persona

Persona หรือ User Persona คือแนวคิดที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานด้าน Digital Marketing และ Social Media Marketing ในการให้คุณได้จำลองและรู้จักตัวตนที่แท้จริงของทั้งลูกค้าและตัวตนของแบรนด์ (Brand Persona) ซึ่งการกำหนด Persona Target ได้อย่างแม่นยำจะช่วยส่งผลระยะยาวให้กับทำการตลาดของคุณสื่อสารไปหากลุ่มลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

แต่เชื่อว่ายังมีนักการตลาดมือใหม่อีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า Persona ที่แท้จริงเพราะฉะนั้นในบทความนี้เราเลยขอมาอธิบายว่าจริง ๆ แล้ว Persona คืออะไร ทำไมเราควรสร้างผู้ใช้จำลองในการทำการตลาด หากพร้อมแล้ว ไปติดตามกันได้เลย



Persona คืออะไร 

Persona คือการจำลองตัวละครหรือการสร้างต้นแบบให้เป็นตัวแทนของกลุ่มลูกค้าของธุรกิจคุณเพื่อตีกรอบเป้าหมายหรือกลุ่มคนที่จะเข้ามาเป็นลูกค้าเรา เราอาจเรียกว่า Customer Persona, Target Persona หรือ Buyer Persona ก็ได้ ซึ่งทั้งหมดมีความหมายเดียวกัน โดยการจำลอง Persona ขึ้นมาสักหนึ่งคนนั้นเราจะต้องอ้างอิงข้อมูลจากการทำ Research หรือข้อมูลที่ได้จาก Data Analytics ต่างๆ มาเป็นตัวกำหนดเพื่อที่จะได้รู้ว่ากลุ่มคนที่เป็นลูกค้าส่วนใหญ่ของคุณจะเป็นกลุ่มคนประมาณไหน พวกเขามีปัญหาอะไรและมีวิธีแก้ปัญหาในแต่ละเรื่องอย่างไร 


ทำไมนักการตลาดถึงควรใช้ Persona

หากเปรียบการทำธุรกิจเป็นการเดินเรือ การกำหนด Persona ก็คือการตั้งหางเสือเรือ เพื่อบังคับและควบคุมแนวทางของการเดินเรือให้ถูกต้อง นั่นเพราะ Persona จะทำให้คุณมองเห็นภาพว่า สินค้าของคุณทำมาเพื่อสนองความต้องการของใคร และควรสื่อสารกับพวกเขาด้วยวิธีการไหน ทั้งนี้ เพื่อให้คุณมองเห็นภาพมากขึ้น ลองสมมติว่าคุณคือผู้ผลิตโปรแกรมถอดเสียงการประชุมโดย AI และนี่ก็คือความต้องการของลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มของคุณ

ลูกค้ากลุ่ม A: มองหาเครื่องมือช่วยถอดเสียงในการประชุม เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน

ลูกค้ากลุ่ม B: มองหาโปรแกรมช่วยถอดเสียง เพื่อการถอดความที่มีคุณภาพ ลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ (Human Error)

อย่างไรก็ดี คุณจะไม่มีทางเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้เด่นชัด หากไม่ได้รวบรวมข้อมูลของลูกค้าและวิเคราะห์ออกมาเป็น Persona ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จนเข้าใจเป้าหมายเช่นนี้ คุณก็จะสามารถกำหนดแนวทางการตลาดได้ว่า จะสื่อสารกับลูกค้าแต่ละกลุ่มในแง่มุมไหน อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจยิงแอดโดยเน้นสื่อสารว่า โปรแกรมของคุณสามารถถอดเสียงได้กี่คำต่อนาที ช่วยลดเวลาการทำงานลงไปได้เฉลี่ยกี่ชั่วโมงต่อวัน เพื่อสื่อสารกับลูกค้ากลุ่ม A และในขณะเดียวกัน คุณก็สร้างโฆษณาขึ้นมาอีกหนึ่งชิ้น เน้นสื่อสารเรื่องประสิทธิภาพของ AI และความเข้าใจภาษาของมนุษย์ เพื่อยิงแอดไปหาลูกค้ากลุ่ม B เป็นต้น


