เคยไหม? คลิกอ่านเว็บข่าวทีไรก็เจอแต่แบนเนอร์โฆษณา บ้างก็คาดอยู่บนส่วน Headline ดูสะอาดตา และบ้างก็เป็นกรอบเล็ก ๆ ที่จะต้องคอยคลิก Close เพื่อปิดหน้าต่างโฆษณาอยู่เสมอ แท้จริงแล้วโฆษณาเหล่านี้คืออีกหนึ่งรูปแบบของโฆษณาบน Google เรียกว่า Google Display Network นั่นเอง หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจที่สนใจจะซื้อโฆษณาในรูปแบบนี้ นี่คือ 5 เรื่องสำคัญที่คุณควรรู้ ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกัน!
Google Display Network คืออะไร
Google Display Network คือ การซื้อโฆษณาที่ไม่ได้แสดงผลบน Google โดยตรง แต่จะไปแสดงผลเป็นแบนเนอร์โฆษณาบนเว็บไซต์ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Google โดยผู้ใช้งานโฆษณาสามารถกำหนดได้ว่า อยากให้โฆษณาของคุณแสดงผลบนเว็บไซต์เกี่ยวกับอะไรบ้าง หรืออาจเลือกให้โฆษณาแสดงผลแบบสุ่มเว็บไซต์ก็ได้
5 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ Google Display Network
Google Display Network มีความแตกต่างกับโฆษณาบน Google Search ค่อนข้างมาก คุณจึงควรศึกษาความแตกต่างนั้น ก่อนตัดสินใจให้ GDN Ads เป็นองค์ประกอบหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดของคุณ
Google Display Network มีวิธีคิดค่าโฆษณา 2 แบบ
ปกติแล้วโฆษณาแบบ Google Search Ads จะคิดค่าโฆษณาเป็น Cost-Per-Click หรือ คิดตามจำนวนการคลิกโฆษณา ซึ่งราคาต่อคลิกก็จะขึ้นอยู่กับความนิยมของ Keyword ที่คุณเลือกใช้ แต่สำหรับ Google Display Network คุณจะสามารถเลือกชำระค่าโฆษณาได้ 2 แบบ ดังนี้
- Cost-Per-Click (CPC): จ่ายค่าโฆษณาตามจำนวนการคลิกชมโฆษณา
- Cost-Per-Thousand-Impression (CPM): จ่ายค่าโฆษณาตามจำนวนการแสดงผลครบทุก ๆ 1,000 ครั้ง (ซึ่งจะมีคนคลิกเข้าชมหรือไม่ก็ได้)
Google Display Network ไม่สามารถวัดผลในเชิงยอดขายได้
แน่นอนว่ามีคนจำนวนมากมองเห็นโฆษณา GDN บนเว็บไซต์ แต่ไม่ค่อยมีใครตัดสินใจคลิกไปที่แบนเนอร์โฆษณาเหล่านั้น ความจริงข้อนี้ทำให้ Google Display Network เป็นรูปแบบโฆษณาที่ให้ผลดีเฉพาะการสร้าง Brand Awareness เท่านั้น และที่สำคัญ แม้ว่าคุณจะอยากลองวัดผลในเชิงยอดขาย แต่ Google Display Network ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะแม้ว่าจะมีผู้คนจำนวนมากมองเห็นโฆษณาของคุณ แต่พวกเขาอาจตัดสินใจซื้อผ่าน Facebook หน้าร้าน หรือเว็บไซต์ E-commerce ต่าง ๆ โดยไม่ซื้อผ่าน Official Website ของคุณก็ได้
จุดเด่นของ Google Display Network คือ การกำหนดเป้าหมายโฆษณา
Google Display Network คือ รูปแบบโฆษณาที่สามารถกำหนดเป้าหมายได้ค่อนข้างละเอียด อาทิ
- ข้อมูลทางประชากรศาสตร์ของกลุ่มเป้าหมาย เช่น เพศ อายุ การศึกษา พื้นที่ ฯลฯ
- วันและเวลาที่ต้องการลงโฆษณา
- ความถี่ของการโฆษณา เช่น ต้องการให้มีเห็นโฆษณาเพียงวันละ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้ง เพื่อไม่ให้คนรู้สึกว่ากำลังถูกรบกวน เป็นต้น
- Placement หรือ เว็บไซต์ที่คุณต้องการให้โฆษณาไปแสดงผล ซึ่งโดยทั่วไปผู้ใช้โฆษณามักจะเลือกเป็นเว็บข่าวที่มีอัตราการเข้าชมค่อนข้างมาก
- Keyword หรือคำค้นหาของลูกค้า (เมื่อมีคนค้นหาข้อมูลด้วย Keyword ที่กำหนดไว้ แล้วคลิกเข้าชมเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เป็นพาร์ทเนอร์ของ Google พวกเขาก็จะมองเห็นโฆษณาของคุณ)
ที่มา: https://www.bmon.co.uk/2011/08/introducing-googles-display-network-ads/
Google Display Network ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพเสมอไป
แม้จะแสดงผลในรูปแบบแบนเนอร์โฆษณา แต่ความพิเศษของ Google Display Network คือ สามารถสร้างโฆษณาแบบไม่มีรูปภาพได้ เพียงตั้งค่า Format เป็น Text Ads หรือโฆษณาแบบข้อความ ซึ่งจะมีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับ Google Search Ads ได้แก่ Headline, Description และ URL
Google Display Network สามารถทำ Remarketing ได้
รู้หรือไม่? หากคนเราได้เห็นสิ่งเดิม ๆ ซ้ำ ๆ จะทำให้เราสนใจสิ่งเหล่านั้นได้ในที่สุด การทำ Remarketing กับโฆษณา GDN ก็ตั้งอยู่บนหลักการนี้เช่นเดียวกัน โดยคุณสามารถค้นหา Target Audience ที่เหมาะสม แล้วจัดทำเป็น Custom Audience List ไว้ เพื่อนำมาใช้ตั้งค่าเป็นกลุ่มเป้าหมายในการโฆษณาครั้งต่อไป
>> ศึกษาเรื่อง Remarketing เพิ่มเติม อ่านต่อได้ที่: Remarketing คืออะไร แตกต่างจาก Retargeting อย่างไร มีคำตอบ!
สรุป
GDN Ads หรือ Google Display Network คืออีกหนึ่งทางเลือกในการสร้าง Brand Awareness เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถจดจำคุณได้ และกลายเป็นลูกค้าในที่สุด ดังนั้น ในระยะเริ่มต้นของการก่อตั้งธุรกิจ แนะนำให้คุณลองใช้บริการโฆษณาประเภทนี้ ควบคู่ไปกับการยิงโฆษณาบน Facebook
อ้างอิง
Google Ads. Reach a larger or new audience with Google Display Network targeting
Available from: https://ads.google.com/intl/en_id/home/resources/reach-larger-new-audiences/
WordStream. Google Display Network Now Auto-Converts Text Ads into ‘Richer Text’ Image Ads
Available from: https://www.wordstream.com/blog/ws/2015/08/31/richer-text-ads