copywriting คือ

เพราะการเขียนโฆษณาที่ไม่มีประสิทธิภาพ อาจไม่สามารถจูงใจให้คนตัดสินใจซื้อได้ นักการตลาดและเจ้าของธุรกิจออนไลน์ จึงต้องให้ความสำคัญกับการเขียนคอนเทนต์ ไม่แพ้การทำภาพกราฟิกหรือซื้อโฆษณา อย่างไรก็ตาม มีการเขียน 2 ประเภทที่คนทำการตลาดดิจิทัลควรรู้จักไว้ คือ Copywriting และ Content Writing แล้วลักษณะของการเขียนแต่ละประเภทเป็นอย่างไร แตกต่างกันแค่ไหน Digital Tips พร้อมไขข้อข้องใจนี้ให้กับคุณ!

Copywriting คืออะไร?

ความหมายของ Copywriter

Copywriting คือ รูปแบบการเขียนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจลูกค้า ให้กระทำการบางอย่างที่เป็นผลดีกับธุรกิจของคุณ ไม่ว่าจะเป็น การกดลงทะเบียนร่วมกิจกรรม การดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน หรือการกดสั่งซื้อสินค้า หลักการเขียนโฆษณาตามแบบฉบับ Copywriting คือ การเขียนประโยคสั้น กระชับ แต่ทรงพลัง คุณจึงมักพบการเขียนประเภทนี้ในสื่อโฆษณาต่าง ๆ อาทิ โฆษณาทางโทรทัศน์ สปอตวิทยุ หน้าโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ใบปลิวโฆษณา หรือสื่อออนไลน์ตามกลยุทธ์การตลาดในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น โฆษณา Facebook แบนเนอร์บนเว็บไซต์ Google Ads หรือข้อความ Broadcast ใน LINE OA ทั้งนี้ Copy Writer ที่ได้รับการฝึกฝนเรื่องการใช้คำ จะสามารถสร้างสรรค์ประโยคสั้น ๆ แต่เฉียบคม เพื่อเชื่อมโยงแบรนด์เข้ากับกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี

ความสำคัญของ Copywriting ในการทำการตลาด 

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ว่า Copywriting มักถูกใช้ในงานเขียนโฆษณา และนั่นหมายความว่า งานเขียนแบบ Copywriting คือ อาวุธชิ้นสำคัญในการทำการตลาด โดยเราสามารถอธิบายความสำคัญของการเขียนประเภทนี้ได้เป็น 4 ข้อใหญ่ ๆ ได้แก่

  • สร้างความประทับใจให้กับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่แรกเห็น: ประโยคสั้นกระชับแต่คมคาย ย่อมน่าสนใจกว่าประโยคที่เรียบเรียงคำยาว ๆ และสิ่งนี้เองที่จะช่วยทลายกำแพงระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายภายในไม่กี่วินาที
  • มีประโยชน์ต่อการสร้างแบรนด์: ผลิตภัณฑ์ชื่อดังหลายตัวในอดีต ล้วนมีชื่อเสียงจาก Copywriting ที่โดนใจผู้คนทั้งสิ้น อาทิ “ไม่มีลิมิตชีวิตเกินร้อย”, “ทุกหยดซ่า โซดาสิงห์” หรือ “คิดจะพัก คิดถึงคิทแคท” และยังทำให้ผู้คนจดจำตัวตนของแบรนด์ได้มาจนถึงทุกวันนี้
  • ประหยัดเวลา: แน่นอนว่า “เวลา” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเวลาที่ Copy Writer ใช้สร้างสรรค์คำ แต่หมายถึงเวลาที่กลุ่มเป้าหมายใช้ทำความเข้าใจสารที่คุณจะสื่อ ซึ่งแม้ว่า Blog Post ยาว ๆ หรือบทความ SEO คือ วิธีที่จะทำให้นักเขียนอธิบายจุดเด่นของสินค้าได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ เพราะต้องใช้เวลาอ่านนาน
  • ช่วยคัดกรองกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้นได้: หน้าที่ของ Digital Copywriter คือ การสร้างสรรค์คำโฆษณา โดยคำนึงถึงทั้งศิลปะการเขียนและการใช้คำให้เหมาะกับคนอ่านแต่ละกลุ่มไปพร้อม ๆ กัน ตัวอย่างเช่น หากได้รับบรีฟงานจากฝ่ายกลยุทธ์ว่า ให้เขียนโฆษณาสินค้าเกี่ยวกับวัยรุ่น Copy Writer ก็ต้องเลือกใช้คำสมัยใหม่ หรือคำที่อยู่ในกระแส เพื่อให้วัยรุ่นอ่านแล้วเข้าใจทันที และคัดกรองคนกลุ่มอายุอื่น ๆ ออกไป เป็นต้น
  •  