Persona marketing สำคัญอย่างไร

การทำ Persona Marketing เป็นมากกว่า “สร้างหุ่นจำลองลูกค้า” แต่คือการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล จนสามารถหาวิธีที่ทำให้ทุกคนในทีมมองเห็นภาพเดียวกันได้ ซึ่งทีมในที่นี่ไม่ได้หมายถึงทีมการตลาดอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทีมขายและทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกด้วย กล่าวคือ Persona Marketing ทำหน้าที่เป็นหมุดหมายให้ทีมการตลาดได้ทราบว่า ควรวางแผนการตลาดและจัดทำโฆษณาเพื่อให้ใครดูในขณะเดียวกัน ทีมขายและทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็จะได้ทราบอย่างแน่ชัดว่า กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของใคร ซึ่งข้อมูลนี้จะทำให้พวกเขาสามารถปฏิบัติงานได้ตรงโจทย์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่เพียงการสร้าง Persona ของลูกค้าเท่านั้นที่สำคัญ แต่องค์กรเองก็ควรวาง Persona ของตนเองเอาไว้ด้วย ควรวางหมุดหมายและบทบาทของตัวเองให้ดีว่า จะเป็นภาพแทนของคนกลุ่มไหน ใช้ภาษาในการสื่อสารแบบใด และต้องการให้ทีมงานวางตัวแบบใด เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจและตัดสินตัวตนของแบรนด์ได้ตรงตามที่องค์กรวางแผนไว้


Persona ที่ดีเป็นอย่างไร

ลักษณะของ Persona ที่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนและการออกแบบบทสนทนาที่เหนือชั้น แต่ขึ้นอยู่กับการรวบรวมข้อมูลและทำซ้ำอย่างต่อเนื่องจนสามารถออกแบบ “โปรไฟล์” พื้นฐาน ที่สามารถตอบคำถามสำคัญ ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น

  • ปัญหาของลูกค้าเจ้าของ Persona นี้คืออะไร?
  • ผลิตภัณฑ์ของคุณช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ไหม?
  • หากช่วยได้ ช่วยได้ด้วยวิธีการใด?

หาก Persona ที่คุณออกแบบไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน การทำ Persona ขึ้นมาก็ไร้ความหมาย ทั้งต่อฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด และทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะอันที่จริงแล้วข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ของลูกค้า อาทิ ความชอบ สไตล์ พฤติกรรม ที่อยู่อาศัย ฯลฯ เป็นเพียงข้อมูลแวดล้อมเท่านั้น กุญแจที่สำคัญคือ “ผลิตภัณฑ์จะตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างไร” นั่นเอง


ขั้นตอนการสร้าง Persona 

หลังจากที่เราได้รู้ว่าความหมายของคำว่า Persona คืออะไรกันไปแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือขั้นตอนที่เราจะเริ่มสร้าง Persona ของธุรกิจขึ้นมากันแล้วซึ่งในการสร้าง Persona ที่ดีนั้นห้ามนั่งเทียนคิดขึ้นมาเองเด็ดขาด ควรจะต้องสร้าง Persona ขึ้นมาจากข้อมูลและขั้นตอนที่ถูกต้องซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) 

ขั้นตอนนี้คือขั้นตอนแรกที่จะใช้สำหรับการวิเคราะห์และสร้าง Persona สำหรับธุรกิจที่มีลูกค้าอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรมเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำความเข้าใจว่ากลุ่มลูกค้าหลักของคุณคือใคร ซึ่งจะมีขั้นตอนในการวิเคราะห์อยู่ 3 ขั้นตอนได้แก่

