Brand identity คือ

หากต้องการสร้างให้แบรนด์เป็นที่จดจำ ไม่ถูกทิ้งห่างจากคู่แข่ง จำเป็นที่จะต้องสร้าง Branding ให้แข็งแรงด้วยการทำ Brand Identity ที่ทำให้แบรนด์มีตัวตน โดดเด่น และส่งมอบความรู้สึกของแบรนด์ไปยังลูกค้า

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เล็กหรือแบรนด์ใหญ่ จะเป็นแบรนด์ที่สร้างขึ้นในโลกแห่งความจริงหรือ Metaverse การสร้าง Brand Identity ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญทั้งนั้น ซึ่ง Brand Identity คืออะไร มีความสำคัญแค่ไหน และต้องทำอย่างไร ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนมาเรียนรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการทำ Brand Identity พร้อมพาไปดู Brand Identity ตัวอย่างที่น่าสนใจว่าเขาทำกันอย่างไรจึงเป็นที่จดจำได้ทั่วโลก

อ่านเพิ่มเติม Metaverse คืออะไร

Brand Identity หรือ Brand Identity Prism คืออะไร

Brand Identity คือ อัตลักษณ์ของแบรนด์ นับเป็นขั้นตอนหนึ่งในร่มใหญ่อย่างการสร้างแบรนด์ โดยอัตลักษณ์ของแบรนด์จะแสดงออกมาในเชิงของภาพ (Visual), ของตราสินค้าตั้งแต่ชื่อ (Name), โลโก้ (Logo), น้ำเสียง (Tone of Voice), สี (Colors), สโลแกน (Tagline), สัญลักษณ์ (Symbols), รูปภาพ (Imagery), ตัวหนังสือ (Typography) หรือรูปลักษณ์ (Visual Appearance) ซึ่งเป็นวิธีการพื้นฐานในการรับรู้ความแตกต่างของผู้บริโภค 

ต่อมา Jean-Noël Kapferer นักการตลาดและผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ระดับโลกได้คิดค้น Brand Identity Prism ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์อย่างละเอียดมากขึ้น เพื่อให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและเป็นที่จดจำ รวมถึงช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ รักษาให้คงอยู่ และสะท้อนคุณค่าหลักที่แบรนด์ต้องการได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังช่วยในการพัฒนาให้เกิด Customer Loyalty ให้กับแบรนด์ได้ง่ายอีกด้วย

Corporate Identity คืออะไร

Corporate Identity คือ อัตลักษณ์ขององค์กร (เรียกย่อ ๆ ว่า CI) หรือหลายคนอาจจะเรียกว่า Brand Identity ซึ่งเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงภาพลักษณ์ (Image) และสร้างลักษณะเฉพาะขององค์กร มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดและเพื่อสร้างการจดจำให้กับผู้บริโภคให้นึกถึงภาพขององค์กรไปได้ตลอด นอกจากนี้ ยังเป็นการสื่อสารภาพลักษณ์และสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างบุคลากรภายในองค์กรและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับองค์กรได้ 

โดยการทำ Corporate Identity Design คือ ส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์ผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น โลโก้ สี ฟอนต์ ภาพ ไปจนถึงวิธีที่ใช้ในการโฆษณา ฯลฯ พูดง่าย ๆ ว่า เป็น Visual Identity คือ การดีไซน์ส่วนที่เป็นภาพที่ผู้คนมองเห็นได้ จดจำได้ และมีผลต่อการรับรู้ของผู้คนได้ค่อนข้างกว้าง เพื่อนำไปสู่การซื้อสินค้าและบริการได้ รวมถึงช่วยให้ลูกค้าสามารถแยกแยะองค์กรของเราออกจากคู่แข่งได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อ ทำให้การทำการตลาดทั้ง Traditional Marketing หรือ Digital Marketing เป็นไปได้ง่ายมากขึ้นด้วย

ตัวอย่าง CI Brand

ตัวอย่าง CI Brand

สำหรับตัวอย่างของ CI Brand หรือ Corporate Identity Brand จะขอยกตัวอย่างเป็น Brand Identity องค์กรที่รู้จักกันดี คือ เซ็นทรัลพัฒนาในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ปที่ทำการรีแบรนด์ (Brand Identity) ครั้งใหญ่ ทั้งในองค์กรและศูนย์การค้าทั่วประเทศ ด้วยการดีไซน์ฟอนต์ตัวอักษรใหม่ โดยทำการตัดคำว่า Plaza และ Festival หลังชื่อศูนย์การค้าออกทั้งหมด ให้เหลือแต่คำว่า CENTRAL ตามด้วยชื่อพื้นที่นั้น ๆ เช่น เซ็นทรัล ลาดพร้าว, เซ็นทรัล พระราม 3, เซ็นทรัล อีสต์วิลล์