องค์ประกอบของการเขียน Copywriting

ตัวอย่างการเขียน Copywriting

ปัจจุบัน การเขียนแบบ Copywriting คือ สิ่งที่ขาดไม่ได้ในงาน Digital Marketing เพราะนอกจากจะตอบโจทย์ทั้งเรื่องเวลาและพื้นที่โฆษณาที่มีจำกัดแล้ว ประโยคเด็ดสุดคมเหล่านั้นยังสามารถสร้าง Engagement ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย หากคุณอยากลงมือเขียนด้วยตัวเองสักครั้ง นี่คือ 4 องค์ประกอบของงาน Copywriting ที่คุณต้องรู้! 

เพิ่มพูนความรู้เรื่อง Engagement อ่านต่อได้ที่: Engagement คืออะไร ธุรกิจสร้าง Engagement จากอะไรได้บ้าง

1. Headline

ในบรรดา 4 องค์ประกอบของการเขียนประเภทนี้ Headline คือ ส่วนที่ต้องใหญ่และเห็นชัดที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่า Headline คือประโยคหรือกลุ่มคำที่ใช้ “ตีหัวเข้าบ้าน” สำหรับการเขียนโฆษณา ทั้งนี้ แนะนำให้ใช้คำที่สื่อถึงแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์โดยตรง เห็นแล้วเข้าใจทันที ไม่ต้องใช้เวลาตีความ ในกรณีของสคริปต์โฆษณาในวิทยุ โทรทัศน์ หรือคอนเทนต์วิดีโอ Headline คือ ประโยคแรกที่ผู้ฟังจะได้ยิน และเป็นตัวตัดสินว่าพวกเขายินดีที่จะฟังต่อหรือไม่

2. Body Copy

Body Copy คือ รายละเอียดเนื้อหา ที่ช่วยอธิบายความหมายของ Headline ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งระบุรายละเอียดสำคัญที่ไม่สามารถกล่าวถึงได้ภายในประโยคเดียว อย่างไรก็ดี การเขียน Body Copy ก็ยังคงคอนเซ็ปต์ของ Copywriting คือ เน้นความสั้น กระชับ และไม่เขียนเป็นความเรียงยาว ๆ  

3. Call to Action

จุดประสงค์ของการมี Call to Action คือ การตอกย้ำ และสร้างแรงกระตุ้น ให้ผู้ที่เห็นโฆษณารู้สึกว่าจะต้องกระทำอะไรบางอย่างทันที ก่อนจะพลาดโอกาสทอง เช่น รีบกดลงทะเบียน รีบกดสั่งซื้อ หรือรีบกดรับส่วนลด เป็นต้น 

4. Design and Formatting

สุดท้าย คือ ส่วนของ Design and Formatting ซึ่งก็คือ การออกแบบลักษณะงานเขียนให้เข้ากันได้กับสื่อที่จะนำไปใช้ เช่น หากจะเขียนโฆษณาสินค้า เพื่อการยิงแอดโฆษณาบน Facebook ก็ต้องคิดคำสั้น ๆ ที่สามารถนำไปวางบนภาพกราฟิกได้ หรือหากจะคิดสคริปต์ลงสปอตวิทยุ ก็ต้องคิดประโยคที่มีคำคล้องจอง ลงเสียงหนักเบา แฝงมุกตลกหรือถ้อยคำที่น่าสนใจ เป็นต้น