1. รวบรวมข้อมูลลูกค้า 

เริ่มแรกคุณต้องทำการสร้างสมมติฐานของ Persona ของธุรกิจคุณขึ้นมาก่อนอย่างที่บอกไปว่าในการสร้าง Persona นั้นคุณไม่สามารถนั่งเทียนสร้างขึ้นมาได้ ต้องอาศัยการนำข้อมูลจากกลุ่มลูกค้าจริงหรือลูกค้าเก่าของคุณในการเริ่มสร้าง Persona ซึ่งข้อมูลที่คุณจะต้องนำมาจะมีดังนี้

  • Demographic Information

ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ เช่น อายุ เพศ การศึกษา จังหวัดที่อยู่อาศัย อาชีพ สถานะ (โสด/มีครอบครัว) เป็นต้น จะช่วยให้คุณเข้าใจ Background คร่าว ๆ ของกลุ่มเป้าหมายของคุณแล้ว ยังช่วยให้คุณสามารถวางแผนวิธีการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย 

  • Revenue Information

ข้อมูลด้านรายได้ของ Persona ที่คุณสร้างขึ้นซึ่งการกำหนดรายได้หรือข้อมูลด้านการใช้จ่ายให้กับ Persona นั้นจะช่วยทำให้คุณรู้ว่าพวกเขามีกำลังซื้อมากพอที่จะเข้าถึงสินค้า และบริการของธุรกิจคุณหรือไม่

  • Engagement Information

ข้อมูลด้านการสร้างปฏิสัมพันธ์เป็นการจำลองชุดข้อมูลว่าพวกเขามีส่วนร่วมกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณมากน้อยเพียงใดและอาจรวมถึงสิ่งต่าง ๆ เช่นปริมาณการใช้ Social Media ในแต่ละวัน, ความชอบในการซื้อสินค้าประเภทต่าง ๆ ฯลฯ

2. วิเคราะห์ระดับภาพรวม

เมื่อคุณได้กำหนดภาพรวมของ Persona ที่สร้างขึ้นไว้แล้วลำดับต่อมาคือการเริ่มวิเคราะห์ระดับภาพรวมของ Persona ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยในการวิเคราะห์ 5 ปัจจัยที่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของตัวคุณเองและของคู่แข่งดังนี้

  • Number of Customers by Industry – จำนวนลูกค้าทั้งหมดของอุตสาหกรรม
  • Avg. Revenue by Industry – ค่าเฉลี่ยของรายได้ในธุรกิจอุตสาหกรรมเดียวกัน
  • Number of Customers by Employee Size – จำนวนลูกค้าเมื่อเปรียบเทียบกับพนักงานของคุณ
  • Number of Customers by Country – จำนวนลูกค้าในต่างประเทศ (แยกเป็นประเทศ)
  • Avg. Revenue by Employee Size – ค่าเฉลี่ยรายได้ของพนักงานของคุณ

ซึ่งวิธีนี้จะช่วยทำให้คุณสามารถประเมินได้ว่าตอนนี้ Persona ของธุรกิจคุณนั้นมีความเหมาะสมกับขนาดขององค์กรในปัจจุบันของคุณหรือเปล่า เพราะถ้าคุณกำหนด Persona มาแต่ไม่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจก็ไม่สามารถนำ Persona เหล่านั้นไปใช้งานจริงได้

customer persona

3. วิเคราะห์ระดับบุคคล

ขั้นตอนนี้คือการกำหนดกลุ่ม Persona ที่คุณจำลองขึ้นมาให้มีความเป็นบุคคลคนหนึ่งมากขึ้น โดยคุณอาจจะเริ่มจากการกำหนดข้อมูลด้านประชากรศาสตร์อีกรอบแต่ครั้งนี้ต้องกำหนดเฉพาะให้เป็นคนหนึ่งคนขึ้นมาเลย เช่น ชื่อ (จำลองได้) อายุ เพศ, การศึกษา, จังหวัดที่อยู่อาศัย, อาชีพ, สถานะ (โสด/มีครอบครัว) ตำแหน่งงาน, ความชอบส่วนตัว, หน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละวัน ฯลฯ ซึ่งจะทำให้คุณมองเห็นภาพของ Persona คนนั้นชัดเจนมากขึ้น และพร้อมเข้าสู่กระบวนการต่อไป

การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis)

การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) คือกระบวนการที่ 2 ของการสร้าง Persona โดยหลังจากที่เราได้กำหนด Persona ขึ้นมาคร่าว ๆ ในขั้นตอนแรกแล้ว ขั้นตอนนี้ก็คงเปรียบเหมือนการพิสูจน์สมมติฐานว่า Persona ที่คุณคิดนั้นมีความเป็นจริงและเหมือนกับลูกค้าจริง ๆ ที่อยู่ในตลาดปัจจุบันหรือไม่ โดยวิธีการในการพิสูจน์และวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) ก็จะมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

  • ประชาสัมพันธ์การสัมภาษณ์ – อาจลองเริ่มจากการส่งอีเมลไปหา Leads, ประชาสัมพันธ์ผ่าน Facebook Page, LINEOA, ยิงแอด Facebook หรือที่คุณมีหรือจ้างบริษัทรับทำแบบสำรวจเพื่อหากลุ่มลูกค้าทั่วไปที่อยู่ในตลาด
  • ดำเนินการสัมภาษณ์ – เริ่มการสัมภาษณ์คนกลุ่มนั้นเพื่อถามถึงปัญหา ความชอบ พฤติกรรมในการบริโภคของคนกลุ่มนั้น เพื่อหาสมมติฐานมาใช้งานในการสร้าง Persona ต่อไป
  • เขียนคำตอบ – นำคำตอบที่ได้จากการสัมภาษณ์มาบันทึกลงใน Log เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาทำการ Data Analysis สำหรับการสร้าง Persona ต่อไป

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : ยิงแอดคืออะไร (การยิงแอดโฆษณา) , ตัวจัดการโฆษณา Facebook (Facebook Ads Manager)

สร้าง Persona Template (Drafting the Persona)

เมื่อคุณมีความเข้าใจที่ดีว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณคือใครและได้สัมภาษณ์กับพวกเขาแล้วคุณควรมีข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นในการเริ่มร่าง Persona ของคุณขึ้นมาจริง ๆ ดังนี้

ตัวอย่าง persona
  • About Them  – สรุปข้อมูลเกี่ยวกับ Persona รวมถึงบทบาท, อุตสาหกรรม, ขนาดบริษัท ฯลฯ ข้อมูลประชากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยพื้นฐานแล้ว
  • Use Case – สรุปว่า Persona ใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณอย่างไร พวกเขากำลังพยายามทำอะไรให้สำเร็จ ฯลฯ
  • Previous Solution & Pain Points – สรุปว่า Persona ทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้อย่างไรก่อนผลิตภัณฑ์ของคุณ และจุดอ่อนของแนวทางก่อนหน้านั้นคืออะไร
  • Benefits – สรุปประโยชน์หลักที่พวกเขาได้รับจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณ
  • Buying Trigger – สรุปสิ่งที่ทำให้พวกเขาค้นหาผลิตภัณฑ์เช่นคุณ
  • Buying Process – ภาพรวมของกระบวนการทั่วไปที่ผู้คนใช้ในการซื้อผลิตภัณฑ์ของคุณ
  • Choice Factors – ภาพรวมของสิ่งที่พวกเขากำลังมองหาในผลิตภัณฑ์เช่นของคุณ

Tips: ให้คุณ List สิ่งที่ต้องเขียนทั้งหมดลงในเอกสารสักชิ้นที่บันทึกข้อมูลทั้งหมดไว้จะช่วยทำให้คุณวิเคราะห์และสร้าง Persona ได้เร็วขึ้น