ซึ่งการเปลี่ยน CI Brand ใหม่จะเน้นการสื่อถึงการเป็น Centrality หรือ Center of Life และการให้ความสำคัญกับโลเคชันหรือสถานที่ของศูนย์การค้าที่ตั้งอยู่ พร้อมสะท้อนอัตลักษณ์ Local Essence ของชุมชนท้องถิ่นที่แตกต่างด้วยการดีไซน์โลโก้ของแต่ละสาขามี Pattern ที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น เซ็นทรัล อยุธยา จะใช้รูปทรงของเจดีย์มาวาดลวดลาย เป็นต้น

ตัวอย่าง CI Brand - Brand Identity

Brand Identity สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม 

สำหรับประเภทของ Brand Identity จะสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. Graphic Identity คือ องค์ประกอบหรืออัตลักษณ์ของแบรนด์ที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น โลโก้, สี, ตัวหนังสือ, ลวดลาย, รูปภาพ เป็นต้น
  2. Sensorial Identity คือ อัตลักษณ์ของแบรนด์ที่ผู้คนจะสามารถรับรู้ได้จากมิติอื่นที่นอกเหนือจากการมองเห็น เช่น การได้กลิ่น อย่างการเข้าไปยังร้านอาหารหรือขนมที่มีกลิ่นเฉพาะของร้าน, การได้ยินอย่างเช่น เสียงเรียกเข้าของไอโฟน เป็นต้น
  3. Behavioral Identity คือ อัตลักษณ์ของแบรนด์ที่มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือ Customer Journey ของผู้บริโภค เช่น การซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ Ebay ที่ผู้บริโภคต้องทำการประมูล (Bid) ในการซื้อ การออกแบบแอปพลิเคชันในการชอปปิงออนไลน์ให้เข้ากับพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบัน เป็นต้น
  4. Functional Identity คือ อัตลักษณ์ของแบรนด์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากประโยชน์หรือคุณสมบัติของแบรนด์หรือสินค้า เนื่องจากสินค้าและบริการนั้น ๆ สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างตรงจุด เช่น ธุรกิจ B2B มีปัญหาเรื่องการดึงคนเข้ามาใช้งานยังเว็บไซต์ การทำคอนเทนต์เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของผู้อ่านซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าของธุรกิจ B2B ก็จะทำให้ธุรกิจได้ประโยชน์และช่วยแก้ปัญหาที่พบได้ตรงจุด เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม: ธุรกิจ B2B คืออะไร 

6 องค์ประกอบของ Brand Identity  

6 องค์ประกอบของ Brand Identity มีที่มาจากแนวคิด Brand Identity Prism คือ แนวคิดที่ใช้ในการอธิบาย  Brand Identity หรืออัตลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งมักจะใช้ในการวางแผนสร้าง Brand Identity หรือทบทวนอัตลักษณ์เดิมของแบรนด์ที่มีอยู่  ซึ่งช่วยในการสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของแบรนด์ในฐานะผู้ส่งสาร และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในฐานะผู้รับสารได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วย

6 องค์ประกอบของ Brand Identity

1. ลักษณะแบรนด์ที่ลูกค้าเห็น (Physique)

ลักษณะแบรนด์ที่ลูกค้าเห็น (Physique) คือ สิ่งที่ลูกค้าจะนึกถึงเมื่อพูดถึงแบรนด์หรือเป็นลักษณะของแบรนด์ที่ลูกค้ามองเห็นได้ผ่านโลโก้ สี ไปจนถึงรูปร่างต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้แบรนด์รู้ว่าจะออกแบบสินค้าและบริการออกมาให้เป็นอย่างไร เพื่อที่จะดึงสินค้าและบริการนั้น ๆ ให้ปรากฏขึ้นมาในหัวของลูกค้าทันที เช่น เมื่อเห็นโลโก้เครื่องหมาย ✔️คนจะนึกถึง NIKE ทันที เป็นต้น

2. บุคลิกภาพของแบรนด์ (Brand Personality)

