กลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategy) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการทำการตลาด เพราะกลยุทธ์เปรียบเสมือนแผนที่ในการพาเราไปสู่เป้าหมาย ไม่ว่าธุรกิจของเราจะมีเป้าหมายทางการตลาดแบบไหน สิ่งแรก ๆ ที่ต้องคิด คือ “วิธีการ” หรือ “กลยุทธ์ทางการตลาด” เป็นเรื่องของ “How” ทำอย่างไรเพื่อเราจะไปถึงเป้าหมายได้
และยิ่งในการทำการตลาดที่ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมาย พร้อมกับ
ความท้าทายที่ผู้บริโภคกระจายตัวอยู่ในหลากหลายช่องทาง ธุรกิจจะทำอย่างไรเพื่อเข้าถึงพวกเขา?
บทความนี้ จะชวนคุณกลับมาทบทวนเรื่อง “กลยุทธ์” หรือแผนที่การตลาดที่จะทำให้คุณตั้งหลักทำการตลาดให้ได้ผล
กลยุทธ์การตลาด (Marketing strategy) คือ
กลยุทธ์การตลาด มาจากคำสองคำ ได้แก่ “กลยุทธ์” และ “การตลาด” โดย กลยุทธ์ (Strategy) คือ ชั้นเชิงในการทำสิ่ง ๆ หนึ่งผ่านการเลือกวิธีการและการวางแผนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ง่ายหรือดีกว่าการทำโดยที่ไม่ได้ไตร่ตรองถึงวิธีการ
กลยุทธ์การตลาด หรือ Marketing Strategy คือ การเลือกวิธีการ การวางแผน การลำดับขั้นตอนใน
การลงมือทำการตลาดอย่างมี ‘ชั้นเชิง’ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการตลาดหรือเป้าหมายทางธุรกิจที่ตั้งไว้
ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดก็มีอยู่หลากหลายวิธีการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกช่องทางการใช้สื่อต่าง ๆ
ร่วมกันในการนำเสนอ การวางแคมเปญ การเลือกวิธีโฆษณา ฯลฯ โดยกลยุทธ์การตลาด เราสามารถวางได้ทั้งกลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งกำหนดโดยเป้าหมายทางการตลาดและจุดประสงค์ทางธุรกิจ
(Business Objective)
STP Marketing กลยุทธ์การตลาดกำหนดทิศทางโดยรวม
ในการทำการตลาด ไม่ว่าจะกลยุทธ์ใด เทคนิคไหน ก็ไม่พ้นเรื่องของ “STP Marketing”
STP Marketing คือ กรอบการคิดหรือ Framework ในการทำการตลาด ประกอบไปด้วยการแบ่งส่วน
การตลาด (S – Segmentation) การกำหนดกลุ่มเป้าหมายทำการตลาด (T- Targeting) และกำหนดตำแหน่งของแบรนด์หรือสินค้า/บริการ (P – Positioning) โดยทั้ง 3 เรื่องนี้ ถือว่าเป็น ‘แม่บท’ ในการคิด
กลยุทธ์การตลาดอื่น ๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการทำ Traditional Marketing, Digital Marketing หรือ
การทำการตลาดสำหรับธุรกิจแบบ B2B หรือ B2C
ขอบคุณภาพจาก semrush.com
เราลองมาเจาะลึกกันดีกว่า ว่า STP ทั้ง 3 แกนนี้ มีอะไรที่ต้องทำความเข้าใจบ้าง แล้วทำไมเรื่องเหล่านี้ถึงจำเป็นกับการคิดกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างเลี่ยงไม่ได้
1. การแบ่งส่วนตลาด (Segmentation)
การแบ่งส่วนตลาด หรือ Segmentation หมายถึง การแบ่งกลุ่มผู้บริโภคออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามกรอบ
ข้อมูลด้านต่าง ๆ เพื่อให้รู้ว่า ผู้บริโภคมีคนกลุ่มใดบ้างและเขาเหล่านั้นเป็นคนอย่างไร สามารถทำนายพฤติกรรม ความสนใจ ความชื่นชอบ เพื่อที่สุดท้าย เราจะได้รู้ว่า ควรโฟกัสกับกลุ่มคนกลุ่มไหน ตลอดจนเลือกออกแบบกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะ จัดสรรเวลาและลำดับความสำคัญในการเลือก Action ที่เหมาะกับกลุ่มคนแต่ละกลุ่ม
สำหรับกรอบในการทำ Customer Segmentation แบ่งกลุ่มลูกค้าตามข้อมูลหลัก ๆ ตามนี้
- Behavioral – พฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น พฤติกรรมการซื้อ พฤติกรรมการหาข้อมูล ความถี่ใน
การซื้อสินค้าประเภทหนึ่ง ๆ ช่วงเวลาในการซื้อหรือใช้บริการ ฯลฯ - Geographic – ข้อมูลเชิงพื้นที่ เช่น ที่อยู่อาศัย จังหวัด ภูมิภาค สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสภาพอากาศ
- Demographic – ข้อมูลเชิงประชากรศาสตร์ เช่น เพศ อายุ อาชีพ รายได้ สถานะการสมรส ครอบครัว ฯลฯ
- Psychographic – ข้อมูลทางจิตวิทยา เช่น ความสนใจ ค่านิยม ลักษณะนิสัย ฯลฯ
การจัดกลุ่มผู้บริโภค หรือ ทำ Segmantation จะช่วยให้เรารู้ว่า มีคนกลุ่มใดบ้าง แล้วคนกลุ่มไหนที่ธุรกิจควรให้ความสนใจ ลงไปทำการตลาดด้วย จากข้อมูลทั้ง 4 แกนข้างต้น จะทำให้เรารู้ว่า กลุ่มคนเหล่านั้นเป็นคนอย่างไร เพื่อที่แบรนด์/ธุรกิจจะได้ออกแบบการสื่อสารได้เหมาะกับเขา รู้ว่าต้องวางกลยุทธ์การตลาดอะไร ทำการตลาดช่วงไหนถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนวัยทำงานในเมือง สั่งซื้อกาแฟในช่วงบ่ายโมง – บ่าย 3 โมง มากกว่าช่วงเช้า ส่วน
กลุ่มคนทำงานนอกเมืองจะสั่งกาแฟช่วง 8.00 น. – 11.00 น. เป็นส่วนใหญ่ ข้อมูลพฤติกรรมและข้อมูลเชิงพื้นที่นี้ ช่วยให้ธุรกิจกาแฟรู้ว่า ควรจัดโปรโมชันหรือทำการตลาดอย่างไรเพิ่มเติม
นอกจากการแบ่งกลุ่มลูกค้าจากข้อมูลข้างต้นแล้ว สำหรับธุรกิจ B2B ยังมีอีกกรอบข้อมูลในการแบ่งกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจ นั่นคือ “RFM Metrics” ได้แก่
- Recency – เวลาล่าสุดในการซื้อสินค้า
- Frequency – ความถี่ในการซื้อ
- Monetary – มูลค่าการบริโภคโดยรวม