ปรับใช้ Persona กับกลุ่มเป้าหมาย (Socializing the Persona)

และขั้นตอนสุดท้ายของการสร้าง Persona ก็คือการนำ Persona ที่คุณได้คิดไว้ใน 3 ขั้นตอนแรกมาใช้งานในการเริ่มสร้างสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของ Persona กลุ่มนั้นและที่สำคัญคือต้องช่วยแก้ Pain Point ในการใช้ชีวิตและการทำงานให้กับพวกเขาได้ 

และเมื่อได้สร้างสินค้าหรือบริการของธุรกิจคุณออกมาตามความต้องการของ Persona เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงช่วงทดลองใช้ก็อย่าลืมในการรับ Feedback ของผู้ใช้งานจริงในช่วงแรกมาพัฒนาปรับปรุงสินค้าและบริการของคุณอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อที่จะทำให้สินค้า และบริการของคุณตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นวิธีสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เติบโตในปัจจุบัน


[ตัวอย่าง Buyer Persona] 

เราจะขอแยกตัวอย่างการทำ Persona ของ 2 ธุรกิจได้แก่ธุรกิจแบบ B2B และ B2C มาให้ทุกคนได้เห็นภาพของ Persona มากขึ้น

ตัวอย่าง Persona สำหรับธุรกิจ B2C

  • Name : Pailin (ไพลิน)
  • Age : 28
  • Occupation : พนักงานการตลาดบริษัทเอกชน
  • Income : 50,000 บาท/เดือน
  • Family : โสด อาศัยอยู่กับพ่อและแม่
  • Location : กรุงเทพมหานคร
  • Education : ปริญญาตรี สาขาการตลาด
  • Quote : ชอบสินค้าที่มีแบรนด์ แต่ไม่ถึงระดับ Luxury ชอบความทันสมัยและเทคโนโลยี ต้องการสินค้าที่เหมาะกับชีวิตในเมือง
  • Goals : ต้องการเป็นผู้นำเทรนด์การใช้สินค้าต่าง ๆ ในสังคมที่ตัวเองอยู่ทั้งกลุ่มเพื่อนและที่ทำงาน
  • Frustration : ใบหน้าแพ้ง่าย มีสิวขึ้นอยู่ตลอดทำให้ต้องเลือกใช้สินค้าที่มีความอ่อนโยนต่อใบหน้า
  • Lifestyle : ติด Social Media ชอบอัปเดตเทรนด์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดชอบไป Hangout กับกลุ่มเพื่อนทุกวันศุกร์ วันเสาร์-อาทิตย์ชอบพักผ่อนอยู่บ้านและไปคาเฟ่ถ่ายรูป รักในการช้อปปิ้งออนไลน์เป็นชีวิตจิตใจ
  • Journey Behavior : อัปเดตข่าวสารสินค้าใหม่ ๆ จากรีวิวใน Social Media เช่น Twitter, Facebook, TikTok ถ้าเจอสินค้าไหนที่สนใจจะนำไปค้นหารีวิวต่อใน Youtube และซื้อออนไลน์ต่อไปเมื่อมั่นใจในสินค้า
  • Social Media : Facebook, Twitter, TikTok, Instagram, LINE และ Youtube
  • Brand They Love : Apple, Dyson, Grab, Lazada
  • Influencer They Love : Pimtha, GoyNattyDream