บุคลิกภาพของแบรนด์ (Brand Personality) คือ การระบุตัวตนของแบรนด์ ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ เลยก็คือ การระบุว่าแบรนด์จะมีบุคลิกภาพเป็นคนอย่างไร เช่น เป็นคนมีความจริงใจ (Sincerity) เป็นคนมีความแข็งแรง (Ruggedness) เป็นคนมีความสามารถ (Competence) เป็นต้น โดยสิ่งนี้จะทำให้ลูกค้ามองเห็นว่าแบรนด์เป็นอย่างไร และรู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่น DOVE ที่เป็นแบรนด์เกี่ยวกับความสวยความงาม เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม จึงวางบุคลิกภาพของแบรนด์ให้เป็นผู้บริสุทธิ์ (Innocent) คือ บุคลิกที่มีความสดใส เป็นมิตร ไม่มีพิษมีภัย เป็นต้น

3. มุมมองด้านวัฒนธรรมของแบรนด์ (Brand Culture)

มุมมองด้านวัฒนธรรมของแบรนด์ (Brand Culture) คือ การระบุถึงที่มาของแบรนด์ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นตัวตนของแบรนด์ ด้วยการสร้างวัฒนธรรมจากภายในองค์กร หรือการนำเอาความเป็นถิ่นกำเนิดของแบรนด์หรือสินค้ามาใช้ เช่น บริษัทที่ได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์ MarTech อันดับต้น ๆ ของโลกอย่าง Google ที่นำเสนอ Brand Culture ออกมาในแง่ของการเป็นแบรนด์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ยืดหยุ่น สนุกสนาน มีการตกแต่งออฟฟิศให้สดใส และออกแบบวัฒนธรรมในองค์กรที่ช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น

4. ความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า (Relationship)

ความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า (Relationship) คือ สิ่งที่ลูกค้าคาดหวังจากแบรนด์ อาจเป็นในแง่ของการปฏิบัติที่นอกเหนือจากการสร้างความพึงพอใจด้วยสินค้าและบริการทั่วไป โดยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้าจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ลูกค้ารู้สึกผูกพันกับแบรนด์ หรือกลายเป็น Customer Loyalty ของแบรนด์ได้ในอนาคต ซึ่งแบรนด์มักมีวิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยในการสานสัมพันธ์กับลูกค้า เช่น การทำ CRM คือ การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า หรืออาจจะใช้วิธีการนำเสนอการรับประกันสินค้าและบริการหลังการขายก็ได้ เป็นต้น

5. ฐานลูกค้าของแบรนด์ (Customer Reflection)

ฐานลูกค้าของแบรนด์ (Customer Reflection) คือ ภาพสะท้อนถึงตัวแบรนด์ที่เชื่อมโยงสินค้ากับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยลูกค้าจะมองว่าแบรนด์คือใคร แบรนด์เหมาะจะเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อคนกลุ่มไหน เช่น แบรนด์อาหารเสริมนี้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ แบรนด์เครื่องดื่มนี้เป็นแบรนด์สำหรับวัยรุ่น แบรนด์รถยนต์นี้เหมาะสำหรับผู้หญิง เป็นต้น ซึ่งการที่จะรู้ว่าแบรนด์ในสายตาของกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างไรก็ต้องพึ่งพาการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เช่น การทำ Data Analytic คือ การวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ จาก Big Data เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่วางไว้ได้ 

6. สิ่งที่ลูกค้ารับรู้จากการใช้แบรนด์ (Customer Self Image)

สิ่งที่ลูกค้ารับรู้จากการใช้แบรนด์ (Customer Self Image) คือ ภาพลักษณ์ที่เกิดในใจของกลุ่มลูกค้า ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ลูกค้ามองตัวเองหรือสิ่งที่ลูกค้ารู้สึกหลังจากใช้สินค้าและบริการของแบรนด์ โดยแบรนด์จำเป็นที่จะต้องสร้างภาพในอุดมคติให้ลูกค้าเชื่อมโยงแบรนด์เข้าไปกับตัวตนของกลุ่มลูกค้า 

เช่น ลูกค้าเลือกใส่แบรนด์รองเท้ากีฬาอย่าง NIKE และ ADIDAS เพราะใส่แล้วสะท้อนตัวตนว่าเป็นคนรักสุขภาพ แต่ก็เป็นคนช่างแต่งตัวด้วยในคราวเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของคนทำแบรนด์ที่จะต้องเจาะเอา Insight คือ ข้อมูลเชิงลึกที่แท้จริงของลูกค้าที่ผ่านการวิเคราะห์ตีความมาแล้ว เพื่อนำมาวางแผนสร้างการรับรู้ที่จะส่งไปให้ถึงลูกค้าได้ต่อไป

