retargeting คือ

เคยสังเกตไหม? เมื่อคุณบังเอิญไปกดอ่านคอนเทนต์ขายสินค้า หรือเข้าไปไล่ดูสินค้าบางรายการบนเว็บไซต์ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อ วันต่อมาคุณก็จะเจอโฆษณาเกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ เต็มฟีด Facebook และ Social Media อื่น ๆ นั่นเป็นสัญญาณว่า คุณได้เข้าไปอยู่ในวงจรของการตลาดแบบ Retarget ที่พยายามชักจูงให้คุณตัดสินใจซื้อสินค้าแบรนด์นั้นเร็วขึ้นเข้าให้แล้ว! – การทำ Retargeting เป็นอย่างไร และการทำ Retargeting Facebook สามารถทำได้หรือไม่ ในบทความนี้ Digital Tips พร้อมไขข้อข้องใจให้กับคุณ!

Retargeting คืออะไร 

การทำ Retargeting คือ การที่แบรนด์พยายามทำการตลาด เพื่อชักจูงให้คนที่เคยสนใจสินค้าและบริการของแบรนด์ แต่ยังไม่เคยตัดสินใจซื้อ ลงมือกดสั่งซื้อสินค้าจริง ๆ ในเร็ววัน ซึ่งแบรนด์นิยมค้นหากลุ่มคนเหล่านั้น จากการใช้ Pixel เก็บข้อมูลผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ โดยอาจตั้งค่าให้เก็บข้อมูลเฉพาะผู้ที่เคยเข้ามาชมหน้ารายการสินค้า แล้วกดออก หรือผู้ที่เคยกดสินค้าลงตระกร้า แต่ยังไปไม่ถึงขั้นตอนการชำระเงิน แล้วนำข้อมูลของคนเหล่านั้น ไปทำ Custom Audience เพื่อยิงแอดแบบ Retargeting ในแพลตฟอร์มอื่น ๆ 

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มที่คนนิยมทำ Retargeting มากที่สุด ก็คือ Facebook ดังที่คุณอาจจะเคยสังเกตเห็นว่า ในตัวจัดการโฆษณา Facebook จะมีเมนู Create a Custom Audience และมีเมนูย่อย ๆ ให้เลือกว่า จะสร้าง Custom Audience จากเว็บไซต์ หรือข้อมูลที่เก็บได้จากช่องทางอื่น ๆ

Retargeting ดีต่อการทำการตลาดอย่างไร

ข้อดีของการทำ Retargeting

เมื่อคุณทราบแล้วว่า “Retargeting คืออะไร?” คำถามต่อมาก็คือ “Retargeting จำเป็นแค่ไหน ทำไมแบรนด์จึงต้องทำ?” เพื่อให้คุณเห็นภาพมากขึ้น เราขอสรุปข้อดีของกลยุทธ์ดังกล่าวออกมาเป็น 4 ข้อใหญ่ ๆ ดังนี้

