“คุณเข้าใจคำว่า E-commerce ดีแค่ไหน?”
ในยุคสมัยที่การช้อปปิ้งออนไลน์กำลังเจริญจนถึงขีดสุด E-commerce คือ คำที่เราได้ยินกันเป็นประจำ ซึ่งความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ E-commerce หมายถึงทุก ๆ ธุรกิจที่ขายสินค้าบนโลกออนไลน์ แต่จะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือไม่ Digital Tips สรุปทุกเรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ E-commerce มาไว้ในบทความนี้แล้ว มาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันเลย!
E-commerce คืออะไร
ที่มา: https://translatebyhumans.com/blog/history-and-evolution-of-ecommerce/
E-commerce คือ การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยอาศัยแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือ Social Media เพื่อทำให้การซื้อขายเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ การทำงานของ E-commerce จะครอบคลุมตั้งแต่การเลือกซื้อสินค้าและบริการ การชำระเงิน และการเลือกบริการขนส่ง (ถ้ามี) ความสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องอิงกับสถานที่เช่นนี้ ทำให้ตลาด E-commerce เติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
>> อ่านเพิ่มเติม: 9 เทคนิคการขายของออนไลน์ ให้ลูกค้าเข้า ยอดขายปัง! อัพเดทปี 2023
E-commerce เกิดขึ้นได้อย่างไร
ปัจจุบัน E-commerce กระจายไปยังทุกหนทุกแห่งบนโลก จนยากจะหาคำตอบว่ามีจุดเริ่มต้นจากอะไร แต่จากการรวบรวมข้อมูลของเว็บไซต์ Investopedia สันนิษฐานว่า E-commerce เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งช่วงนั้นมีระบบที่เรียกว่า Electronics Data Interchange คอยอำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนเอกสารให้กับบริษัทต่าง ๆ จนกระทั่งในปี 1994 การทำธุรกรรมออนไลน์ก็เกิดขึ้นครั้งแรกบนเว็บไซต์ชื่อ NetMarket และพัฒนามาเรื่อย ๆ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
E-commerce แบ่งออกเป็นกี่รูปแบบ
เราสามารถจำแนก E-commerce ออกเป็น 4 รูปแบบตามโมเดลธุรกิจต่าง ๆ ได้ดังนี้
ที่มา: https://www.spiceworks.com/marketing/ecommerce/articles/what-is-ecommerce-marketing/
B2B – Business to Business
โมเดลการทำ E-commerce แบบ B2B คือการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับธุรกิจอื่น ยกตัวอย่างเช่น การขายวัตถุดิบให้กับโรงงานผู้ผลิตสินค้า หรือการให้บริการ Web-hosting แก่บริษัทที่ต้องการทำธุรกิจผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น
B2C – Business to Consumer
การทำ E-commerce แบบ B2C ก็คือการซื้อ-ขายสินค้าและบริการออนไลน์แบบปกติทั่วไป ซึ่งหมายถึงการขายสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภคที่ต้องการโดยตรง
C2C – Consumer to Consumer
โมเดลธุรกิจแบบ C2C อาจเป็นคำที่ไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่พบเจอได้ทั่วไปในกลุ่ม Facebook หรือเว็บบอร์ดส่งต่อของมือ 2 ต่าง ๆ เพราะ C2C หมายถึงการส่งต่อสินค้าและบริการระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภคนั่นเอง
C2B – Consumer to Business
C2B หมายถึง การที่ผู้บริโภคนำสินค้าหรือบริการของตัวเองไปขายให้กับธุรกิจต่าง ๆ เช่น ช่างภาพอิสระที่ขายภาพถ่ายของตนให้บริษัทโฆษณา เป็นต้น
ขั้นตอนการทำงานของ E-commerce
ที่มา: https://www.cloudways.com/blog/what-is-ecommerce/
เพื่อให้คุณมองเห็นภาพรวมมากขึ้นว่า E-commerce ทำงานอย่างไร เราขอสรุปกระบวนการทำงานของ E-commerce ตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนี้
- ผู้ขายแสดงรายการสินค้าและบริการของตนผ่านทางเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือ Social Media
- ลูกค้าเรียกดูรายการสินค้าที่สนใจ และเพิ่มไปยังรถเข็น