หมายเหตุ: ทั้ง 4 องค์ประกอบเป็นเพียงโครงสร้างที่แนะนำสำหรับการเขียน Copywriting ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องพยายามเขียนให้ครบทั้ง 4 องค์ประกอบเสมอเมื่อทำงานจริง เพราะงานแต่ละชิ้นย่อมมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป เช่น โฆษณาบางประเภท อาจกำหนดให้มีคำไม่เกิน 1 ประโยคบนโปสเตอร์ เป็นต้น ดังนั้น Copy Writer จึงสามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสม

รูปแบบการเขียนโฆษณา Copywriting

Copywriting คือ การเขียนเพื่อการโฆษณา และโฆษณาเองก็แบ่งออกได้เป็นหลายประเภท เพื่อให้คุณเข้าใจความแตกต่างของเนื้องานแต่ละแบบมากขึ้น เราขอแนะนำให้รู้จักกับ Copy Writer 4 ประเภท ดังนี้

1. Marketing Copy Writer

Marketing Copy Writer คือ ?

โดยปกติแล้ว Marketing Copy Writer จะประจำอยู่ในทีมการตลาดของทุกบริษัท หรือประจำอยู่ในทีม Creative ของเอเจนซี่ที่รับทำการตลาดออนไลน์ให้กับบริษัทอื่น ๆ หน้าที่ของตำแหน่งนี้ คือ การเขียน Copywriting โดยใช้คำเชิงกลยุทธ์ เพื่อจูงใจกลุ่มเป้าหมาย โดยที่พวกเขาจะต้องเข้าใจการวิเคราะห์แบรนด์ และสามารถดึงเอกลักษณ์ของสินค้ามาเขียนเป็นข้อความโฆษณาได้ 

2. SEO Copy Writer

SEO Copy Writer คือ ?

สำหรับเอเจนซี่ที่รับทำการตลาดออนไลน์ บุคคลที่จะขาดไม่ได้ในทีม Content Marketing คือ นักเขียน SEO หรือ SEO Copy Writer เพราะนอกจากพวกเขาจะรู้วิธีเขียนบทความยาว ๆ ให้น่าอ่านแล้ว ยังต้องมีความรู้เรื่อง Keyword, Search Engine และความรู้เชิงเทคนิคอื่น ๆ เกี่ยวกับ SEO อีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากการเขียน SEO มักเป็นงานเขียนขนาดยาว ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ เราจึงนิยมเรียกนักเขียน SEO ว่า Content Writer มากกว่า Copy Writer ซึ่งจะอธิบายความแตกต่างของ 2 คำนี้ในหัวข้ออื่น ๆ ต่อไป

3. Sale Copy Writer

Sale Copy Writer คือ ?

หน้าที่ของ Sale Copy Writer คือ การเขียนงานประเภท Copywriting โดยโฟกัสที่การเขียนโฆษณาสินค้าเท่านั้น และที่สำคัญ พวกเขายังต้องมีความเข้าใจเรื่อง Target Audience, Customer experience (CX) และฟังก์ชันของสินค้าเป็นอย่างดีด้วย

4. Creative Copy Writer

Creative Copy Writer คือ ?

Creative Copywriter คือ งานที่จะแตกต่างกับ Copy Writer ประเภทอื่น ๆ เล็กน้อย เพราะจะเน้นไปที่การคิดคำเชิงสร้างสรรค์ ให้กระแทกใจของผู้อ่านมากกว่า เช่น การคิดกลุ่มคำ 2 กลุ่มที่พ้องเสียงกัน การคิดคำให้แปลได้มากกว่า 1 ความหมาย หรือการเล่นคำเชิงเปรียบเทียบ เป็นต้น ทั้งนี้ Creative Copy Writer มักได้รับหน้าที่ให้คิดสโลแกนของแบรนด์ มากกว่าคิดคำในชิ้นงานโฆษณาทั่ว ๆ ไป

ขั้นตอนการเขียน Copywriting

เตรียมตัวก่อนเขียนโฆษณา

1. รวบรวมข้อมูลสำคัญให้ได้มากที่สุด

แม้ผลลัพธ์ของการเขียน Copywriting จะเป็นเพียงกลุ่มคำเล็ก ๆ หรือประโยคสั้น ๆ เพียง 1-2 ประโยค แต่กว่าที่จะไปถึงจุดนั้นได้ Copy Writer จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดก่อน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวแบรนด์ เช่น ชื่อ สโลแกน บริการ วิสัยทัศน์ เป้าหมาย หรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวสินค้า อาทิ วิธีการใช้งาน กลุ่มลูกค้า ประโยชน์ แพ็กเกจ ฯลฯ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่จะต้องเขียนอย่างถ่องแท้