  • ช่วยเพิ่ม Conversion: รายงานจากเว็บไซต์ Retargeter ระบุว่า “ผู้คนที่ตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า หรือกระทำการต่าง ๆ ที่เป็นการสร้าง Conversion เช่น กดลงทะเบียน หรือกดสินค้าลงตระกร้า ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าชมเว็บไซต์ มีเพียง 2% เท่านั้น” คุณจึงจำเป็นต้องจูงใจพวกเขาอีกครั้ง ด้วยการสร้างสถานการณ์ให้พวกเขาได้เห็นสินค้าชนิดเดิมจากแบรนด์เดิมซ้ำ ๆ 
  • ช่วยพัฒนาค่า ROI อย่างมีนัยยะสำคัญ: ROI คือ อัตราส่วนระหว่างกำไรสุทธิกับค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่า “ทั้งหมดที่คุณทำมาคุ้มค่าหรือไม่?” อย่างไรก็ตาม คุณสามารถมั่นใจได้เลยว่า การทำ Retargeting กับกลุ่มเป้าหมายที่มี Potential เช่นนี้ จะพัฒนาค่า ROI ให้อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจได้ในที่สุด
  • ตอกย้ำ Brand Awareness ให้ดีขึ้น: Retargeting แปล ว่า “การเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเดิมซ้ำ” ซึ่งหมายความว่า กลุ่มเป้าหมายที่คุณเลือกใช้ ก็คือกลุ่มคนที่เคยเห็นสินค้าของคุณมาแล้ว และการที่ทำให้พวกเขาได้เห็นรูปสินค้า สัญลักษณ์แบรนด์ หรือโฆษณาของแบรนด์บ่อย ๆ ก็จะทำให้พวกเขาเริ่มจดจำแบรนด์ และรู้สึกคุ้นเคยมากขึ้นอย่างไม่รู้ตัว
  • เพิ่มจำนวน Customer Engagement: สำหรับแบรนด์ที่เคยรวบรวมข้อมูล Insights บนช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ หรือแบรนด์ที่ใช้งานระบบ CRM เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของลูกค้า คงทราบดีว่า แม้โฆษณาต่าง ๆ จะเข้าถึงผู้คนจำนวนมากแค่ไหน แต่ก็เป็นไปได้ยากที่ผู้คนเหล่านั้นจะมี Engage กับโพสต์ที่เป็นโฆษณา แต่รู้หรือไม่? หากคุณลองยิงแอดโดย Retarget ไปหาคนที่รู้จักสินค้าของคุณอยู่แล้ว โอกาสที่พวกเขาจะ Like, Comment หรือ Share ย่อมมีมากขึ้นแน่นอน!
  •  

อยากรู้ว่า CRM คืออะไร? อ่านเพิ่มเติมได้ที่: CRM คืออะไร (Customer Relationship Management) มีระบบการทำงานอย่างไร

เป้าหมายในการทำ Retargeting 

อันที่จริงแล้ว ธุรกิจที่ตัดสินใจ ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ Retargeting ก็มักจะมีเป้าหมายแตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถสรุปได้โดยย่อ ดังนี้

  • ตั้งใจทำ Retargeting เพื่อเพิ่มยอดขายในไตรมาสนั้น ๆ ให้สูงขึ้น
  • ต้องการเพิ่ม Conversion ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงยอดขายเพียงอย่างเดียว แต่อาจรวมถึงการเข้าถึงหน้ารายการสินค้า การกดลงทะเบียนร่วมกิจกรรม หรือการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันด้วย
  • สำหรับบางธุรกิจ Retargeting Ads คือ หนึ่งในวิธีเพิ่ม Engagement หรือยอด Follow ให้กับแฟนเพจ
  • นอกจากจะเพิ่มโอกาสในการขายแล้ว การทดลองสร้างโฆษณาโดย Retarget ไปหากลุ่มคนที่เคยเข้าชมเว็บไซต์ ยังถือเป็นการทดสอบประสิทธิภาพโฆษณา ว่าสามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายเดิมได้ดีแค่ไหนอีกด้วย

Retargeting แตกต่างจาก Remarketing อย่างไร

ความแตกต่างของการทำ Retargeting และ Remarketing

Retargeting คืออะไร แตกต่างจาก Remarketing หรือไม่?” คือ สิ่งที่คนทำ Digital Marketing ทั้งวงการสับสนกันมาช้านาน ซึ่งอันที่จริงแล้ว ทั้ง 2 เทคนิคต่างก็มุ่งไปที่เป้าหมายเดียวกัน คือ การเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ แต่มีวิธีการที่ใช้เดินไปให้ถึงเป้าหมายแตกต่างกันเล็กน้อย 

วิธีการของ Retargeting Marketing คือ การใช้โปรแกรมพิเศษ Tracking ข้อมูลของผู้ที่เคยเข้าชมเว็บไซต์ แต่ยังไม่เคยกดสั่งซื้อสินค้า แล้วยิงแอดโฆษณาบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น Facebook Ads, Google Ads, Tiktok Ads ฯลฯ เพื่อให้ผู้คนเหล่านั้นได้เห็นสินค้าบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน จนตัดสินใจกดสั่งซื้อในที่สุด 