- ลูกค้าตัดสินใจเลือกสินค้าในรถเข็นอีกครั้ง ก่อนสั่งซื้อจริง และจัดการเรื่องชำระเงินบนแพลตฟอร์ม
- ผู้ขายได้รับรายการสั่งซื้อบนแดชบอร์ดของตัวเอง
- ผู้ขายประมวลผลและอนุมัติคำสั่งซื้อ
- คำสั่งซื้อถูกส่งต่อไปยังคลังสินค้าเพื่อจัดส่งสินค้าตามออเดอร์
- ลูกค้าได้รับการแจ้งเตือนเรื่องการจัดส่ง และการติดตามสถานะการขนส่ง
- จัดส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้า
ข้อดีและข้อเสียของ E-commerce
แน่นอนว่าทุก ๆ เทคโนโลยีย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย E-commerce ก็เช่นเดียวกัน หากคุณคือหนึ่งในผู้ประกอบการที่กำลังตัดสินใจว่าจะลองลงสนาม E-commerce บ้างดีหรือไม่ ลองศึกษาข้อมูลนี้ก่อนตัดสินใจ
ที่มา: https://christineelearning.home.blog/2019/02/15/16/
ข้อดีของ E-commerce
- มอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้า: ธุรกรรมที่ทำผ่าน E-commerce สามารถดำเนินการได้ตลอด 24 ชม. โดยไม่อิงกับสถานที่และเวลา ทำให้ลูกค้ามีความสุขกับการสั่งซื้อสินค้า เพราะสามารถเลือกซื้อจากที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้
- เปิดโอกาสให้ผู้ขายสร้างรายได้มากขึ้น: ไม่เพียงแต่ลูกค้าเท่านั้น ฝั่งผู้ขายเองก็ได้รับความสะดวกสบายเช่นกัน เพราะคุณสามารถสร้างยอดขายได้ตลอดแม้ยามนอนหลับ โดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าเช่าหน้าร้าน หรือค่าล่วงเวลาแต่อย่างใด
- ต้นทุนในการทำธุรกิจลดลง: ธุรกิจที่เน้นทำเฉพาะ E-commerce จะประหยัดต้นทุนในส่วนของค่าเช่า/ ซื้อสถานที่ ค่าประกัน ค่าบำรุงรักษาอาคาร ตลอดจนภาษีทรัพย์สินต่าง ๆ ไปลงทุนเฉพาะส่วนการจ้างพนักงานและซอฟต์แวร์แทน
- เอื้อต่อการทำการค้าระหว่างประเทศ: เมื่อนำธุรกิจเข้าสู่ระบบ E-commerce คุณจะมีโอกาสขยายฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศได้ง่ายขึ้น เพราะ E-commerce เป็นการทำธุรกิจแบบไร้พรมแดน และคุณย่อมเข้าถึงคนทั้งโลกได้ผ่านอินเทอร์เน็ต
ข้อเสียของ E-commerce
- จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีตลอด 24 ชม.: หากสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือระบบซอฟต์แวร์หลังบ้านมีปัญหา การค้าขายผ่าน E-commerce ก็จะหยุดชะงัก
- เสี่ยงต่อการทำให้ลูกค้าไม่พึงพอใจ: ความสะดวกและรวดเร็วของการขายออนไลน์คือดาบ 2 คม แค่ระบบหลังบ้านมีปัญหาชั่วครู่ หรือการจัดส่งที่ล่าช้าเพียงไม่กี่วัน ก็อาจทำให้ลูกค้าไม่พึงพอใจ และหนีไปซื้อขายกับบริษัทคู่แข่งได้โดยง่าย
- ลูกค้าไม่สามารถจับต้อง หรือทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ได้ก่อน: แม้นี่จะเป็นข้อจำกัดปกติของการสั่งซื้อของออนไลน์ แต่หากสินค้าที่สั่งซื้อไม่ตรงกับความคาดหวัง ก็เสี่ยงที่ลูกค้าจะร้องเรียนขอคืนเงิน หรือรีวิวธุรกิจของคุณในทางที่ไม่ดี
- การแข่งขันค่อนข้างสูง: ปัจจุบันสนาม E-commerce เต็มไปด้วยผู้เข้าแข่งขันมากมาย และหลาย ๆ เจ้าคือยักษ์ใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับต้น ๆ ของประเทศ การขายสินค้าแบบ E-commerce จึงค่อนข้างโหดหินสำหรับธุรกิจใหม่
สรุป
E-commerce คือ โมเดลธุรกิจที่ค่อนข้างใกล้ตัว และเป็นทางเลือกแรก ๆ ของคนส่วนใหญ่ ทำให้การแข่งขันของธุรกิจประเภทนี้ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี แม้การลองขายสินค้าผ่าน E-commerce จะเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทาย แต่หากประสบความสำเร็จ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คุ้มค่าแน่นอน
อ้างอิง
Investopedia. E-commerce Defined: Types, History, and Examples
Available from: https://www.investopedia.com/terms/e/ecommerce.asp#toc-advantages-and-disadvantages-of-e-commerce
Forbes. What Is E-Commerce? Definition, Types & Getting Started
Available from: https://www.forbes.com/advisor/business/what-is-ecommerce/