โดยข้อมูลเหล่านี้ จะเอามาคำนวณเป็นคะแนนเพื่อแบ่งกลุ่มลูกค้าออกมาดูว่า ลูกค้ากลุ่มไหนคือคนที่สำคัญ กลุ่มไหนที่สำคัญรองลงมา จนไปถึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่คุ้มค่าที่จะทำการตลาดด้วย
กลุ่มลูกค้าที่แบ่งด้วย RFM Segmentation จะแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็น 12 กลุ่มตามรูป ซึ่งแต่ละกลุ่มจะบอกเราว่า ควรวางกลยุทธ์การตลาดกับคนแต่ละกลุ่มอย่างไร เช่น กลุ่ม Champion และ Loyal Customers เราอาจเน้นการสร้างประสบการณ์หลังการขายและทำ CRM (Customer Relationship Management)
กลุ่ม Cold Leads และ Need Attention อาจกระตุ้นให้เขากลับมาหาแบรนด์ด้วยโปรโมชันที่ล่อใจ
และกลุ่ม Sleeper และ Lost เป็นกลุ่มที่ไม่คุ้มค่าในการทำการตลาดต่อ
2. คัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย (Targeting)
การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย คือ ขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นได้หลังจากที่ธุรกิจทำ Segmentation แล้ว โดยการทำ Targeting ก็คือ การประเมินและคัดเลือกว่า ธุรกิจจะทำการตลาดกับคนกลุ่มไหน ซึ่งก็มีเกณฑ์การประเมินคร่าว ๆ ใน 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่
- Size – ขนาดของกลุ่มเป้าหมาย ดูว่ามีขนาดใหญ่เพียงพอ คุ้มค่ากับการทำการตลาดหรือไม่ รวมไปถึงแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มเป้าหมาย
- Profitability – มูลค่าตลาดของกลุ่มเป้าหมาย พิจารณาเรื่องความสามารถในการจ่ายของ
กลุ่มเป้าหมาย ความถี่ในการซื้อ หรือมูลค่าตลอดอายุการใช้งาน/การซื้อซ้ำ
(Customer Lifetime Value) - Reachability – ความยาก-ง่ายในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อเข้าถึงพวกเขา (Customer Acquisition Cost)
หลังจากพิจารณาทั้ง 3 เรื่องแล้ว ธุรกิจจะรู้ว่า กลุ่มเป้าหมายใดที่คุ้มค่าทำการตลาดด้วยมากที่สุด คล้ายกับ
การทำ Segmentation ด้วย RFM Metrics ช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำธุรกิจแบบ B2B (Business to Business) ที่กระบวนการตัดสินใจซื้อค่อนข้างนาน หากเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ไม่คุ้มค่า ก็อาจเสียเวลา เสียงบประมาณการตลาดโดยเปล่าประโยชน์
3. กำหนดตำแหน่งของสินค้าหรือบริการ (Positioning)
การกำหนดตำแหน่งสินค้า (Product Positioning) คือ การกลยุทธ์การตลาดในการนิยามสินค้า โปรดักต์ หรือบริการของธุรกิจว่าเหมาะสมกับตำแหน่งไหนในตลาด เพื่อเติมเต็มช่องว่างในตลาด สร้างความแตกต่าง
มีจุดขายให้ลูกค้าเลือกซื้อ
สำหรับวิธีการกำหนดตำแหน่งสินค้าอย่างง่าย สามารถใช้ Positioning Map ที่มี 2 แกน คือ คุณภาพและราคา แล้วระบุแบรนด์คู่แข่งว่าสินค้าของเขาอยู่ในตำแหน่งใด จากนั้นจึงเลือก Position สินค้าของเราที่แตกต่างจากแบรนด์เหล่านั้น
Positioning Map ขอบคุณภาพจาก visme.co
Product Positioning จะเป็นพื้นฐานในการกำหนดวิธีการสื่อสารและการทำการตลาดให้กับแบรนด์ต่อไป โดยนำมาพิจารณาร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Consumer) เพื่อออกแบบกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมและได้ผลดีที่สุด
กลยุทธ์การตลาด 4Ps (Marketing Mix)
กลยุทธ์การตลาด 4Ps หรือ กลยุทธ์ส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mix) คือ กลยุทธ์ 4 เรื่องที่ธุรกิจจะวิเคราะห์และออกแบบเพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาด ประกอบไปด้วย Product, Price, Place และ Promotion โดยทั้ง 4 ปัจจัยเหล่านี้ นักการตลาดจะวิเคราะห์ว่าแบรนด์จะออกแบบปัจจัยเหล่านี้ให้เป็นจุดขายได้อย่างไร
ประโยชน์ของ กลยุทธ์การตลาด 4Ps จะช่วยให้นักการตลาดรู้ว่า ควรจะต่อยอดวางกลยุทธ์การตลาดอย่างไรต่อไปเพื่อผลักให้แบรนด์และสินค้า/บริการเข้าถึงผู้บริโภคและโดดเด่นจากแบรนด์คู่แข่งในตลาด
ส่วนประสมทั้ง 4Ps การตลาด Marketing Mix มีอะไรบ้าง?
- Product Strategy – กลยุทธ์การออกแบบโปรดักต์ สินค้า และ Product Positioning
- Price Strategy – กลยุทธ์การตั้งราคา เทคนิคการตั้งราคา
- Place Strategy – กลยุทธ์ช่องทางการขาย การเลือกช่องทางเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค/ลูกค้า
- Promotion Strategy – กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย การทำโปรโมชัน เทคนิคดึงดูดลูกค้า
Marketing Mix-4Ps มีอะไรบ้าง ขอบคุณภาพจาก theintactone.com
1. กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ (Product Strategy)
กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ หรือ Product Strategy คือ การวิเคราะห์สินค้า/บริการของธุรกิจว่ามีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร อะไรคือจุดขายของสินค้าของเรา แล้วจะออกแบบโปรดักต์หรือผลิตภัณฑ์อย่างไรเพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและโดดเด่นจากผลิตภัณฑ์ของแบรนด์อื่น
คำถาม คือ สินค้า/บริการ หรือโปรดักต์ ของเราจะชนะใจลูกค้าและชนะคู่แข่งได้อย่างไร?