ตัวอย่าง Persona สำหรับธุรกิจ B2B

  • Name : Sittha
  • Age : 43
  • Job Title : Managing Director
  • Level : Top Management
  • Field : Management
  • Education : Master Degree in Business Management
  • Bio : สิทธา เป็นเจ้าของบริษัท StartUp ด้านพลังงานไฟฟ้า ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังเริ่มขยายฐานสร้างการรู้จักไปทั่วประเทศจากกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมขึ้นมาในยุคปัจจุบัน
  • Job Responsibility : บริหารบริษัทให้เติบโตในทุกด้าน ดูแลเรื่องทีมและรับพนักงานด้วยตัวเอง
  • Job Measurement : ยอดขายและกำไร, ดัชนีความพึงพอใจของลูกค้า
  • Goals : ต้องการให้แบรนด์ของตัวเองเป็น Top Of Mind ของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในอีก 10 ปี
  • Challenge : มีคู่แข่งในตลาดหลายเจ้า ยังไม่มีทีมที่เชี่ยวชาญในการทำงานสเกลใหญ่ระดับประเทศ
  • Organization : 50 คน
  • Industry : อุตสาหกรรมเทคโนโลยีพลังงานทดแทน
  • Report Lines : Team and Business Partner 
  • Information Sources : Google, บทความรายงานวิชาการ
  • Quotes : แม้การเป็น Top of Mind จะยากแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้ เพราะเชื่อว่า Good Things Take Time
  • Day In Life : ประชุมทีม ประชุมกับ Business Partner
  • Social Media : Facebook, LINE, LinkedIn 

Journey Behavior :ติดตามข่าวสารจาก Facebook และอีเมลเป็นหลัก หากสงสัยอะไรจะอ่านบทความหรือรายงานด้านวิชาการเท่านั้น ไม่เชื่อการรีวิวจาก Youtube เพราะเชื่อว่าเป็นการจ้าง


Persona สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

Persona มีความสำคัญต่อการทำการตลาดและการทำธุรกิจทุกประเภท เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณมองเห็นภาพของกลุ่มเป้าหมายสักคนที่มีแนวโน้มในการเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าได้แล้วนั้น Persona ยังมีประโยชน์อื่น ๆ ต่อธุรกิจของคุณดังนี้

  • ทำให้รู้จักและเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Targeting) มากขึ้น ช่วยให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายได้ดี
  • สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เพราะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้าเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย
  • ช่วยให้ทีมงานในองค์กร มีความเข้าใจตรงกันในการทำงานและการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด ทำให้เป้าหมายชัดเจนมากขึ้น
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำโฆษณา การยิงแอด ช่วยวางกลยุทธ์และการตลาดต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
  • สื่อสารได้อย่างตรงจุด นำไปสู่การออกแบบ Content Mapping ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย 
  • ช่วยให้ต่อยอดการสร้าง Customer Journey ได้ง่ายขึ้น
  • ช่วยทำให้การทำการตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Marketing ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ช่วยให้การออกแบบ UX Designing หรือการออกแบบประสบการณ์ในการใช้งานของลูกค้าได้ง่ายขึ้น

Persona แตกต่างจาก Customer Segment อย่างไร 

ต้องอธิบายก่อนว่า Customer Segment คือกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้า ที่เป็นในรูปแบบของกลุ่มใหญ่ ๆ ที่พูดในเชิงภาพรวมยกตัวอย่างเช่น  “ลูกค้าหลักของเราคือกลุ่มนักเรียนอายุ 15-22 ปี ทั่วประเทศไทย” ซึ่งจะมีความแตกต่างกับ Persona ตรงที่ Persona จะมองภาพเป็นคนหนึ่งคนขึ้นมาจริง ๆ ซึ่งจะมีรายละเอียดที่มากกว่า Customer Segment  ยกตัวอย่าง Persona เช่น “นักเรียนมหาวิทยาลัยอายุ 20 ปีพักอาศัยอยู่คอนโดย่านอโศก กรุงเทพ” ซึ่งจะทำให้คุณสามารถสโคปการทำงาน และออกแบบการทำการตลาดได้เหมาะสมกับ Persona ได้ง่ายกว่านั้นเอง

แต่ถ้าหากกลุ่มเป้าหมายของคุณสามารถแบ่งเป็น Segment ย่อย ๆ ได้อีกเพื่อความชัดเจนมากขึ้น คุณก็ควรจะแบ่งออกมาหรือถ้าหากคุณอยากเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นการเปลี่ยนข้อมูลภาพรวมมาเป็นข้อมูลแบบจำลองบุคคลอย่าง Persona จะช่วยให้คุณเข้าใจลูกค้าของคุณชัดขึ้นมากกว่า Customer Segment แน่นอน


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Persona

“Customer Persona” กับ “Buyer Persona” คืออันเดียวกันหรือไม่ ?