แต่วิธีการของ Remarketing คือ การส่งโฆษณาโปรโมชัน หรือ แนะนำสินค้าใหม่ ไปให้กับลูกค้าเก่า ที่เคยซื้อสินค้ากับทางแบรนด์แล้ว ผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นอีเมล เช่นเดียวกับที่คุณเคยได้รับอีเมลจากร้านขาย Gadget ชื่อดัง เมื่อได้สั่งซื้อสินค้าจากพวกเขาแล้วหนึ่งครั้ง

รูปแบบการทำ Retargeting

รูปแบบการทำ Retargeting คือ?

การทำ Retargeting โดยทั่วไป สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ ตามลักษณะของการเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

1. Pixel-Based Retargeting

Pixel-Based Retargeting คือ การทำ Retarget โดยใช้ Pixel หรือ ชุดโค้ดพิเศษ เก็บข้อมูลของผู้ที่เข้าชมเว็บไซต์ ว่าพวกเขาเข้าชมเว็บไซต์จนถึงหน้าไหน และทำอะไรบนหน้าเว็บไซต์บ้าง ก่อนนำข้อมูลเหล่านั้นมาตั้งค่าเป็น Custom Audience เพื่อสร้างโฆษณาบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ต่อไป วิธีนี้นิยมอย่างมากในหมู่ธุรกิจที่ทำการตลาดออนไลน์ เพราะส่วนมากมักจะทำการตลาดบนเว็บไซต์ควบคู่ไปกับ Social Media อยู่แล้ว

2. List-Based Retargeting

นอกเหนือจากการ Tracking ข้อมูลของผู้ที่เข้าชมเว็บไซต์ คุณยังสามารถทำ Retargeting ได้ โดยใช้ List รายชื่อและช่องทางการติดต่อของลูกค้าที่เก็บไว้ในฐานข้อมูลอยู่แล้ว เพราะข้อมูลเหล่านั้นเองก็สามารถนำมาสร้าง Custom Audience ได้เช่นกัน 

กลยุทธ์ Retargeting

กลยุทธ์การทำ Retargeting คือ?

แน่นอนว่า Retargeting คือ หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจ แต่หากคุณมุ่งมั่นแต่จะทำ Retargeting มากเกินไป ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจจะไม่ดีอย่างที่คาดการณ์ไว้ก็ได้ เนื่องจากบ่อยครั้ง ผู้ใช้งาน Social Media มักพบปัญหา “การโดนโฆษณาจากแบรนด์เดิม ๆ ติดตามตลอดเวลา” ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกรำคาญใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ Digital Tips ขอแชร์ 3 กลยุทธ์สำหรับการทำ Retargeting ดังนี้

1. Behavioral Retargeting

Behavioral Retargeting คือ กลยุทธ์ที่คุณต้องให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผู้คนย่อมเข้าชมเว็บไซต์ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน บางคนอาจกำลังตามหาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการ บางคนอาจเพียงแค่อ่านบล็อกความรู้ หรือบางคนอาจยังลังเลเพราะเรื่องราคา หากคุณยิงแอดโฆษณาชิ้นเดียวกันให้คนที่มีความต้องการต่างกัน ก็อาจได้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากการยิงแอดแบบปกติก็ได้ 

