โพสต์รับสมัครงานการตลาดปลอม

หากคุณไถฟีด Facebook หรือ TikTok ในช่วงนี้ คงจะคุ้นเคยดีกับโพสต์ประกาศรับสมัครงานเงินเดือนสูง ที่ดูน่าสนใจ ออกแบบอาร์ตเวิร์กสวยงาม แต่จะมีจุดอันตรายหลาย ๆ อย่างที่เหมือนกัน พึงระมัดระวังไว้ เพราะนั่นอาจเป็น ‘งานการตลาดปลอม’ และหากคุณอยากรู้วิธีการสังเกตงานประเภทนี้ Digital Tips รวมมาให้แล้ว

งานตลาดปลอม คืออะไร

Fake Job Offer

ที่มา: https://www.indiancurrents.org/article-fake-job-racket-thriving-aarti-1391.php

งานการตลาดปลอม คือ ประกาศรับสมัครงานตำแหน่งต่าง ๆ ด้านการตลาด เช่น Digital Marketing, Graphic Designer หรือ Content Creator ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับสมัครงานจริง ๆ แต่เป็นประกาศงานปลอมจากมิจฉาชีพ ที่ต้องการล่อลวงให้คนเข้าร่วมประชุม ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมแนวแชร์ลูกโซ่ หรือซื้อขายสินค้าที่ผิดกฎหมาย

>> อ่านเพิ่มเติม: 7 วิธีสังเกตเพจปลอม เพจหลอกโอนเงิน ภัยใกล้ตัวบน Facebook

งานการตลาดปลอม มักถูกโพสต์อยู่ในช่องทางไหน

โดยมากเรามักจะเห็นงานการตลาดปลอมโพสต์บน Social Media ไม่กี่ที่ อาทิ

Job Scams

ที่มา: https://consumer.gov/scams-and-identity-theft/job-scams

  • Facebook Group: ช่องทางที่จะพบงานการตลาดปลอมได้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่ม Facebook ที่เน้นงานด้านการตลาดโดยเฉพาะ
  • Facebook Ads: เป็นโพสต์ที่ยิงแอดลอย ๆ บน Facebook
  • เว็บไซต์ประกาศรับสมัครงาน: มักจะเป็นประกาศรับสมัครงานที่อธิบาย Job Description หรือช่องทางการติดต่อไม่ชัดเจน
  • TikTok: เป็นคลิปประกาศรับสมัครงานที่ตัดต่อให้ดูสวยงาม มีเนื้อหาค่อนข้างขายฝัน และมักจะฉายภาพบรรยากาศการทำงานแบบคนรุ่นใหม่

จะรู้ได้อย่างไร ว่าประกาศงานที่เห็นเป็นงานการตลาดปลอม

หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่รู้สึกว่า ตัวเองเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของประกาศงานการตลาดปลอม Digital Tips มีวิธีการสังเกตโพสต์งานลักษณะนี้ทั้งสิ้น 6 วิธีด้วยกัน มาเริ่มเลย!

ตัวอย่างงานการตลาดปลอม

1. มักจะให้ผู้สมัครติดต่องานผ่าน LINE ID

งานการตลาดปลอมจะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือไม่ได้มีอีเมลกลางเป็นชื่อบริษัท หรือสถานที่ตั้งของบริษัทที่ชัดเจน แต่จะให้ผู้สมัครติดต่อบริษัทผ่าน LINE ID ที่มีชื่อแปลก ๆ แทน หากคุณพบประกาศงานในลักษณะนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า เป็นประกาศงานการตลาดปลอม

2. ประกาศรับสมัครงานเนื้อหาเดิม แต่ปรับรูปแบบกราฟิกไปเรื่อย ๆ

เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของ AI และสามารถหลอกลวงเหยื่อรายใหม่ ๆ ได้เรื่อย ๆ ประกาศงานลักษณะนี้ก็มักจะเปลี่ยนสีสัน ฟอนต์ และการออกแบบไปเรื่อย ๆ แต่หากสังเกตจะพบว่า ประกาศดังกล่าวมีเนื้อหาแบบเดิม โพสต์โดยคนคนเดิม และ LINE ID เดิม

3. งานการตลาดปลอม มักจะรับสมัครทั้ง Freelance, Part-time และ Full-time

ประกาศงานการตลาดปลอมเหล่านี้มักจะกำหนดว่า ยินดีต้อนรับเพื่อนร่วมงานทั้งในรูปแบบ Freelance, Part-time และ Full-time เพื่อดึงดูดเหยื่อที่มีความต้องการแตกต่างกันให้หลงเชื่อให้มากที่สุด เนื่องจากการสายการตลาดเป็นงานที่สามารถทำงานแบบ Remote Work ได้ และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของโลกหลังยุคโควิดได้เป็นอย่างดี