2. ลิสต์ข้อมูลที่อยากทราบ และ Research เพิ่มเติมด้วยตนเอง

หัวใจสำคัญของการเป็น Copy Writer หรือที่คุณอาจเรียกว่า Content Creator คือ การเขียนโดยอ้างอิงจากข้อมูล ไม่ใช่แค่การเขียนคำที่ฟังดูคล้องจองหรือสละสลวย ดังนั้น หากคุณพบว่าข้อมูลที่รวบรวมมายังไม่สมบูรณ์ เมื่ออ่านแล้วยังมีข้อสงสัย ควรลิสต์ข้อสงสัยเหล่านั้นออกมาเป็นข้อ ๆ แล้ว Research เพิ่มเติมจากเว็บไซต์ หนังสือ หรืออาจสอบถามจากลูกค้าให้กระจ่างชัด ก่อนเขียนงานจริง

3. จัดระเบียบข้อมูลทั้งหมด

ตัวอย่างการเขียนโฆษณา

เมื่อรวบรวมข้อมูลครบแล้ว แนะนำให้นำข้อมูลทั้งหมดมาจัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ เช่น ชื่อสินค้า คำอธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับสินค้า กลุ่มเป้าหมาย คุณสมบัติ ราคา ระยะเวลารับประกัน ช่องทางการจัดจำหน่าย ฯลฯ เพื่อให้คุณได้สรุปความเข้าใจอีกครั้ง ก่อนเขียน Copywriting 

4. เริ่มเขียน Copywriting เพื่อการโฆษณา

เริ่มเขียนโฆษณา โดยอาจวางโครงสร้างตาม 4 องค์ประกอบของงาน Copywriting ได้แก่ Headline, Body Copy, Call to Action และ Design and Formatting และเพื่อช่วยให้คุณเขียนโฆษณาสินค้าได้เร็วขึ้น ขอแนะนำ 5 ลักษณะข้อความพาดหัวที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ได้ ดังนี้

    • พาดหัวเชิงข่าวเปิดตัว เช่น ใหม่!, เปิดแล้ววันนี้!, ในที่สุด!, มาถึงแล้ว! 
    • พาดหัวแบบ How-to เช่น วิธีเปลี่ยนตัวเองใน 30 วัน, อยากหุ่นดี ต้องทำยังไง?
    • พาดหัวด้วยคำถาม เช่น รู้หรือไม่? รถไฟฟ้าสายใหม่มาแล้ว, รู้ยัง? ไม่ชอบกินผลไม้ก็รับวิตามินได้ 
    • พาดหัวด้วยคำสั่ง เช่น จองด่วนก่อนเต็ม, รีบโทรเลย!, อย่ารอช้า 

อย่างไรก็ดี รูปแบบของ Copywriting ที่คุณต้องเขียน จะต้องสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ของโฆษณาด้วย เช่น หากคุณต้องการยิงโฆษณาบน Facebook เพื่อหา Lead เพิ่มเติม งานเขียนของคุณก็ควรมี Call to Action อาทิ จองเลย!, ลงทะเบียนเลย! หรือ สั่งด่วน! เพื่อชักชวนให้คนกรอก Lead ด้วย เป็นต้น

Lead คืออะไร? อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Lead คืออะไร ทำไมธุรกิจควรมี Lead Generation Strategies

5. ปรับแก้เพิ่มเติม

ขั้นตอนการปรับแก้ ถือเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดของงาน Copywriting เนื่องจากมีโอกาสน้อยมากที่คุณจะคิดประโยคหรือกลุ่มคำที่ฟังแล้วรื่นหูได้ภายในครั้งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานโฆษณาสำหรับ Social Media Marketing ซึ่งจะมีคำบางคำที่ต้องห้ามใช้ คำแนะนำสำหรับขั้นตอนนี้ คือ อย่าลืมตรวจสอบมาตรฐานชุมชนของช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะ Facebook และ Recheck ให้ดี งานที่เพิ่งเขียนไป มีคำที่ลูกค้าไม่อยากให้ใช้หรือไม่