ดังนั้น หากคุณสนใจลองใช้กลยุทธ์นี้ แนะนำให้ดู Insights บน Google Analytics ควบคู่ไปด้วยว่า หน้าไหนบนเว็บไซต์เป็นที่นิยมมากที่สุด โดยคนกลุ่มไหน อายุเท่าไหร่ จากนั้นสร้างโฆษณาขึ้นมาหลาย ๆ ชิ้น เพื่อรองรับคนแต่ละกลุ่ม แล้วจึงตั้งค่ากลุ่มเป้าหมายของแอดแต่ละชิ้น โดยเลือกเฉพาะคนที่เข้าชมเว็บไซต์ในพาร์ทนี้เหมาะกับโฆษณาชิ้นนั้น ๆ แทนที่จะสร้างโฆษณาขึ้นมาเพียงชิ้นเดียว แล้วเลือกทุกคนที่เคยเข้าชมเว็บไซต์ ไม่ว่าจะหน้าไหน เป็นกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด

เพิ่มพูนความรู้เรื่อง Google Analytics อ่านต่อที่: Google Analytics คือ ใช้งานอย่างไร พร้อมวิธีติดตั้ง GA4 ล่าสุด

2. Contextual Retargeting

Contextual Retargeting หมายถึง การ Retarget โดยหาข้อมูลแวดล้อมเพิ่มเติม เพื่อเฟ้นหา Pain Point ที่แท้จริงของลูกค้า ก่อนคิดค้นชิ้นงานโฆษณาเพื่อเริ่มยิงแอดจริง เช่น หากคุณหาข้อมูลลงลึกไปว่า ผู้คนเข้าชมเว็บไซต์แต่ละหน้านานเท่าไหร่ ใครที่ชมนานถึง 1 ชั่วโมง ใครจะแวะมาดูเพียง 1-2 นาที หรือใครบ้างที่เข้าชมเยี่ยมชมเว็บไซต์ ทั้ง ๆ ที่เคยกดสั่งซื้อสินค้าชิ้นอื่น ๆ แล้ว เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้คุณสร้างคอนเทนต์จูงใจลูกค้าได้ตรงจุด และสร้างโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. Sequential Retargeting

Sequential Retargeting คือ การสร้างชิ้นงานโฆษณาหลาย ๆ ชิ้นตามลำดับขั้น เพื่อ Support ทุกขั้นตอนการตัดสินใจของลูกค้า อาทิ โฆษณาชิ้นที่ 1 นำเสนอปัญหาที่ลูกค้ามี โฆษณาชิ้นที่ 2 นำเสนอหนทางแก้ปัญหาทุกทางที่เป็นไปได้ และโฆษณาชิ้นสุดท้าย จึงค่อยนำเสนอตัวสินค้าพร้อมรีวิวจากผู้ใช้งานจริง เป็นต้น ทั้งนี้ แม้จะต้องสร้างโฆษณาขึ้นมาหลายชิ้น แต่คุณก็สามารถเลือกจำกัดวงกลุ่มเป้าหมายให้แคบลงเรื่อย ๆ ได้ โดยดูจาก Insights ว่า โฆษณาชิ้นแรกเข้าถึงใครบ้าง แล้วจึงใช้คนเหล่านั้นเป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับโฆษณาชิ้นต่อไป และชิ้นต่อ ๆ ไป ตามลำดับ

เคล็ดลับในการทำ Retargeting 

เคล็ดลับของการทำ Retargeting Ads คือ?

ไม่ว่าคุณจะเลือกกลยุทธ์ไหนในการทำ Retargeting ก็ตาม หากคุณอยากทำให้สำเร็จจริง ๆ ก็ต้องอาศัยเคล็ดลับพิเศษเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการตั้งค่าโฆษณาและการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูเลย!