การสร้าง Brand Identity ทำอย่างไร  

สำหรับขั้นตอนที่บริษัทควรทำเพื่อสร้าง Brand Identity ให้แข็งแกร่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละแบรนด์หรือในแต่ละอุตสาหกรรม แต่มีบางประเด็นที่นำไปใช้ได้กับทุกแบรนด์ด้วยเช่นกัน นั่นคือ

1. วิเคราะห์บริษัทและตลาด

เช่น การทำ SWOT Analysis ที่ช่วยทำให้องค์กรเข้าใจสถานการณ์ ช่วยในการกำหนดเป้าหมายและขั้นตอนที่จำเป็นในการบรรลุเป้าหมายได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยทำให้รู้ว่าควรเลือกใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบไหนในการดำเนินธุรกิจ เช่น 4P 7P เป็นต้น

2. กำหนดเป้าหมายทางธุรกิจ 

ขั้นต่อมาคือการกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจ โดย Brand Identity ควรที่จะช่วยในการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ธุรกิจตั้งเอาไว้ เช่น หากผู้ทำธุรกิจรถยนต์ต้องการจับตลาดธุรกิจรถหรูที่มีความเฉพาะกลุ่ม Brand Identity ที่สื่อออกมาในโฆษณาก็ควรที่จะทำหน้าที่ดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาหาแบรนด์ รวมถึงควรที่จะปรากฏในช่องทางต่าง ๆ  ที่กลุ่มเป้าหมายใช้งานอยู่ด้วย

3. ตามหาลูกค้าให้เจอ

การทำแบบสำรวจ การประชุมแบบกลุ่ม และการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวสามารถช่วยให้บริษัทสามารถระบุกลุ่มผู้บริโภคจนออกมาเป็น Persona ได้

4. กำหนดบุคลิกภาพของแบรนด์และข้อความที่ต้องการสื่อสาร

มาถึงขั้นตอนของการสร้าง Brand Identity ซึ่งบริษัทควรที่จะออกแบบอัตลักษณ์ของแบรนด์ออกมาให้สอดคล้องกันมากกว่าการที่จะพยายามยัดเยียดเฉพาะคุณลักษณะเชิงบวกเข้าไปทั้งหมด หลังจากนั้นนำเสนอออกมาเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมองเห็น รับรู้ รู้สึก และได้ประโยชน์จากแบรนด์ เพื่อที่จะทำให้แบรนด์สามารถสร้างเอกลักษณ์ที่น่าจดจำและฝังเข้าไปในใจของกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการได้อย่างแท้จริง

Brand Identity สำคัญอย่างไรต่อธุรกิจ

สำหรับใครที่สงสัยว่า Brand Identity มีความสำคัญอย่างไรกับการทำธุรกิจ ลองดูเหตุผลเหล่านี้ที่จะบอกว่า ทำไมแบรนด์ไม่ควรมองข้ามความสำคัญของการทำ Brand Identity ให้แข็งแรงในยุคปัจจุบัน

  • ช่วยสร้างภาพจำให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ

ไม่ว่าธุรกิจไหนก็ต้องมี Persona หรือแบบจำลองบุคคลของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะได้มาเป็นลูกค้าคนสำคัญ ซึ่งหนทางในการเข้าถึงกลุ่มคนที่ต้องการนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย 

เพราะนอกจากจะต้องวิเคราะห์ว่าเส้นทางการซื้อสินค้า-บริการของกลุ่มเป้าหมาย หรือ Customer Journey คืออะไร เพื่อที่จะใช้กลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมในการเข้าถึงพวกเข้าแล้ว การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะหากผู้บริโภคสามารถจดจำสี ภาพ หรือโลโก้แบรนด์หรือจำลักษณะกล่องบรรจุภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ได้ ไม่ว่าจะออกแคมเปญใด ๆ ก็จะช่วยทำให้พวกเขานึกถึง หรืออาจจะเกิดการซื้อขึ้น เนื่องจากได้รับสารจากแบรนด์ที่จดจำได้ในหลากหลายช่องทาง