สิ่งที่แบรนด์และนักการตลาดจะใช้เป็นฐานในการคิด เช่น
- ความต้องการของลูกค้า (Satisfying Needs) และปัญหาของลูกค้า (Pain Points)
- จุดขายของสินค้า (Unique selling point)
- คุณภาพของสินค้า (Product Quality)
- ภาพลักษณ์หรือ Branding ของสินค้า บรรจุภัณฑ์
- การให้บริการและบริการหลังการขาย(Services)
- การรับประกัน (Warranties)
2. กลยุทธ์ราคา (Price Strategy)
กลยุทธ์การตั้งราคา (Price Strategy) คือ กลยุทธ์การตลาดที่ใช้การตั้งราคาสินค้าและกลยุทธ์ด้านราคาในการดึงดูดลูกค้า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อของจากเรา
คำถามสำคัญ คือ กลยุทธ์ด้านราคาและการตั้งราคาแบบไหนจะทำให้ลูกค้าอยากซื้อหรือซื้อมากขึ้น?
โดยสิ่งที่สามารถใช้เป็นกลยุทธ์ราคาให้กับแบรนด์ได้ ได้แก่
- กลยุทธ์ด้านราคา (Price Strategy) เช่น การมีสินค้าหลายราคาให้เลือกซื้อ การตั้งราคาไดนามิกหรือ
มีการปรับขึ้น-ลง (Dynamic Pricing) การทำระบบจ่ายแบบ Subscription หรือ Membership ฯลฯ - การตั้งราคาสินค้า (Pricing) เช่น การตั้งราคาตามต้นทุน การตั้งราคาตามคุณค่า การตั้งราคาเป็น
เลขกลมอ่านง่าย (Price Skimming) การตั้งราคาตามคู่แข่ง ตั้งราคาถูกแต่มีค่าใช้จ่ายแฝง
การตั้งราคาเป็นลำดับขั้น ฯลฯ - ข้อเสนอยอมให้ (Allowances) เช่น นำเก่ามาแลกใหม่ ให้ค่าตอบแทน/ส่วนลดเมื่อบอกต่อสินค้า
ช่วยค่าส่ง ฯลฯ - ส่วนลด (Discount)
- เงื่อนไขการชำระเงิน (Payment Term) เช่น สามารถแบ่งชำระได้ ใช้เครดิตได้ ฯลฯ
กลยุทธ์การตั้งราคา (Price Strategy) สัมพันธ์กับเรื่องของ Product Positioning และภาพลักษณ์ของแบรนด์ เมื่อจะใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการเข้าถึงลูกค้า ต้องไม่ลืมว่า แบรนด์กำลังยืนอยู่ในตำแหน่งใด เพราะหากใช้กลยุทธ์ด้านราคาที่ไม่สัมพันธ์ Product Positioning ของแบรนด์ ภาพลักษณ์ที่ลูกค้ามองมาจะเปลี่ยนไป อาจมองว่าแบรนด์เข้าถึงยากขึ้น หรือดูหรูหราน้อยลง
3. กลยุทธ์ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place Strategy)
กลยุทธ์ช่องทางการจัดจําหน่าย คือ การเลือกช่องทางในการนำเสนอสินค้าให้ลูกค้ารู้จัก ซึ่ง “Place” ในที่นี้
ไม่ได้หมายถึงเพียงสถานที่ทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงช่องทางที่ลูกค้าใช้เวลาทำกิจกรรมในนั้น เช่น โซเชียลมีเดียช่องทางต่าง ๆ, Google, สมาร์ตโฟน
คำถามสำคัญ คือ แบรนด์จะเลือกใช้ช่องทางใดเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเจาะจง?
ช่องทางทำการตลาดและการขายในปัจจุบันก็มีหลากหลาย ซึ่งการเลือกช่องทางหรือ Place ในการทำ
การตลาดที่ดีที่สุดก็คือ การเลือกช่องทางที่กลุ่มเป้าหมาย (Target Audience) ของเราอยู่ ลูกค้าอยู่ไหน
เราก็ตามไปทำการตลาดและขายถึงที่ แน่นอนว่า เราจะรู้ข้อมูลเหล่านั้นได้ ก็จากการทำ Segmentation ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคมาแล้ว
ตัวอย่างช่องทางออนไลน์
- เว็บไซต์และหน้า Google (ทั้ง SEO และ Google My Business)
- E-commerce /Marketplace เช่น Shopee, Lazada
- Social Media Marketing / Social-commerce เช่น Facebook, LINE, Twitter, YouTube, TikTok
- Metaverse พื้นที่โฆษณาและร้านค้าบนโลกเสมือน
- Gaming Marketing พื้นที่โฆษณาในเกมและร้านค้าในเกม
- Chatbot / Chat-commerce
ตัวอย่างสถานที่จริง
- ตลาด
- ร้านสะดวกซื้อ
- ห้างสรรพสินค้า
- ฝากขายตัวแทนจำหน่าย
4. กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด (Promotion Strategy)
กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด (Promotion Strategy) คือ สิ่งที่แบรนด์หรือธุรกิจจะทำเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาสนใจแบรนด์และตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ โดยกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดและกลยุทธ์การขายก็มีอยู่หลากหลายวิธีด้วยกัน
ขอยกตัวอย่างกลยุทธ์การตลาดและการขายเบื้องต้น เช่น
- กลยุทธ์การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing)
- กลยุทธ์การตลาดผ่านสื่อโซเชียล (Social Marketing)
- กลยุทธ์การใช้ผู้มีอิทธิพล (Influencer Marketing)
- กลยุทธ์การตลาดแบบบอกต่อ หรือ Word-of-Mouth Marketing
- CRM: Customer Relationship Management เช่น การสะสมแต้ม
- กลยุทธ์การขาย เช่น ลด แลก แจก แถม ฯลฯ
- และอีกมากมาย
คำถามสำคัญ คือ แบรนด์จะเลือกใช้โปรโมชันหรือกลยุทธ์ไหนเพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้จริง?