4. กำหนดช่วงเงินเดือนค่อนข้างสูง ดึงดูดใจคนส่วนใหญ่

สมัยนี้มีประกาศรับสมัครงานถูกโพสต์ลงบนโลกออนไลน์ค่อนข้างมาก และแต่ละประกาศก็ย่อมดึงดูดผู้สมัครให้สนใจด้วยอัตราเงินเดือน ดังนั้น มิจฉาชีพจึงมองเห็นช่องทางเหล่านี้ และกำหนดเงินเดือนให้สูงกว่าปกติ (แต่ไม่สูงมากเกินไป) เพื่อหลอกล่อให้คนหลงเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ประกาศรับคนทำงานอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่กำหนดวุฒิการศึกษา แต่การันตีรายได้กว่า 20,000 บาท เป็นต้น

5. ไม่ระบุที่ตั้งออฟฟิศชัดเจน ระบุเพียงว่าอยู่ใกล้แนว BTS และ MRT

อีกหนึ่งลักษณะเฉพาะของประกาศงานเหล่านี้ คือจะไม่ระบุที่ตั้งออฟฟิศชัดเจน ว่าตั้งอยู่ที่ตึกชื่ออะไร ชั้นไหน หมายเลขห้องอะไร แต่จะระบุเพียงแค่คำว่า “ออฟฟิศอยู่ใกล้แนว BTS MRT” เพื่อหลอกล่อให้คนแอดไลน์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

6. มักระบุว่าเป็นงานบริษัทอาหารเสริมจากต่างประเทศ

จุดสังเกตสุดท้าย คืองานการตลาดปลอมมักเรียกความสนใจ ด้วยการนิยามตัวเองว่าเป็นบริษัทผลิตหรือนำเข้าอาหารเสริมจากต่างประเทศ เช่น เกาหลี หรืออเมริกา โดยจะเลือกประเทศที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือในตลาด พร้อมเขียนคำบรรยายดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ ให้รู้สึกสนใจอยากสมัคร

คำถามที่พบบ่อย

พบประกาศงานการตลาดปลอมบ่อย ๆ บน Social Media ทำอย่างไรดี

หากคุณพบประกาศงานการตลาดปลอม ไม่ว่าจะบนช่องทางไหน แนะนำให้กดรายงานโพสต์นั้น ๆ เพื่อแจ้งให้ผู้ดูแลกลุ่ม หรือผู้ดูแลแพลตฟอร์มทราบ และอาจตักเตือนเพื่อน ๆ ใกล้ตัว ให้ระวังโพสต์ในลักษณะดังกล่าว

เผลอตกเป็นเหยื่องานการตลาดปลอมแล้ว ทำอะไรได้บ้าง

รวบรวมหลักฐาน ทั้งโพสต์เชิญชวนที่คุณเห็นบน Social Media หลักฐานการพูดคุยกับทีมงาน หลักฐานการโอนเงิน (ถ้ามี) ภาพถ่ายเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น งานประชุมสัมมนา อันมีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมเงินค่าสมาชิก ไม่ใช่งานตามประกาศที่แจ้ง แล้วเข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจในท้องที่ได้ทันที

สรุป

ทั้งหมดนี้ คือวิธีสังเกตโพสต์งานการตลาดปลอม ที่คนหางานสายการตลาดควรรู้ไว้ เพื่อหลีกให้ไกลจากเหล่ามิจฉาชีพ ซึ่งแทนที่จะได้งาน มีรายได้ คุณอาจต้องเสียเงินมากมายไปกับค่าสมาชิก หรือเสี่ยงต่อการทำงานผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี หากพบประกาศงานเหล่านี้ตามช่องทางต่าง ๆ อย่าลืมรายงานผู้ดูแลแพลตฟอร์ม เพื่อแจ้งลบประกาศดังกล่าว ป้องกันผู้อื่นตกเป็นเหยื่อเพิ่มเติม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รวมทิปส์เด็ดสำหรับทำ Reels Marketing ที่ Meta อยากบอกคุณ
Facebook | Instagram
รวมทิปส์เด็ดสำหรับทำ Reels Marketing ที่ Meta อยากบอกคุณ

สำหรับคนทำคลิป Reels ไม่ว่าจะเป็น Instagram Reels หรือ Facebook Reels ย่อมต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งสิ้น ทั้งเทรนด์ของวิดีโอที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประเด็นทางสังคมที่คนพูดถึง และการอำนวยความสะดวกในการรับชม…

เทรนด์คอนเทนต์วิดีโอ 2024
Facebook | TikTok | YouTube
สายวิดีโอต้องอ่าน เทรนด์คอนเทนต์วิดีโอ 2024 มัดรวม 3 แพลตฟอร์ม

สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับคนทำ Video Content คือการศึกษาความแตกต่างของแพลตฟอร์มวิดีโอทุก ๆ แพลตฟอร์ม และเดินทางเทรนด์คอนเทนต์วิดีโอที่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งปี แน่นอนว่า Digital Tips เข้าใจความท้าทายนี้ เราจึงรวบรวมเทรนด์คอนเทนต์วิดีโอประจำปี…

Virtual Try-on บน Google
AI Marketing | Google
Virtual Try-on ฟีเจอร์สำหรับลองเสื้อก่อนซื้อจริงบน Google Shopping

ท่ามกลางกระแส E-commerce ที่กำลังมาแรง Google โปรแกรม Search Engine อันดับ 1 ของโลกจึงกระโดดลงมาเป็นผู้เข้าแข่งขันในสนามนี้บ้าง ด้วยการเปิดตัว Google…