6.  รีวิวงานเขียนของตัวเอง 

Copy Writer คือ อาชีพหนึ่งที่ต้องรีวิวงานของตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะหลาย ๆ ครั้ง ความรู้สึกที่มีต่องานชิ้นเดิมมักไม่เหมือนเดิมเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น แนะนำให้คุณวางงานเขียนทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วค่อยนำกลับมาตรวจทานใหม่ ว่าคำอ่านรื่นหูดีหรือไม่ อยากปรับแก้เพิ่มเติมตรงไหน ก่อนนำส่งไปใช้งานจริง 

Copywriting แตกต่างจาก Content Writing อย่างไร 

Content Writing และ Copywriting คือ 2 คำที่สร้างความสับสนในสายงาน Digital Marketing มาเป็นเวลานาน ซึ่งอันที่จริงแล้ว ลักษณะการเขียนงานทั้ง 2 ประเภทแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังจะจำแนกเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

  • จุดประสงค์ของการเขียน: Copywriting คือ การเขียนเพื่อโฆษณา หรือจูงใจกลุ่มเป้าหมายให้กระทำบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อแบรนด์ ในขณะที่ Content Writing คือ การเขียนเพื่อบอกรายละเอียด หรือให้ความรู้แก่ผู้อ่าน
  • ความยาว: ชิ้นงานที่สร้างสรรค์โดย Content Writer จะเป็นความเรียงขนาดยาว ในขณะที่ชิ้นงานของ Copywriting จะมีความยาวประมาณ 1-2 ประโยคเท่านั้น
  • อารมณ์: Insight คือ ข้อมูลที่สำคัญมากสำหรับงาน Copywriting เพราะการเขียนงานประเภทนี้จำเป็นจะต้องทำความรู้จักกับลูกค้าให้มากที่สุด เพื่อคิดคำที่ตรงความต้องการ และสามารถจูงใจลูกค้าได้ทันที ตรงกันข้ามกับงาน Content Writing ที่เน้นความถูกต้องของเนื้อหา โดยไม่จำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจ
  • ไวยากรณ์: Copywriting คือ การเขียนที่เน้นความเข้าใจ จึงไม่จำเป็นต้องถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ 100% แตกต่างกับ Content Writing ซึ่งควรเขียนให้ถูกต้องตามไวยากรณ์ทั้งหมด

เคล็ดลับการเขียน Copywriting

ตัวอย่างการเขียนโฆษณาสินค้า

หากคุณอยากพัฒนาทักษะการเขียน Copywriting  ให้เฉียบคมและได้ผลจริงมากยิ่งขึ้น Digital Tips ขอแนะนำ 6 เคล็ดลับการเขียน Copywriting ที่จะช่วยให้การสร้างสรรค์งานของคุณง่ายขึ้น!

1. คิดอะไรได้ ให้ลงมือเขียนทันที!

ปัญหายอดฮิตของเหล่า Copy Writer คือ คลังคำที่ลอยไปมาอยู่ในความคิดมากมาย บางครั้งนึกขึ้นได้ แต่ไม่ได้บันทึกไว้ พอจะตั้งใจเขียนอีกที กลับนึกคำ ๆ นั้นไม่ออก เพื่อแก้ปัญหานี้ แนะนำให้ “เขียนทุกคำที่คิดได้” ลงไปบนกระดาษที่เตรียมไว้ แม้จะยังไม่ใช่คำที่คุณคิดว่าดีจนใช้การได้ แต่การเขียนออกมาทีละหลาย ๆ คำ จะช่วยกระตุ้นทักษะการประกอบคำให้ดีขึ้นแน่นอน!