แน่นอนว่า ในการทำการตลาดจริงไม่ใช่แค่เลือกกลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่งมาใช้ แต่เพื่อการทำการตลาดที่ได้ผลแบรนด์/ธุรกิจต้องทำโปรโมชัน ส่งเสริมการตลาดและการขายแบบประสม ที่เรียกว่า “ส่วนประสม
การส่งเสริมการตลาด” (Promotional Mix)
ส่วนประสมการส่งเสริมการตลาด (Promotional Mix) คือ การใช้ทำโปรโมชันและใช้กลยุทธ์การตลาดหลาย ๆ กลยุทธ์ร่วมกัน เช่น การใช้โฆษณา (Advertising) การทำโปรโมชันส่งเสริมการขาย
(Sales Promotion) การประชาสัมพันธ์ (PR) ฯลฯ ซึ่งอาจคิดกลยุทธ์ออกแบบเป็นรายแคมเปญ
กลยุทธ์การตลาดที่โฟกัสของทั้งปี หรือการทำโปรโมชันแบบเรียลไทม์ ฯลฯ
การคิดกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดควรจะเป็นสิ่งที่ออกแบบ วางแผน และมีผลลัพธ์ที่คาดการณ์มาแล้ว
ซึ่งต้องผ่านการทำ STP Marketing และประยุกต์ใช้ Marketing Mix 4Ps ร่วมกัน รวมไปถึงการวางกลยุทธ์การตลาดตาม Sales Funnel สอดคล้องไปกับขั้นตอนการตัดสินใจของลูกค้า เพื่อเข้าถึงลูกค้าและกระตุ้น
การตัดสินใจของเขาได้ตรงจุด (Customer Touch Points)
กลยุทธ์การตลาด 4Ps 7Ps และ 8Ps
กลยุทธ์การตลาด 4Ps Marketing Mix เป็นกลยุทธ์ที่คิดค้นขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1960s ซึ่งเวลาที่ผ่านไป
การทำการตลาดและโลกธุรกิจมีความซับซ้อนขึ้น แค่ 4Ps อาจจะยังไม่พอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจและบริการสมัยใหม่ เช่น SaaS การธนาคาร และธุรกิจ B2B อีกมากมาย จึงเป็นที่มาของ 7Ps และ 8Ps (ซึ่งรวม Product, Price, Place, Promotion เข้าไปแล้ว) ในปัจจุบัน
เราจะมาทำความเข้าใจ Ps ต่าง ๆ ที่เหลือ มาเริ่มกันที่ กลยุทธ์การตลาด7Ps ที่เหลือกัน
กลยุทธ์การตลาด 7Ps Marketing Mix มีอะไรบ้าง?
- Product Strategy – กลยุทธ์การออกแบบโปรดักต์
- Price Strategy – กลยุทธ์ด้านราคา
- Place Strategy – กลยุทธ์ช่องทางการขาย
- Promotion Strategy – กลยุทธ์ส่งเสริมการขายและการตลาด
- People Strategy – กลยุทธ์พนักงาน
- Process Strategy – กลยุทธ์กระบวนการ
- Physical Evidence Strategy – กลยุทธ์ประสบการณ์ที่จับต้องได้
ขอบคุณภาพจาก smartinsights.com
5. กลยุทธ์ด้านผู้คน (People Strategy)
คนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจ “ผู้คน” (People) ซึ่งประกอบไปด้วย พนักงาน ลูกค้า คู่ค้าหรือพาร์ตเนอร์ รวมถึงคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ – People เป็นอีกหนึ่งปัจจัยและกลยุทธ์ที่
นับรวมเข้ามาอยู่ใน Marketing Mix ด้วยเช่นกัน
กลยุทธ์ด้านผู้คน (People Strategy) คือ การบริหารจัดการผู้คนตั้งแต่พนักงาน พาร์ตเนอร์ และ
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลูกค้าสามารถสัมผัสประสบการณ์จากแบรนด์ผ่านพนักงานขาย ตัวแทนจำหน่าย และทีมให้ความช่วยเหลือ ฯลฯ รวมไปถึง
การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า
กลยุทธ์ด้านผู้คนจะครอบคลุมปัจจัยในหลายเรื่องด้วยกัน เช่น
- การคัดเลือกและจ้างพนักงานเข้ามาทำงาน
- การวางโครงสร้างองค์กรและลำดับพนักงาน
- ชุดยูนิฟอร์ม การเทรนพนักงาน
- การสื่อสารกับลูกค้า เช่น แนวทางการสื่อสาร การให้คำแนะนำ น้ำเสียงของแบรนด์ ฯลฯ
- การรับมือกับข้อคิดเห็น ข้อตำหนิ การบริหารชื่อเสียงแบรนด์ (Brand Reputation)
- การบริการ การให้ความช่วยเหลือลูกค้า
- การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM)
- การดูแลคนในองค์กร
- การบริหารความสัมพันธ์กับคู่ค้า (Partner)
6. กลยุทธ์กระบวนการ (Process Strategy)
กลยุทธ์ Marketing Mix ข้อถัดมา คือ กลยุทธ์กระบวนการ (Process Strategy) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัย
การทำการตลาดและดำเนินธุรกิจที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า 4Ps ที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว
กลยุทธ์กระบวนการ (Process Strategy) คือ การบริหารกระบวนการ การลำดับขั้นตอนการทำงาน
การลำดับขั้นตอนการให้บริการต่าง ๆ เพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้เวลาและต้นทุนน้อย
รวมไปถึงเพื่อสร้างประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) ที่น่าประทับใจ
โจทย์สำคัญของกลยุทธ์กระบวนการ ยกตัวอย่างเช่น
- การลำดับความสำคัญในการทำงาน การลำดับกลยุทธ์การตลาดให้เหมาะสมกับ Customer Journey
- ลำดับการวางกลยุทธ์การตลาด เช่น การทำวิจัยตลาด (Marketing Research) การทำ Persona
การกำหนดเป้าหมายการตลาด การวางกลยุทธ์การตลาด การวางแผนการตลาด เป็นต้น
นอกจากนี้ เรื่องของ Process ให้ความสำคัญกับเรื่องของประสบการณ์อย่างยิ่ง และไม่ใช่แค่การให้ประสบการณ์จริงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับจากแบรนด์บนโลกออนไลน์ด้วย
- การออกแบบ UX/UI ของเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
- การออกแบบ Customer Journey ที่บูรณาการการใช้ช่องทางการตลาดต่าง ๆ (Cross-channel integration) เช่น การใช้โฆษณาบนโซเชียลมีเดีย ร่วมกับการใช้ SEO & Website Marketing การทำ Retargeting
- ลำดับการให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนลูกค้า
- Workflow ในการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า สำหรับการทำ CRM
7. กลยุทธ์ประสบการณ์ที่จับต้องได้ (Physical Evidence Strategy)
แม้ว่ายุคปัจจุบันเป็นยุคที่ Digital Marketing มีบทบาทสำคัญเป็นหลัก แต่เรื่องของ Customer Experience ไม่ได้จบแค่บนโลกออนไลน์เท่านั้น ‘ประสบการณ์ที่จับต้องสัมผัสได้’ ก็สร้างความประทับใจและการจดจำแบรนด์ได้ดีเช่นกัน
กลยุทธ์ประสบการณ์ที่จับต้องได้ (Physical Evidence Strategy) คือ กลยุทธ์การตลาดที่โฟกัสการสร้างประสบการณ์จริงที่จับต้องได้ เช่น การออกแบบและตกแต่งสถานที่/ร้านค้า/องค์กร การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สินค้า การให้บริการของพนักงานรวมถึงยูนิฟอร์มที่ใช้ ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ลูกค้าจำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์จริง ๆ
กลยุทธ์การตลาด 8Ps สำหรับธุรกิจรูปแบบ Subscription / Membership
ทั้งนี้ ตามที่ได้เกริ่นไปแล้วว่า ทุกวันนี้ ไม่ได้มีแค่ 4Ps และ 7Ps แต่ยังมี กลยุทธ์การตลาด 8Ps
(8Ps Marketing Mix) อีกด้วย ซึ่ง 8Ps คือ โมเดลในการบริหารและจัดการการตลาดแบบองค์รวม
(Holistic Marketing) และออกแบบมาเป็นแนวทางการทำการตลาดที่ครอบคลุมมากขึ้นสำหรับธุรกิจประเภท Subscription, Membership หรือการให้บริการแบบซื้อซ้ำ (Recurring Model)
มาถึงเรื่องที่คุณน่าจะกำลังสงสัย แล้ว 8Ps ตกลงแล้วคืออะไร? 8Ps Marketing Mix มีอะไรบ้าง?