  • ช่วยกำหนดทิศทางในการสื่อสารของแบรนด์

การทำ Brand Identity จะช่วยกำหนดทิศทางของการสื่อสารแบรนด์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในทุกช่องทาง เช่น แบรนด์ต้องการสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นคนสนุก เพื่อเน้นจับตลาดกลุ่มวัยรุ่น ก็ต้องมาดูว่าจะใช้น้ำเสียงแบบไหนในการสื่อสาร จะนำเสนอ Brand Ambassador คือใคร รวมถึงควรจะเจาะกลุ่มที่เป็น Niche Market หรือไม่ ฯลฯ แน่นอนว่า ย่อมช่วยให้การสร้างแบรนด์มีความแข็งแรงและมีระเบียบแบบแผนมากยิ่งขึ้น

อ่านบทความ เจาะลึก Niche Market (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) พร้อมแนะนำกลยุทธ์ที่เหมาะสม ได้ที่ Niche Market คือ

  • ช่วยกำหนด Art Direction ของแบรนด์

ถ้าหากแบรนด์ใดไม่มี Brand Identity ก็จะทำให้งานออกแบบ เช่น บรรจุภัณฑ์ Artwork ฯลฯ ออกมาสะเปะสะปะไม่มีความสม่ำเสมอ ซึ่งทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและจดจำยากมากขึ้น ทางที่ดีก็ควรที่จะทำ Brand Identity ออกมากำกับ เพื่อให้ทีมออกแบบมองเห็นแบรนด์ในมุมมองที่เหมือนกันและออกแบบงานต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง

  • ช่วยสร้างโอกาสในการสร้างยอดขาย

หากธุรกิจมี Brand Identity ที่แข็งแรงแล้ว ก็ย่อมมีฐานลูกค้าที่ซื้อซ้ำจนกลายเป็นลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์ ทำให้สามารถทำการตลาดในรูปแบบ Inbound Marketing คือ การตลาดแบบดึงดูด โดยไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินเพื่อทำโฆษณาในการโปรโมตเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ในวงกว้างอีกต่อไป

ตัวอย่าง Brand Identity 

สำหรับ Brand Identity ตัวอย่างที่จะนำเสนอในบทความนี้คือ Coca-Cola แบรนด์เครื่องดื่มที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี มาดูกันดีกว่าว่า Coca-Cola มี Brand Identity เป็นอย่างไรบ้าง

รูปปป

หากวิเคราะห์จากองค์ประกอบของ Brand Identity ทั้ง 6 ด้าน Coca-Cola จะมี Brand Identity เป็นดังนี้

  1. ลักษณะแบรนด์ที่ลูกค้าเห็น (Physique) Coca-Cola จะมีสีแดง มีฟอนต์แบบอ้วนโค้งมน เป็นน้ำอัดลมแบบเย็น มีความสดชื่นหรือชุ่มชื่นเต็มขวด
  2. บุคลิกภาพของแบรนด์ (Brand Personality) Coca-Cola เป็นแบรนด์ที่มีบุคลิกมีความสุข สนุกสนาน แบ่งปัน และดูน่าตื่นเต้น
  3. มุมมองด้านวัฒนธรรมของแบรนด์ (Brand Culture) Coca-Cola เป็นแบรนด์สำหรับคนเมือง มีการแสดงถึงความเป็นถิ่นกำเนิดจากประเทศอเมริกาแบบดั้งเดิม และเป็นบริษัทที่มีคนทำงานมาจากหลากหลายเชื้อชาติ จึงมีความเป็นสากล ไม่มีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ
  4. ความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า (Relationship) Coca-Cola เน้นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในแบบเพื่อนหรือคู่หูที่สามารถพูดคุยกันได้อย่างใกล้ชิด พร้อมแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ต่าง ๆ  ไปด้วยกัน
  5. ฐานลูกค้าของแบรนด์ (Customer Reflection) จะเป็นกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตและใช้เวลากับผู้คน เช่น ครอบครัว หรือเพื่อนฝูง
  6. สิ่งที่ลูกค้ารับรู้จากการใช้แบรนด์ (Customer Self Image) จะสะท้อนออกมาหรือได้รับเป็นความสุขและความสดชื่น

คำถามที่เกี่ยวข้อง “Brand Identity” 

เอกลักษณ์แบรนด์กับภาพลักษณ์แบรนด์แตกต่างกันอย่างไร 

เอกลักษณ์แบรนด์ หรือ Brand Identity หมายถึง สิ่งที่ธุรกิจทำการนำเสนอตัวเองให้กับลูกค้าและต้องการให้คนทั่วไปมองเห็น โดยเอกลักษณ์แบรนด์จะต้องสะท้อนสิ่งที่เป็นความคิดหรือคุณค่าของแบรนด์ Brand Identity จึงเป็นเหมือนหน้าตาของบริษัทหรือของผลิตภัณฑ์