2. เสพงานเขียนโฆษณาบ่อย ๆ

หลักการเขียนโฆษณาที่ดี ก็คือการหมั่นเสพงานโฆษณาบ่อย ๆ เพื่อซึมซับการใช้คำให้คุ้นชิน เพิ่มจำนวนคลังคำในสมอง จนสามารถดึงมาใช้ได้เร็วขึ้นเมื่อต้องเขียนงานจริง

3. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ทุกครั้ง

Copy Writer บางคนอาจเข้าใจว่า หากงานที่จะต้องเขียนเป็นงานโฆษณาตัวสินค้า ไม่ใช่งานโฆษณาแบรนด์ ก็ไม่จำเป็นต้องไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับตัวแบรนด์ ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์ เพราะ ฺBrand Identity คือ สิ่งที่จะแฝงอยู่ในขั้นตอนการคิดค้นผลิตภัณฑ์ และสามารถหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นข้อมูล Support ตอนเขียนงานได้เสมอ  

4. ระวังเรื่องคำต้องห้าม

แม้คำที่คิดได้จะสละสลวยและคล้องจอง แต่หากเป็นคำต้องห้าม ที่แบรนด์สั่งห้ามใช้ หรือเป็นคำที่มีความหมายไม่ดี สามารถก่อให้เกิดอคติหรือความเข้าใจผิดได้ ก็ควรเลี่ยงไม่ใช้คำนั้น 

5. ระวังเรื่องการใช้คำซ้ำแบรนด์อื่น

บางครั้งกลุ่มคำคล้องจองที่คุณคุ้นหู และนำไปปรับเป็นชิ้นงาน Copywriting ของตัวเอง อาจคล้ายคลึงหรือซ้ำซ้อนกับแบรนด์อื่น ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะฉะนั้น หลังเขียนงานเสร็จทุกครั้ง แนะนำให้คุณลองเอาประโยคที่เขียนได้ไปเช็กใน Google ให้ดี ก่อนตัดสินใจนำงานไปใช้จริง

6. ทำความเข้าใจเรื่อง Inbound และ Outbound เพิ่มเติม

Inbound Marketing คือ เทคนิคการตลาดที่เน้นให้ลูกค้าเดินเข้ามาแบรนด์เอง ซึ่งจะต้องอาศัยการศึกษากลุ่มเป้าหมาย และสร้างโฆษณาเพื่อกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นอย่างจำเพาะเจาะจง ตรงข้ามกับ Outbound Marketing ที่จะเน้นการหาลูกค้าแบบหว่าน แล้วค่อยมาคัดกรองจนเหลือกลุ่มเป้าหมายตัวจริง เหตุผลที่ Copy Writer ต้องทำความเข้าใจเทคนิคการตลาดเหล่านี้ นั่นเพราะ “เป้าหมายการสร้างชิ้นงานโฆษณา” มีผลต่อการเลือกใช้คำอย่างมีนัยยะสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเน้นทำการตลาดแบบ Inbound ซึ่งคุณต้องทราบอยู่แล้วว่าอยากเจาะจงไปที่ลูกค้ากลุ่มไหน Copywriting ที่คุณใช้ ก็ควรมีคำที่คนกลุ่มนั้นจะเข้าใจได้ หรือเป็นคำที่อยู่ในกระแสนิยมในหมู่คนกลุ่มนั้น เป็นต้น 

Copywriter คือใคร ต้องทำอะไรบ้าง?

creative copywriter คือใคร ต้องทำอะไรบ้าง

“อยากเขียนโฆษณาสินค้าเก่ง จนเป็น Copywriter ตัวอย่าง” ทำได้ไม่ยาก! – เพียงพัฒนาทักษะงาน Copywriting อยู่เสมอ และนี่คือ 5 ทักษะที่ Copy Writer มือโปรต้องมี 

ทักษะที่ต้องมีสำหรับ Copywriter

  • แม้งาน Copywriting ไม่จำเป็นต้องเขียนถูกไวยากรณ์ 100% แต่ Copy Writer ก็ควรรู้หลักไวยากรณ์ที่ถูกต้อง (โดยเฉพาะไวยากรณ์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ)
  • Branding คือ ความรู้ที่จำเป็นต่องานเขียนโฆษณาทุกประเภท
  • ทักษะการค้นหาข้อมูล สำคัญไม่แพ้ทักษะการใช้คำและไวยากรณ์
  • หัวใจสำคัญของการเป็น Copy Writer คือ การเป็นคนกล้าลองสิ่งใหม่ ๆ และไม่ยึดติดกับความเคยชินเดิม 
  • ทักษะที่สำคัญที่สุด คือ ทักษะการสื่อสาร เพราะ Copy Writer คือ คนที่จะต้องสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายผ่านตัวหนังสือ

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Copywriting

1. เงินเดือน Copywriter อยู่ที่เท่าไหร่? 