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก solvinnov.com
กลยุทธ์การตลาด 8Ps (8Ps Marketing Mix) คือ กลยุทธ์การตลาดที่ต่อยอดมาจาก 4Ps Marketing Mix เพื่อตอบโจทย์รูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่การทำการตลาดยังไม่จบที่การปิดการขาย (Close Deal) แต่ยังต้องดำเนินต่อไปด้วยการบริหารการทำการตลาดสมัยใหม่ (Modern Marketing Management) อย่างธุรกิจที่ให้บริการแบบ Membership หรือ Subscription ยกตัวอย่างเช่น
- ฟิตเนสและยิม
- เอเจนซีการตลาด
- บริษัท SaaS ให้บริการซอฟต์แวร์ เช่น ซอฟต์แวร์การตลาด, Data Cloud Storage, บริการโฮสติง (Hosting)
- บริการสตรีมมิง เช่น YouTube Premium, Netflix, DisneyPlus, Spotify
องค์ประกอบของ 8Ps Marketing Mix จะรวม 4Ps และ 7Ps มาด้วย และรวมปัจจัยเรื่องประสิทธิภาพของสินค้าและบริการ (P – Performance) และรูปแบบการใช้บริการ (Programs / Partnership) เข้าไว้ด้วย
สรุปแล้ว กลยุทธ์การตลาด 8Ps Marketing Mix มีอะไรบ้าง?
- Product – สินค้า โปรดักต์
- Price – ราคา
- Place – ช่องทางการขายและทำการตลาด
- Promotion – กลยุทธ์ส่งเสริมการขายและการตลาด
- People – การบริหารผู้คนและการสร้างประสบการณ์กับผู้คน
- Process – กระบวนการทำงาน กระบวนการทำการตลาด
- Physical Evidence – ประสบการณ์จริงที่สัมผัสได้
- Performance – ประสิทธิภาพของสินค้าและบริการ
- Programs / Partnership – รูปแบบการให้และใช้บริการ
10 กลยุทธ์การตลาดออนไลน์ (Digital Marketing Strategy)
การวางกลยุทธ์ในปัจจุบัน อย่างไรก็หนีไม่พ้นเรื่องของการทำการตลาดออนไลน์หรือ Digital marketing เพราะผู้บริโภคและตัวเราต่างใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียรวมกันวันหนึ่งเป็นชั่วโมง และสำหรับ
การซื้อ-ขายบนโลกออนไลน์ก็เป็นเรื่องง่าย ทำได้ตลอดเวลา
ในฝั่งของนักการตลาด การทำ Digital Marketing & Social Media Marketing ก็ช่วยให้เราติดตามข้อมูลและผลลัพธ์ต่าง ๆ ได้ ที่สำคัญ ใช้ต้นทุนไม่มาก แถมยังมีลูกเล่นและกลยุทธ์มากมายให้ใช้อีกด้วย
แนะนำกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ Digital Marketing Strategy ที่น่าทำ ด้านล่างนี้
1. กลยุทธ์การตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย (Social Media Marketing)
ข้อมูลและภาพจาก Digital 2022 Report
จากรายงานข้างต้น คนไทยมีบัญชีใช้งานโซเชียลมีเดียถึง 56.85 ล้านบัญชี และใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียมากถึงวันละเกือบ 3 ชั่วโมง ดังนั้น Social Media Marketing จึงเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ไม่ควรมองข้าม
กลยุทธ์การตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย (Social Media Marketing) คือ การทำการตลาดบนช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Twitter, LINE, TikTok, Instagram ฯลฯ ผ่านการสร้างคอนเทนต์ การพูดคุยปฏิสัมพันธ์
การมีส่วนร่วมกับผู้ติดตาม รวมถึงการทำโฆษณาหรือยิงแอดด้วย
จุดเด่นของ Social Media Marketing หรือ SMM
- เข้าถึงคนจำนวนมาก ๆ ได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก
- ผู้คนใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียค่อนข้างนานและบ่อย
- ใช้สำหรับสร้างโปรไฟล์ธุรกิจ ทำ Branding
- สามารถสร้างโฆษณาและยิงแอดลูกค้าได้แบบเจาะจง
- เหมาะทำการตลาดทั้ง Mass Marketing และ Niche Marketing
2. กลยุทธ์การตลาดผ่านวิดีโอ (Video Marketing)
ปัจจุบันเป็นยุคที่วิดีโอได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิดีโอสั้นที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเจ้าต่าง ๆ พยายามผลักดัน ตั้งแต่ TikTok, Reels ของ IG และ Facebook, Shorts จาก YouTube
จุดเด่นของวิดีโอคือ เสพง่าย ได้ความบันเทิงทั้งภาพและเสียง เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย โดยกลยุทธ์การตลาดผ่านวิดีโอ ไม่ใช่แค่การทำโฆษณาโปรโมตแบรนด์หรือสินค้าอีกต่อไป วิดีโอที่สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ได้จริง
ในสมัยนี้ จะต้องเป็นวิดีโอที่ให้ความบันเทิง ให้ความรู้ ตอบโจทย์ความต้องการและ Pain Point ของ
กลุ่มเป้าหมาย โดยที่คุณภาพของวิดีโออาจจะไม่ต้องดีเหมือนกับโฆษณาบนโทรทัศน์
จุดเด่นของกลยุทธ์การตลาดผ่านวิดีโอ (Video Marketing)
- ผู้คนชอบเสพ เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย มีช่องทางหลากหลาย
- ทำได้ง่าย และไม่จำเป็นต้องใช้ Production ขนาดใหญ่
- พลิกแพลงใช้ได้หลากหลาย เช่น ทำรายการ การวิดีโอให้ความรู้ ทำวิดีโอให้ความบันเทิง การทำวิดีโอร่วมกับ Influencer
- เหมาะใช้สำหรับสร้าง Awareness ให้แบรนด์และสินค้า
- เหมาะใช้สำหรับการอธิบายให้ความรู้ ตอบสนองการตัดสินใจผู้บริโภคช่วง Consideration
3. กลยุทธ์การตลาดผ่านบทความ (Blogging)