ส่วนภาพลักษณ์แบรนด์ (Brand Image) จะเป็นการสื่อสารที่แสดงเอกลักษณ์บางอย่างของแบรนด์ เช่น เป็นคนอบอุ่น ตื่นเต้น ย้อนยุค ทันสมัย ฯลฯ แล้วนำมาถ่ายทอดออกมาให้เห็นได้ในทุก ๆ ช่องทางไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณา การทำ Social Media Marketing หรือหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ

สรุปเนื้อหาของ Brand Identity คืออะไร 

Brand Identity เป็นสิ่งที่แบรนด์จะมองข้ามไปไม่ได้ เพราะนี่คือ วิธีการสร้างแบรนด์ที่ช่วยนำพาธุรกิจให้สามารถยืนอยู่ในสมรภูมิที่มีคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากช่วยสร้างความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์จนเป็นที่น่าจดจำได้ 

แต่การที่จะทำ Brand Identity ให้เข้มแข็งอย่างที่ต้องการได้ ก็จำเป็นต้องศึกษากลุ่มเป้าหมาย คู่แข่ง รวมถึงจุดแข็งของแบรนด์ เช่น การวิเคราะห์ SWOT คือ การวิเคราะห์ Strengths (จุดแข็ง), Weaknesses (จุดอ่อน), Opportunities (โอกาส) และ Threats (อุปสรรค) ฯลฯ ทำการออกแบบโลโก้ และเทมเพลตของธุรกิจ ทำการศึกษา Brand Identity Prism ไปจนถึงเรียนรู้กลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ อย่าง 4p คืออะไร หรือควรจะสื่อสารอย่างไรกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละช่องทาง 

ถึงแม้จะเป็นขั้นตอนที่ดูยุ่งยาก แต่รับรองเลยว่า การทำ Brand Identity จะช่วยพัฒนาแบรนด์ให้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แตกต่างและสร้างการจดจำให้เข้าไปอยู่ในใจลูกค้าได้ตราบนานเท่านานอย่างแน่นอน

 

เอกสารอ้างอิง

Parth Verma.  (2020).  What Is Corporate Identity? – Importance, Elements, & Examples.  [online].  retrieve from: https://www.feedough.com/what-is-corporate-identity/

Central Chiangmai (2022, 23 กุมภาพันธ์). Imagining better futures for all [วิดีโอ]. ยูทูบ. https://www.youtube.com/watch?v=-a8N4yJLUsI

Kris Piroj.  (2019).  Brand Identity Prism คืออะไร สร้าง Brand Identity ได้อย่างไร.  [ออนไลน์].  ได้จาก: https://greedisgoods.com/brand-identity-prism-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD/

5 เคล็ดลับ วางกลยุทธ์การตลาด Inbound ใหม่ เพิ่มยอดขายติดจรวด
News
5 เคล็ดลับ วางกลยุทธ์การตลาด Inbound ใหม่ เพิ่มยอดขายติดจรวด

คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า Inbound Marketing คือการตลาดที่เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันตลาดใหญ่ขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น และผู้บริโภคเองก็มีตัวเลือกมากขึ้น หากคุณเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตจากการใช้กลยุทธ์นี้ และกำลังกลวิธีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มยอดขายด้วยการตลาด Inbound…

อัปเดตเวลาโพสต์ Instagram 2024 ที่ดีที่สุด และวิธีเพิ่มเอนเกจ
Digital Tips & Tricks | Instagram
อัปเดตเวลาโพสต์ Instagram 2024 ที่ดีที่สุด และวิธีเพิ่มเอนเกจ

สำหรับธุรกิจที่เน้นทำ Instagram Marketing อย่างธุรกิจเสื้อผ้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ภาพสวย ๆ หรือวิดีโอ Vibe ดี ๆ…

X Demographics
Marketing | News | X (Twitter)
อัปเดตด่วน! X Demographics สำหรับทำการตลาดบน X [2024]

แบรนด์ไหนทำการตลาดบน X ห้ามพลาด! Digital Tips รวม X Demographics ที่น่าสนใจมาให้คุณแล้ว ใครอยากหาข้อมูลในการปรับทิศทางคอนเทนต์หรือกลยุทธ์การตลาดใหม่ ๆ ลองศึกษาได้จากบทความนี้…