เงินเดือน Copywriter แต่ละคน ขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ โดยทั่วไปสำหรับ Entry Level หรือ คนที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ ประสบการณ์อยู่ราว ๆ 1-2 ปี จะมีรายได้เฉลี่ย 15,000 – 25,000 บาท  

2. คำที่ควรหลีกเลี่ยง หากเขียน Copywriting เพื่อโฆษณาสินค้า

ควรหลีกเลี่ยงในงาน Copywriting ทุกประเภท คือ คำที่วิพากษ์วิจารณ์รูปร่าง สีผิว ความบกพร่องทางร่างกาย หรือคำที่มีเนื้อหาสื่อถึงศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีคนนับถือ การเมือง และเรื่องระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะทำให้การเขียนโฆษณาถูกวิจารณ์ในแง่ที่ไม่ดีแล้ว ยังอาจมีผลต่อความน่าเชื่อถือของแบรนด์อีกด้วย 

เริ่มเขียน Copywriting วันนี้! 

แม้งาน Copywriting จะเป็นการเขียนโฆษณาสินค้า สั้น ๆ เพียงไม่กี่คำ แต่ก็มีความสำคัญมหาศาล เพราะประโยคสั้น ๆ นั่นเองที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจว่าจะมองแบรนด์อย่างไร รวมทั้งจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากแบรนด์นั้น ๆ หรือไม่ หากคุณเป็นอีกคนที่ต้องการจะพัฒนาตัวเอง สู่การเป็น Copywriter ตัวอย่าง ที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งในวงการ เริ่มต้นก้าวแรกได้ตั้งแต่วันนี้ ลองเขียนเลย!

ศึกษาการทำ Content ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายได้ที่ “คอร์สออนไลน์ เรียน Content Marketing Mastery”

 

อ้างอิง:

Forbes. Content Writing Vs. Copywriting In Digital Marketing: What’s The Difference?
Available from: https://www.forbes.com/sites/forbesagencycouncil/

copyblogger. The 5-Step POWER Copywriting Method
Available from: https://copyblogger.com/power-copywriting/ 

fivirr. What is copywriting and what does a copywriter do?
Available from: https://www.fiverr.com/resources/guides/writing-and-copywriting/

Complete. The importance of good copywriting
Available from: https://www.completeonline.co.uk/the-importance-of-good-copywriting/

TikTok Influencer
TikTok
แจกเทคนิคเพิ่มยอดวิว TikTok ฉบับว่าที่อินฟลูมือใหม่

ในยุคที่ Influencer Marketing กำลังเฟื่องฟู ผู้ชมในทุก ๆ แพลตฟอร์มก็อยากผันตัวไปเป็น Influencer กันมากขึ้น โดยเฉพาะแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง TikTok ที่นับว่าก็จะยิ่งมี…

5 เคล็ดลับ วางกลยุทธ์การตลาด Inbound ใหม่ เพิ่มยอดขายติดจรวด
News
5 เคล็ดลับ วางกลยุทธ์การตลาด Inbound ใหม่ เพิ่มยอดขายติดจรวด

คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า Inbound Marketing คือการตลาดที่เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันตลาดใหญ่ขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น และผู้บริโภคเองก็มีตัวเลือกมากขึ้น หากคุณเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตจากการใช้กลยุทธ์นี้ และกำลังกลวิธีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มยอดขายด้วยการตลาด Inbound…

อัปเดตเวลาโพสต์ Instagram 2024 ที่ดีที่สุด และวิธีเพิ่มเอนเกจ
Digital Tips & Tricks | Instagram
อัปเดตเวลาโพสต์ Instagram 2024 ที่ดีที่สุด และวิธีเพิ่มเอนเกจ

สำหรับธุรกิจที่เน้นทำ Instagram Marketing อย่างธุรกิจเสื้อผ้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ภาพสวย ๆ หรือวิดีโอ Vibe ดี ๆ…