ทุกวันนี้ ผู้บริโภคจะหาข้อมูลก่อนที่เขาจะตัดสินใจซื้อหรือใช้บริการอะไรบางอย่าง กลยุทธ์การตลาดผ่านบทความ (Blogging) จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการตลาดที่ช่วยให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ ผ่านการสร้างคอนเทนต์หรือบทความให้ความรู้ตอบโจทย์ความต้องการของเขา
กลยุทธ์การตลาดผ่านบทความ สามารถออกแบบเนื้อหาให้เหมาะสมกับกระบวนการตัดสินใจ (Sales Funnel) ของลูกค้าในช่วงต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจขายเก้าอี้ออฟฟิศเพื่อสุขภาพ ทำคอนเทนต์ 3 ช่วงด้วยกัน ได้แก่ 1) บทความให้ความรู้เกี่ยวกับอาการปวดหลังและออฟฟิศซินโดรม 2) บทความให้ความรู้และวิธีเลือกเก้าอี้ออฟฟิศเพื่อสุขภาพ 3) บทความสนับสนุนการขายเก้าอี้ออฟฟิศของแบรนด์
จุดเด่นของกลยุทธ์การตลาดผ่านบทความ (Blogging Marketing)
- เหมาะกับพฤติกรรมการหาข้อมูลของผู้คน
- ต้นทุนต่ำ เพียงแต่ต้องมีเว็บไซต์
- บทความสามารถใช้งานได้เรื่อย ๆ ไม่จำเป็นต้องทำใหม่
- สามารถออกแบบคอนเทนต์ให้เหมาะกับขั้นตอนการตัดสินใจของลูกค้าได้ (Customer Journey)
- เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำ SEO และ Digital Marketing
- เหมาะกับธุรกิจ B2B และ Niche Marketing อย่างยิ่ง
4. กลยุทธ์การตลาดผ่าน Search Engine (SEO marketing)
SEO คือ กลยุทธ์การตลาดดิจิทัลในปัจจุบันที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งต่อยอดจากการทำบทความ เพราะว่า
ผู้คนจะมาพบบทความบนเว็บไซต์ของธุรกิจได้ ก็ต้องผ่านการทำ SEO หรือ Seach Engine Optimization
การทำ SEO จะช่วยให้บทความ หน้าเพจ และเว็บไซต์ของธุรกิจไปปรากฏเป็นผลลัพธ์การค้นหาบน Google หรือ Search Engine เจ้าอื่น ๆ เพิ่มโอกาสให้มีคนเข้าเว็บไซต์ (Traffic) และเพิ่มโอกาสเปลี่ยนผู้เข้าชมเว็บไซต์เป็นลูกค้าจริง ๆ ได้
จุดเด่นของการทำ SEO Marketing
- ช่วยให้มีคนเข้าเว็บไซต์ ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าร้านของธุรกิจบนโลกออนไลน์
- ช่วยให้คนเข้ามาเจอบทความ สอดคล้องกับกลยุทธ์การตลาดผ่านบทความ
- การทำ SEO ให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน แม้ลงทุนทำเพียงครั้งเดียว นำคนเข้ามาเว็บไซต์ได้เรื่อย ๆ
- เป็นหนึ่งในการใช้เว็บไซต์ทำการตลาด สามารถใช้ทำ Retargeting และ Custom Audience สำหรับการยิงโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Ads ได้
5. กลยุทธ์การตลาดผ่านผู้มีอิทธิพลบนสื่อ (Influencer Marketing)
กลยุทธ์การตลาดผ่านผู้มีอิทธิพลบนสื่อ หรือ Influencer Marketing คือ การทำการตลาดโดยใช้บุคคลที่มี
ชื่อเสียงหรือมีผู้ติดตามให้ ‘ช่วยบอกต่อ’ แบรนด์หรือสินค้าให้คนที่ติดตามเขาได้รู้จัก กลยุทธ์การตลาดกลยุทธ์นี้ ใช้หลักจิตวิทยาที่ว่า “คนจะเชื่อคนที่เขาเชื่อถือ” ทำให้ผู้ที่เชื่อในตัว Influencer มีแนวโน้มที่จะเชื่อสิ่งที่เขาบอกหรือใช้สิ่งของตาม ในปัจจุบันการทำ Influencer marketing มักใช้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียช่องทาง
ต่าง ๆ ในหลายรูปแบบ เช่น การรีวิวสินค้า/บริการ การโฆษณา การทำคอนเทนต์ร่วมกับตัว Influencer
Soundtiss, Influencer และ Beauty Blogger รีวิวสินค้าแบรนด์ La Mer
จุดเด่นของการใช้ Influencer Marketing
- ช่วยให้แบรนด์/ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและจำนวนมาก
- ช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ รวมถึงส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์
- ใช้ Influencer นอกสาย เพื่อให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ได้
- มีโอกาสเกิดเพิ่มยอดขายและ Conversion เพราะผู้คนเชื่อคนที่พวกเขาเชื่อ ทำให้ซื้อตาม ใช้ตาม
6. กลยุทธ์การเปลี่ยนผู้ชมให้กลายเป็นลูกค้า (Lead Magnet)
กลยุทธ์การเปลี่ยนผู้ชมให้กลายเป็นลูกค้า หรือการทำ Lead Magnet คือ การมอบบางอย่างเป็น
การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมาย ผู้ติดตาม หรือคนที่เยี่ยมชมเว็บไซต์ เช่น อีเมล เบอร์โทรติดต่อ
ข้อมูลติดต่ออื่น ๆ เพื่อที่ธุรกิจจะได้มีข้อมูลและช่องทางในการติดต่อเพื่อทำการตลาดกับเขาต่อ โดยเป้าหมายของการทำ Lead Magnet ก็เพื่อรวบรวมคนที่มีแนวโน้มจะเป็นลูกค้า (Leads & Prospects) เพื่อที่จะฟูมฟักให้เขาพร้อมจะเป็นลูกค้า
การทำ Lead Magnet ในปัจจุบัน มักจะทำผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การทำ E-book, รายงาน, ไกด์ไลน์ ให้ดาวน์โหลด การล็อก Premium Content ให้กรอกอีเมลเพื่อเข้าอ่าน การทำ Webinar ให้ลงทะเบียนเข้าร่วม ฯลฯ
จุดเด่นของการทำ Lead Magnet
- เหมาะสำหรับการทำ Email Marketing และ CRM: Customer Relationship Management
- เหมาะสำหรับธุรกิจ B2B ที่ต้องอาศัยเวลาในการฟูมฟัก Leads
- ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์และช่วยให้รายละเอียดกับลูกค้าเกี่ยวกับสินค้า/บริการ
