จะอยู่ในแพ็กเกจ ChatGPT Plus ซึ่งจะมีค่าบริการประมาณเดือนละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 700 บาท
แชร์วิธีใช้ ChatGPT เพื่อวางแผนคอนเทนต์
หากคุณเจ้าของธุรกิจหรือ Content Creator ที่ต้องการวางแผนคอนเทนต์เพื่อทำเพจ Facebook โปรแกรม ChatGPT ช่วยคุณได้! แต่ก่อนอื่น ต้องเริ่มจากการสมัครเข้าใช้บริการก่อน
ลงทะเบียนเข้าใช้งาน ChatGPT
เข้าไปที่เว็บไซต์ https://chat.openai.com/ แล้วคลิกที่ Sign up เพื่อเริ่มลงทะเบียนสมาชิก
ที่มา: https://notroop.com/create-chat-gpt-account/
ใส่ Email Address และตั้งรหัสผ่านให้เรียบร้อย
ที่มา: https://notroop.com/create-chat-gpt-account/
ยืนยันตัวตนผ่านอีเมล และ Login เข้าใช้งานอีกครั้ง
ที่มา: https://notroop.com/create-chat-gpt-account/
เมื่อเข้าสู่หน้านี้ ก็ถือว่าเริ่มใช้งาน ChatGPT ได้ และเพื่อให้คุณสามารถนำวิธีของเราไปปรับใช้ได้ ขอยกตัวอย่างเฉพาะการใช้งานแบบ Free Version เท่านั้น
** ปัจจุบัน ChatGPT สามารถรับคำสั่งเป็นภาษาไทยได้
คิด Content Pillar ด้วย ChatGPT
สมมติว่า คุณกำลังทำเพจ Facebook เกี่ยวกับ “ยาแก้ไอสำหรับเด็ก” ลองป้อนคำสั่งให้ ChatGPT ช่วย Guideline Content Pillar ให้คุณดูสิ!
คำสั่ง: คิด Content Pillar คอนเทนต์ ยาแก้ไอสำหรับเด็ก
และนี่คือผลลัพธ์ที่ได้ในครั้งแรก จะเห็นว่า ChatGPT แนะนำให้คุณแบ่ง Content Pillar ออกเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่
- การเลือกยาแก้ไอที่เหมาะสมสำหรับเด็ก
- สมาชิกของยาแก้ไอสำหรับเด็ก
- วิธีการใช้ยาแก้ไอสำหรับเด็ก
- บทความเกี่ยวกับการดูแลเด็กที่มีอาการไอ
- แนะนำวิธีป้องกันการเกิดการไอในเด็ก
จะเห็นได้ว่า เมื่อถึงหัวข้อที่ 5 คำตอบของ ChatGPT หยุดทำงานกะทันหัน และหัวข้อ Content Pillar ที่แนะนำยังมีการใช้คำที่ไม่สมบูรณ์นัก เช่น การใช้คำว่า “สมาชิกของยา” แทนการใช้คำว่า “ส่วนประกอบของยา” เป็นต้น นอกจากนี้ แม้บางหัวข้อจะนำไปปรับใช้ได้ แต่ก็ยังจำกัดวงแคบมากเกินไป
นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของ ChatGPT เวอร์ชัน GPT-3.5 อย่างไรก็ดี หากพบว่าคำตอบที่ได้ยังไม่สมบูรณ์ คุณสามารถคลิก Regenerate Response เพื่อปรับปรุงคำตอบใหม่ได้ และนี่คือผลลัพธ์หลังจากที่เราคลิก Regenerate Response
จะเห็นได้ว่า คำตอบใหม่ของ ChatGPT มีการแยกหัวข้อหลักกับหัวข้อใหญ่ และคิด Content Pillar ที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
Tips: การ Regenerate Response จะช่วยให้ AI ประมวลผลได้ชาญฉลาดและแม่นยำมากขึ้น คุณจึงไม่ควรเชื่อคำตอบทันทีในครั้งแรก
ให้ ChatGPT ช่วย Guideline เนื้อหาคอนเทนต์
หลังจากที่คุณมองเห็นแนวทางของ Content Pillar เรียบร้อยแล้ว เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป ซึ่งก็คือการคิดหัวข้อคอนเทนต์ รวมถึงการเขียนเนื้อหาคอนเทนต์ ChatGPT ก็สามารถช่วยคุณได้เช่นกัน
คำสั่ง: ยกตัวอย่างคอนเทนต์ ที่เกี่ยวกับยาแก้ไอสำหรับเด็ก
แม้คำตอบของ ChatGPT จะยังไม่สมบูรณ์พอที่จะนำไปเขียนเป็นคอนเทนต์ได้ทันที แต่ก็ทำให้คุณมองเห็นภาพว่า ประเด็นเรื่องประโยชน์ และข้อจำกัดในการใช้ยาแก้ไอสำหรับเด็ก ก็เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ
ตัวอย่างสุดท้าย เราจะลองพิมพ์คำสั่งให้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น
คำสั่ง: คิด Facebook Caption เรื่อง ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ไอสำหรับเด็ก
จะเห็นได้ว่า ChatGPT เข้าใจความแตกต่างระหว่างความเรียงทั่วไปกับ Facebook Caption สังเกตจากการใช้ Hashtag ในคำตอบ แต่ก็ยังไม่สามารถเรียบเรียงคำให้เป็นธรรมชาติเฉกเช่นมนุษย์ 100% ได้
สรุป
ChatGPT คือ เครื่องมือชิ้นใหม่ที่จะทำให้การเรียนรู้ของมนุษย์รุดหน้าไปอีกขั้น และแน่นอนว่า ChatGPT สามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ และการตลาด อย่างไรก็ดี ความสามารถในการคิดคอนเทนต์ของ ChatGPT ก็ยังไม่สมบูรณ์นัก คุณจึงควรใช้ประโยชน์จากโปรแกรมแชตบอตตัวนี้ในขั้นตอนของการรวบรวมไอเดียเท่านั้น ไม่ควรนำคำหรือข้อความจาก ChatGPT ไปใช้งานเลยทันที โดยไม่ผ่านการกลั่นกรอง
อ้างอิง
OpenAI. Introducing ChatGPT
Available from: https://openai.com/blog/chatgpt
ZDNET. What is ChatGPT and why does it matter? Here’s what you need to know
Available from: https://www.zdnet.com/article/what-is-chatgpt-and-why-does-it-matter-heres-everything-you-need-to-know/
cnbc. Google announces Bard A.I. in response to ChatGPT
Available from: https://www.cnbc.com/2023/02/06/google-announces-bard-ai-in-response-to-chatgpt.html
scribehow. How to create your ChatGPT account
Available from: https://scribehow.com/shared/How_to_create_your_Chat_GPT_account__7D7TLY7uQW27xKLfaMbG2A