  • Retarget โดยแบ่งกลุ่ม (Segments) ของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้การยิงแอดโฆษณาแม่นยำมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คุณอาจใช้ STP Marketing เป็นตัวช่วยในการแบ่งกลุ่ม
  • จริงจังกับการสร้างสรรค์ชิ้นงานโฆษณา โดยให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ภาพ และ Text บนชิ้นงานโฆษณาเชิง Creative ที่สามารถดึงดูดผู้ชมได้จริง
  • ข้อดีของการยิงแอดบน Facebook และ Google Ads คือ สามารถสร้าง Frequency Cap หรือการกำหนดว่า จะอนุญาตให้ผู้ชมคนเดิมมองเห็นโฆษณาได้กี่ครั้ง และเว้นไปนานเท่าไหร่จึงจะเปิดให้เห็นได้อีกครั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเจอกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ร่วมกันไปด้วย
  • แม้ Retargeting Marketing คือ เทคนิคที่คุณทราบอยู่แล้วว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร แต่การ Monitor ข้อมูล Performance หลังบ้านบ่อย ๆ ก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะหากเกิดปัญหาระหว่างทาง คุณก็จะสามารถหาทางแก้ไขได้ทันที 

ข้อผิดพลาดหาก Retargeting ผิดวิธี 

นอกเหนือจากความรู้ที่ว่า “Retargeting ที่ถูกต้องควรทำอย่างไร?” การเรียนรู้ว่า Retarget ที่ทำอย่างผิดพลาดจะเป็นอย่างไร ก็สำคัญเช่นเดียวกัน  ซึ่งความผิดพลาดหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ มีด้วยกัน 4 รูปแบบ ดังนี้

  • การตั้งค่า Target Audience คือ สิ่งที่ต้องทำอย่างพอดี เพราะหากคุณ Retarget โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายกว้างเกินไป ก็ไม่ต่างอะไรกับการยิงแอดปกติ ที่จะต้องคาดหวังให้มีคนจำนวนมากมองเห็นโฆษณา แล้วจึงคัดกรองจนเหลือกลุ่มเป้าหมายตัวจริง ทั้งนี้ คุณต้องไม่ลืมว่า ในการทำ Retargeting คุณต้องลงทุนเวลา และเงินสำหรับติดตั้งโปรแกรม Tracking และนั่นคือเหตุผลที่คุณต้องคาดหวังผลลัพธ์มากกว่าตอนยิงแอดแบบปกตินั่นเอง
  • ช่วงเวลาในการเผยแพร่ Ads ก็สำคัญเช่นเดียวกัน หากเลือกช่วงเวลาไม่เหมาะสม เช่น วันหยุดยาว ที่คนมักใช้เวลาร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัวแบบ Offline มากกว่า ก็อาจทำให้มีคนเห็นโฆษณาของคุณน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
  • บางครั้งชิ้นงานที่ต้องตามเทรนด์แบบ Real-time Marketing ก็เป็นดาบสองคม เพราะเสี่ยงที่จะทำให้ผู้คนคิดว่า เห็นบ่อยจนชินตาและเริ่มรู้สึกรำคาญ คุณจึงต้องระวังประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน
  • บริษัทที่สร้างโฆษณาแบบ Retargeting หลาย ๆ ที่ มักหลงลืมความสำคัญของมุมมองแบบ Desktop และ Mobile จึงทำให้อาจพลาดโอกาสสร้าง Conversion อย่างน่าเสียดาย เพราะคนเลื่อนผ่านโฆษณาที่ดูบน Smartphone ได้ไม่สะดวกไป

เครื่องมือในการทำ Retargeting สำหรับนักการตลาด

Retargeting Ads คือ กลยุทธ์ที่สามารถทำได้ในหลาย ๆ ช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางยอดนิยมที่มีจำนวนผู้ใช้งานสูง ๆ ดังนี้ 

1. Google Ads

ช่องทางทำ Retargeting ยก ตัวอย่าง - Google Ads

โฆษณาบน Google Ads ในที่นี้ มิได้หมายถึงแค่โฆษณาบนหน้า Google Search เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโฆษณาแบบ Google Display Network และโฆษณาที่คั่นคลิป Youtube ด้วย ซึ่งการตั้งค่าแอดโฆษณาในหลังบ้าน Google Ads ก็สามารถตั้งค่า Custom Audience ได้เช่นเดียวกัน จึงสามารถใช้ทำ Retargeting ได้

รู้จักกับ Custom Audience อ่านต่อที่: Custom Audience คืออะไร สำคัญต่อการโฆษณา Facebook อย่างไร