7. กลยุทธ์การยิงแอด (Facebook Ads)
การยิงแอด โดยเฉพาะ Facebook Ads เป็นอีกกลยุทธ์การตลาดที่มองข้ามไม่ได้เลย เพราะการทำโฆษณา
จะให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็ว เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แบบเจาะจง ใช้งบโฆษณาได้อย่างคุ้มค่าด้วยงบขั้นต่ำเพียงไม่ถึงบาท ธุรกิจใดที่มี Facebook Page หรือบัญชี Instagram ควรศึกษาวิธีการยิงแอด Facebook ให้แม่นยำไว้ ทำได้ถูกต้อง รู้เทคนิค งบประมาณที่ใช้คุ้มค่าแน่นอน
จุดเด่นของ Facebook Ads
- เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างและจำนวนมาก
- สามารถกำหนด Target Audience ได้แบบเจาะจง ทั้งตามข้อมูลพฤติกรรม ความสนใจ โลเคชัน
และตามข้อมูลเชิงประชากรศาสตร์ - สามารถทำโฆษณาได้หลากหลายรูปแบบ เช่น Single Image, Photo Album, Post, Video, Carousel, Slide Share ฯลฯ
8. กลยุทธ์การตลาดแบบแนะนำ (Affiliate Marketing)
Affiliate Marketing ทำงานอย่างไร ขอบคุณภาพจาก shopify.com
กลยุทธ์การตลาดแบบแนะนำ หรือ Affiliate Marketing คือ รูปแบบการทำการตลาดรูปแบบหนึ่งที่ให้
บุคคลที่สาม ช่วยบอกต่อสินค้า/บริการจากแบรนด์ ผ่านลิงก์สินค้า Affiliate Link โดยที่คนที่ช่วยบอกต่อจะเป็นใครก็ได้และคนที่จะบอกต่อจะได้ค่าส่วนแบ่ง หรือที่เรียกว่า “ค่าคอม” (Commission)
การทำ Affiliate Marketing ในมุมของธุรกิจหรือแบรนด์ จะช่วยให้สินค้า/บริการของเราเข้าถึงกลุ่มคนต่าง ๆ ได้กว้างขวางขึ้น และถือว่ามีคนที่ช่วยแบรนด์ทำการตลาดให้อีกต่อ โดยใช้งบประมาณเพียงเล็กน้อย
เมื่อเทียบกับการใช้งบประมาณทำการตลาดรูปแบบอื่น
จุดเด่นของการทำ Affiliate Marketing
- เหมือนมีคนช่วยแบรนด์ทำการตลาด
- ผู้คนเชื่อถือคนที่คล้ายกับพวกเขา
- สามารถใช้ร่วมกับกลยุทธ์การตลาด Influencer Marketing ได้
- ใช้งบประมาณเมื่อปิดการขาย หรือได้ Conversion เท่านั้น
9. กลยุทธ์การตลาดผ่านอีเมล (Email Marketing)
การใช้อีเมลในการทำการตลาด หรือ Email Marketing เป็นอีกช่องทางและกลยุทธ์การตลาดที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะธุรกิจ B2B และเหมาะสำหรับแบรนด์ที่ใช้ Content Marketing ในการฟูมฟัก
กลุ่มเป้าหมายและผู้ติดตาม ส่วนสถิติที่น่าสนใจของการใช้อีเมลทำการตลาด คือ Conversion Rate
ค่อนข้างสูง โดยสูงถึง 15% ในปี 2021 และธุรกิจที่ไม่ควรพลาดทำ Email Marketing คือ ธุรกิจประเภท High-Involvement เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร ธุรกิจ B2B ธุรกิจให้บริการด้านกฎหมาย ฯลฯ
ศึกษาเพิ่มเติม Content Marketing คืออะไร? Digitaltips ขอแนะนำ “คอร์สออนไลน์ เรียน content Marketing Mastery”
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก mailmodo.com
จุดเด่นของการทำ Email Marketing
- สามารถใช้ทำ Personalized Marketing ได้
- มีข้อมูลและเห็นผลลัพธ์ของการทำ Email Marketing ชัดเจน สามารถปรับปรุงได้
- Conversion Rate ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการทำการตลาดในช่องทางอื่น ๆ
- เป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ CRM หรือกลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
10. กลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM)
กลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) ไม่ได้หมายถึงแค่การบริการลูกค้าเท่านั้น แต่หมายความตามตัวอักษร คือ “สานสัมพันธ์” กับลูกค้า เป้าหมายของการทำ CRM คือ การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าให้เขาอยู่กับแบรนด์นานที่สุด โดยการทำ CRM ในปัจจุบัน จะทำผ่านซอฟต์แวร์ CRM เช่น HubSpot, ActiveCampaign, Zendesk ฯลฯ รวมถึง Email Marketing Software ต่าง ๆ
รูปแบบการทำงานของ CRM จะเชื่อมต่อกับ MarTech หรือเครื่องมือการตลาดต่าง ๆ เว็บไซต์ รวมไปถึง
โซเชียลมีเดีย โดยนำข้อมูลด้านพฤติกรรมของลูกค้ามาวิเคราะห์และนำเสนอเป็นรายงาน เพื่อให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้าและนำเสนอขายได้ถูกจังหวะ ไม่รบกวนลูกค้า
จุดเด่นของการทำ Customer Relationship Management
- เป็นส่วนหนึ่งของการทำ Inbound Marketing หรือการตลาดแบบแรงดึงดูด
- ใช้สำหรับทำ Marketing Automation หรือการตลาดอัตโนมัติ
- สามารถทำ Data-driven Marketing และ Personalized Marketing
- ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการหาลูกค้าใหม่
- ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า เพิ่มความพึงพอใจ ส่งเสริม CX หรือประสบการณ์ลูกค้าที่ดี
>> ศึกษานวัตกรรมใหม่ ๆ ตัวช่วยด้านการตลาดยุคใหม่ได้ที่ “เทรนด์การตลาด 2024“
ประโยชน์ของการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด
กลยุทธ์การตลาดเปรียบได้กับกระดุมเม็ดแรกของการทำการตลาด เป็นขั้นตอนการทำการตลาดขั้นตอนที่ 0 ก่อนที่จะจัดสรรงบประมาณ เลือกช่องทางทำการตลาด ตัดสินใจว่าจะส่ง Message แบบไหนออกไป กลยุทธ์การตลาดช่วยให้การทำการตลาดของธุรกิจมีทิศทางที่ชัดเจนและหวังผลลัพธ์ได้