จริง ๆ แล้วทั้ง “Customer Persona” กับ “Buyer Persona” คือคำ ๆ เดียวกันมีความหมายเหมือนกันคือ ตัวแทนกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าในอุดมคติทำเป็นส่วนช่วยให้ธุรกิจเห็นภาพการตัดสินใจของลูกค้าและพฤติกรรมต่าง ๆ ทำให้สามารถมองเห็นภาพและความคาดหวังในการซื้อสินค้าใช้งานผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน


สรุป Persona

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลในการสร้าง Persona ที่ธุรกิจของคุณจำเป็นต้องสร้างขึ้นมาในช่วงแรกเพื่อให้สามารถเริ่มการวางแผนการตลาดกลยุทธ์ต่าง ๆ ต่อไปได้อย่างราบรื่นไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์  Content ต่าง ๆ การยิงแอด การประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ

เพราะข้อมูลของ Persona เหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการหรือนักการตลาดมีความเข้าใจที่ตรงกันในกลุ่มเป้าหมายและสามารถเลือกใช้ข้อมูลต่าง ๆ มาทำงานช่วยสร้างให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ในอนาคต

เรียนรู้การสร้าง Content ให้ตอบโจทย์กับ Customer Persona ได้ที่ “คอร์สออนไลน์ เรียน Content Marketing Mastery”


อ้างอิงข้อมูล

Aaron Beashel, The Complete, Actionable Guide to Marketing Personas, https://buffer.com/library/marketing-personas-beginners-guide/ 

Louis Grenier, How to create a simple, accurate user persona in 4 steps without leaving your desk, 18 August 2022, https://www.hotjar.com/blog/user-personas/ 

Pamela Vaughan, How to Create Detailed Buyer Personas for Your Business, 21 Febuary 2022, https://blog.hubspot.com/marketing/buyer-persona-research  


10 body languages for presentation
Marketing Psychology
ลิสต์ 10 ภาษากายเพื่อการพรีเซนต์งาน สำหรับพนักงานมือโปร 

Topic Summary คนทำงานเตรียมแชร์ไว้ 10 ภาษากายเพื่อการพรีเซนต์งาน เพิ่มสกิลการเป็นมือโปร และทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในตัวคุณ! ในบรรดาความรู้เรื่อง Body Language ทั้งหมด ภาษากายที่ใช้ในการพรีเซนต์งาน…

body languages
Marketing Psychology
เช็กก่อนใคร! ตำแหน่งของ Body Language ตัวช่วยอ่านพฤติกรรมคนจากภาษากาย

Topic Summary อยากรู้ไหม? เวลาอ่านใจคนจากภาษากาย ตำแหน่งของ Body Language ส่วนใดบ้างที่คุณต้องดู และแต่ละตำแหน่งมีความสำคัญอย่างไร ใคร ๆ ก็อยากเชี่ยวชาญการอ่านใจคนด้วยภาษากาย…

what is psychology of pricing
News
เข้าใจจิตวิทยาราคา พร้อมแจกกลยุทธ์การตั้งราคา ให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อเร็วกว่าที่เคย

เพิ่งเปิดธุรกิจใหม่ ควรตั้งราคาอย่างไรดี Digital Tips แชร์เทคนิคการตั้งราคาตามหลักจิตวิทยา พร้อมเคลียร์ชัดความหมายของจิตวิทยาราคา อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที! Content Summary  จิตวิทยาราคา คือ การกำหนดราคาสินค้าโดยอ้างอิงจากการรับรู้ทางจิตวิทยา…