2. Facebook Ads

ช่องทางทำ Retargeting ยก ตัวอย่าง - Facebook Ads

Retargeting Facebook คือ การยิงแอดผ่านแพลตฟอร์ม Facebook โดยสร้าง Custom Audience ด้วยข้อมูลผู้เข้าชมเว็บไซต์ อย่างไรก็ดี หากสนใจจะทำ Retargeting ด้วยวิธีนี้ คุณจะต้องติดตั้ง Facebook Pixel ซึ่งเป็นชุดโค้ดพิเศษสำหรับ Tracking ข้อมูลบนเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเชื่อมกับ Facebook โดยเฉพาะ 

3. Instagram Ads

ไม่เพียง Facebook เท่านั้น แต่ Instagram ก็สามารถทำ Retargeting ได้ โดยตั้งค่าผ่านระบบของ Meta Ads Manager เพียงแต่รูปแบบชิ้นงานโฆษณาอาจจะแตกต่างจากบน Facebook เล็กน้อย

4. Tiktok Ads

บน Tiktok Ads เอง ก็สามารถใช้ทำ Retarget ได้ เพราะมีโค้ด Tiktok Pixel และมีเมนูตั้งค่า Custom Audience เช่นเดียวกัน และแน่นอนว่า หากคุณมีข้อมูลกลุ่มเป้าหมายมากพอ Lookalike Audience คือ สิ่งที่คุณสามารถทำได้ เช่นเดียวกับบน Facebook และ Instagram 

Case Study สำหรับการทำ Retargeting 

เพื่อให้คุณเห็นภาพของการทำ Retargeting ที่ประสบความสำเร็จได้ชัดเจนขึ้น เราขอยกตัวอย่าง Retargeting Strategy ของเว็บไซต์ E-commerce ชื่อดังอย่าง Amazon

เมื่อคุณเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ Amazon ไม่ว่าจะเยี่ยมชมหน้าสินค้า เลื่อนดูสินค้าในหน้านั้น ๆ ไปมา หรือกดสินค้าลงตระกร้า แต่หากคุณออกจากเว็บไซต์ไปโดยที่ยังไม่ซื้อสินค้า Cookies ของเว็บไซต์ Amazon ก็จะติดตามคุณไป และเมื่อคุณเข้าไปเยี่ยมชมหน้าเว็บไซต์อื่น พื้นที่โฆษณาบนเว็บไซต์เหล่านั้น ที่ Amazon ได้ติดต่อเป็นพาร์ทเนอร์ไว้ ผ่านระบบที่เรียกว่า SSP หรือ Supply Side Platform ก็จะโชว์โฆษณาสินค้าชนิดเดียวกัน หรือแบรนด์เดียวกันกับที่คุณได้เข้าไปดูใน Amazon ทันที

กระบวนการ Retarget ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในไม่กี่มิลลิวินาที โดย Amazon เชื่อว่า การโชว์โฆษณาที่ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายอย่างทันท่วงที จะสามารถจูงใจกลุ่มเป้าหมายให้ย้อนกลับไปกดสั่งสินค้าบนเว็บไซต์ได้

คำถามที่พบบ่อย

1. นักการตลาดทำ Retargeting จะทำให้ลูกค้าเกิดความรำคาญหรือไม่?

อยู่ที่ความเข้าใจและแผนที่วางไว้ในการทำ Retargeting ยกตัวอย่าง เช่น การทำ Retargeting ของ Amazon ที่ผ่านการ Research และปรับปรุงแผนมาอย่างดี พร้อมทั้งศึกษา Insights ของลูกค้าก่อนตัดสินใจทำ จึงสามารถสร้าง Conversion ได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ

2. Retargeting อย่างไรไม่ให้ลูกค้ารำคาญ?

หัวใจสำคัญของการทำ Retargeting คือ ต้องรู้จักกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้กว้างอย่างพอดี และสร้างโฆษณาด้วยความถี่ที่เหมาะสม ไม่บ่อยเกินไป และไม่ติดตามกลุ่มเป้าหมายยาวนานจนเกินไป