ประโยชน์ของกลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategies) มีอะไรบ้าง
- ช่วยให้ธุรกิจได้ทบทวนกลุ่มเป้าหมาย ตลาด และประเมินธุรกิจอีกรอบ
- ช่วยให้จัดสรรงบประมาณและเวลาในการทำการตลาดได้อย่างตรงจุด ลำดับความสำคัญได้
- ช่วยให้งบประมาณถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าที่สุด
- ช่วยให้การสื่อสารการตลาด (Marketing Message) อย่างมีทิศทาง ยังคง Brand Voice ของแบรนด์อยู่ ไม่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน
- ช่วยกำหนดเป้าหมายและการวัดผลการทำการตลาด
- มีไกด์ไลน์ในการทำแผนการตลาดที่มีคุณภาพ ช่วยคุมไทม์ไลน์และงบประมาณ
- ใช้เป็น Core Idea หรือแหล่งอ้างอิงในการทำการตลาดกลยุทธ์ต่าง ๆ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางการตลาด
ความแตกต่างระหว่าง Marketing Strategies กับ Marketing Plans?
กลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategies) กับ แผนการตลาด (Marketing Plans) มักใช้สับสนกัน เพราะว่าทั้งสองคำนี้ ต่างพูดถึง “วิธีการ” ที่จะใช้ในการทำการตลาด แต่ความแตกต่างกัน คือ แผนการตลาดคือ
สิ่งที่พัฒนาขึ้นมาจากกลยุทธ์การตลาด หรือในบางกรณีอาจคิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน และจัดทำในเอกสารหรือสไลด์นำเสนอเดียวกัน จึงอาจเกิดความสับสนระหว่างคำทั้งสองคำนี้ได้
โดยสรุปแล้ว กลยุทธ์การตลาดจะพูดถึงแนวคิดและวิธีการในการทำการตลาด ส่วนแผนการตลาดจะเป็น
การลงรายละเอียดว่าทำอย่างไร ทำอะไรบ้าง พร้อมมีไทม์ไลน์กำกับ
ทำไมองค์กรต้องมีกลยุทธ์ทางการตลาด?
กลยุทธ์การตลาดช่วยให้ธุรกิจและแบรนด์กำกับทิศทางการทำการตลาดว่า งบประมาณ แรงงาน และเวลาจะไปใช้กับอะไร และการวางกลยุทธ์การตลาดไว้ก่อน จะช่วยให้ธุรกิจมีเวลาสอบทานแนวคิดว่า กลยุทธ์ที่ใช้น่าจะได้ผลและคาดการณ์ผลลัพธ์ได้อย่างไรบ้าง หากธุรกิจและแบรนด์ไม่มีการวางกลยุทธ์การตลาดก่อน
การทำการตลาดอาจไม่มีทิศทาง Branding ไม่ชัด ลูกค้าเกิดความสับสน อีกทั้ง งบประมาณการตลาดและต้นทุนที่ลงไปก็ไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ได้
สรุปเนื้อหา “กลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategy)”
กลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategy) จัดเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจ เพราะมีส่วนช่วยในการสร้างความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่บริษัทตั้งขึ้นได้อย่างมีแบบแผน ซึ่งการจะเลือกใช้กลยุทธ์การตลาดแบบใดก็ต้องขึ้นอยู่กับเป้าประสงค์ รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น เครื่องมือที่มีอยู่ ช่องทางที่ต้องการเข้าถึงลูกค้า ฯลฯ แล้วจึงเลือกกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมและใช้งานแล้วได้ผลมากที่สุด
เอกสารอ้างอิง
[1] Adam Barone. (2022). Marketing Strategy. [Online]. Retrive from https://www.investopedia.com/terms/m/marketing-strategy.asp
[2] Adam Tacy MBA (Merit). (n.d.) Service Marketing Mix – 7Ps Or 8Ps. [Online]. Retrieve from https://solvinnov.com/service-marketing-mix-7ps-or-8ps/
[3] Alberto Carniel. (2019). What marketing is and how it has changed over time. [Online]. Retrieve from https://www.albertocarniel.com/post/evolution-of-marketing
[4] Alberto Carniel. (2019). The ultimate guide to marketing mix: 4Ps, 7Ps, 8Ps, 4Cs, 7Cs. [Online]. Retrieve from https://www.albertocarniel.com/post/marketing-mix
[5] Assemblo. (2021). WHAT ARE THE 7 PS OF MARKETING?. [Online]. Retrieve from https://assemblo.com/guides/what-are-the-7-ps-of-marketing
[6] Beehive. (2021). How Strategic Brand Positioning Supports Purposeful Business Growth. [Online]. Retrieve from https://beehivepr.biz/brand-positioning
[7] ED. (2021). 5 REASONS TO CREATE A MARKETING STRATEGY. [Online]. Retrive from https://yourengineroom.com/blog/5-reasons-to-create-a-marketing-strategy/
[8] R.L. Adams. (2017). 10 Marketing Strategies to Fuel Your Business Growth. [Online]. Retrive from https://www.entrepreneur.com/article/299335
[9] Starza Thompson. (2018). 7 Reasons Why Marketing Strategy is Important for Your Business. [Online] Retrive from https://womenbelong.com/7-reasons-why-marketing-strategy-is-important-for-your-business/
[10] Techtalkthai. (2021). Segmentation, Targeting, และ Positioning (STP) ในธุรกิจ B2B. [Online]. Retrive from https://www.techtalkthai.com/jrit-ichi-segmentation-targeting-positioning-b2b-business/