ข้อสรุป

การทำ Retargating โดยเฉพาะ Retargeting Facebook คือ หนึ่งในกลยุทธ์ที่ธุรกิจจำนวนมากนิยมใช้ เนื่องจากลดความเสี่ยงในการหว่านหาลูกค้า และลดงบประมาณในการยิงโฆษณา อย่างไรก็ดี หากทำบ่อยจนเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดความรำคาญได้ ทุกธุรกิจจึงต้องวางแผนให้ดี ๆ เรียนรู้จุดอิ่มตัว และทำโฆษณาแบบปกติควบคู่กันไปอย่างเหมาะสม

 

อ้างอิง

Search Engine Journal. Remarketing vs. Retargeting: Are They The Same Thing?
Available from: https://www.searchenginejournal.com/remarketing-vs-retargeting/379703/#close 

Similarweb Blog. Retargeting vs. Remarketing: Which Should You Be Using?
Available from: https://www.similarweb.com/blog/marketing/sem-ppc/retargeting-vs-remarketing/ 

Kenji ROI. Amazon Retargeting Ads Tutorial & Strategy – Remarketing on Amazon
Available from: https://www.kenjiroi.com/amazon-retargeting-ads-tutorial/ 

intoMarkets. Amazon Retargeting For Sellers and Vendors: Boost Your Sales and Visibility
Available from: https://www.intomarkets.com/en/amazon-retargeting-for-sellers-and-vendors-boost-your-sales-and-visibility/ 

คัมภีร์สร้างความน่าเชื่อถือบนโลกออนไลน์ ฉบับนักธุรกิจใหม่
Business
คัมภีร์สร้างความน่าเชื่อถือบนโลกออนไลน์ ฉบับนักธุรกิจใหม่

การสร้างความน่าเชื่อถือสำคัญอย่างยิ่งกับธุรกิจออนไลน์ โดยเฉพาะกับธุรกิจที่เพิ่งเปิดใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมีคนทำการตลาดออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก และลูกค้าเองไม่สามารถตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของผู้ขายได้ หากไม่ทำให้เชื่อใจ พวกเขาก็จะไปซื้อสินค้ากับธุรกิจคู่แข่ง หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจเปิดใหม่ ที่กำลังหาแนวทางการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ศึกษาได้จากคอนเทนต์นี้   Content Summary…

4 สิ่งที่คุณต้องรู้ ก่อนทำคอนเทนต์ดูดวง เอาใจสายมู
Marketing | News
4 สิ่งที่คุณต้องรู้ ก่อนทำคอนเทนต์ดูดวง เอาใจสายมู

กระแสบน Social Media เกี่ยวกับการดูดวง หมอดู และสายมู แสดงให้เห็นว่าคอนเทนต์ดูดวง ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคชาวไทยได้มากขนาดไหน จึงไม่แปลกที่หลาย ๆ แบรนด์จะมักจะทำ Seasonal…

คอนเทนต์แบบไหนที่คุณควรทำบนเพจธุรกิจแฟชั่น
Marketing | News
แชร์ 4 รูปแบบคอนเทนต์ ที่คนทำธุรกิจแฟชั่นต้องรู้

สำหรับคนทำธุรกิจแฟชั่น ไม่มีอะไรจะยากไปกว่าการนำเสนอคอนเทนต์ตามเทรนด์ฮิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงการต่อสู้กับสงครามราคา ที่มีผู้เข้าแข่งขันเพิ่มขึ้นมากมายจนนับไม่ถ้วน หากคุณเองก็เป็นเจ้าของธุรกิจเสื้อผ้า เครื่องประดับ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับแฟชั่น ลองมาดูกันว่า ควรทำคอนเทนต์แบบไหน จึงจะซื้อใจผู้บริโภคได้   Content…